ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ความขัดแย้งระหว่าง “อิสราเอล” กับโลกอาหรับ เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานและมีความซับซ้อนในหลายมิติ ความขัดแย้งดังกล่าวนำสู่สงครามและการยึดครองพื้นที่ หนึ่งในนั้นคือ “ที่ราบสูงโกลาน” ที่เดิมอยู่ในการดูแลของ “ซีเรีย” แต่อิสราเอลก็รุกคืบเข้าครอบครอง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของนานาประเทศ
ที่ราบสูงโกลาน (Golan Heights) มีความสำคัญกับ “ชาวยิว” ทั้งในแง่ศาสนา เพราะเชื่อว่าพระเจ้าประทานผืนดินแห่งนี้แก่พวกเขา รวมทั้งในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ เพราะเป็นพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางตอนเหนือของอิสราเอล และยังเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญ อิสราเอลจึงยึดครองที่ราบสูงโกลาน ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของโลกอาหรับและนานาประเทศ แต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ขณะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กลับประกาศรับรองให้ที่ราบสูงโกลานเป็นของอิสราเอล เมื่อ ค.ศ. 2019
เรื่องนี้ลุกลามไปถึง “รัสเซีย” ที่ไม่เห็นด้วยกับสหรัฐฯ และโต้กลับว่า รัสเซียไม่รับรองอำนาจอธิปไตยของอิสราเอลเหนือที่ราบสูงโกลาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซีเรีย
“ที่ราบสูงโกลาน” อยู่ตรงไหน? สำคัญอย่างไร?
ที่ราบสูงแห่งนี้ มีทิศเหนืออยู่ถัดจากภูเขาเฮอร์มอน ทิศตะวันตกใกล้กับแม่น้ำจอร์แดน และทิศใต้ติดกับทะเลสาบกาลิลี ซึ่งเป็นทะเลสาบใหญ่สุดของอิสราเอล มีระยะทางจากทิศเหนือถึงทิศใต้ประมาณ 71 กิโลเมตร จากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกประมาณ 43 กิโลเมตร และมีพื้นที่ประมาณ 1,200 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงดามัสกัส (Damascus) เมืองหลวงของประเทศซีเรียไปทางทิศใต้ ประมาณ 60 กิโลเมตร
เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ราบสูง จึงมีส่วนสำคัญด้านการทหาร โดยทหารอิสราเอลสามารถใช้เป็นจุดยุทธศาสตร์ สอดส่องกิจกรรมหรือความเคลื่อนไหวทางทหารในดินแดนซีเรียได้หลายกิโลเมตร และการยึดครองพื้นที่สูงกว่าย่อมได้เปรียบเชิงยุทธวิธีในการป้องกันประเทศ เพราะหากฝ่ายซีเรียจะบุกโจมตีอิสราเอลก็ต้องบุกผ่านที่ราบสูงนี้เสียก่อน
อย่างไรก็ตาม บริเวณด้านทิศเหนือค่อนไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของที่ราบสูง องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้เข้ามาครอบครองพื้นที่ในฐานะ “คนกลาง” จัดตั้งเขตกันชนระหว่าง “อิสราเอล” กับ “ซีเรีย” โดยมีกองกำลังพิเศษของยูเอ็นควบคุมดูแลความสงบ และสร้างรั้วหนามขึ้นมา ถึงอย่างนั้นทั้ง 2 ประเทศก็มักมีการปะทะทางทหารกันเสมอ ๆ
ที่ราบสูงดังกล่าวยังเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ โดยเฉพาะบริเวณ “หุบเขาฮูลา” (Hula Valley) ที่เป็นแหล่งเกษตรกรรม ทำประมง และปศุสัตว์ อย่างการเลี้ยงแกะ ส่วนตอนเหนือของที่ราบสูงติดกับภูเขาเฮอร์มอนเป็นพื้นที่ป่ารกชัฏ สลับกับทุ่งหญ้าเตี้ย ๆ แต่ก็เต็มไปด้วยหิน นอกจากนี้ ที่ราบสูงยังเป็นต้นกำเนิดแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภคที่สำคัญของอิสราเอลอีกแห่งหนึ่งด้วย
ประวัติศาสตร์การแย่งชิงที่ราบสูง
ค.ศ. 1894 บารอน เอ็ดมอนด์ เดอ รอธส์ไชลด์ (Baron Edmond de Rothschild) นายธนาคารชาวฝรั่งเศสเชื้อสายยิว เดินทางไปยังซีเรีย เพื่อซื้อที่ดินผืนใหญ่ในที่ราบสูงนี้ไว้สำหรับการตั้งถิ่นฐานของ “ชาวยิว” หลังจากนั้นคนกลุ่มอื่น ๆ ที่มีเชื้อสายยิว ทั้งจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรป ต่างก็ทยอยเข้ามาตั้งถิ่นฐานในที่ราบสูงโกลานมากขึ้น
ชาวยิวพยายามจัดตั้ง “อาณานิคม” ของตนเองด้วยความพยายามอย่างสุดความสามารถ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะต้องเผชิญกับชาวอาหรับ และกฎหมายที่ดินของชาวเติร์ก เนื่องจากขณะนั้นที่ราบสูงยังอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ที่ราบสูงนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในอาณัติของฝรั่งเศส
ที่ราบสูงโกลาน ถูกเปลี่ยนผ่านให้อยู่ใต้การปกครองของซีเรีย เมื่อซีเรียได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ขบวนการไซออนิสม์ (Zionism) ของชาวยิว ได้ผลักดันและส่งเสริมให้ชาวยิว ทั่วโลก กลับสู่ดินแดนที่พวกเขาอ้างว่า เป็นดินแดน “มาตุภูมิ” จนทำให้ประชากรชาวยิวในตะวันออกกลางสูงขึ้นอย่างมาก ชาวอาหรับที่แวดล้อมอิสราเอลทุกด้านเกิดความไม่พอใจ นำสู่สงครามในที่สุด
สงครามอาหรับ-อิสราเอล แย่งชิงที่ราบสูง
สงครามอาหรับ–อิสราเอล ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1948-1949 สันนิบาตอาหรับไม่พอใจอิสราเอลที่ก่อตั้งประเทศขึ้น เหล่าประเทศอาหรับนำโดย อียิปต์ ซีเรีย เลบานอน จอร์แดน อิรัก และซาอุดีอาระเบีย จึงนำกำลังทหารเข้าโจมตีอิสราเอล สงครามครั้งนี้อิสราเอลเป็นฝ่ายชนะ หลังสงครามสิ้นสุดซีเรียจึงพยายามเสริมการป้องกันที่ราบสูงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ร่วม 2 ทศวรรษให้หลัง ก็เกิดสงครามระหว่างชาวยิวกับชาวอาหรับอีกครั้ง คือ สงครามหกวัน (Six-Day War) ระหว่างวันที่ 5-10 มิถุนายน ค.ศ. 1967 การรบช่วงแรกอิสราเอลได้ชัยชนะเหนืออียิปต์และจอร์แดนอย่างรวดเร็ว กระทั่ง 2 วันสุดท้าย คือ วันที่ 9-10 มิถุนายน อิสราเอลมุ่งโจมตีซีเรียผ่านที่ราบสูงโกลาน ทหารช่างของกองทัพอิสราเอลสร้างถนนขึ้นสู่ที่ราบสูง โดยมีกองทัพอากาศคอยสนับสนุน ทำให้การบุกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การรุกรบของฝ่ายอิสราเอลทำให้ทหารซีเรียต้องล่าถอย และประกาศยุติการต่อสู้ในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1976
นับแต่นั้น อิสราเอลก็ยึดครองที่ราบสูงโกลานเรื่อยมา ขณะที่ประชากรชาวซีเรียยังคงยืนยันที่จะอาศัยอยู่ในดินแดนเดิมของพวกเขา รัฐบาลอิสราเอลก็ไม่ได้ดำเนินการผลักดันชาวซีเรียออกไป แต่ใช้วิธีให้ชาวยิวเข้าไปตั้งถิ่นฐานมากขึ้น ตั้งแต่ท้ายทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา
หลังจาก สงครามยมคิปปูร์ (Yom Kippur War) หรือสงครามอาหรับ-อิสราเอล ครั้งที่ 4 เมื่อ ค.ศ. 1973 อิสราเอลกับซีเรียได้ลงนามให้ยูเอ็นนำกองกำลังพิเศษที่เรียกว่า กองกำลังผู้สังเกตการณ์การปลดปล่อยแห่งสหประชาชาติ (UN Disengagement Observer Force-UNDOF) เข้ามาจัดตั้งเขตกันชน (buffer zone)
กระทั่งใน ค.ศ. 1981 รัฐสภาอิสราเอลผ่านกฎหมายชื่อว่า “กฎหมาย อำนาจศาล และการบริหาร” (Law, Jurisdiction, and Administration) กับดินแดนที่ราบสูง ซึ่งมีผลเชิงปฏิบัติว่าอิสราเอลได้ผนวก “ที่ราบสูงโกลาน” เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ขณะที่นานาชาติไม่ให้การยอมรับการผนวกดินแดนนี้
การเจรจาทวิภาคีระหว่างอิสราเอลกับซีเรีย เพื่อแก้ไขปัญหาที่ราบสูง จัดขึ้นในกรุงมาดริด ประเทศสเปน ใน ค.ศ. 1991 และมีความพยายามเจรจาต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ โดยอิสราเอลต้องการคืนดินแดนแค่บางส่วนให้ซีเรียเท่านั้น กระทั่ง ค.ศ. 2000 ซีเรียยืนกรานข้อเรียกร้องว่า อิสราเอลต้องถอนตัวออกจากดินแดนที่ราบสูงทั้งหมด แต่ไม่เป็นผล การเจรจาดำเนินไปถึง ค.ศ. 2008 โดยมีตุรกีซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของทั้ง 2 ประเทศ เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย แต่การเจรจาก็ไม่สำเร็จ
วันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 2019 โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ มีใจความสรุปว่า หลังจาก 52 ปีผ่านไป (นับจาก ค.ศ. 1967-กอง บก.) ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐอเมริกาจะให้การรับรองอำนาจอธิปไตยของอิสราเอลเหนือที่ราบสูงโกลาน ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์และความปลอดภัยที่สำคัญของอิสราเอล รวมทั้งสำคัญต่อเสถียรภาพในภูมิภาค
รุ่งขึ้น เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ก็โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ ขอบคุณทรัมป์ว่า ช่วงเวลาที่อิหร่านใช้ซีเรียเป็นฐานเพื่อทำลายอิสราเอล ประธานาธิบดีทรัมป์กลับรับรองอำนาจอธิปไตยของอิสราเอลเหนือที่ราบสูงโกลานอย่างหนักแน่น
แม้ทุกฝ่ายจะทราบกันดีว่า สหรัฐฯ เป็นพันธมิตรของอิสราเอลมาอย่างยาวนาน เพราะไม่ต้องการให้ประเทศอาหรับอื่นใดมามีอิทธิพลเหนือภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่เหตุการณ์ที่ทรัมป์รับรองอำนาจอธิปไตยอิสราเอลเหนือที่ราบสูง ก็สร้างความตกใจไปทั่วโลก แม้กระทั่งชาติตะวันตกด้วยกัน และแน่นอนว่าสร้างความโกรธเคืองให้โลกอาหรับไม่น้อยเลยทีเดียว
ประเด็นที่ีราบสูงยังเกี่ยวพันไปถึง รัสเซีย ประเทศที่เรียกได้ว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐฯ โดยใน ค.ศ. 2022 ผู้แทนรัสเซียในยูเอ็น ได้ออกมาย้ำเรื่องนี้ว่า รัสเซียไม่รับรองอำนาจอธิปไตยของอิสราเอลเหนือที่ราบสูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซีเรีย
สาเหตุที่รัสเซียต้องเข้ามาเกี่ยวพันกับเรื่องนี้ด้วย ก็เพราะรัสเซียเป็นพันธมิตรอย่างยาวนานของซีเรียนั่นเอง โดยเฉพาะช่วง สงครามซีเรีย ค.ศ. 2011 ที่ชาวซีเรียลุกฮือต้องการให้ บาชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad) ประธานาธิบดีซีเรียลาออก ซ้ำด้วยกบฏนับร้อยกลุ่มที่ออกมาต่อต้านประธานาธิบดีด้วยเช่นกัน บานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมือง
รัสเซีย ซึ่งมีฐานทัพทหารอยู่ในซีเรียก่อนจะเกิดสงคราม ได้เปิดฉากโจมตีทางอากาศ เพื่อสนับสนุนประธานาธิบดีอัสซาดใน ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของสงคราม ทำให้รัฐบาลซีเรียเป็นฝ่ายได้เปรียบ กองทัพรัสเซียระบุว่า โจมตีเป้าหมายที่เป็นผู้ก่อการร้ายเท่านั้น แต่นักเคลื่อนไหวระบุว่า การโจมตีของรัสเซียได้ทำให้กลุ่มกบฏกระแสหลักและพลเรือนเสียชีวิตอยู่เป็นประจำ
ปัจจุบัน ซีเรียยังคงพยายามเรียกร้องดินแดนคืนจากอิสราเอล แต่อิสราเอลก็ยังคงดำเนินการจัดตั้งถิ่นที่อยู่ชาวยิวในที่ราบสูงโกลาน และจัดการพื้นที่เสมือนเป็นดินแดนของตนเอง ทั้งที่ในทางทฤษฎีแล้ว อิสราเอลเข้าครอบครองดินแดนแห่งนี้อย่างผิดกฎหมายระหว่างประเทศ
อ่านเพิ่มเติม :
- 3 ศาสนสถาน นครศักดิ์สิทธิ์ “เยรูซาเลม” ศูนย์กลางข้อพิพาทอิสราเอล-ปาเลสไตน์
- ความขัดแย้ง “อิสราเอล-ปาเลสไตน์” สงครามความรุนแรงที่ไม่จบสิ้น ไฉนเป็นเช่นนี้?
- รู้หรือไม่? อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยเกือบจะได้เป็นประธานาธิบดีอิสราเอล
อ้างอิง :
“ทำไมโดนัลด์ ทรัมป์ รับรองให้ที่ราบสูงโกลานเป็นของอิสราเอล?”. https://www.silpa-mag.com/history/article_29966 เข้าถึงเมื่อ 10 ตุลาคม 2566
Arab News. “Russia ‘doesn’t recognize Israel’s sovereignty over Golan Heights’“. https://www.arabnews.com/node/2031141/middle-east เข้าถึงเมื่อ 10 ตุลาคม 2566
บีบีซี ไทย. “สงครามซีเรีย : 10 ปีของการสู้รบ กับเกือบ 7 แสนชีวิตที่ตายหรือสูญหาย”. https://www.bbc.com/thai/international-56405029 เข้าถึงเมื่อ 10 ตุลาคม 2566
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 ตุลาคม 2566