“พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ” พระอิสริยยศที่ไม่คุ้นหู มีที่มาจากไหน?

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี พระราชธิดา รัชกาลที่ 3
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระองค์เจ้าหญิงบุตรี

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เป็นพระอิสริยยศของเชื้อพระวงศ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ทุกวันนี้หลายคนอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน แล้วคำนำพระนามนี้มีที่มาจากไหน?

ราชบัณฑิตยสภา อธิบายที่มาและความหมายของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอไว้ว่า เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ คำนำพระนามของเจ้านายในรัชกาลก่อนก็ย่อมเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ และเนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้มีพระราชโอรสพระราชธิดาที่มีพระสกุลยศชั้นเจ้าฟ้า พระราชโอรสพระราชธิดาซึ่งเป็นพระเจ้าลูกเธอในพระองค์ เมื่อมาถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ก็จะกลายเป็นพระเจ้าหลานเธอ

Advertisement

เมื่อเป็นดังนี้ รัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสพระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 ใช้คำนำพระนามว่าพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ โดยให้คงศักดินาเสมอพระเจ้าลูกเธอ คือ ศักดินา 6,000 ทรงกรมศักดินา 15,000 เพราะหากใช้คำนำพระนามว่า “พระเจ้าหลานเธอ” ศักดินาก็จะลดลงไปเป็นพระเจ้าหลานเธอ ศักดินาเท่าพระองค์เจ้าวังหน้า ที่ศักดินา 4,000 ทรงกรมศักดินา 11,000

คำนำพระนามพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ ใช้ต่อเนื่องมาถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระบรมราชโองการให้เปลี่ยนคำนำพระนามพระราชโอรสพระราชธิดาในพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อนๆ โดยใช้คำนำพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ตามพระเกียรติยศ

ราชบัณฑิตยสภา อธิบายต่ออีกว่า ด้วยเหตุนี้ คำนำพระนามพระราชโอรสพระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 จึงเปลี่ยนมาใช้ว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ และพระราชโอรสพระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 เมื่อมาถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ทรงศักดิ์เป็นชั้น ลุง ป้า น้า อา หากมีพระสกุลยศชั้นเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้าทรงกรมชั้นสมเด็จกรมพระ หรือสมเด็จกรมพระยา ใช้คำนำพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ แต่หากมีพระสกุลยศชั้นพระองค์เจ้าและพระองค์เจ้าทรงกรม ที่มิได้เป็นสมเด็จกรมพระ หรือสมเด็จกรมพระยา ก็ใช้คำนำพระนามว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ

เจ้านายที่ทรงมีคำนำพระนามพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ มีเช่นพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 3 พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ พระราชโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ “วังหน้า” ในรัชกาลที่ 3 เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

“พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ (19 พฤษภาคม 2552)”. เว็บไซต์สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566. https://bit.ly/47LArt4

บุหลง ศรีกนก และพลตรี หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี, เรียบเรียง. “พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ”. นามานุกรมวรรณคดีไทย. เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566. https://www.sac.or.th/databases/thailitdir/cre_det.php?cr_id=72

สยาม ภัทรานุประวัติ, เรียบเรียง. “พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี”. นามานุกรมวรรณคดีไทย. เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566. https://www.sac.or.th/databases/thailitdir/cre_det.php?cr_id=78


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ธันวาคม 2566