“พระธาตุพนม” เจดีย์บัวเหลี่ยมลาวล้านช้าง ปรากฏร่องรอย “ศิลปะจาม”

พระธาตุพนม ศิลปะจาม

พระธาตุพนม เป็นพระธาตุโบราณประดิษฐานพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนอกของพระพุทธเจ้า แม้พระธาตุพนมจะได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาหลายสมัย โดยเฉพาะหลังการพังถล่มเมื่อปี 2518 แต่ก็ยังเผยให้เห็นร่องรอยจากการได้รับอิทธิพลจาก “ศิลปะจาม” อยู่ด้วย

พระธาตุพนมมีประวัติการสร้างไม่แน่ชัด มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระธาตุพนมปรากฏในตำนานอุรังคธาตุ โดยกล่าวว่า พระมหากัสสปะได้นำอุรังคธาตุมาประดิษฐานไว้ ณ ดอยกัปปนคีรี หรือภูกำพร้า ซึ่งก็คือพระธาตุพนมนั่นเอง

ส่วนประวัติการบูรณะซ่อมแซมแน่ชัดว่ามีอยู่หลายครั้ง เช่น ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช, สมัยพระยาบัณฑิตยโพธิสาลราชกษัตริย์ล้านช้าง และรัชกาลพระยาสุริยวงศาธรรมิกราช เป็นต้น และในสมัยหลังเมื่อปี 2483 บูรณะโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และปี 2518 ซึ่งพังถล่มลงมาทั้งองค์

ภาพวาด พระธาตุพนม
ภาพวาด พระธาตุพนม จากบันทึกในช่วง พ.ศ. 2409-11 โดย Louis Delaporte

รูปแบบศิลปกรรมของพระธาตุพนมจัดอยู่ในประเภทเจดีย์ทรงปราสาทยอดแบบล้านช้าง ประกอบด้วยเรือนธาตุแบบเพิ่มมุม มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป และส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆังสี่เหลี่ยม ซึ่งเป็นที่นิยมในศิลปะล้านช้าง

อิทธิพลจาก “ศิลปะจาม” ปรากฏในส่วนเรือนธาตุ โดยจะอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสและมีเรือนธาตุ 2 ชั้น ซึ่งชั้นที่ 2 จะยกสูงอย่างชัดเจน แผนผังเรือนธาตุและลักษณะการยกชั้นที่กล่าวนี้ปรากฏในปราสาททั้งจามและขอม

พระธาตุพนม
ส่วนเรือนธาตุของ “พระธาตุพนม” แบ่งเป็น 2 ชั้น (ภาพจาก pixabay.com – public domain)

นอกจากนี้ ตัวเสาหลอกประดับเรือนธาตุชั้นแรกมีลักษณะคล้ายคลึงกับศิลปะจาม คือ เสาประดับมุมแต่ละด้านมีการเซาะร่องกลางเสา ร่องเสามีขนาดใหญ่และบรรจุลวดลายไว้ภายใน ลักษณะเช่นนี้พบมาก่อนในศิลปะจามสมัยฮัวหล่าย เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 14 การพิจารณาจากรูปแบบเสาสอดคล้องกับการกำหนดอายุจากการก่ออิฐซึ่งอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-15 ทั้งนี้ เนื่องจากเจดีย์บัวเหลี่ยมแบบล้านช้างเพิ่งจะได้รับความนิยมสร้างขึ้นราวต้นพุทธศตวรรษที่ 22

ดังนั้น สันนิษฐานได้ว่า รูปแบบศิลปกรรมแต่เดิมของพระธาตุพนมคงมีรูปแบบปราสาทจาม แต่มีการดัดแปลงส่วนยอดในภายหลัง

ปราสาทฮัวหล่า ในประเทศ เวียดนาม ศิลปะจาม
ปราสาทฮัวหล่าย ​(Hòa Lai) ในประเทศเวียดนาม ศิลปกรรมแบบฮัวหล่าย พุทธศตวรรษที่ 14

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช. (2557). ศิลปะเวียดและจาม. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ตุลาคม 2565