นายช่างกรมทางหลวง เล่าประสบการณ์โหด-ฮา ในการสร้างถนนเมื่อ 60 ปีก่อน

นายช่าง ของ กรมทางหลวง ถนน รถยนต์
Mobie Camp ของช่างกรมทางหลวงในอดีต (ภาพจาก "100 ปี กรมหลวง 2455-255")

การสร้าง ถนน ของ กรมทางหลวง ในปัจจุบันง่ายเร็วขึ้น สะดวกขึ้น เพราะเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า แต่เมื่อประมาณ 60 กว่าปีก่อน การจะสร้างถนนทางลูกรังหรือถนนลาดยางมะตอยเป็นเรื่องลำบาก และไม่ได้ลำบากเฉพาะตัวเจ้าหน้าที่หรือคนงาน แต่ยังกระทบไปถึงครอบครัว ด้วยภรรยาและลูกต้องอพยพไปอยู่ที่หน่วยงานหรือไซต์งานในต่างจังหวัด ซึ่งเวลานั้นนับเป็นพื้นที่ห่างไกล แบบที่เรียกว่า “ไกลปืนเที่ยง” ทีเดียว

ทายาทของอดีตนายช่าง กรมทางหลวง ผู้รับผิดชอบใน การสร้างถนน และเส้นทางคมนาคมอื่นๆ ถ่ายทอดประสบการณ์ไว้ในหนังสือ “84 ปี กรมทางหลวง : ที่ระลึกในงานฉลองวันคล้ายวันสถาปนากรมทางหลวง 1 เมษายน 2539” ซึ่งขอสรุปเนื้อหาบางส่วนมานำเสนอให้เห็นภาพของสังคมและวิถีผู้คนในอดีต ดังนี้

พระยาประกิจกลศาสตร์ ชื่อเดิม รุณชิตร กาญจนะวณิชย์ (พ.ศ. 2432-2496) นักเรียนไทยรุ่นแรกที่ได้ทุนเล่าเรียนหลวงจนจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรม จากอังกฤษ เมื่อปี 2445 ศ.ดร. รชฏ กาญจนะวณิชย์ บุตรชาย เขียนถึงการทำงานของบิดาตนเองว่า

“…วิศวกรสมัยนั้นทำทางรถไฟ ไปถึงที่นั่นไม่มีอะไรเลยมีแต่ป่า ต้องเป็นทั้งกำนัน นักเลงโต ผู้คุ้มกันลูกน้อง ท่านเล่าว่า เมื่อไปถึงปัตตานีก็ทำสะพานข้ามแม่น้ำ แต่ก่อนจระเข้มันเยอะ คนงานไม่กล้าลงไป ถูกงับไปสองคนทำให้ไม่มีใครกล้าลง ท่านต้องล่าจระเข้ 

พี่ชายผมคุณราชันย์เกิดที่นั่น คุณแม่เลี้ยงแพะไว้เพื่อเอานมให้ลูกกิน เพราะไม่มีนมให้ลูกกิน ไอ้จระเข้ก็มากินแพะ ทำให้ลูกไม่มีนมกินเลยยุ่งกันใหญ่ คนกลัวจระเข้มาก

คุณพ่อเลยตั้งโต๊ะไว้เวลาเย็นๆ เลิกงานก็มานั่งกินน้ำชา สมัยก่อนพวกนี้ก็อังกฤษจ๋ายิ่งกว่าฝรั่งเสียอีก 4 โมง ต้องกินน้ำชา จระเข้จะลอยอยู่เห็นแต่จมูก แล้วคอยดักยิงมัน จระเข้เลยเข็ดไม่มากินแพะอีกเลย” (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

ดร.สิริลักษณ์ จันทรางศุ (เกิดเมื่อ พ.ศ. 2460) เมื่อเป็นนายช่างแขวงฯ ลำปาง คุณหญิงสงวน จันทรางศุ เล่าว่า

“เวลาเดินทางไปจ่ายเงินเดือนลูกน้อง ตามตอนทางการต่างๆ ซึ่งบางครั้งก็ต้องไปถึงงาว [อำเภองาว จังหวัดลำปาง] คุณสิริลักษณ์จะเอาลูกระเบิดมือ 1 ลูก มาใส่กระเป๋าของดิฉัน ส่วนท่านก็ถือปืนคาร์บิน นั่งรถบรรทุกที่ใช้แอลกอฮอล์ซึ่งผลิตจากโมลาสแทนน้ำมัน เนื่องจากเกิดความขาดแคลนในเครื่องอุปโภคบริโภคระหว่างสงคราม มีอยู่คราวหนึ่งรถบรรทุกซึ่งมีอยู่คันเดียวเกิดเสียกลางทาง ก็เลยต้องเอาผ้าปูนอนกันกลางป่านั่นเอง แต่ก็นอนไม่หลับทั้งคืน” (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

สุบิน สิโรรส อดีตนายช่างท่านหนึ่ง เมื่อ 50-60 ปีก่อน ไปทำงานที่จังหวัดยะลา แสงจันทร์ ณ สงขลา บุตรสาวเล่าประสบการณ์ที่ติดตามบิดา เมื่อรถยนต์ไปส่งถึงปากทางแล้วจะต้องเดินทางเข้าไปยังบ้านพักในระยะทางที่ไกลพอสมควร ส่วนสัมภาระก็ให้คนงานหรือลูกหาบที่จ้างมาแบกไปให้ และเล่าถึงสิ่งที่พบปะเส้นเดินทางว่า

“การเดินทางจะต้องเร่งเดินให้ถึงหมู่บ้าน…ในเวลากลางวันประมาณสี่ห้าโมงเย็น เพราะอากาศในป่าจะค่ำเร็วมาก กลางคืนไม่มีใครเดินกันเพราะเสี่ยงกับการถูกเสือขบ (กัด) และงูฉก (กัด) เอาง่ายๆ หรืออาจจะถูกช้างป่าทั้งโขลงเหยียบเอา…

เดินกลางวันต้องฝ่าดงตัวทาก ตัวเหลือบ ตัวริ้น แมลงมีพิษอื่นๆ มากมาย แต่ที่มากที่สุดคือ ตัวทาก มียั้วเยี้ยยุ่บยั่บไปหมด ตามพื้นดินพอเหยียบย่างลงไปบนใบไม้แห้งดังกรอบแกรบตัวทากจะพากันโผล่หัวออกมาสลอนเหมือนต้นถั่วงอก และบนหัวมองขึ้นไปจะเห็นห้อยย้อยอยู่ตามกิ่งไม้ใต้ใบไม้ เหมือนเส้นขนมจีนที่ถูกรีดออกจากรูเครื่องทำขนมจีน เตรียมที่จะทิ้งดิ่งลงมากัดกินเลือดจนตัวบวมเป่งกลม แล้วจึงจะหลุดจากตัวเราไป…มีคนเคยหยิบ [ทาก] ออกมานับคนเดียวโดนกัดถึง 15 ตัว…

ถ้าใครอยากจะหนีพวกตัวทากตัวเหลือบก็ล่องแพ แต่ถ้าสัมภาระมากๆ ก็ต้องไป [นั่ง] ช้าง..ทางที่ไปนั้นก็ผ่านดงตัวทาก ตัวเหลือบ ตัวริ้น เช่นเดิม แต่ปลอดภัยกว่าการเดินทางเท้า…ช้างจะเดินเลียบไปตามทางเล็กๆ ที่เคยเดินไปเรื่อยๆ บางครั้งก็เลียบไปตามข้างภูเขาบ้างลงไปตามหุบเขาที่ชันมากบ้าง น้อยบ้าง บางแห่งลึกพอสมควร ช้างก็จะค่อยๆ คู้เข่าลงคลานไต่ลงไปทีละน้อยช้าๆ จนสุดหุบ…” (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

ศ.ดร. รชฏ กาญจนะวณิชย์. “พระยาประกิจกลศาสตร์ นายช่างชั้นยอด” ใน, 84 ปี กรมทางหลวง: ที่ระลึกในงานฉลองวันคล้ายวันสถาปนากรมทางหลวง 1 เมษายน 2539.

ไม่ทราบชื่อผู้เขียน. “ดร.สิริลักษณ์ จันทรางศุ วิศวกรผู้ปราดแปรื่อง” ใน, 84 ปี กรมทางหลวง: ที่ระลึกในงานฉลองวันคล้ายวันสถาปนากรมทางหลวง 1 เมษายน 2539.

แสงจันทร์ ณ สงขลา. “ความทรงจำทรงจำของลูกกรมทาง เมื่อ 57 ปีก่อน” ใน, 84 ปี กรมทางหลวง: ที่ระลึกในงานฉลองวันคล้ายวันสถาปนากรมทางหลวง 1 เมษายน 2539.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 สิงหาคม 2566