ศึกผาแดงที่ทัพเรือโจโฉโดนเผาวอด มิใช่แพ้เพราะสู้ศึกไม่ได้ แต่แพ้เพราะโรคระบาด

ศึกผาแดง หรือ ศึกเซ็กเพ็ก สามก๊ก
หุ่นกระบอกเรื่องสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพ (ภาพจากสูจิบัตรมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต)

ในวรรณกรรมสามก๊ก มีการทำศึกของทั้ง 3 ก๊ก หลายๆ ครั้ง แต่ครั้งสำคัญที่มีกล่าวถึงมาก ต้องยกให้ “ศึกผาแดง” หรือ “ศึกเซ็กเพ็ก” หรือที่คนเราไทยคุ้นเคยว่า “ตอนโจโฉแตกทัพเรือ”

ศึกผาแดง เป็นศึกใหญ่ที่มีข้อคิดเห็นว่าคือจุดเริ่มของยุคสามก๊กในเวลาต่อมา เป็นศึกใหญ่ที่แสดงความรู้ ความสามารถทางตัวละครอย่าง “ขงเบ้ง” ที่กล่าวขวัญว่า “สามารถเรียกลมเรียกฝน” ทั้งที่ในประวัติศาสตร์ที่แท้จริงศึกครั้งนี้ ต้องยกเครคิตให้กับมันสมองอัจฉริยะของ “จิวยี่”

Advertisement

หากใน “ศึกผาแดง” นี้ ประเด็นหนึ่งที่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงนั่นคือ “โรคระบาด”

โรคระบาดที่ว่านั้น ทำให้กองทัพเรือขนาดใหญ่ของโจโฉอ่อนแอ หมดสิ้นแสนยานุภาพ และนำมาซึ่งความพ่ายแพ้ เรื่องนี้มีการบันทึกในเอกสารทางประวัติศาสตร์ และมีข้อเสนอทางการแพทย์ในยุคปัจจุบัน นี่จึงไม่ใช่เรื่องที่ไม่มีมูล

หนังสือ “101 คำถามสามก๊ก” (สำนักพิมพ์มติชน) เรียงเรียบเรื่องนี้ไว้ว่า

สาเหตุที่โจโฉพ่ายศึกเซ็กเพ็ก ตลอดเวลาที่ผ่านมาคนคิดว่าเป็นเพราะถูกฝ่ายซุนกวนโจมตีด้วยไฟ

กวีนิพนธ์บท “อําลาส่งที่เซ็กเพ็ก” มีข้อความว่า “เปลวไฟท่วมฟ้าส่องมหาสมุทร จิวยี่ยุทธ์ตีโจโฉพายที่นี่”

กวีนิพนธ์เพลงฉือทํานองเนียนหนูเจียว (สาวงามนามเนี่ยนหนู) บทหวนรําลึกศึกเซ็กเพ็ก ก็กล่าวว่า “ในชั่วเวลาสนทนารื่นเริง ทัพเรือโจโฉก็กลายเป็นเถ้าธุลี”

พงศาวดารสามก๊กจี่ ภาคจ๊กก๊ก บทประวัติเล่าปี่ ก็บันทึกไว้ชัดเจนว่า “ซุนกวนส่งจิวยี่และเทียเภาส่งทัพเรือนับหมื่นร่วมกําลังกับเล่าปี่ รบกับโจโฉที่เซ็กเพ็ก เผาทัพเรือโจโฉจนแตกพ่ายยับเยิน” ข้อความว่า “เผาทัพเรือ” ย่อมหมายถึงโจมตีด้วยไฟ

จึงเห็นได้ว่าคนในอดีตพูดตรงกันว่า การโจมตีด้วยไฟเป็นสาเหตุใหญ่ทําให้ทัพโจโฉใน “ศึกผาแดง” หรือ “ศึกเซ็กเพ็ก” แตกพ่าย

แต่ในบทความเรื่อง “สืบค้นวิเคราะห์เรื่องโรค พยาธิใบไม้ดูดเลือดกับการพ่ายศึกเซ็กเพ็กของโจโฉ” ของนายแพทย์หลีโหย่วซง ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ใน “จงหัวอีสื่อจ๋าจื้อ-วารสารประวัติการแพทย์จีน” ฉบับที่ 2 ค.ศ. 1981 ได้แสดงความกังขาต่อทฤษฎีโจมตีด้วยไฟ เขามีความเห็นว่า โจโฉพ่ายศึกเซ็กเพ็กเพราะโรคระบาด คือ โรคพยาธิใบไม้ในเลือด (Snail Fever หรือ Scistosomiasis – ผู้แปล)

พงศาวดารสามก๊กจี้ ภาควุยก๊ก บทประวัติโจโฉ ตอนที่กล่าวถึงศึกเซ็กเพ็ก ไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องการโจมตีด้วยไฟ กลับยืนยันว่าเกิดโรคระบาด “โจโฉยกทัพถึงเซ็กเพ็ก รบเล่าปี่ ไม่ได้เปรียบเพราะเกิดโรคระบาด ไพร่พลตายมาก จึงยกทัพกลับ” อีกทั้งตัวโจโฉซึ่งเป็นแม่ทัพของคู่สงครามก็ไม่ยอมรับว่าแพ้ เพราะถูกโจมตีด้วยไฟ

พงศาวดารสามก๊กจี ภาคง่อก๊ก บทประวัติจิวยี่ อ้างอิงข้อความจาก “เจียงเปี่ยวจ้วน” มาว่า หลังจากศึกเซ็กเพ็กแล้ว โจโฉเขียนจดหมายถึงซุนกวน มีข้อความตอนหนึ่งว่า “คราวศึกเซ็กเพ็ก เกิดโรคระบาด ข้าจึงเผาเรือถอยทัพกลับเอง ทําให้จิวยี่มีชื่อเสียงกํามะลอขึ้นมา” ดูไปแล้วโรคระบาดเป็นสาเหตุสําคัญประการหนึ่งที่ทําให้โจโฉพ่ายศึกครั้งนี้จริงๆ

โรคพยาธิใบไม้ในเลือด มีในจีนมาแต่โบราณ โรค“ซานเฟิงกู่” ในตําราแพทย์ยุคโบราณและในหนังสือ “จูปิ้งหยวนโฮ่วลุ่น-วิเคราะห์วิจารณ์ สาเหตุของสรรพโรค” ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 7 ล้วนมีบันทึกเรื่องโรคที่คล้ายกับโรคพยาธิใบไม้ในเลือด

ศพผู้หญิงในสุสานหม่าหวางตุยซึ่งขุดพบเมื่อ ค.ศ. 1973 นักวิจัยพบไข่ของพยาธิใบไม้ในเลือดที่ตับและผนังลําไส้ของเธอ เป็นหลักฐานว่าอย่างน้อยในยุคราชวงศ์ฮั่น ในย่านเมืองฉางซามีโรคนี้อยู่ จากการสอบค้นหลักฐานทางเอกสารแสดงชัดว่าพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับศึกเซ็กเพ็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมณฑลหูเป่ยกับหูหนัน เป็นเขตที่โรคพยาธิใบไม้ในเลือดระบาดรุนแรง

ช่วงศึกเซ็กเพ็ก ทัพโจโฉแปรพลเป็นทัพเรือและซ้อมรบในฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นช่วงที่ได้รับโรคพยาธิใบไม้ในเลือดได้ง่าย ทหารโจโฉส่วนมากเป็นคนภาคเหนือ มีภูมิต้านทานโรคนี้น้อย พวกเขาทิ้งอานม้ามาลงเรือ ได้รับเชื้อ (คือไข่พยาธิ) ก็เกิดโรคทันทีและระบาดไปได้ง่าย

พยาธิฟักตัวอยู่ในร่างกายคน 1 เดือนขึ้นไปก็จะเข้าสู่ช่วงอาการรุนแรงของโรค ฉะนั้นในช่วงซ้อมรบก็จะมีทหารทยอยป่วย ถึงช่วงฤดูหนาวซึ่งรบแตกหักก็เข้าสู่ช่วงโรคกําเริบรุนแรง ทหารโจโฉจึงอ่อนล้าสูงสุด เป็นเหตุให้พ่ายแพ้

แน่นอนว่า ทฤษฎีทัพโจโฉแตกพ่ายเพราะโรคพยาธิใบไม้ในเลือด ยังไม่มีหลักฐานโดยตรงทางประวัติศาสตร์รองรับ แต่ในมุมมองทางการแพทย์ มีความเป็นไปได้

ควรจะกล่าวว่าโจโฉพ่าย “ศึกผาแดง” เพราะถูกโจมตีด้วยไฟกับทฤษฎีโรคระบาดมิได้ขัดแย้งกัน การโจมตีด้วยไฟเป็นสาเหตุตรง โรคพยาธิใบไม้ในตับเป็นตัวบั่นทอนความเข้มแข็งของทหารโจโฉอย่าง ทว่าแท้จริงแล้วเรื่องใดเป็นปัจจัยหลัก ยังต้องรอให้วงการประวัติศาสตร์และประวัติการแพทย์จีนค้นคว้าต่อไปอีก

คลิกอ่านเพิ่ม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก : หลี่ฉวนจวินและคณะ (เขียน),ถาวร สิกขโกศล (แปล). 101 คำถามสามก๊ก, สำนักพิมพ์มติชน มีนาคม 2559


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 18 กันยายน พ.ศ.2562