นาค ในคัมภีร์ “อุรังคธาตุ” (หรือตำนานพระธาตุพนม)

มกรคายนาค นาค พญานาค วัดพระแก้ว ลาว
นาค บันไดหอพระวัดพระแก้ว สปป.ลาว (ภาพจาก https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_716687)

นาค เป็นอมนุษย์ที่สามารถแปลงกายเป็นมนุษย์ได้อย่างสวยงาม ในวรรณคดีไทยมีเรื่องราวของ นาค เข้ามาเกี่ยวข้องหลายเรื่อง เช่น ในสุธนชาดกมีเรื่งราวของพญาจิตชมภูนาคราชแห่งเมืองอุดรปัญจาล์ ทำให้บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ลักษณะเดียวกับช้างปัจจัยนาเคนทร์ในเรื่องเวสสันดรชาดก

ใน ตำนานอุรังคธาตุ กล่าวว่า แต่เดิมนาคทั้งหลายอาศัยอยู่ที่หนองแส แต่เมื่อธนมูลนาคทะเลาะกับพนทโยนกวตินาค ทำให้น้ำในหนองแสขุ่น นาคทั้งหลายจึงออกมาจากหนองแส ดังความในตำนานอุรังคธาตุว่า

Advertisement

“…นาคทั้งหลายมี สุวรรณนาค กุทโธทปาปนาค ปัพพารนาค สุกขรนาคหัตถี สีสาสัตตนาค มี 7 หัว คหัตถีนาค เป็นเค้า แลนาคทั้งหลายฝูงเป็นบริวารมากนัก อยู่น้ำหนองแสนนั้นบ่ได้ เหตุว่าน้ำหนองแสขุ่นมัวเสียมากนักจึงออกมา…”

นาค กับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ในตำนานอุรังคธาตุ มีดังต่อไปนี้

(1) พินทโยนกวตินาค เดิมอยู่ที่หนองแส ต่อมาเมื่อหนองแสขุ่นจึงควัดแผ่นดินไปเป็นแม่น้ำปิง และเมืองโยนกวตินคร

(2) ธนมูลนาค เดิมอยู่ที่หนองแส ต่อมาเมื่อหนองแสขุ่นจึงควัดแผ่นดินไปเป็นแม่น้ำอุรังคนที หรือน้ำอู แล้วควัดต่อไปถึงเมืองินทปัตถนครถึงมหาสมุทร แล้วควัดไปยังเมืองกุรุนทะนคร เรียกว่า แม่น้ำมูลนที

(3) ชีวายนาค เดิมอยู่ที่หนองแส ต่อมาเมื่อหนองแสขุ่นจึงควัดแผ่นดินไปเป็นแม่น้ำอุรังคนที หรือน้ำอู แล้วควัดจากแม่น้ำมูลจนถึงเมืองหนองหาญหลวงหนองหาญน้อย ถึงเมืองกุรุนทะนคร เรียกว่า แม่น้ำชีวายนที

(4) สุวรรณนาค เดิมอยู่ที่หนองแส ต่อมาเมื่อหนองแสขุ่นจึงควัดแผ่นดินไปอยู่ที่ภูปู่เวียนเมืองสุวรรณภูมิ มีเกล็ดเป็นทองคำ หากเกล็ดหล่นที่ใด ที่นั้นจะเกิดเป็นบ่อคำ

(5) กุทโธทปาปนาค เดิมอยู่ที่หนองแส ต่อมาเมื่อหนองแสขุ่นจึงควัดแผ่นดินไปอยู่ที่หนองบัวบานเป็นหลานสุวรรณนาค พระพุทธเจ้าปราบพยศแล้วประทานรอยพระบาทไว้ให้ที่หนองบัวบาน

(6) ปัพพารนาค เดิมอยู่ที่หนองแส ต่อมาเมื่อหนองแสขุ่นจึงควัดแผ่นดินไปอาศัยอยู่ที่ภูเขาลวง มีสังวาลที่คอทำจากแก้วปัพพา

(7) สุกขนาคหัตถี เดิมอยู่ที่หนองแส ต่อมาเมื่อหนองแสขุ่นจึงควัดแผ่นดินไปอาศัยอยู่ที่เวินสุก ได้นำรอยพระบาทไปไว้ในที่อยู่ของตน ที่แห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า เวินพระเจ้า

(8) สีสาสัตตนาค หรือ ศรีสัตตนาค เดิมอยู่ที่หนองแส ต่อมาเมื่อหนองแสขุ่นจึงควัดแผ่นดินไปอยู่ที่ดอยนันทกังฮี

(9) คหัตถีนาค เดิมอยู่ที่หนองแส ต่อมาหนองแสขุ่นจึงควัดแผ่นดินไปอยู่ที่เวินหลอด

(10) โธทนะนาค อาศัยอยู่ที่น้ำพุงสา อยู่ระหว่างทางจากภูกำพร้าไปเมืองหนองหาญหลวง เดิมเป็นเชื้อสายพญาศรีสุทโธทนะ ตายเพราะความโกรธจึงเกิดเป็นนาค ได้พังธรรมจากพระพุทธเจ้า เมื่อตายจึงไปจุติเป็นโธทนะนาคเทวบุตร อยู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

(11) ภังคียนาค เป็นลูกของกุทโธทปาปนาค แล้วสุวรรณนาคนำไปเลี้ยง ต่อมาแปลงกายเป็นกระรอกเผือกไปที่เมืองหนองหาญน้อย ถูกนายพรานยิงตายแล้วคนทั้งหลายเอาเนื้อภังคียนาคไปกิน กุทโธทปาปนาคโกรธจึงถล่มเมืองหนองหาญน้อย

(12) กายโลหนาค อาศัยอยู่ที่ป่ามหาพุทธวงศา ใกล้เมืองสุวรรณภูมิ

(13) เอกจักขุนาค อาศัยอยู่ที่ร่องซะแก ใกล้เรือนของบุรีอ้วยล่วย

(14) สุคันธนาค อาศัยอยู่หาดทรายกลางน้ำโขง

(15) เชษฐไชยนาค อาศัยอยู่หนองคันแทผีเสื้อน้ำ

(16) สหัสสพลนาค อาศัยอยู่หนองยางคำ

(17) คันธรรพนาค อาศัยอยู่ท่านาเหนือ

(18) สิทธิโภคนาค อาศัยอยู่ท่านาใต้

(19) สิริวัฒนนาค อาศัยอยู่กกคำ

(20) อินทจักรนาค อาศัยอยู่ปากห้วยมงคล

ในจำนวนของนาคที่กล่าวมาข้างต้น พบว่า นาคในลำดับที่ 1 ถึง 11 ปรากฏใน ตำนานอุรังคธาตุ ส่วนที่เป็นศาสนานครนิทาน และตอนที่กล่าวถึงการกำเนิดแม่น้ำสายต่างๆ ที่แทรกอยู่ตอนกลางของเรื่อง ส่วนนาคในลำดับที่ 12 ถึง 20 ปรากฏในตำนานอุรังคธาตุตอนที่กล่าวถึงบุรีอ้วยล่วยได้ครองเมืองเวียงจันทร์

โดย ตำนานอุรังคธาตุ ปว.04 ของสุเนตร โพธิสาร ได้อธิบายว่า นาคที่ปรากฏในตำนานอุรังคธาตุ คือผู้นำชาวลาวในอดีต ประกอบด้วย 1. สุวรรณนาค คือ ขุนลาวคำ 2. กุทโธทปาปนาค คือขุนลาวเคียด 3. ปัพพารนาค คือขุนลาวไล 4. สุขหัตถีนาค คือขุนลาวสุก 5. สีสัตตนาค คือ ขุนลาวล้านช้าง และ 6. คหัตถีนาค คือ ขุนลาวออก

ตารางแสดง เมือง ภูมินาม และที่ตั้งภูมิศาสตร์ปัจจุบัน

ตารางแสดง เมือง ภูมินาม และที่ตั้งภูมิศาสตร์ปัจจุบัน

ตารางแสดง นาค กับการกำเนิดแหล่งน้ำใน ตำนานอุรังคธาตุ

ตารางแสดง นาคกับการกำเนิดแหล่งน้ำในตำนานอุรังคธาตุ

ตารางแสดง ความสัมพันธ์ระหว่าง นาค กับพื้นที่พุทธสถาน

ตารางแสดง ความสัมพันธ์ระหว่างนาคกับพื้นที่พุทธสถาน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 สิงหาคม 2566