ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะในรัชสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2199-2231) “หมอฝรั่ง” เป็นอีกชนชาติหนึ่งที่มีบทบาทในการรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยในราชสำนัก ได้เป็นถึง “แพทย์หลวง” และยังคงมีบทบาทสืบเนื่องมาถึงรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ
กำพล จำปาพันธ์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อยุธยา เล่าเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex (สำนักพิมพ์มติชน) ตอนหนึ่งว่า
แพทย์หลวงชาวยุโรปมีที่มาจาก 2 กลุ่ม คือ บาทหลวง กับแพทย์ประจำบริษัทวีโอซี (VOC) ของฮอลันดา ในจำนวนนี้ ดาเนียล บรอชบูร์ด (Daniel Brochebourde) อดีตแพทย์ประจำบริษัทวีโอซีที่อยุธยา เป็นที่รู้จักและได้รับความไว้วางใจจากราชสำนักอยุธยาอย่างสูง
หมอดาเนียลเป็น “แพทย์หลวง” ของสมเด็จพระนารายณ์ฯ และสมเด็จพระเพทราชา เมื่อเขาเสียชีวิต โมเสส บรอชบูร์ด (Moses Brochebourde) ก็สืบทอดตำแหน่งดังกล่าวต่อจากบิดาจนถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ และเมื่อหมอโมเสสเสียชีวิตใน พ.ศ. 2267 ลูกชายของเขาคือ เยเรเมียส บรอชบูร์ด (Jeremias Brochebourde) ก็สืบตำแหน่งแพทย์หลวงต่อมาอีกเช่นกัน รวมแล้วก็ 3 ชั่วคนเลยทีเดียว
ส่วนกลุ่มบาทหลวงก็มีบทบาทในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้ชาวอยุธยาด้วยเช่นกัน โดยใช้วิธีรักษาแบบตะวันตกควบคู่กับการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ และพยายามเปลี่ยนความเชื่อทางศาสนาของชาวอยุธยา อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่าชาวเมืองเปลี่ยนความเชื่อหลังได้รับการรักษา เพราะการเปลี่ยนศาสนาเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบระบบไพร่
กำพลระบุในหนังสือด้วยว่า ถึงอย่างนั้น บาทหลวงก็ประสบความสำเร็จในการดูแลรักษาคนพื้นเมืองที่เป็นชาวคริสต์ เช่น ชาวเวียดนาม กระทั่งบาทหลวงฝรั่งเศสสามารถแยกตัวจากบ้านโปรตุเกส มาตั้งโบสถ์ใหม่ที่บ้านญวน ข้างวัดพุทไธศวรรย์ในเวลาต่อมา
อ่านเพิ่มเติม :
- เล่าเรื่อง พระเพทราชา ได้ราชสมบัติแบบตกกระไดพลอยโจน?
- รู้จัก “พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์” สุดอลังการ ที่มาพระนาม “สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ”
- ก้างก็เยอะ-กินก็ยาก! ทำไม “พระเจ้าท้ายสระ” ถึงโปรดเสวย “ปลาตะเพียน”
อ้างอิง :
กำพล จำปาพันธ์. มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex. พิมพ์ครั้งที่ 2. สำนักพิมพ์มติชน. 2563
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2566