ผู้เขียน | อัศวัตถามา |
---|---|
เผยแพร่ |
ถอดความหมายภาพสลักวังของอัสซูร์นาซิปาลที่ 2 กษัตริย์อัสซีเรียน ฤๅเป็นอาคมปกป้องสุสาน?
ภาพสลักนูนต่ำจากพระราชวังหลวงของกษัตริย์นามว่า อัสซูร์นาซิปาลที่ 2 (Ashurnasirpal II) ผู้ปกครองจักรวรรดิอัสซีเรียนราวปีที่ 883-859 ก่อนคริสตกาล ในดินแดนอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ภาพสลักนี้ประกอบด้วยกษัตริย์กับข้าราชบริพารของพระองค์ ภาพนูนต่ำที่ปรากฏอยู่ในแผ่นหินนี้มีขนาดใหญ่กว่าคนจริง เช่นเดียวกับภาพนูนต่ำ-นูนสูงชิ้นอื่น ๆ ที่พบในพระราชวังแห่งนี้ ภาพของกษัตริย์จะถูกสลักเสลาอย่างสวยงามและมีรายละเอียดที่แสดงถึงความใส่ใจเป็นพิเศษเสมอ
จะเห็นว่าด้านซ้ายสุดยังมีรูปของผู้พิทักษ์ในลักษณะอมนุษย์มีปีก แผ่นสลักนี้เหมือนกับงานชิ้นอื่น ๆ ที่กษัตริย์หรือต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์แห่งอัสซีเรียนจะถูกขนาบข้างด้วยมนุษย์ที่เป็นข้าราชบริพารและผู้พิทักษ์ที่มีปีกเป็นนกอินทรี
มงกุฎบนศีรษะสามารถบ่งชี้ตัวกษัตริย์อัสซีเรียนได้ทันที โดยเป็นทรงกรวยที่โดดเด่นและมีกรวยขนาดเล็กซ้อนอยู่อีกชั้นตรงกลาง มีสายพู่ยาวห้อยลงมาจากด้านหลังของมงกุฎ อีกจุดสังเกตคือเคราดกหนาอันหรูหรา พร้อมเสื้อผ้าฉลองพระองค์ที่มีรอยปัก (สลัก) อย่างปราณีตกว่ารูปสลักร่างอื่น ๆ เป็นงานปักในลักษณะของรอยบากขนาดเล็กที่ช่างทำไว้เพื่อสื่อถึงพื้นผิวของเนื้อผ้า
กษัตริย์อัสซีเรียนสวมเครื่องประดับที่วิจิตรบรรจง เช่น กำไลดอกกุหลาบ พาหุรัด (เครื่องประดับรัดต้นแขน) ต่างหูขนาดใหญ่ และสร้อยคล้องคอที่เป็นลูกปัดจากหินสูงค่าและทองคำ ทรงดาบไว้ที่สะโพกซ้าย และมีดสองเล่มซุกอยู่ในฉลองพระองค์อีกชั้น ส่วนหัตถ์ซ้ายถือปลายคันธนู หัตถ์ขวาถือชามก้นตื้น วิเคราะห์จากภาพสลักนูนต่ำอื่น ๆ ที่เคยมีการค้นพบและศึกษา ชามลักษณะนี้จะใช้สำหรับบรรจุเหล้าองุ่นหรือใช้สำหรับเทเหล้าในพิธีกรรมบางอย่าง เช่น เทบนร่างของสัตว์ที่ถูกสังหารหลังกิจกรรมล่าสัตว์ของเหล่าชนชั้นสูงเพื่อการบวงสรวง
ภาพบุคคล 2 คน (สันนิษฐานว่าเป็นข้าราชบริพาร) ที่ขนาบข้างกษัตริย์คือชายที่หนวดเคราเกลี้ยงเกลา อาจเป็นขันทีหรือนักบวช พวกเขาทั้งคู่แต่งกายอย่างหรูหรา สวมเครื่องประดับทั้งกำไลดอกกุหลาบ พาหุรัด สร้อยคอ ต่างหู ฯลฯ เสื้อผ้ามีแถบลายสื่อถึงงานปักบนเนื้อผ้าเช่นเดียวกับของกษัตริย์ จะเห็นว่ามีการคล้องดาบที่มีฝักรูปทรงเดียวกันกับของกษัตริย์ด้วย บริเวณกระบังดาบเป็นรูปสิงโตคำราม มือขวาของข้าราชบริพารคนขวาถือแส้ขนสัตว์ที่ด้ามแกะสลักเป็นรูปหัวแกะตัวผู้ ส่วนมือซ้ายถือตะเกียงน้ำมัน บ้างก็ว่าอาจเป็นทัพพีเติมเหล้าองุ่นใส่ชามที่กษัตริย์กำลังถือ โดยด้ามจับมีปลายเป็นหัวงูซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับ เทพ Ashur เทพเจ้าองค์สำคัญของชาวอัสซีเรียน
แผ่นสลักนี้มาจากพระราชวังในส่วนที่อาจเป็นสุสานหลวงหรือบริเวณที่มีการอุทิศเพื่อการบูชาบรรพชนของราชวงศ์แห่งอัสซีเรียน นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าภาพนี้แสดงการเทเหล้าระหว่างการประกอบพิธีกรรมเพื่อระลึกถึงผู้วายชนม์ โดยทั่วไปเรามักจะเห็นรูปเคารพของกษัตริย์อัสซีเรียนทั้งหมดต่างเป็นภาพแทนของกษัตริย์อัสซูร์นาซิปาล แต่ก็มีแนวคิดว่าบางรูปอาจเป็นตัวแทนบรรพกษัตริย์แห่งอัสซีเรียนองค์ก่อน ๆ ก็ได้
สิ่งที่โดดเด่นอีกประการของภาพสลักนูนต่ำนี้คือ จารึกอักษรคูนิฟอร์ม (อักษรรูปลิ่ม) ที่อยู่ตรงกลางและตัดผ่านภาพของแผ่นสลักนี้ เป็นอักษรเขียนด้วยสำนวนแบบอัสซีเรียนแต่เป็นภาษาอัคคาเดียน (ชนโบราณของอารยธรรมเมโสโปเตเมียอีกกลุ่ม เคยมีอิทธิพลก่อนชาวอัสซีเรียน) ข้อความนั้นกล่าวถึงความสำเร็จของกษัตริย์ผู้สร้างพระราชวังแห่งนี้ เอ่ยถึงราชวงศ์และพระเกียรติคุณทั้งหลายของพระองค์
จารึกยังบอกเล่าถึงความสำเร็จทางการทหารของกษัตริย์อัสซูร์นาซิปาลที่ 2 ที่พิชิตดินแดนจากทางตะวันออกถึงตะวันตกของพื้นที่ตะวันออกกลางจนสร้างความแข็งแกร่งให้แก่จักรวรรดิอัสซีเรียนกลายเป็นมหาอำนาจอันดับต้น ๆ ของโลกยุคโบราณ รวมถึงการสร้างพระราชวังที่เมือง Nimrud เชื่อว่าข้อความจารึกดังกล่าวนอกจากเพื่อการบันทึกประวัติศาสตร์ของกษัตริย์อัสซีเรียแล้ว ผู้สร้างยังมีวัตถุประสงค์ในลักษณะของการลงมนตร์อาคมเพื่ออ้อนวอนให้สวรรค์ช่วยคุ้มครองกษัตริย์และพระราชวังแห่งนี้ด้วย
ข้อสันนิษฐานที่ว่าภาพของกษัตริย์และผู้รับใช้กำลังทำพิธีกรรมบางอย่างเพื่อบูชาเทพเจ้าจึงมีน้ำหนักที่น่าเชื่อถือมากกว่าการล่าสัตว์เพื่อความบันเทิง
อ่านเพิ่มเติม :
อ้างอิง :
The Metropolitan Museum of Art : Relief panel
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2565