“พระองค์เจ้าบุตรี” พระราชธิดา ร.3 ไม่สนคุณสมบัติ “กุลสตรี” มุ่งแต่ “เรียนหนังสือ”

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี พระราชธิดา รัชกาลที่ 3 กรมหลวงวรเสรฐสุดา
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระองค์เจ้าหญิงบุตรี

พระองค์เจ้าบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระราชธิดา ร.3 ไม่สนคุณสมบัติ “กุลสตรี” มุ่งแต่ “เรียนหนังสือ”

พระองค์เจ้าบุตรี (พระองค์เจ้าหญิงบุตรี) หรือพระนามเต็ม พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ) พระองค์เจ้าบุตรี ทรงเป็นเจ้าสำนักการศึกษา ซึ่งถ้าจะกล่าวถึงเรื่องการศึกษาเบื้องต้นของบรรดาพระราชกุมารและพระราชกุมารีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว นามที่จะต้องกล่าวถึงควบคู่กันไปก็คือ สํานักของ พระองค์เจ้าบุตรี ซึ่งเป็นสํานักศึกษาแห่งแรกของพระราชกุมารพระราชกุมารีแทบจะทุกพระองค์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระองค์เจ้าบุตรี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา หรือพระองค์เจ้าบุตรี

แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ก็ทรงศึกษา ณ สํานักนี้เป็นแห่งแรก ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5 พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ความตอนหนึ่งว่า “เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงเจริญพระชันษาสมควรแก่การศึกษาอักขรสมัย ได้ทรงเล่าเรียนในสํานักพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี”

Advertisement

ผู้ที่ทรงเป็นเจ้าสํานักการศึกษาดังกล่าวคือ พระองค์เจ้าบุตรี ซึ่งทรงได้ชื่อว่าเป็นพระราชนารีที่มีแนวพระดําริ ความสนพระทัย ตลอดจนพระจริยวัตรที่ผิดแผกแตกต่างจากพระราชนารีรุ่นเดียวกันโดยสิ้นเชิง ด้วยทรงสนพระทัยเฉพาะวิชาการด้านหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว

ในส่วนวิชาตามแบบกุลสตรีโบราณ อันได้แก่งานฝีมือ และงานด้านประณีตศิลป์ต่าง ๆ ไม่ทรงให้ความสนพระทัย จนถึงขั้นทรงทําไม่เป็นเลยก็ว่าได้ ดังที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระนัดดาซึ่งเคยอยู่ในพระอุปถัมภ์พระองค์หนึ่ง ทรงกล่าวถึงพระองค์เจ้าบุตรีว่า

“เสด็จป้าของเราได้รับความฝึกหัดในวิชาของผู้ชายเป็นพื้น ศิลปของผู้หญิง เช่น เย็บ ปัก ถัก ร้อย ทําอาหารที่สุดจนเจียนหมากจีบพลู เรายังไม่เคยเห็นท่านทําเองเลย เขาว่าท่านทําไม่เป็นด้วย”

แต่พระปรีชาสามารถด้านการหนังสือของพระองค์ก็เป็นที่ยอมรับกันว่า ทรงเป็นพระราชนารีที่ทรงเชี่ยวชาญ แตกฉาน รอบรู้อักขรสมัย และโบราณราชประเพณีอย่างดีเยี่ยมจนทรงได้รับยกย่องเป็น “พระอาจารย์”

พระองค์เจ้าบุตรี ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์ท้ายสุด ใน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาอึ่ง เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2371

ก่อนที่จะได้ศึกษาเกี่ยวกับแนวพระดําริในพระองค์เจ้าบุตรี ซึ่งผิดแผกแตกต่างกว่าพระราชนารีพระองค์อื่น ๆ ในสมัยเดียวกันนั้น ก็น่าที่จะได้ทราบถึงเรื่องราวส่วนพระองค์เป็นพื้นฐานเสียก่อน

เริ่มแต่เชื้อสายทางฝ่ายมารดา คือ เจ้าจอมมารดาอึ่ง ซึ่งเป็นธิดา เจ้าพระยานิกรบดินทร์มหินทรมหากัลยาณมิตร เป็นผู้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ครั้งยังทรงดํารงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

ครั้งนั้นเจ้าพระยานิกรบดินทร์ฯ ยังเป็นเพียง เจ้าสัวโต พ่อค้าสําเภาที่มีชื่อเสียง ได้ถวายตัวเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณในหน้าที่ดูแลผลประโยชน์การค้าสําเภาหลวง จนกิจการเจริญรุ่งเรืองผลประโยชน์งอกเงย เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ถึงกับทรงออกพระโอษฐ์ดํารัสว่า เจ้าสัวโตเป็นมิตรที่ดีคนหนึ่งของพระองค์

และเมื่อโปรดพระราชทานนามบรรดาศักดิ์ ก็ทรงให้มีความหมายตามที่ทรงมีพระราชดํารัส คือ เจ้าพระยานิกรบดินทร์มหินทรมหากัลยาณมิตร และยิ่งมีความเกี่ยวพันกันใกล้ชิดขึ้น เมื่อเจ้าพระยานิกรบดินทร์ฯ ถวายธิดาสาว คือ คุณอึ่ง เป็นบาทบริจาริกา

ความที่คุณอึ่งเป็นธิดาเจ้าพระยาผู้มีทั้งทรัพย์และอํานาจ จึงเป็นเจ้าจอมที่ทุกคนให้ความยกย่องและยําเกรง แม้จะสิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไปแล้ว

ในนวนิยายเรื่องแอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม ซึ่งนางแอนนา เลียวโนเวนส์ เป็นผู้แต่งขึ้นนั้น มีเรื่องราวตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับเจ้าจอมมารดาอึ่งและพระองค์เจ้าหญิงบุตรี ซึ่งแม้นวนิยายเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น แต่สภาพแวดล้อม อันได้แก่ สถานที่ หรือบุคลิกเด่นของตัวละคร ก็น่าที่จะมีเค้ามูลแห่งความเป็นจริงอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

นางแอนนา ได้กล่าวถึง ละออ ทาสคนหนึ่งของเจ้าจอมมารดาอึ่ง ซึ่งยกให้เป็นข้าหลวงพระองค์เจ้าหญิงบุตรี ได้ลักลอบรักใคร่กับแขกพ่อค้าผ้า จนถูกจับจองจํา แอนนา เข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้อง ด้วยการช่วยถวายฎีกาขอให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงช่วยละออให้เป็นอิสระ ในเรื่องบรรยายเกี่ยวกับเจ้าจอมมารดาอึ่งและพระองค์เจ้าหญิงบุตรี ว่า

“เจ้าจอมมารดาอึ่งเป็นธิดาของครอบครัวที่มีชื่อเสียงครอบครัวหนึ่งในกรุงเทพฯ และเป็นเจ้าจอมมารดาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ครอบครัวของเจ้าจอมมารดาอึ่งมีอํานาจมากในราชสํานัก แล้วตัวท่านเองก็มีตําแหน่งสําคัญในวัง เมื่อมีเรื่องอะไรเกิดขึ้น ใครจะเรียกให้ท่านมาหาไม่ได้ นอกจากจะมีพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

เรื่องนี้มีหลักฐานในพระราชพงศาวดาร ร.5 ว่า ได้แต่งตั้งให้เจ้าจอมมารดาอึ่งเป็น ท้าวสมศักดิ์ นางแอนนายังได้บรรยายต่อไปว่า พระองค์เจ้าบุตรี เป็นเจ้าจอมที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานมากพระองค์หนึ่ง แต่ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ปรากฏในประวัติศาสตร์ไทย

นางแอนนาได้บรรยายถึงเจ้าจอมมารดาอึ่งต่อไปอีกว่า

“เจ้าจอมมารดาอึ่งเป็นพระอาจารย์ของพระนางรําเพยพระมารดาของเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เจ้าจอมมารดาอึ่งจึงเป็นผู้มีอํานาจมากในวัง นอกจากนี้ใคร ๆ ก็ยังยกย่องสรรเสริญท่านว่าเป็นผู้ฝึกสอนพวกที่อยู่ในวังให้มีกิริยามารยาทสุภาพเรียบร้อย และเจ้าจอมมารดาอึ่งสามารถแต่งบทกลอนที่ไพเราะ”

 หลักฐานเอกสารที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีว่า

“ครั้นกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์สินพระชนม์ พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรด เกล้าฯ ให้รับบรรดาพระโอรสธิดา ซึ่งล้วนแต่ยังทรงพระเยาว์อยู่ทั้งนั้นเข้าไป ทรงทํานุบํารุงเลี้ยงไว้ในพระบรมมหาราชวังอยู่ที่พระตําหนักตึกกับพระองค์เจ้าลม่อมโดยมาก แต่สเด็จพระบรมราชชนนีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นั้น พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าบุตรี ทรงรับทํานุบํารุงอีกชั้นหนึ่ง

จากเรื่องราวดังกล่าวพอจะอนุมานได้ว่า พระองค์เจ้าบุตรีทรงอยู่ในแวดวงของผู้ที่สนใจและใฝ่รู้ทางด้านหนังสือ ตลอดจนเรื่องเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมปฏิบัติของชาววัง ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

สาเหตุอีกประการหนึ่ง ที่ทําให้ทรงใฝ่พระทัยในทางหนังสือมากกว่าความรู้ของกุลสตรี ก็น่าจะเนื่องมาแต่สภาพแวดล้อม ที่ว่า เจ้าจอมมารดาอึ่งเป็นเจ้าจอมที่ถือตัวว่ามีอํานาจร่ำรวย จึงมักไม่ใคร่คบค้าสมาคมสังสรรค์กับเจ้าจอมคนอื่น ๆ เป็นเหตุให้พระองค์ไม่มีโอกาสได้สมาคมกับพระราชนารีรุ่นเดียวกัน

จากสภาพแวดล้อมดังกล่าว น่าจะมีส่วนสําคัญกับพระนิสัยของพระองค์เจ้าบุตรี ดังที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเล่าไว้ว่า “ท่านประพฤติพระองค์เป็นหลักไม่หยุมหยิม ได้ชื่อว่าเป็นคนดุ ไม่เคยเห็นท่านทรงพระสรวลจนเอาไว้ไม่อยู่ หรือแสดงเสียพระหฤทัยจนวิกา”

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร

ประกอบกับช่วงเวลาที่กําลังทรงเจริญพระชันษานั้น วิทยาการสมัยใหม่อันมีวิชาหนังสือเป็นหลักได้หลั่งไหลเข้ามา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนข้าราชการฝ่ายหน้าได้พากันตื่นตัวรับวิทยาการสมัยใหม่ ซึ่งตรงกันกับความสนพระทัยของพระองค์เจ้าบุตรีอยู่แล้ว

เมื่อทรงมีโอกาส พระองค์เจ้าบุตรี จึงทรงแสวงหาความรู้เหล่านั้นอย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ตามความเป็นขัตติยราชนารีของพระองค์ยังจํากัดไว้มิให้พระองค์ได้ทรงรับรู้วิทยาการใหม่ ๆ เท่าเทียมกันกับบุรุษ จึงทรงเชี่ยวชาญเฉพาะอักขรสมัยหนังสือไทย ประเภท ธรรมะ ตํานาน วรรณคดี มีโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน กลบทต่าง ๆ อันเป็นวิชาเหมาะแก่สตรี

นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาเกี่ยวกับวิชาเลขอย่างไทย วิชาดาราศาสตร์ จนทรงสามารถสอนลูกศิษย์ให้มีความรู้วิชาดังกล่าวเป็นพื้นฐานเบื้องต้น

ความเชี่ยวชาญด้านภาษาไทยของพระองค์เจ้าหญิงบุตรีเป็นที่ยอมรับและเลื่องลือกันว่า แม้ข้าหลวงในสํานักก็มีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาไทยอย่างสละสลวยดีเยี่ยม

จากข้อเขียนของนางแอนนาตอนหนึ่ง กล่าวถึงคุณสมบัติของละออข้าหลวงพระองค์เจ้าหญิงบุตรีว่า “เป็นผู้รู้จักเลือกใช้คําที่ไพเราะในการเล่าเรื่อง และการพรรณาความงามของธรรมชาติ ทําให้นางนึกได้ว่า หล่อนอยู่ในวังมาตั้งแต่เด็ก ๆ และได้เรียนวิชาการช่างต่าง ๆ ตลอดจนรู้จักเขียนคํากลอนได้อย่างไพเราะ พวกเจ้านายในวังคงจะได้อบรมสั่งสอนพวกข้าหลวงให้มีความรู้ความสามารถ

นอกจากจะทรงเป็นพระอาจารย์ถ่ายทอดวิชาความรู้เบื้องแรกแก่เหล่าพระราชกุมาร กุมารี แทบจะทุกพระองค์แล้ว ในท่ามกลางน้ำพระทัยที่เข้มแข็งจนกล่าวกันว่าเป็นคนดุนั้น พระองค์เจ้าหญิงบุตรีก็ทรงมีพระอารมณ์อันละเอียดอ่อน ละเมียดละไม โปรดการกวี ทรงเชี่ยวชาญการพระนิพนธ์โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เป็นที่ยอมรับกันในหมู่จินตกวีแห่งพระราชสํานัก

แม้จะไม่มีหลักฐานผลงานปรากฎ แต่จากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระราชนิพนธ์ “ลิลิตนิทราชาคริต” และโปรดให้จินตกวีมีชื่อในสมัยนั้นช่วยกันตรวจแก้ใบหน้าแท่นนั้น พระองค์เจ้าบุตรี ทรงเป็นจินตกวีหญิงเพียงพระองค์เดียวที่ทรงได้รับเลือก ท่ามกลางจินตกวีชาย ซึ่งประกอบด้วย กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) และกรมพระสมมตอมรพันธ์ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงพระปรีชาสามารถด้านอักษรศาสตร์ของพระองค์เป็นอย่างดี

และถึงแม้จะมีพระอุปนิสัยที่ไม่โปรดสั่งหยุมหยิม แต่ก็ทรงมีพระจริยวัตรที่อ่อนโยนละมุนละม่อม ดังปรากฏหลักฐานว่า ทรงเป็นพระราชธิดาที่ทรงรับหน้าที่เป็นองค์ราชูปัฏฐาก ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชชนก

และในหน้าที่นี้เอง ได้ทรงนํา หม่อมเจ้าหญิง พระธิดา กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ซึ่งอ่อนพระชันษากว่า ประมาณ 6 ปี เข้ามารับใช้สนองพระเดชพระคุณในสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช หน้าที่อยู่งานพัด เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงพระราชทานนามว่า รําเพย ซึ่งในกาลต่อมาก็คือ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

หรือเมื่อครั้ง สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ เป็นที่นับถือในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรกระเสาะกระแสะนานถึง 11 ปี พระองค์เจ้าหญิงบุตรีก็ทรงทําหน้าที่พยาบาลรักษาดูแลเอาพระทัยใส่ตลอดมา จนกระทั่งเสด็จสวรรคต เป็นที่ประจักษ์ชัดถึงน้ำพระทัยที่งดงามและพระจริยวัตรที่อ่อนโยนละมุนละม่อม

ด้วยพระจริยวัตรที่น่าชื่นชมและพระปรีชาสามารถด้านอักษรศาสตร์เป็นเลิศ ทําคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดสถาปนายกขึ้นเป็น พระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายใน และทรงยกย่องดํารงฐานะพระบรมราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่จนตลอดพระชนม์ชีพ

เช่น ครั้งที่ทรงประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระที่นั่งอัมพรสถาน ใน พ.ศ. 2449 แม้กรมหลวงวรเสรฐสุดาจะทรงเจริญพระชันษา คือ 79 พรรษา เสด็จพระดําเนินไม่ใคร่ไหว แต่ก็ยังโปรดเกล้าฯ ยกย่องพระเกียรติยศให้ทรงรับหน้าที่ลาดพระยี่ภูพระแท่นบรรทม และถวายหินบดในพระราชพิธีด้วย

พระองค์เจ้าหญิงบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคชรา เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2450 พระชนมายุ 80 พรรษา

ถึงแม้เวลาจะผ่านไปแสนนาน แต่แนวพระดําริอันแปลกแยกจากสมัยและพระกรณียกิจอันเป็นคุณแก่ประเทศชาติ โดยผ่านทางเหล่าศิษย์สํานักพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี ซึ่งถือกันว่าทรงเป็น “ครูคนแรก” นั้น ยังคงเป็นที่จดจําและเล่าขานสืบมาจนปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มกราคม 2562