ไทยเปิด “ตลาดเสรี” ตั้งแต่รัชกาลที่ 3 ก่อนทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง

จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดเมืองกาย อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทราสะท้อนให้เห็นถึงการเปิดเสรีทางการค้าของกรุงสยามที่มีมาตั้งแต่ช่วงก่อนสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง

หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีประเทศอังกฤษแลประเทศสยาม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “สนธิสัญญาเบาว์ริง” สนธิสัญญาที่ราชอาณาจักรสยามทำกับสหราชอาณาจักร ลงนามเมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 โดยมีสาระสำคัญคือการเปิดการค้าเสรีกับต่างประเทศในสยาม

หากก่อนหน้านั้นไทยก็มีการค้าเสรีแล้ว ซึ่งศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนอธิบายไว้ใน “การค้าเสรี สมัยรัชกาลที่ 3” ไว้ดังนี้

ในรัชกาลที่ 2 รัฐบาลมิได้ผูกขาดสินค้าสําคัญทุกชนิด เพียงแต่ผูกขาดสินค้าที่ใช้บรรทุก ในสําเภาหลวงจํานวนมากเท่านั้น

ตามรายงานของเบอร์นีซึ่งรู้จักประเทศไทยดีกว่าและอยู่เมืองไทยนานกว่ากล่าวว่า มีการผูกขาดครั่ง ไม้ฝาง งาช้าง การบูร และพริกไทยเท่านั้น ในสมัยเดียวกันมีสินค้าที่ขายได้ดีในตลาดภายนอกประเทศอีกหลายอย่างที่ไม่ได้ถูกผูกขาด เช่น ดีบุก เนื้อแห้ง ปลาช่อนแห้ง กุ้งแห้ง หมาก ฝ้ายไม่มีเมล็ด หนังสัตว์ ไม้ที่ทําเป็นเครื่องเรือหรือเครื่องเรือนแล้ว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ พ่อค้าจีนจากเมืองจีนก็ได้นําออกไปจํานวนไม่น้อย

การค้าของอเมริกันในสมัยรัชกาลที่ 2 ก็มีแต่เพิ่มพูนขึ้น และดูเหมือนจะเป็นที่พอใจ ของพ่อค้าอเมริกันอยู่ด้วย ตั้งแต่ พ.ศ. 2361 ก็มีพ่อค้าอเมริกันรายแรกเข้ามาค้าขาย นายมอร์แกน ซึ่งเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ

เมื่อ พ.ศ. 2364 กล่าวว่า เรือกําปั่นอเมริกันชื่อเปอร์เซีย ได้เข้ามาเมืองไทยเป็นครั้งที่สาม แล้ว พ่อค้าอเมริกันนําปืนมาถวายถึง 5,000 กระบอก และได้รับความสะดวกอย่างดีในการค้า เพราะฉะนั้น จนถึงปี พ.ศ. 2364 (ซึ่งนายมอร์แกนมาพบนั้น) มีเรืออเมริกันเข้ามาเยี่ยมกรุงเทพฯ เพื่อซื้อสินค้าออกไป รวมทั้งหมดถึง 12 เที่ยวแล้ว และเพราะการค้าที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นนี้เองที่กล่าวกันว่าจะมีการตั้งคลังสินค้าของอเมริกันขึ้นในกรุงเทพฯ ในเวลาไม่นาน เพราะการค้าที่นี่ ได้กําไรมาก

ในสมัยรัชกาลที่ 3 แม้แต่นโยบายผูกขาดสินค้าก็ถูกยกเลิกไป โดยการตัดสินใจเป็น อิสระของรัฐบาลที่กรุงเทพฯ เอง มิใช่เพราะการบีบบังคับของอังกฤษจากการทําสัญญาเบอร์นี้ ดังที่นักวิชาการฝรั่งบางคนเข้าใจ

เบอร์นีกล่าวว่านับตั้งแต่วันแรกที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ก็ได้ทรงประกาศเลิกการผูกขาด และปล่อยให้มีการค้าเสรี ข้อความดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับจดหมายของชาวโปรตุเกสผู้หนึ่ง ซึ่งมีไปถึงนายครอว์เฟิร์ดที่สิงคโปร์ใน พ.ศ. 2367 ว่า

“ทันทีที่เจ้านายพระองค์นี้เสด็จขึ้นสู่ราชบัลลังก์ พระองค์ก็ได้ทรงพระกรุณาสั่งอนุญาให้ทุกชาติที่มาเยี่ยมสยามได้ขายและซื้อ นําออก และนําเข้า กับประชาราษฎรทุกคนที่ตนคิดว่าสมควร โดยไม่มีข้อขัดขวาง เพียงแต่ต้องจ่ายภาษีศุลกากรเท่านั้น สิ่งนี้ได้ทําไปโดยไม่มีการวิวาทกับ พวกขุนนางเลย”

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นที่รู้กันดีในหมู่พวกอังกฤษในอาณานิคม แม้แต่แรฟเฟิลส์ ซึ่งเป็นบรรณาธิการให้แก่หนังสือของฟินเลย์สัน ยังได้เขียนเชิงอรรถาธิบายไว้ใน พ.ศ. 2369 ว่า กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้เป็นกษัตริย์ ได้ทรงอนุญาตให้มีการค้าเสรีแก่ประชาชนของพระองค์ และชาวต่างชาติ ยกเว้นปืนไฟ ฝิ่น และของต้องห้ามอีกบางอย่างที่ยังสงวนไว้เท่านั้น

เหตุฉะนั้น ความสําเร็จของเบอร์นีในการทําสัญญากับไทยใน พ.ศ. 2369 นั้น ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะสถานการณ์ทางการเมืองบังคับ แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะข้อกําหนดเกี่ยวกับการค้าในสัญญาฉบับนี้ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว

แม้แต่สัญญาเบอร์นีเอง ต่อมาในภายหลัง เมื่ออังกฤษมีอาณานิคมเพิ่มขึ้นในตะวันออกไกล และมีอิทธิพลผลประโยชน์ในการค้าของจีนมากขึ้น ก็ไม่พอใจสัญญานี้และต้องการเปลี่ยนแปลง ทั้งๆ ที่สัญญาฉบับนี้ (และสัญญากับสหรัฐฯ) เคยเป็นที่พอใจกับพ่อค้าตะวันตกไม่น้อย ข้อกําหนดที่ถูกโจมตีในภายหลังนั้นเคยได้รับการต้อนรับจากพ่อค้าตะวันตกมาอย่างดี พอสมควร มีรายงานจาก พ.ศ. 2378 ว่า แม้ว่าข้อกําหนดของสัญญาเกี่ยวกับค่าปากเรือนั้น ดูเผินๆ เหมือนกับว่าจะแพงมาก คือ 4.275 เหรียญสหรัฐฯ สําหรับเรือที่มีความกว้าง 25 ฟุต แต่จะพบว่า ที่จริงแล้วราคานี้มีค่าไม่มากไปกว่าภาษี 10-12 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าที่ราคาสูงเลย

นโยบายเปิดการค้าเสรีได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แต่นโยบายนี้ก็อาจไปขัดแย้งกับผลประโยชน์ของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่มีสําเภาค้าขายของตนเอง และเคยจัดการค้าของตนได้สะดวก โดยอาศัยอํานาจหน้าที่ของตนที่เกี่ยวกับการผูกขาดมาแล้ว ดังเช่น เจ้าพระยาพระคลังและน้องชาย คือ พระยาศรีพิพัฒน์ ได้ขัดขวางการค้าเสรีของพ่อค้า และก่อให้เกิดอุปสรรคในการค้าอยู่บ้าง

จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดเมืองกาย อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทราสะท้อนให้เห็นถึงการเปิดเสรีทางการค้าของกรุงสยามที่มีมาตั้งแต่ช่วงก่อนสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง

อย่างไรก็ตาม สัญญาเบอร์นีก็ได้รับการเคารพจากรัฐบาลไทย และสภาพการค้าอยู่ในฐานะที่พอจะทนได้แก่พ่อค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะจากตะวันตก สัญญากับสหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2376 ซึ่งลดค่าปากเรือลง จากวาละ 1,700 บาท เหลือ 1,500 บาท สะท้อนให้เห็นความเอาใจใส่ของไทยในการที่จะบํารุงการค้าของชาวต่างชาติให้รุ่งเรืองในประเทศ โดยเฉพาะเมื่อคํานึงถึงว่าค่าปากเรือนไทยเคยเก็บในสมัยหนึ่งด้วยราคาถึงวาละ 2,200 บาท

การค้าระหว่างพ่อค้าตะวันตกและไทยเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว มีเรือกําปั้น เข้ามาจอดที่กรุงเทพฯ เพื่อนําสินค้าของไทยออกไป โดยเฉพาะน้ำตาล จํานวนเพิ่มขึ้น ในพ.ศ. 2385 มีรายงานว่ามีเรือกําปั่นเข้าเทียบท่าเมืองกรุงเทพฯ ไม่น้อยกว่า 55 ลํา ส่วนใหญ่ เป็นเรือกําปั้นที่ชักธงอังกฤษในจํานวนนี้มีอยู่ 9 ลําที่เข้าเทียบท่ากรุงเทพฯ เป็นประจําทุกปี และถ้าไม่นับที่มาจากอังกฤษโดยตรง 3 – 4 ลําแล้ว ส่วนใหญ่ก็เป็นเรือกําปั่นมาจากบอมเบย์ สิงคโปร์ หรือจีน ส่วนใหญ่ก็บรรทุกน้ําตาลออกไป ปริมาณการส่งออกน้ําตาลใน พ.ศ. 2547 มีถึง 110,000 หาบของน้ำตาลชั้นหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศของการค้าเสรีนี้เริ่มเสื่อมลงในปลายรัชกาล เพราะรัฐบาลหันกลับมาผูกขาดสินค้าใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะเริ่มผูกขาดน้ำตาลซึ่งเป็นสินค้าออกที่สําคัญ ในขณะนั้น

เหตุผลที่แท้จริงของการเปลี่ยนนโยบายในปลายรัชกาลที่ 3 นั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด อดีตศาสตราจารย์เวลลาอธิบายว่าความสนใจของรัฐบาลในการทําการค้าเองโดยตรง เริ่มนับ ตั้งแต่ตอนกลางของทศวรรษ 2370 เป็นต้นมา ทําให้รัฐบาลต้องการกีดกันสินค้าที่ขายดี เช่น น้ำตาล มาทําเสียเอง เพื่อจะได้กําไรมาก แต่หลักฐานของไทยคือ ตราถึงพระยานครไชยศรี ดังที่อ้างข้างต้น ลงศักราช พ.ศ. 2386 ยังชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลสนใจต่อการค้าของ “สลุบกําปั้น” อย่างมาก และต้องการเพิ่มผลผลิตน้ำตาลภายในประเทศ เพื่อป้อน “สลุบกําปั่น” เหล่านั้น

เซนต์จอห์นซึ่งเป็นเลขานุการคณะทูตเซอร์เจมส์ บรู๊ค อธิบายท่าทีซึ่งเปลี่ยนไปของ รัฐบาลไทยว่า ที่จริงแล้วพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงโปรดปรานอังกฤษ แต่หลังจากทรงมีเรื่องวิวาทกับนายฮันเตอร์ เรื่องการซื้อเรือกลไฟแล้วเลยทรงชังคนต่างชาติ และทําให้การเจรจาของบรู๊คไม่ประสบผลสําเร็จ

คําอธิบายเช่นนี้ดูเหมือนจะมีต้นกําเนิดมาจากความเห็นของนายฮันเตอร์เอง ใน พ.ศ. 2392 มีพ่อค้าอังกฤษผู้หนึ่ง ซึ่งอ้างว่าได้อยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน เขียนคําร้องไปยังรัฐบาลอังกฤษในลอนดอน บรรยายการละเมิดสนธิสัญญาของรัฐบาลไทย ในกรณีของการขาย น้ำตาลว่ารัฐบาลไทยเริ่มจะละเมิดสัญญาเบอร์นี้ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2383 แล้ว ครั้นเห็นว่าอังกฤษ ไม่ประท้วงใน พ.ศ. 2385 จึงได้ผูกขาดน้ำตาลอย่างสมบูรณ์ เป็นผลให้น้ำตาลในกรุงเทพฯ ราคาแพงขึ้นถึงร้อยละ 40 ทั้งยังไม่ยอมแบ่งเกรดคุณภาพน้ำตาลอีกด้วย เลยทําให้ผู้ผลิตไม่ผลิตน้ำตาลคุณภาพดีอย่างที่เคย เข้าใจว่าผู้ร้องก็คือนายฮันเตอร์นั่นเอง

และดังที่กล่าวแล้วว่าข้อความนี้ถูกขัดแย้งด้วยหลักฐานชั้นต้นของไทยเองอย่างน้อย รัฐบาลก็ยังไม่ได้เริ่มผูกขาดน้ำตาลอย่างเด็ดขาดจนถึง พ.ศ. 2386 หลักฐานต่างประเทศข้างต้น ชี้ว่า ใน พ.ศ. 2378 การค้าน้ำตาลยังมีปริมาณมาก และพ่อค้าตะวันตกก็ได้ซื้อน้ำตาลออกไป จํานวนมาก จึงอาจกล่าวได้ว่าหาหลักฐานที่อธิบายความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างน่าเชื่อถือยังไม่ได้

อาจเป็นไปได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้มีมูลเหตุจากสภาพอันซับซ้อนของการเมืองภายใน เช่น การมีอํานาจเพิ่มขึ้นของตระกูลบุนนาค หลังอนิจกรรมของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ในขณะที่พระราชอํานาจของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เริ่มจะลดลง อาจเป็นไปได้ว่าความพยายาม จะขยายการค้าต่างประเทศของรัฐบาลโดยรักษาระบบไพร่เอาไว้ ได้มาถึงจุดอิ่มตัวเพียงแค่นั้น เพราะการเพิ่มผลผลิตน้ำตาล ย่อมหมายถึงการปลดปล่อยแรงงานไพร่ไปสู่การผลิตอ้อย

อาจเป็นไปได้ว่าการแข่งขันของประเทศอาณานิคมอื่นๆ ในการผลิตเพื่อส่งออกสัมฤทธิ์ผล ทําให้มีการผลิตที่มีประสิทธิภาพกว่า อาจเป็นไปได้ว่าพ่อค้าตะวันตกเองมีอํานาจ ทางการเมืองมากขึ้น และอยากใช้อํานาจนั้นเพื่อกดขี้การค้าของไทยให้ได้ประโยชน์แก่ตนเพิ่มขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการคาดคะเน และยังรอคอยการศึกษาที่ละเอียดกว่าที่ได้เคยทํากันมาแล้ว เพื่ออธิบายการเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาลไทยต่อการค้าต่างประเทศใน 5-6 ปี สุดท้ายของรัชกาลที่ 3

การค้ากับต่างประเทศซึ่งเฟื่องฟูขึ้นอย่างรวดเร็วในต้นรัตนโกสินทร์ทําให้กําไรที่ได้ จากการค้าของหลวงเองด้อยความสําคัญลง แม้ว่ากษัตริย์ในต้นรัตนโกสินทร์ทุกพระองค์จะยังทรงรักษาสําเภาของหลวงและทําการค้าตลอดมา แต่ก็เป็นการดําเนินงานเพื่อเป็นรายได้ส่วนพระองค์ มากกว่าเป็นกิจการของแผ่นดิน ในบางรัชกาลการค้าของหลวงประสบภาวะขาดทุน ในขณะที่พ่อค้าจีน เจ้านาย และขุนนาง ได้กําไรจากการค้าสําเภาของตนเป็นอันมาก

เหตุผลที่สําคัญที่การค้าสําเภาหลวงไม่ได้รับความเอาใจใส่เท่าที่ควรจากรัฐบาล ก็เพราะโอกาสในทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะถือประโยชน์ได้เกิดขึ้นใหม่อีกหลายอย่าง และให้ผลกําไรแก่รัฐบาลได้มากกว่า โอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจนี้ก็คือ การผลิตสินค้าเพื่อการตลาด ซึ่งมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และปริมาณ การค้าของเอกชนซึ่งเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน สินค้าที่ผลิตขึ้นเพื่อการส่งออกและการค้ากับต่างประเทศ ของเอกชน ทําให้การค้าเป็นรากฐานของรายได้ของรัฐบาลต้นรัตนโกสินทร์มากกว่าการค้าสําเภา หลวงหรือการผูกขาดสินค้า

รายได้ของรัฐบาลที่ได้จากการเก็บภาษีอากรแก่การผลิตเพื่อการตลาดเพิ่มพูนขึ้นอย่างมาก ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยอาศัยระบบเจ้าภาษีนายอากร การขยายตัวของระบบเจ้าภาษีนายอากรนี้ เป็นพยานอย่างดีของการขยายตัวของการผลิตเพื่อการตลาด

 


ข้อมูลจาก ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์. “การค้าเสรี สมัยรัชกาลที่ 3,” เอกสารประกอบการเสวนา “ตลาดเสรี” รัชกาลที่ 3 เปิดก่อนสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง 30 มีนาคม 2553, ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ บรรณาธิการ


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2562