“อากรค่าน้ำ” คืออะไร ทำไมรัชกาลที่ 3 โปรดให้ยกเลิก แต่รัชกาลที่ 4 ทรงให้รื้อฟื้น?

รัชกาลที่ 3
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ประกอบกับฉากหลังเป็นภาพพระวิหาร (พระอุโบสถ) วัดหลวง เมืองมงคลบุรี ภาพจากนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2558

รัชกาลที่ 3 โปรดให้ยกเลิก อากรค่าน้ำ แต่เมื่อสิ้นรัชกาลแล้ว รัชกาลที่ 4 กลับทรงให้รื้อฟื้น

ก่อนเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมี “คำสั่งเสีย” กับเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นคือ เรื่องการพระราชกุศลที่ยังไม่ลุล่วง อันได้แก่การซ่อมแซมวัดต่างๆ ที่ยังดำเนินการค้างอยู่

ซึ่งทรงมีพระราชดำรัสกำชับ ตอนหนึ่งที่ว่า

“…เงินในพระคลังข้างที่เหลือจับจ่ายใช้ราชการแผ่นดินมีอยู่ 40,000 ชั่ง ขอสัก 10,000 ชั่งเถิด ถ้าผู้ใดเป็นเจ้าของแผ่นดินแล้ว ให้ช่วยทนุบำรุงวัดที่ชำรุดและการวัดที่ค้างอยู่นั้นเสียให้แล้วด้วย”

เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขึ้นครองราชย์ ทรงดำเนินการตามพระราชดำรัส ข้างต้น ทว่าพระองค์เองก็ทรง “เดือดร้อนรำคาญใจ” จากการดังกล่าว รายละเอียดเรื่องนี้ สุพจน์ แจ้งเร็ว ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้ในบทความชื่อ “พระราชศรัทธาในรัชกาลที่ 3 กับพระราชวิจารณ์ในรัชกาลที่ 4” ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2566

หนึ่งในจำนวนนั้นคือ พระราชศรัทธาของรัชกาลที่ 3 โปรดให้ยกเลิก “อากรค่าน้ำ”

นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2566

อากรค่าน้ำ คืออากรเรียกเก็บจากการจับปลาในแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง ฯลฯ ใครจะจับปลาจะต้องเสียเงินให้นายอากร ตามประเภทเครื่องมือจับสัตว์น้ำ ที่ทางการกำหนดว่าชนิดใดต้องเสียเท่าใด ใครจะตกเบ็ดทอดแหหาปลามาทำกับข้าวกินเองตามใจชอบไม่ได้ มีนายอากรเป็นผู้ไล่เก็บเงินส่งให้แก่ราชสำนัก

การเก็บอากรในสมัยนั้น คือใช้วิธี “ผูกขาด” ทางราชการจะตั้งอัตราไว้ว่าต้องการเงินเท่าใด นายอากรคนใดประมูลได้ ก็ให้ดำเนินการเรื่องนั้นแต่ผู้เดียว ไม่มีคู่แข่ง นายอากรมีหน้าที่ส่งเงินตามการประมูลให้แก่ราชสำนัก ซึ่งจะระบุไว้โดยแน่นอนว่า เข้าพระคลังหลวงเท่าใด, ให้เจ้านายพระองค์ใดเท่าใด ส่วนที่เหลือเป็นกำไรสำหรับนายอากร ส่วนจะเรียกเก็บจากราษฎรได้เท่าใด เป็นเรื่องของนายอากรที่จะไปดำเนินการ

ในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ละปีรัฐมีรายได้จากอากรค่าน้ำละ 700 ชั่ง หรือ 56,000 บาท

การทรงเลิก อากรค่าน้ำ ย่อมกระทบถึงรายได้ของราชสำนักและเจ้านายบางพระองค์ ก่อนการยกเลิกนั้น ในปี 2369 รัชกาลที่ 3 มีพระราชปุจฉาต่อสมเด็จพระสังฆราชและบรรดาพระราชาคณะ เพราะ

“ทรงพระราชรำพึงเห็นว่า ทรงบำเพ็ญซึ่งศีลบารมีแลทานบารมีทั้งปวงนั้นก็นับเนื่องเข้าในพระสมดึงษบารมี ล้วนเปนปัจจัยแก่พระโพธิญาณบารมีสิ้นทั้งนั้น พระกระมลหฤทัยจะยังพระสมดึงษบารมีให้บริสุทธิ์ จึงทรงพระวิมุติสงไสยในอากรค่าน้ำและอากรสุรา เกรงจะเปนที่เศร้าหมองแห่งสัมมาอาชีวะ…”

สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะทั้งหลายถวายวิสัชชนาว่า การที่ราษฎร “ประพฤติเลี้ยงชีพโดยชอบธรรมแลบมิได้ชอบธรรมเปนบุญเปนบาปประการใดนั้น ก็มีแก่ชนทั้งปวงตามแต่ที่ประพฤติดีแลชั่วโดยโวหารกิจแห่งตนต่างๆ ใช่จะนับมาถึงพระบวรราชสันดานด้วยนั้นหามิได้”

สุดท้าย รัชกาลที่ 3 ก็ทรงให้ยกเลิกอากรค่าน้ำ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงครองราชย์ได้ราวหนึ่งปี ทรงเห็นว่า การยกเลิกอากรค่าน้ำทำให้เสียรายได้แผ่นดิน ไม่มีประโยชน์อันใด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกเก็บอากรค่าน้ำเช่นเดิม โดยให้มีใบบอกไปยังหัวเมืองต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

หนังสือหรือใบบอกไปถึงกรมการเมืองต่างๆ ฉบับนี้ ในช่วงกลางของหนังสือนี้ เป็นพระราชนิพนธ์ที่รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริไว้ว่า

“อากรค่าน้ำนี้ก็เปนทางที่ให้บังเกิดพระราชทรัพย์อย่างหนึ่ง สำหรับแผ่นดินในสยามประเทศนี้มีมาแต่โบราณสืบๆ…จะได้ยินว่าในแผ่นดินพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดองค์หนึ่งจะให้เลิกถอนเสียนั้นหามิได้ เพราะคนชาวประเทศไทยมีปรกติดังธรรมดา มีเนื้อแลปลาเปนกับเข้าเปนนิจทุกตัวคนทุกตำบลทุกแห่ง จะเปนคนกินแต่ของเครื่องเค็มแลเต้าหู้ซึ่งเปนสิ่งมิใช่เนื้อปลาเปนกับเข้าดังจีนบางจำพวกก็ดี หรือเปนคนกินนมเนยถั่วงาเปนกับเข้าดังพราหมณ์แลคนชาวมัชฌิมประเทศโดยมากก็ดี หามีไม่

เพราะฉนั้นท่านผู้ครองแผ่นดินมาแต่ก่อนจึงได้เก็บอากรแก่คนหากุ้งหาปลาเหมือนเก็บค่านาสมพักสรแก่ผู้ทำนา ทำไร่ ทำสวน เสมอกันไปทั้งพระราชอาณาเขตร์ รวบรวมพระราชทรัพย์มาใช้จ่ายเปนการทำนุบำรุงแผ่นดิน คุ้มครองราษฎรทั้งปวงไว้ให้อยู่เย็นเปนสุข ก็แลประเพณีรักษาแผ่นดินอย่างประเทศไทยนี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่กาลแลประเทศอันนี้อยู่แล้ว…” (จัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียน)

การเรียกเก็บอากรค่าน้ำใหม่อีกครั้งในปี 2395 และเพื่อให้ราษฎรผู้เสียอากรเข้าใจว่า เหตุใดอากรที่ยกเลิกแล้วกลับมีเรียกเก็บใหม่ปี 2399 จึงทรงออกประกาศว่าด้วยกลับตั้งอากรค่าน้ำ แลลดค่านาคู่โค ให้เป็นที่รับรู้กัน โดยทรงอธิบายไปในทำนองเดียวกันกับที่มีในหนังสือบอกถึงกรมการเมืองเมื่อก่อนหน้านั้น ความตอนหนึ่งว่า

“ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเพลิดเพลินไปในการพระราชกุศลมากนัก…ซึ่งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยกเงินอากรค่าน้ำ…จำนวนเงินควรจะได้เข้าท้องพระคลังทุกปี ปีละ 700 ชั่งเศษนั้น ก็ไม่เป็นคุณอันใดแก่สัตว์ดิรัจฉานสมดังพระราชประสงค์ แลไม่ได้มาเปนคุณเกื้อกูลหนุนแก่พระพุทธศาสนาด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง แลไม่ได้เปนคุณแก่ราชการแผ่นดินเลย

…แลเมื่อโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยกเลิกค่าน้ำจะให้เปนประโยชน์แก่สัตว์ดิรัจฉานก็มิได้เปนคุณแก่สัตว์ดิรัจฉาน เห็นเปนคุณมากแต่แก่คนฆ่าสัตว์หาปลาให้ได้ทำกินเหมือนเปนไทแก่ตัว ไม่ต้องเสียส่วยช่วยราชการแผ่นดิน เปนสุขดีเสียกว่าคนที่เลี้ยงชีวิตด้วยสัมมาอาชีพ คือทำนาแลทำไร่ทำสวนนั้นเสียอีก แลพวกที่หาปลาได้รับผลประโยชน์ยกภาษีอากรที่ตัวควรจะต้องเสียปีละ 700 ชั่งเศษทุกปีนั้นไปแต่ในหลวงดังนี้มาหลายปีแล้ว ก็ไม่ได้มีกตัญญูรู้พระเดชพระคุณ มาทำราชการฉลองพระเดชพระคุณในหลวง ให้ปรากฏเห็นประจักษ์เฉพาะแต่เหตุนั้นแต่สักอย่างหนึ่ง.” (จัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียน)

ศิลปวัฒนธรรม ฉบับปฐมฤกษ์ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2522
นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับปฐมฤกษ์ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2522

เรื่องการยกเลิก อากรค่าน้ำ ที่กล่าวมานี้ก็เป็นเขียนมาพอเป็นสังเขป ส่วนเหตุที่ทำให้รัชกาลที่ 4 เดือดร้อนรำคาญพระราชหฤทัยนั้นคือเรื่องใดบ้าง และพระองค์ทรงมีพระราชวิจารณ์อย่างไร ติดตามได้ใน “ศิลปวัฒนธรรม” เดือนพฤศจิกายน 2566 ฉบับครบรอบ 44 ปี ก้าวสู่ปีที่ 45 แถมฟรี! ศิลปวัฒนธรรม ฉบับปฐมฤกษ์ ในรูปแบบ MINI 

สั่งซื้อ ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2566 ได้ที่
website : https://bitly.ws/32amN
LINE Shop : https://bitly.ws/32amY
LINE : @matichonbook
Call center 089-531-0718, 096-845-4877

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2566