กวนอู ขุนพลมือดีที่ยโส ต้นเหตุการล่มสลายของจ๊กก๊ก

กวนอู แม่ทัพ นักรบ
กวนอู (สวมชุดสีเขียว) มีลูกน้องคนสนิทยืนถือ “ง้าว” ที่เป็นอาวุธประจำตัวให้อยู่ด้านข้าง

“กวนอู” (ค.ศ. 161-219) ขุนพลเบอร์ 1 ของฝ่ายเล่าปี่หรือจ๊กก๊ก ได้สร้างผลงานเลื่องชื่อ ที่สร้างแรงสะเทือนไปทั่วแผ่นดิน ในการตี “เมืองอ้วนเซีย” (บ้างเรียก ฮวนเสีย) เมื่อ ค.ศ. 219 ถือเป็นจุดรุ่งเรืองสูงสุดของชีวิต ขณะเดียวกันก็เป็นการเริ่มของจุดเสื่อมถอยในชีวิตของกวนอู

ปี 219 โจโฉเสียทีเล่าปี่ในศึกฮันต๋ง จึงถอนกำลังกลับไป เล่าปี่ตั้งตนเป็น “ฮันต๋งอ๋อง” และแต่งตั้งกวนอูเป็นแม่ทัพหน้า ทั้งมอบเกาทัณฑ์และง้าวทองคำรูปพระจันทร์เสี้ยว ปีนั้นกวนอูประจำการอยู่ที่ลำกุ๋นในเกงจิ๋ว จึงนำกำลัง 30,000 นาย บุกไปทำศึกที่ “เมืองอ้วนเซีย” และสามารถเอาชนะโจหยินที่ประจำการอยู่

ครั้งนั้น กวนอูมีกำลังพลมากกว่าโจหยิน ขณะเดียวกันน้ำในแม่น้ำฮั่นขึ้นสูง สมรภูมิเป็นที่ราบลุ่ม ฝ่ายกวนอูมีกองเรือขนาดใหญ่ จึงใช้น้ำล้อมฝ่ายตรงข้ามจนได้ชัยชนะ และยึดเมืองมาได้

อ้วนเซียเป็นเมืองสำคัญตอนเหนือของเมืองเกงจิ๋วที่อยู่ในครอบครองของโจโฉ การเสียอ้วนเซียไป ทำให้เมืองฮูโต๋ และลกเอี๋ยง ซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจของโจโฉตกอยู่ในอันตราย เมื่อข่าวแพร่ออกไป กองกำลังวุยก๊กของโจโฉจำนวนไม่น้อยหันมาเข้ากับกวนอู อำนาจกวนอูสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วแผ่นดิน

การเสียอ้วนเซีย โจโฉถึงกับคิดจะย้ายเมือง หากสุมาอี้และเจียวเจ้ก็เสนอแผนการ โดยดึงซุนกวนร่วมวง จึงส่งทูตไปเจรจาให้ซุนกวนลอบโจมตีกังเหลง เพื่อให้กวนอูต้องรับศึกพร้อมกันสองด้าน

ซุนกวนก็ตอบรับ เพราะต้องการชำระความแค้นที่มีต่อเล่าปี่ และ กวนอู

หนึ่ง คือศึกเซ็กเพ็ก หรือศึกผาแดง คนที่ออกแรงมากที่สุดคือซุนกวน แต่เล่าปี่กลับได้ประโยชน์ไปมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ในเกงจิ๋ว หรือการยืมเมืองลำกุ๋น (เมืองหนึ่งในเกงจิ๋ว) แบบไม่รู้จักคืน จนกลายเป็นคำพูดล้อเลียน “เกงจิ๋วยืมนาน ไม่ยอมคืน”

หนึ่ง คือซุนกวนส่งทูตไปขอลูกสาวกวนอูมาเป็นลูกสะใภ้ หวังจะเสริมสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีด้วย ทั้งที่ซุนกวนมีฐานะสูงกว่า กวนอูกลับปฏิเสธอย่างไม่เห็นซุนกวนอยู่ในสายตา และโวยวายใส่ทูตว่า “ลูกเสือจะแต่งไปอยู่กับลูกหมาได้อย่างไร”

ขณะเดียวกัน กวนอูยังมีผู้ใต้บังคับบัญชา คือเปาสูหยิน และบิฮอง ที่ถูกกวนอูคาดโทษอยู่เสมอ เพราะไร้ความสามารถ ทำงานผิดพลาดเสมอ คราวยกทัพไปตีอ้วนเซีย ที่กวนอูกำลังจะกลับไปลงโทษ เพราะส่งเสบียงและอาวุธแบบขาดตอน ซึ่งทั้งสองกำลังคิดจะแปรพักตร์หนีความผิด

แผนการล้มแม่ทัพคนดังในสามก๊กอย่าง “กวนอู” ก็เริ่มขึ้น

ทางหนึ่งซุนกวนแจ้งแผนการให้โจโฉทราบและให้ปิดเป็นความลับ ทางหนึ่งสั่งลิบองแม่ทัพมีชื่อของง่อก๊กทำตามแผน ประกาศว่าตนไม่สบาย โดยมอบให้ลกซุน-ทหารหนุ่มที่ยังไม่มีชื่อเสียง ทำหน้าที่แม่ทัพแห่งลกเค้าแทน เพื่อให้กวนอูลดความระมัดระวัง ลกซุนรับตำแหน่งแล้วก็ทำอุบายเขียนจดหมายไปแนะนำตัวเอง และขอให้กวนอูชี้แนะในฐานะผู้อาวุโส ซึ่งเป็นไปตามแผน กวนอูลดกำลังพลทางตอนใต้ของเกงจิ๋วไปที่อ้วนเซียแทน

เมื่อเป็นไปตามแผน ซุนกวนก็สั่งลิบองเคลื่อนทัพบุกยึดกังเหลง ส่วนโจโฉเมื่อได้รับจดหมายจากซุนกวน ก็ส่งข่าวความเคลื่อนไหวของซุนกวนให้กวนอูทราบทันที ทำให้กวนอูลังเลห่วงหน้าพะวงหลังระหว่างอ้วนเซีย-กังเหลง ทัพลิบองถึงกังเหลงก็เจรจาให้เปาสูหยินยอมจำนน เปาสูหยินที่กวนอูลงโทษเสมอก็ยอมทำตาม บิฮองเห็นเปาสูหยินยอมก็ยอมตาม

ลิบองยึดกังเหลงได้ แต่ไม่สังหารคนในเมือง, ไม่ปล้นสะดม, ไม่ยึดทรัพย์ชาวบ้าน ทหารในกองทัพกวนอูรู้ข่าวว่าครอบครัวในกังเหลงปลอดภัย จึงหมดความฮึกเหิมในการต่อสู้ ทั้งกลัวว่ากวนอูบังคับให้ตีกังเหลง แล้วคนในครอบครัวตนจะเดือดร้อนจึงพากันหนีทัพ กวนอูเหลือทหารติดตามไม่กี่นายก่อนถูกซุนกวนจับได้ในที่สุด และคิดจะกล่อมให้เป็นพวก แต่บรรดาที่ปรึกษาต่างเสนอว่า

“จิ้งจอกไม่อาจเลี้ยงไว้ มิฉะนั้นอาจกลายเป็นเภทภัย โจโฉไม่ฆ่ากวนอูคราก่อน จึงได้เกิดเหตุต้องเสียเมืองอ้วนเซียในครานี้…พวกเราจะซ้ำรอยโจโฉอย่างนั้นหรือ”

ศึกครั้งนี้ยังแสดงความร้ายกาจของโจโฉ เมื่อรู้ว่ากังเหลงแตก กลับสั่งห้ามโจหยินไล่ตีกวนอู เพราะประเมินว่าครั้งนี้ กวนอู แพ้แน่ ที่สำคัญคือต้องการให้ซุนกวน “แบกรับความแค้น” ของเล่าปี่แต่เพียงผู้เดียว

หลังกวนอูเสียชีวิต เล่าปี่ไม่ฟังคำทัดทานของขุนนาง ทุ่มกำลังต่อสู้กับซุนกวนล้างแค้นให้กวนอู

ผลลัพธ์ที่ได้คือความพ่ายแพ้ที่อิเหลง จ๊กก๊กเปลี่ยนจากขาขึ้นเป็นขาลง “ยุทธศาสตร์จงหลง” ที่ขงเบ้งเสนอเล่าปี่เมื่อเยือนกระท่อมเพื่อฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น เกิดช่องโหว่ขนาดใหญ่ ขงเบ้งต้องทำงานหนักเพื่อกอบกู้สถานการณ์จนลมหายใจสุดท้าย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

หลี่อันสือ-เขียน, เกียรติศักดิ์ ฟงปรีชากุล-แปล. สงครามสามก๊ก 26 ยุทธวิธีสู่ชัยชนะ. สำนักพิมพ์มติชน มกราคม 2558.

หลี่อันสือ-เขียน, นวรัตน์ ภักดีคำ และจันทรัตน์ สิงห์โตงาม-แปล. วีรบุรุษสามก๊ก 27 ขุนศึกผู้เป็นเลิศ, สำนักพิมพ์มติชน มีนาคม 2560.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 25 ตุลาคม 2566