ประโยคจากอักษรแทนเสียงเก่าแก่ที่สุดในโลก “คาถาปัดเป่าเหา” บนหวีเสนียดงาช้าง!

หวีเสนียด โบราณ จากงาช้าง พร้อม คาถาปัดเป่าเหา จากอักษรแทนเสียง
ภาพที่เผยแพร่โดยหน่วยงานด้านโบราณวัตถุของอิสราเอล (the Israel Antiquities Authority) เมื่อวันพุธที่ 9 พฤศจิกายน 2022 แสดงหวีงาช้างพร้อมประโยคในภาษาคานาไนต์ (ภาพโดย Dafna Gazit, Israel Antiquities Authority จาก AP News)

ปลาย ค.ศ. 2022 นักโบราณคดีอิสราเอลพบ “หวีเสนียด” โบราณ ทำจากงาช้าง พร้อมจารึกที่เขียนด้วย อักษรแทนเสียง (Alphabet) แบบเต็มประโยคที่สมบูรณ์และเก่าแก่ที่สุด

นักโบราณคดีค้นพบหวีโบราณที่เมือง Tel Lachish ประเทศอิสราเอล มีอายุสืบย้อนไปเมื่อประมาณ 3,700 ปีที่แล้ว แต่ไฮไลท์สำคัญคือ บนหวีมีรูปประโยคแบบเต็ม ๆ จาก “อักษรแทนเสียง” (อักษรที่ประสมกันแล้วได้เสียงหรือคำใหม่ ไม่ใช่อักษรคำหรือสัญลักษณ์แบบเฮียโรกลิฟิกหรือศัพท์ในภาษาจีน – ผู้เขียน) ที่เก่าแก่ที่สุด ประโยคดังกล่าวเป็นคำในภาษาคานาไนต์ (Canaanite) หรือคานาอัน อักษรแทนเสียงกลุ่มแรก ๆ ของโลก

คำจารึกมีลักษณะของบทสวดและคำปลุกใจ ให้ผู้ใช้หวีผมและเคราเพื่อกำจัด “เหา” เมื่อแปลประโยคดังกล่าวที่ประกอบด้วยอักษร 17 ตัว สามารถถอดความได้ว่า

“ของา (ช้าง) นี้จงขุดรากถอนโคนเจ้าเหาให้สูญสิ้นไปจากเส้นผมและเครา”

แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า นี่คือหวีเสนียดพร้อม “คาถาปัดเป่าเหา” โบราณ ของดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ระหว่างอารยธรรมโบราณระดับโลกอย่างอารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์กับเมโสโปเตเมีย

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การค้นพบนี้จุดประกายความเข้าใจใหม่ ๆ เกี่ยวกับการใช้อักษรแทนเสียงภาษาคานาไนต์ (Canaanite alphabet) ในยุคแรก ๆ ของมนุษยชาติ มันคือมรดกที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเมื่อประมาณ 1,800 ปีก่อนคริสตกาล (3,800 ปีที่แล้ว) และกลายเป็นรากฐานของระบบอักษรแทนเสียงรุ่นถัด ๆ มาทั้งหมด ตั้งแต่อักษรในภาษาฮีบรู อาหรับ กรีก ละติน และอักษรซีริลลิก (ภาษากลุ่มสลาวิกในยุโรปตะวันออก)

ถ้อยคำในประโยคข้างต้นบ่งชี้ว่า ผู้คนในยุคโบราณต้องเผชิญปัญหาจากตัวเหาที่ตามรังควานพวกเขาในชีวิตประจำวัน นักโบราณคดียังเผยว่า ได้พบหลักฐานสำคัญเป็น “ซากเหา” บนหวีจากการส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ด้วย

เห็นได้ชัดว่า หวีเสนียด ตอบแทนผู้ใช้ได้อย่างเยี่ยมยอดเลยทีเดียว หรือเป็นเพราะ “คาถาปัดเป่าเหา” บนหวีกันนะ !?

Tel Lachish คือแหล่งโบราณคดีทางตอนใต้ของอิสราเอล หวีถูกขุดพบที่นั่นตั้งแต่ปี 2016 แล้ว แต่จารึกเพิ่งถูกค้นพบเมื่อปลายปี 2022 ส่วนหนึ่งเพราะหวีมีขนาดเล็กจิ๋วมาก ๆ คือ 3.5 X 2.5 เซนติเมตรเท่านั้น โดยด้านหนึ่งมีซี่ละเอียดจำนวน 14 ซี่ เชื่อว่าใช้สำหรับสางเหาและไข่เหา ส่วนอีกด้านเป็นซี่ห่างจำนวน 6 ซี่ สำหรับสางผมที่พันกันยุ่งเหยิง กระทั่งศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮีบรูแห่งอิสราเอลสังเกตเห็นข้อความเล็ก ๆ อันเลือนลางจารึกอยู่บนหวี จึงทำการตรวจสอบอย่างละเอียด ก่อนนำเสนอการค้นพบลงตีพิมพ์ในบทความของวารสารโบราณคดีแห่งเยรูซาเลม

โยเซฟ การ์ฟิงเกล (Yosef Garfinkel) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยฮีบรู หนึ่งในผู้วิจัยและค้นคว้ากล่าวกับ The Associated Press ว่า แม้จะพบโบราณวัตถุจำนวนมากที่มีอักษรคานาไนต์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่นี่คือ “ประโยคสมบูรณ์” ที่เก่าแก่ที่สุดจากที่เคยค้นพบกันมาเลย การค้นพบจดหมายเหตุไม่กี่ฉบับก่อนหน้ามักเป็นเพียงคำบอกตำแหน่งที่ตั้งต่าง ๆ ไม่ได้ช่วยต่อยอดหรือขยายความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวคานาอันโบราณแต่อย่างใด แน่นอนว่าข้อมูลแบบนั้นไม่เพียงพอต่อการศึกษา

แต่การค้นพบเล็ก ๆ นี้กลับจุดประกายสิ่งที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะประเด็นการถกเถียงเกี่ยวกับสังคมยุคโบราณ เพราะหวีถูกค้นพบบริเวณพระราชวังและเขตวิหารของเมืองโบราณ เมื่อจารึกกล่าวถึงหนวดเครา และเหา ทำให้บ่งชี้ได้ว่ามีเพียงบุรุษผู้มั่งคั่ง ชนชั้นสูง หรือนักบวชเท่านั้น ที่สามารถอ่านออกเขียนได้ รวมถึงพวกเขาคงนิยมไว้เครามากกว่าโกนมันให้เกลี้ยงเกลา แม้จะแลกมาด้วยปัญหาเหาจอมป่วนก็ตาม

การ์ฟิงเกล กล่าวด้วยว่า “มัน (โคตร) เป็นข้อความที่แสดงถึงความเป็นมนุษย์เลย แสดงให้เราเห็นว่าจะคนหรือเหาก็ไม่ได้เปลี่ยนไปเลยจริง ๆ”

ชาวคานาอันเป็นกลุ่มชนที่พูดภาษากลุ่มเซมิติกโบราณ (Ancient Semitic language) ภาษาของพวกเขาเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับภาษาฮีบรู อาหรับ และอราเมอิกสมัยใหม่ พวกเขาอาศัยอยู่ในดินแดนตลอดแนวชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่า ชนกลุ่มนี้พัฒนาระบบการเขียนตัวอักษรแบบแทนเสียงเป็นครั้งแรกด้วย นี่คือความโดดเด่นของชาวคานาอันท่ามกลางอารยธรรมยุคแรกเริ่มทั้งหลายที่ประดิษฐ์คำและตัวอักษรขึ้นมาเช่นกัน แต่รูปประโยคจากอักษรแทนเสียงแบบสมบูรณ์ที่สุดเกิดขึ้นในหมู่พวกเขาก่อนอารยธรรมอื่น

ฟีลิกซ์ ฮอล์ฟมาเยอร์ (Felix Höflmayer) นักโบราณคดีชาวออสเตรีย ผู้เชี่ยวชาญในยุคนั้น (ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบทความที่เผยแพร่ในวารสาร) กล่าวว่า ข้อสรุปดังกล่าวยังไม่เป็นที่ยุติ เพราะ “เรามีจารึกตัวอักษรแทนเสียงยุคแรกที่ยังชัดเจนไม่เพียงพอจากที่รู้จักกันในปัจจุบัน” แต่ “แต่ตัวอักษร 17 ตัว ที่ถูกจารบนวัตถุชิ้นเดียวนั้นน่าทึ่งมาก”

ฮอล์ฟมาเยอร์ เสริมว่า การค้นพบนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะมันช่วยบอกพิกัดว่า Tel Lachish อาจเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอักษรแทนเสียงยุคแรกเริ่มจริง ๆ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

BBC NEWS ไทย. “คาถาไล่เหา” บนหวีเสนียด คือประโยคเก่าแก่ที่สุดที่เขียนด้วยอักษรแทนเสียง. 12 พฤศจิกายน 2565. จาก https://www.bbc.com/thai/articles/c1dem908ykvo

Elenor H. Reich, AP News. Israel archaeologists find ancient comb with ‘full sentence’. November 9, 2022. From https://apnews.com/article/science-health-middle-east-jerusalem-israel-e5c30f07e0c8ffe041cd6bd2d44c1d80


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 สิงหาคม 2566