139 ปี เปิดใช้โทรเลขระหว่างประเทศสายแรกของสยาม

วันนี้ (16 กรกฎาคม 2565) เมื่อ 139 ปีที่แล้ว รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประกาศเปิดให้บริการโทรเลขระหว่างประเทศเส้นทางแรกคือจากกรุงเทพฯ ถึงไซ่ง่อน โดยโทรเลขสายนี้แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ คือจากกรุงเทพฯ ไปถึงพระตะบองจะอยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพฯ ต่อจากพระตะบองไปถึงไซ่ง่อนจะอยู่ในความรับผิดชอบของฝรั่งเศส

การก่อสร้างเริ่มต้นขึ้นในปี 2424 กรมมหาดไทยสั่งเกณฑ์ไพร่หัวเมืองกว่า 1,340 คนมอบให้ ม.ร.ว.แดง อิศรเสนา วิศวกรกรมโทรเลขเป็นผู้ควบคุมงาน แต่หลังจากเริ่มก่อสร้างไปได้ระยะหนึ่ง ม.ร.ว.แดง มีปัญหากับเจ้าเมืองพระตะบอง (เยียร์ อภัยวงศ์) ทำให้ต้องหยุดการก่อสร้างไประยะหนึ่ง กรุงเทพฯ จึงส่งพระยาศรีสิงหเทพ (หรุ่น ศรีเพ็ญ) ออกมาเป็นข้าหลวงโทรเลขคนใหม่ และให้ว่าจ้างนายปาวี วิศวกรโทรเลขของฝรั่งเศสคุมการก่อสร้างแทน ม.ร.ว.แดง

เส้นทางที่นายปาวีรับผิดชอบคือจากพระตะบองเข้ามาถึงปากคลองบางขนาก มีรายงานว่าทีมงานของเขาปักเสาได้เฉลี่ยวันละ 40 ต้น เร็วกว่ากรมโทรเลขสยามทำได้ถึงเท่าตัว ทำให้ต้นปี 2426 นายปาวีก็ส่งมอบโครงการให้กับรัฐบาลได้แล้ว

ภาพแผนที่เส้นทางโทรเลขสายกรุงเทพฯ – ไซ่ง่อน เส้นทึบคือระยะทางที่สยามก่อสร้าง, เส้นประคือระยะทางที่ไซ่ง่อนก่อสร้าง

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้สำเร็จราชการกรมโทรเลขจึงกราบบังคมทูลว่า กรมโทรเลขจะเปิดให้บริการโทรเลขสายนี้ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2426 แต่เนื่องจากสถานที่ไม่เหมาะสมที่จะจัดการรับเสด็จ จึงจะขอรับพระราชทานพระราชหัตถเลขาที่จะส่งโทรเลขถึงข้าหลวงใหญ่ไซ่ง่อนแทน พิธีการในวันนั้นจึงเริ่มจากการเชิญพระราชหัตถเลขาจากพระบรมมหาราชวังมายังสถานีปากคลองโอ่งอ่าง เมื่อถึง 10 นาฬิกาตามฤกษ์ตามที่โหรหลวงกำหนด เจ้าหน้าที่ก็เคาะส่งโทรเลขพระราชหัตถเลขา พระสงฆ์ 20 รูปสวดชัยมงคล เจ้าพนักงานประโคมพิณพาทย์ โหรรดน้ำสังข์ เจิม และเบิกแว่นเวียนเทียนตามธรรมเนียม จากนั้นก็เสร็จพิธี

สำหรับพระราชหัตถเลขาที่ส่งไปถึงข้าหลวงไซ่ง่อนมีความว่า

“พระบาทสมเดจพระเจ้าแผ่นดินสยาม

ถึงท่านมองซิเออทอมซัน คอเวอเนอเมืองญวน

ด้วยบัดนี้เปนครั้งแรกที่ประเทศสยามได้ติดต่อกับทั้งโลกย์ ด้วยสายโทรเลขโดยอินชเนียช่างฝรั่งเสศได้ช่วยทำการ กรุงสยามขอแสดงความขอบใจต่อกรุงฝรั่งเสศ แลสำแดงไมตรี เราขอให้ท่านรับพรส่วนตัวท่านเอง แลขอให้แจ้งความถึงท่านเปรสิเดนต์ด้วย ขอให้สายโทรเลขนี้จงถาวรอยู่ชั่วกาลนาน แลเปนที่นำคำซึ่งเปนความรักใคร่ไมตรี ในรว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเสศทุกๆ ปีไป

พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ

ณ วัน 2 เดือน 4 ขึ้น 12 ค่ำ ปีมแมเบญจศก 1245

จุฬาลงกรณ์ ปร,ส.”

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กรกฎาคม 2565