9 พฤศจิกายน 2477 ครูบาศรีวิชัย “นั่งหนัก” ในการสร้างถนนขึ้น “ดอยสุเทพ”

ครูบาศรีวิชัย และ คณะ ลูกศิษย์ รวมกันสร้าง ถนน ขึ้น ดอยสุเทพ
ครูบาศรีวิชัยคณะลูกศิษย์และประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธา มาร่วมกันสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ

ครูบาศรีวิชัย “นั่งหนัก” ในการสร้างถนนขึ้น “ดอยสุเทพ” ซึ่งปัจจุบันส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1004 (ต่อเชื่อมจากเขตเทศบาลคนครเชียงใหม่ กับเทศบาลตำบลสุเทพ) โดยช่วงตั้งแต่แจ่งหัวริน (ลิน) ถึงสวนสัตว์เชียงใหม่เรียกว่า “ถนนห้วยแก้ว” ช่วงตั้งแต่อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยถึง “ดอยสุเทพ” เรียกว่า “ถนนศรีวิชัย” หรือถนนทางขึ้น “ดอยสุเทพ”

หากกว่าจะมาเป็นถนนเส้นนี้ต้องใช้ทั้งคน, เวลา และเงินจำนวนมาก

Advertisement

ความคิดที่จะสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพเกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี 2460 พลโท หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร อุปราชเทศาภิบาลมณฑลฑลพายัพ เคยให้นายช่างกองทางดำเนิการสำรวจและจัดทำประมาณการค่าใช้จ่ายในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ สรุปว่าต้องใช้งบประมาณ 200,000 บาท และเวลาในการก่อสร้างร่วม 3 ปี เช่นนี้โครงการดังกล่าวจึงหยุดชะงักไปแต่ต้นทั้งที่ยังไม่ได้ลงมือแต่อย่างใด

การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ เกิดขึ้นอีกครั้ง หลังจากคณะสงฆ์เชียงใหม่และพลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ นิมนต์ ครูบาเถิ้ม (พระอธิการโสภา โสภโณ)  ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพ เวลานั้นการขึ้นดอยสุเทพ เต็มไปด้วยความลำบาก น้ำดื่มน้ำใช้ก็ไม่สะดวก ความเป็นอยู่ของพระที่วัดยากเข็ญ เพราะไม่มีชุมชนศรัทธาคอยอุปัฏฐาก ครูบาเถิ้มจึงคิดจะสร้างถนนขึ้นมาบนดอย

ครูบาเถิ้มนำเรื่องนี้มาปรึกษากับพลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ, หลวงศรีประกาศ (ฉันท์ วิชยาภัย) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดเชียงใหม่ แต่ไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด ด้วยเป็นงานยาก งานใหญ่ ภายหลังหลวงศรีประกาศ นำเรื่องดังกล่าวมาปรึกษา ครูบาศรีวิชัย แต่ไม่ใช้การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ หากเป็นการนำไฟฟ้าไปติดบน เมื่อท่านนั่งสมาธิอธิษฐานจิตแล้วจึงแนะนำให้สร้างถนนก่อนดีกว่า แล้วไฟฟ้าจะเป็นเรื่องง่าย

หากหลวงศรีประกาศก็ยังไม่มั่นใจ เพราะทางขึ้นดอยสุเทพทั้งสูงทั้งไกล ต้องใช้คนและเงินจำนวนมหาศาล แต่ครูบาศรีวิชัยก็ยืนยันให้สร้างถนน เมื่อหลวงศรีประกาศนำเรื่องมาแจ้งกับครูบาเถิ้ม และพลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ ทั้งสองท่านก็เห็นตรงกันว่า ถ้าครูบาศรีวิชัยบอกว่าสามารถทำเสร็จ เป็นอันเชื่อถือได้ จึงตกลงทำหนังสือยื่นเรื่องการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ไปถึงหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ส่งนายช่างมาทำการสำรวจ

เมื่อรัฐบาลรับเรื่องแล้ว พระพิศาลสุขุมวิม(ประสพ สุขุม) อธิบดีกรมโยธาเทศบาล ก็ส่งคณะสำรวจลงพื้นที่ พร้อมจัดทำแผนที่การสร้างถนน หลวงศรีประกาศ และครูบาเถิ้มได้นำแผนที่ดังกล่าวไปให้ครูบาศรีวิชัยดู ครูบาศรีวิชัย กำหนดวันเพื่อทำพิธีบุกเบิกทางเป็นอุดมฤกษ์ไว้ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 เวลา 10.00 น. (วันศุกร์ขึ้น 3 ค่ำ เดือนยี่เหนือ (เดือน 12 ภาคกลาง) ปีจอ) เมื่อกำหนดวันได้ เถ้าแก่โหงว แซ่เตียว-คหบดีชาวเชียงใหม่ และเจ้าแก้วนวรัฐ เป็นเจ้าภาพพิมพ์ใบปลิวบอกข่าวการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพจำนวน 100,000 ใบ

ในวันพิธี ครูบาเถิ้มเป็นผู้ประกอบพิธีเชิญเทวดาอารักษ์ทั้ง 4 ทิศ จากนั้นพลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ เป็นผู้ลงจอบแรก [1] ตามด้วย เจ้านายฝ่ายเหนือ, หลวงศรีประกาศ ฯลฯ พระสงฆ์สวดชยันโต ครูบาศรีวิชัยประกาศต่อสาธาณะว่า “การนี้เป็นการใหญ่ จะสำเร็จได้จะต้องมีเทพบุตรและเทพธิดามาช่วย” แล้วก็ชี้ไปที่ชายหญิงที่มาร่วมงาน

การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพนั้นครูบาเถิ้มกับครูบาศรีวิชัยแบ่งการควบคุมงานกัน  โดยครูบาเถิ่มมีหน้าที่กำกับดูแลควบคุมเส้นทางหลักจากวัดพระธาตุดอยสุเทพลงมา ส่วนครูบาศริชัยควบคุมการทำงานจากด้านล่างขึ้นไปยังพระธาตุดอยสุเทพ และทำหน้าที่ “นั่งหนัก” เป็นประธานระดมทุนทรัพย์และรับไทยทานที่บริเวณหน้าวัดศรีโสภา (ขณะนั้นเป็นวัดร้าง)

คำว่า “นั่งหนัก” นั้นศาสตราจารย์มณี พยอมยงค์ ปราชญ์ล้านนา เคยอธิบายไว้ว่า ในอดีตก่อนหน้ายุคครูบาศรีวิชัยนั้น ชาวล้านนานไม่เคยรู้จักคำนี้มาก่อน เป็นการบัญญัติขึ้นมาใหม่เพื่อใช้เรียกพฤติกรรมการนั่งสมาธิบำเพ็ญภาวนาและให้ศีลให้พร (ปันพร) ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา แก่ผู้มาร่วมบริจาคเงินสำหรับการก่อสร้างเป็นการเฉพาะ

ในสัปดาห์แรกของการก่อสร้างถนนมีผู้คนมาช่วยไม่มากนัก หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ ก็เริ่มมีผู้ทราบข่าวทยอยมาจากทั่วทุกทิศ มาขอเป็นอาสา หรือร่วมเป็นเจ้าภาพในการทำทาง ขอแบ่งบุญคนละครึ่งวาบ้าง วาหนึ่งบ้าง จำนวนผู้คนที่มาช่วยงานเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 5,000/วัน ซึ่งมีทั้งพระภิกษุสามเณร, พ่อค้า, ประชาชน,ชาวเขาต่างๆ, เจ้านาย และข้าราชการ รวมผู้คนทั้งสิ้นที่มาร่วมงานก่อสร้างถนนครั้งนี้ 118,304 คน ใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จในเวลา 5 เดือน 22 วัน ก็แล้วเสร็จ

กำหนดทำพิธีฉลองเปิดทางทดลองวิ่งในวันที่ 30 เมษายน 2478 เมื่อแรกสร้างเสร็จให้ชื่อว่า “ถนนดอยสุเทพ” ต่อมาเมื่อ ครูบาศรีวิชัยมรณภาพ จึงเปลี่ยนเป็น “ถนนศรีวิชัย”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] การลงจอบแรกในการสร้างถนนครั้งนี้ บ้างว่าเป็น พระยาพหลพลพยุหเสนา แต่พันตรีพุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรชายของท่านเคยให้สัมภาษณ์ว่าวันเวลานั้น พระยาพหลฯ ติดราชการอยู่ที่วังปารุสกวัน และพระยาพหลฯ ก็บอกกับครอบครัวว่าเป็นกิจกรรมภายในจังหวัดเชียงใหม่ตัวท่านไม่ได้รับเชิญ


ข้อมูลจาก :

ครูบาศรีวิชัย สิริชีวประวัติ วัตรปฏิบัติ หลักธรรมคำสอน และมงคลบารมี, สมาคมชาวลำพูน จัดพิมพ์เมื่อ มิถุนายน 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2562