การประกาศข่าวการสวรรคตของรัชกาลที่ 5 ไปทั่วพระราชอาณาจักร

รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันปิยมหาราช
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

เวลา 00 : 45 นาฬิกาของวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระชนมายุ 58 พรรษา อยู่ในราชสมบัติ 43 ปี เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานในพระราชวังดุสิต พระราชบัลลังก์ถูกส่งต่อยัง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามกุฎราชกุมาร พระชนมายุ 29 พรรษา ในทันที จากนั้นคณะองคมนตรีก็ประชุมด่วน เพื่อหารือเรื่องการจัดงานพระบรมศพและประกาศการสวรรคต ซึ่งข่าวการสวรรคตนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วพระราชอาณาจักร มีปัจจัยสำคัญคือ “โทรเลข”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งในขณะนั้นเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ตรัสเล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นให้พระธิดาฟังว่า “พอได้สติก็รีบโทรเลขสั่งไปยังเมืองต่างๆ ว่าให้ระวังดูแลเหตุการณ์ให้ดี อย่าให้มีเรื่องขึ้นได้” คำบอกเล่านี้ยังสอดคล้องกับบันทึกความทรงจำของหลวงสุนทรนุรักษ์ (กระจ่าง วรรณโกวิท) ที่ระบุว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศร์ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ทรงได้รับ “โทรเลข” แจ้งข่าวนี้ “เมื่อจวนสว่าง”

หากว่ากันตามบันทึกข้างต้น เมืองสงขลาซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลนครศรีธรรมราช จะได้ทราบข่าวหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตไปเพียง 5 ชั่วโมงเท่านั้น เพราะคำว่า “จวนสว่าง” น่าจะหมายถึงช่วงย่ำรุ่งหรือประมาณ 6 โมงเช้า ซึ่งเป็นเวลาเปิดที่ทำการโทรเลขในหัวเมืองด้วย

และเป็นไปได้ว่า อีก 15 มณฑลที่เหลือก็น่าจะได้ทราบข่าวจาก โทรเลข ในเวลาไล่เลี่ยกัน เพราะกระทรวงมหาดไทยก็ยังสั่งห้ามไม่ให้ข้าราชการออกนอกพื้นที่ จนกว่าการถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาในวันรุ่งขึ้น (24 ตุลาคม) จะผ่านพ้นไป

แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อหนึ่งศตวรรษก่อน หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 สวรรคตในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 การสืบราชสมบัติก็ถูกคั่นจังหวะด้วยการปราบกบฏเจ้าฟ้าเหม็นระหว่างวันที่ 10-13 กันยายน ทำให้การจัดพระราชพิธีราชาภิเษกจึงเกิดขึ้นในวันที่ 17 กันยายน และการส่ง “สารตรา” แจ้งข่าวการผลัดแผ่นดินให้หัวเมืองได้ทราบ จะเกิดขึ้นในอีก 2 วันต่อมา (19 กันยายน)

ส่วนการผลัดแผ่นดินเข้าสู่รัชกาลที่ 3 ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าราชสำนักส่งท้องตราแจ้งให้หัวเมืองทราบวันที่เท่าใด แต่ถ้าอนุมานจากแบบแผนในรัชกาลก่อนก็คงจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 วัน เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 สวรรคตในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 ส่วนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ถูกจัดขึ้นวันที่ 1 สิงหาคม ฉะนั้น การส่งข่าวให้หัวเมืองได้ทราบ จึงน่าจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป

จากแบบแผนที่เกิดขึ้นคงจะเห็นได้ว่า ข่าวการผลัดแผ่นดินจะถูกประกาศให้ทราบหลังการสวรรคตไปแล้ว 10-12 วัน แต่ที่ประกาศการผลัดแผ่นดินเข้าสู่รัชกาลที่ 6 ไปทั่วพระราชอาณาจักรได้ภายใน 5-6 ชั่วโมงนั้น นอกจากการสืบราชสมบัติจะถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้ว เงื่อนไขของการสื่อสารด้วยโทรเลขก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะในเวลานั้นมีโทรเลขสายหลักอยู่ 17 เส้นทาง คิดเป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 7.5 พันกิโลเมตร ที่เชื่อมโยงหัวเมืองจำนวน 2 ใน 3 ของทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้ว และยังมีการวางสายโทรศัพท์เข้าไปถึงที่ว่าการอำเภออีก 400 แห่งทั่วประเทศอีกด้วย

เส้นทางโทรเลขและที่ทำการไปรษณีย์ในปี พ.ศ. 2449

เมื่อทั้งพระราชอาณาจักรถูกร้อยรัดกันด้วยสายโทรเลขและโทรศัพท์เช่นนี้ ข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 จึงถูกประกาศออกไปถึงเมืองเอกของแต่ละมณฑลได้อย่างรวดเร็ว และสันนิษฐานว่าหัวเมืองทั้งหมดน่าจะได้ทราบข่าวนี้ภายใน 7 วัน ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสเล่าให้พระธิดาฟังต่อไปว่า “เป็นการประหลาดที่รายงานใน 7 วันแรกไม่มีอะไรเลย แม้แต่ขโมยเล็กขโมยน้อยทั้งนอกกรุงและในกรุงเทพฯ นี้เอง เป็นอันว่าพวกขโมยก็หยุดตกใจหรือร้องไห้ด้วย”

สาเหตุที่ทรงตรัสเล่าเช่นนั้น เพราะใน พ.ศ. 2443 กระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งให้ทุกหัวเมืองต้องรายงานความผิดปกติในพื้นที่เข้าไปให้ทราบภายใน 24-48 ชั่วโมง การที่ไม่มีข่าวลักเล็กขโมยน้อยแจ้งเข้ามาให้ทราบในช่วง 7 วันหลังการสวรรคต จึงทำให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เข้าพระทัยว่า ข่าวการผลัดแผ่นดินคงจะถูกรับรู้ไปเป็นวงกว้างแล้ว คือแม้แต่โจรลักเล็กขโมยน้อยก็ยังรู้ข่าวนี้

ด้วยเหตุดังนั้น การผลัดแผ่นดินในวันที่ 23 ตุลาคม เมื่อ 113 ปีที่แล้ว จึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่บรรยากาศของความเปลี่ยนแปลงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเขตกำแพงพระนคร หากแต่ยังมีข้าราชการอีกหลายหมื่นคนทั่วประเทศ ที่ได้ทราบข่าวนี้ไปพร้อมๆ กัน ส่วนราษฎรตามหัวเมืองก็คงจะได้ทราบข่าวนี้ภายใน 7 วันอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 ตุลาคม 2566