บ้านเมืองอีสาน-สองฝั่งโขง ใน “อุรังคธาตุ” ตำนานพระธาตุพนม

ภาพถ่าย ทางอากาศ เมืองสาเกต ร้อยเอ็ดประตู ร้อยเอ็ด บึงพลาญชัย
เมืองสาเกต-ร้อยเอ็ดประตู (ภาพถ่ายทางอากาศเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เมื่อ 4 สิงหาคม 2543)

บ้านเมืองอีสาน-สองฝั่งโขง ใน “อุรังคธาตุ” ตำนานพระธาตุพนม

1. เมืองศรีโคตรบอง ตำนานอุรังคธาตุอธิบายว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาเมืองศรีโคตรบอง ได้มาประทับอิงต้นรัง ปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งพระธาตุอิงฮัง ในแขวงสะหวันเขต สปป. ลาว และรับบิณฑบาตจากพญาติโคตรบูรในเมือง แล้วเสด็จไปฉันภัตตาหารที่ภูกำพร้า ปัจจุบันคือที่ตั้งพระธาตุพนม

ในตำนานอุรังคธาตุ กล่าวถึงที่ตั้งเมืองศรีโคตรบองว่าอยู่ริมแม่น้ำเซบั้งไฟ ความว่า “…เมืองอันพญาอยู่แต่ก่อนแคมแม่น้ำเซนั้น เราทั้งหลายว่า เมืองศรีโคตโม เทอญ…”

Advertisement

ดังนั้น ที่ตั้งเมืองศรีโคตรบองเดิมอยู่ในฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง บริเวณแม่น้ำเซบั้งไฟ ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกของภูกำพร้า สันนิษฐานว่าเป็นบริเวณบ้านหนองเฮือทอง เมืองไชบุรี แขวงสะหวันนะเขต ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเป็นเมืองโบราณร่วมสมัยทวารวดีที่มีการพบโบราณวัตถุ เช่น แผ่นทองคำดุนลาย ใบเสมา เป็นต้น 

2. เมืองหนองหาญหลวง คือบริเวณเมืองสกลนครในปัจจุบัน เพราะตำนาน “อุรังคธาตุ” กล่าวว่าเป็นที่ตั้งของพระธาตุเชิงชุมและหนองหาร

ตำนานอุรังคธาตุอธิบายว่าชื่อเมืองหนองหาญหลวงมาจากชื่อ พญามหาสุรอุทกะ คำว่า มหา คือ หลวง คำว่า สุระ คือ กล้าหาญ และคำว่า อุทกะ คือ หนองน้ำ ดังนั้น ภูมินามหากอ้างอิงตามตำนานอุรังคธาตุจึงควรเขียนเป็น “หนองหาญหลวง” ไม่ใช่ “หนองหารหลวง” ตามคำในปัจจุบันที่อ้างอิงจากคำว่าระหาน 

3. เมืองขุนขอมนคร หรือ เมืองหนองหาญน้อย ตำนานอุรังคธาตุอธิบายว่าเป็นเมืองของพญาขุนขอมนครน้องพญามหาสุรอุทกะ เดิมเมืองนี้มีชื่อว่า เมืองขุนขอมนคร ต่อมาเมืองถล่มเพราะกินเนื้อพญานาคพังคีที่แปลงเป็นกระรอก แสดงให้เห็นว่าตำนานผาแดงนางไอ่มีมาก่อนการเรียบเรียงตำนานอุรังคธาตุ เมืองหนองหาญน้อยคือบริเวณดอนแก้ว อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ในปัจจุบัน

บ้านเมืองในตำนานอุรังคธาตุบนพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ลุ่มแม่น้ำโขง

4. เมืองอินทปัตถนคร ในตำนานอุรังคธาตุ ได้กล่าวถึงเรื่องพญาฟ้างุ่ม ซึ่งในตำนานอุรังคธาตุใช้พระนามว่า พญาทุคตะไหลน้ำ ถูกเนรเทศลอยแพไปถึงเมืองอินทปัตถนคร ซึ่งเป็นที่รับรู้ทั่วไปว่าหมายถึงเมืองพระนคร ที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน

5. เมืองจุลณีพรหมทัต ที่ตั้งของเมืองจุลณีพรหมทัตในตำนานอุรังคธาตุไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นที่ใด แต่สามารถตีความจากเนื้อหาในตำนานอุรังคธาตุ ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ที่ภูกำพร้าได้ตรัสพระบาทเวินปลา ซึ่งอยู่ทิศเหนือภูกำพร้าในปัจจุบัน จากนั้นได้ผินพระพักตร์ไปด้านเมืองจุลณีพรหมทัต และเมืองอินทปัตถนครซึ่งอยู่ทางทิศใต้ ตามลำดับ

จากลำดับการมองของพระพุทธเจ้า เมืองจุลณีพรหมทัตจึงอยู่ทิศตะวันออกของภูกำพร้า หมายถึงอาณาจักรจามที่มีศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองเว้ในเวียดนามกลางในปัจจุบัน 

6. เมืองสาเกตนครร้อยเอ็ดประตู ในตำนานอุรังคธาตุระบุว่าอยู่ด้านทิศตะวันตกของเมืองศรีโคตรบอง เป็นเมืองที่มีความสำคัญคู่กันกับเมืองโยธิกาหรือเมืองกุรุนทะ

แต่เดิมเมืองนี้ชื่อว่า เมืองสาเกตนคร ต่อมาพญาสาเกตนครไปครองเมืองอโยธิยาร่วมกับพญากุรุนทะ ซึ่งครองอโยธิยาอยู่ก่อน จึงได้ราชาภิเษกเจ้าสุริยกุมารผู้เป็นราชบุตรขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองสาเกตนคร จนมีความรุ่งเรือง มีเมืองบริวารร้อยเอ็ดเมือง มีการสร้างกำแพงเมืองเจาะประตูเมืองเป็นร้อยเอ็ดช่อง จึงมีชื่อเรียกเมืองว่า เมืองสาเกตนครร้อยเอ็ดประตู หรือ เมืองร้อยเอ็ดประตู

แม้ตำนาน อุรังคธาตุ ไปไม่ได้ระบุที่ตั้งที่ชัดเจนของเมืองร้อยเอ็ด ต่อมาใน พ.ศ. 2318 (สมัยกรุงธนบุรี) ท้าวทน (บุตรจารย์แก้วเจ้าเมืองสุวรรณภูมิคนแรก) ได้มาขอตั้งดงกุ่มซึ่งเป็นเมืองร้างขึ้นเป็นเมืองร้อยเอ็ด โดยเชื่อว่าเป็นนามเดิมของเมืองร้างแห่งนี้

จารย์แก้วเป็นลูกศิษย์ญาครูขี้หอม ซึ่งอยู่ร่วมสมัยการเรียบเรียงตำนานอุรังคธาตุ จารย์แก้วจึงน่าจะมีข้อมูลหรือความทรงจำเกี่ยวกับที่ตั้งเมืองร้อยเอ็ดเล่าสู่ท้าวทนซึ่งเป็นลูก เมื่อมีการขอยกดงกุ่มเป็นเมือง จึงได้ใช้ชื่อเมืองว่า เมืองร้อยเอ็ด ตามการรับรู้ที่เล่าสืบต่อกันมา 

เมืองสาเกต-ร้อยเอ็ดประตู (ภาพจากเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด)

7. เมืองกุรุนทะ หรือเมืองศรีอโยธิยาทวารวดีนคร เป็นเมืองพิเศษที่ตำนานอุรังคธาตุได้กล่าวว่าเมืองนี้มีหลายชื่อแตกต่างกันในยุคของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ดังนี้

ในปฐมกัปชื่อว่า กุรุนทะนคร

ในสมัยพระพุทธเจ้ากกุสันธะ ชื่อว่า เมืองกุรุฏฐะนคร

ในสมัยพระพุทธเจ้าโกนาคม ชื่อว่า เมืองพาหละนคร

ในสมัยพระพุทธเจ้ากัสสป ชื่อว่า ทวารวดี เพราะมีผีเสื้อเมืองรักษาปักตูร้องว่า “ลวา”

ในสมัยพระพุทธเจ้าโคตรมะ ชื่อว่า กุรุนทะนคร

ในสมัยสร้างพระธาตุพนม ชื่อว่า เมืองศรีอโยธิยาทวารวดีนคร

เมื่อเปรียบเทียบกับ พงศาวดารโยนกของพระยาประชากิจกรจักร ได้กล่าวถึงเมืองกุรุรัฐในปริเฉทที่ 2 ไว้ว่า “…ครั้นเจ้ากุรุวงศาได้เป็นใหญ่ในแว่นแคว้นนั้นแล้ว จึงได้เรียกแว่นแคว้นนั้นว่ากุรุรัฐ และเรียกประชาชนในแว่นแคว้นนั้นว่ากล๋อม ตามมูลเหตุที่เอาหินศิลามาก่อล้อมเป็นปราการ ครั้นภายหลังมาคำที่เรียกว่ากล๋อมก็กลายเป็นขอมไป…”

ดังนั้น เมืองโยธิกาหรือเมืองกุรุนทะหรือเมืองศรีอโยธิยาทวารวดีนคร ในตำนานอุรังคธาตุจึงน่าจะมายถึง เมืองละโว้-อโยธยา ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก และตรงกับ “เมืองขอม” ในตำนานเมืองโยนก

8. เมืองจันทบุรี ในตำนานอุรังคธาตุกล่าวว่าบริเวณที่ตั้งเมืองจันทบุรีเดิมเรียกว่า หนองคันแทผีเสื้อน้ำ ต่อมาพญานาคมาสร้างเมืองที่มี “ต้นจันทน์หอม” ล้อมรอบเป็นกำแพงเมืองจึงเรียกว่า เมืองเวียงจันท์ เพื่อมอบให้ “บุรีอ้วยล่วย” แล้วราชาภิเษกให้เป็นกษัตริย์ มีพระนามว่า พญาจันทบุรีประสิทธิสักกะเทวะ ปัจจุบันคือนครหลวงเวียงจันท์ สปป.ลาว 

9. เมืองศรีสัตตนาค คือเมืองเชียงดงเชียงทองหรือเมืองหลวงพระบางในปัจจุบัน แต่ในตำนานอุรังคธาตุไม่ปรากฏเรียกเมืองนี้ว่าเมืองชวา หรือเมืองเชียงดงเชียงทอง หรือเมืองหลวงพระบาง แต่เรียกว่า เมืองศรีสัตตนาค โดยกล่าวว่าอมรรัสสีและโยธิการัสสีเป็นผู้มาก่อตั้งเมืองนี้ที่ดอยนันทกังฮี และได้ใช้นามจากนาค 7 หัวชื่อว่า “สีสาสัตตนาค” มาเป็นภูมินามของเมือง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 สิงหาคม 2566