“พระราชโองการแห่งไซรัส” กฎหมายสิทธิมนุษยชนฉบับแรกของโลก หรือแค่โฆษณาชวนเชื่อ?

กระบอกไซรัสซึ่งจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์บริติชมิวเซียม (ภาพโดย Photograph by Mike Peel, via Wikimedia Commons)

“พระราชโองการแห่งไซรัส” (Edict of Cyrus) หรือที่มักรู้จักกันในชื่อ “กระบอกไซรัส” (Cyrus Cylinder) ตามรูปทรงของจารึกที่ทำขึ้นจากดินเหนียวทรงกระบอก มักถูกยกย่องให้เป็นกฎหมาย หรือคำประกาศที่รับรองสิทธิมนุษยชนฉบับแรกๆ ของโลก ด้วยถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ราวศตวรรตที่ 6 ก่อนคริสต์กาล

การที่จารึกชิ้นนี้ได้รับการยกย่องด้านสิทธิมนุษยชนในระดับโลก เริ่มต้นขึ้นมาจากการรณรงค์ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 โดยชาห์โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี (Shah Mohammed Reza Pahlevi) กษัตริย์องค์สุดท้ายของอิหร่าน เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้กระบอกไซรัสได้รับการยอมรับในวงกว้าง มาจากงานฉลองความยืนยาวของระบอบกษัตริย์แห่งอิหร่านครบรอบ 2,500 ปี เมื่อปี 1971 (พ.ศ. 2514) แม้ว่าราชวงศ์ของชาห์ปาห์ลาวีจะมีส่วนในการปกครองอิหร่านได้เพียงไม่กี่ปี และระบอบกษัตริย์ต้องถึงกาลอวสานในรัชสมัยของพระองค์เองหลังการปฏิวัติอิสลามในอีกราว 8 ปีให้หลัง

Advertisement
ชาห์โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี กษัตริย์องค์สุดท้ายของอิหร่าน (ภาพโดย By Ghazarians, via Wikimedia Commons)

ในการฉลองครั้งนั้น บรรพกษัตริย์ที่ได้รับการเชิดชูเป็นพิเศษคือ ไซรัสที่ 2 ผู้ปกครองดินแดนที่กินอาณาเขตกว่า 5 ล้านตารางกิโลเมตร ผ่านการทำสงครามอันดุเดือดอย่างยาวนาน แต่ชาห์ปาห์ลาวีทรงเลือกที่จะเน้นย้ำเกียรติคุณของไซรัสมหาราชในฐานะของกษัตริย์ผู้เมตตา และเปี่ยมด้วยความรัก พร้อมย้ำว่าไซรัสคือผู้ถืออำนาจปกครองยุคโบราณที่รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเป็นคนแรก

และในวันที่ 14 ตุลาคม ปีเดียวกัน เจ้าหญิงอัชราฟ พระขนิษฐาฝาแฝดของชาห์ปาห์ลาวี ก็ได้ถวายกระบอกไซรัสจำลองให้กับองค์การสหประชาชาติ ณ สำนักงานใหญ่ในนครนิวยอร์ก โดย อู ถั่น เลขาธิการสหประชาติในขณะนั้นเป็นตัวแทนรับมอบ พร้อมออกแถลงการณ์ยกย่องไซรัสว่า

“ไซรัสทรงแสดงถึงพระอัจฉริยภาพ ด้วยการให้เกียรติต่ออารยธรรมต่างๆ และประชาชนทุกหมู่เหล่าซึ่งพระองค์ได้ ‘หลอมรวม’ ไว้ใต้ร่มพระบารมี…”

“จากการสรุปความตามถ้อยคำในจารึกฉบับทางการของกระบอกดินเหนียวชิ้นนี้, ไซรัสทรงแสดงพระองค์ต่อชาวบาบิโลนในฐานะของผู้ปลดปล่อย พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์โดยสันติ, ทรงฟื้นฟูศาสนสถานต่างๆ และปลดปล่อยประชาชนเป็นอิสระ สร้างความปรองดอง และเป็นธรรมแก่ผู้คนทุกหมู่เหล่า

พระราชโองการนี้สะท้อนถึงพระราชปณิธานของไซรัสที่ทรงต้องการสถาปนาสันติภาพในพระราชอาณาจักรอันกว้างไกลของพระองค์ ซึ่งพระองค์ทรงเข้าพระทัยถ่องแท้ดีว่าจะสามารถสำเร็จได้ก็ด้วยการพระราชทานพระบรมราชานุญาตแก่พสกนิกรทั้งหลายให้สามารถรักษาขนบธรรมเนียมและความเชื่อของตนได้ต่อไป”

ภาพนูนต่ำของ ไซรัสที่ 2 หรือไซรัสมหาราช กษัตริย์ผู้ก่อตั้งจักรวรรดิอคีเมนียะห์ (ภาพจากอุทยานโอลิมปิก นครซิดนีย์ โดย Siamax, via Wikimedia Commons)

อย่างไรก็ดี Josef Wiesehöfer นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์สมัยโบราณจาก University of Kiel ในเยอรมนี ไม่ได้ให้ราคากับพระราชโองการดังกล่าวของไซรัสในฐานะกฎหมายรับรองสิทธิมนุษยชนอย่างที่หลายคนกล่าวอ้าง โดยนักประวัติศาสตร์รายนี้กล่าวว่า กระบอกไซรัสเป็นเพียง “โฆษณาชวนเชื่อ” พร้อมกล่าวว่า “ความคิดที่ว่าไซรัสเป็นผู้วางรากฐานอุดมคติเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องเหลวไหลสิ้นดี”

Hanspeter Schaudig นักอัสซีเรียวิทยา (Assyriologist) จาก University of Heidelberg ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า มันเป็นเรื่องยากที่จะมองกษัตริย์ที่ชาวอิหร่านหลายคนภาคภูมิใจพระองค์นี้ในฐานะผู้บุกเบิกเรื่องของความเท่าเทียมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะพระองค์คือผู้ตอกย้ำสถานะอันสูงส่งของกษัตริย์ด้วยการมีรับสั่งให้ผู้ตกอยู่ใต้อำนาจต้องจูบพระบาทของพระองค์

หากเพียงพิจารณาคำแปลโดย เออร์วิง ฟิงเกิล (Irving Finkel) ภัณฑารักษ์ดูแลงานจารึกอักษรคูนิฟอร์มแห่งบริติชมิวเซียมโดยมิได้คำนึงถึงบริบททางสังคมและการเมืองในสมัยนั้น ก็อาจจะคิดตามได้ว่า ไซรัสทรงยอมรับเสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างที่ถูกกล่าวอ้างจริง ดังความตอนหนึ่งคือ

“ข้าพเจ้าขอส่งเทพเจ้าทั้งหลายกลับไปยังถิ่นฐานเดิมของท่านทั้ง Asur และ Susa, Akkad และดินแดนแห่ง Eshnunna, เมือง Zamban, เมือง Meturna, Der ไปจนถึงชายแดนของดินแดนแห่ง Qutu เพื่อประทับอย่างถาวรในศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิตลอดลุ่มน้ำไทกริส ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกทิ้งให้ทรุดโทรม…ขอเทพเจ้าทั้งหลายที่ข้าพเจ้าได้อัญเชิญกลับไปยังดินแดนอันศักดิ์สิทธิของท่าน ได้โปรดวิงวอนต่อมาร์ดุก [Marduk เทพเจ้าแห่งบาบิโลน]และนาบู [Nabu-เทพเจ้าซึ่งเป็นพระบุตรแห่งมาร์ดุก] เพื่อชีวิตอันยืนยาวของข้าพเจ้า”

แต่จริงๆ แล้วลำพังเนื้อหาเท่านี้คงบอกได้เพียงว่า ไซรัสทรงยอมรับการนับถือเทพเจ้าหลายองค์รวมถึงเทพมาร์ดุกของชาวบาบิโลนด้วย ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมทางความเชื่อที่แพร่หลายในยุคโบราณอยู่แล้ว (พหุเทวนิยม) มิได้เป็นสิ่งใหม่ และแม้นักประวัติศาสตร์กรีกโบราณอย่างเซโนฟอน (Xenophon-นักประวัติศาสตร์, นักปรัชญาและทหารรับจ้างชาวกรีกที่เคยรับใช้กองทัพเปอร์เซีย) จะยกย่องพระองค์ว่าเป็นกษัตริย์ในอุดมคติผู้เปิดกว้างยอมรับความแตกต่าง แต่ Wiesehöfer กล่าวว่าจริงๆ แล้วไซรัสเป็นกษัตริย์ที่โหดร้าย และพระองค์ก็ทรงใช้กองทัพในการปล้นสะดมดินแดนต่างๆ รวมถึงศาสนสถานด้วยเช่นกัน

ส่วนความอีกตอนหนึ่งที่ระบุว่า “ข้าพเจ้าได้มุ่งแสวงหาความเจริญรุ่งเรืองมายังนครบาบิโลนรวมไปถึงด้านพระศาสนาของนครแห่งนี้ ในส่วนของประชาชนแห่งบาบิโลน […,ผู้]ที่ต้องจำทนต่อโซ่ตรวน อันไม่ต้องด้วยพระประสงค์แห่งพระเป็น [เจ้า] ข้าพเจ้าได้บรรเทาความเหนื่อยยากของคนเหล่านี้ ข้าพเจ้าได้ปลดปล่อยให้พวกเขาได้พ้นจากพันธนาการ (?)” กลายเป็นข้อความที่ถูกนำมาอ้างว่า ไซรัสทรงปฏิเสธระบบทาส (ชาวยิวก็ยกย่องไซรัสมากที่ช่วยปลดปล่อยพวกเขาจากการตกเป็นทาสของบาบิโลนดังที่มีการยืนยันในพันธสัญญาเก่า)

แต่ Wiesehöfer เห็นว่า การอ้างว่าไซรัสทรงปฏิเสธระบอบทาสถือเป็นการตีความผิดไป พระองค์อาจจะปลดปล่อยทาสที่อยู่ในความครอบครองของบาบิโลนก็จริง แต่นั่นก็เป็นเพียงเชลยศึกหรือทาสซึ่งเป็นคนของพระองค์หรือพันธมิตรที่ถูกฝ่ายบาบิโลนจับตัวไว้ได้เท่านั้นเอง (จากถ้อยคำที่ใช้ก็เห็นได้ว่าเป็นการปลดปล่อยเป็นไปอย่างมีเงื่อนไข คือเฉพาะคนที่ถูกครอบครองโดยไม่ต้องด้วยประสงค์ของพระเจ้าเท่านั้นที่จะได้รับการปล่อยตัว-ผู้เขียน)

ไม่เพียงแต่นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันเท่านั้นที่เห็นว่า การแปลความจารึกกระบอกไซรัสในปัจจุบันถูกบิดเบือนไปมาก ฝ่ายภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์บริติชมิวเซียมซึ่งจัดแสดงกระบอกไซรัสก็มีความเห็นไปในทางเดียวกัน พวกเขาบอกว่า กระบอกแห่งไซรัสถูกเขียนขึ้นตามธรรมเนียม (ซึ่งมีมานาน) ผ่านมุมมองของชาวบาบิโลน โดยผู้แต่งได้ใช้จารึกของอัสเชอร์บานิปาล (Ashurbanipal) กษัตริย์แห่งอัสซีเรียเป็นต้นร่าง ในกระบอกไซรัสไม่มีความตอนใดยอมรับว่าไซรัสนับถือเทพของชาวอิหร่านอย่างอหุระมาซดะ (Ahuramazda) พระองค์เป็นแต่เพียงผู้รับใช้เทพมาร์ดุกเทพเจ้าแห่งบาบิโลน ซึ่งเป็นการเขียนในลักษณะเดียวกับที่ชาวยิวเขียนถึงพระองค์ในฐานะเครื่องมือของพระเยโฮวาห์ และ “เนื่องจากมันอ้างถึงกฎเกณฑ์ที่เป็นธรรมและสันติภาพ รวมถึงการฟื้นฟูสถานะของผู้ถูกเนรเทศและเทพเจ้าต่างๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากระบอกชิ้นนี้จึงถูกอ้างถึงจากบางภาคส่วนในฐานะ ‘กฎบัตรว่าด้วยสิทธิมนุษยชน’ แนวคิดเช่นนั้นน่าจะถือเป็นสิ่งแปลกปลอมในยุคสมัยของไซรัส แต่แม้ว่ากระบอกชิ้นนี้จะมิได้กล่าวถึงสิทธิมนุษยชนเลย ถึงอย่างนั้นการส่งตัวชาวยิวและชนชาติอื่นๆ ที่ถูกเนรเทศกลับถิ่นฐานเดิมก็ถือเป็นสิ่งที่พลิกกลับนโยบายของบรรพกษัตริย์ของทั้งอัสซีเรียและบาบิโลนทั้งหลาย”

อย่างไรก็ดี การแปลความหมายจารึกผิดไปจากความเป็นจริงเป็นสิ่งที่ดำเนินมาเป็นเวลานาน (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่) กระทั่งชิริน เอบาดี (Shirin Ebadi) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2003 ยังกล่าวในวันรับตำแหน่งว่า “ฉันคือชาวอิหร่าน ผู้สืบเชื้อสายแห่งไซรัสมหาราช จักรพรรดิพระองค์เดียวกันที่ทรงประกาศเมื่อ 2,500 ปีก่อน ขณะที่พระองค์ทรงพระราชอำนาจเต็มเปี่ยมว่า ‘…พระองค์จะไม่ขอปกครองราษฎร หากพวกเขาไม่ปรารถนา’ และ [พระองค์] ทรงปฏิญาณว่าจะไม่บีบบังคับให้ใครต้องเปลี่ยนศาสนาและความศรัทธา และรับรองเสรีภาพสำหรับทุกคน พระราชโองการแห่งไซรัสมหาราชคือเอกสารที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งที่ควรศึกษาในด้านประวัติศาสตร์สิทธิมนุษยชน”

อีกตัวอย่างหนึ่งปรากฏในบทความเรื่อง “We’ve Lost the Authority to Lecture Iran” โดย แมตธิว นอร์แมน (Matthew Norman) เผยแพร่เมื่อ 30 มีนาคม 2007 ใน The Independent ซึ่งเขายกย่องว่า กระบอกไซรัสคือกฎบัตรว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับแรกพร้อมยกข้อความที่เขาอ้างว่ามาจากกระบอกไซรัส แต่กลับมีเนื้อความต่างไปจากการถอดความฉบับมาตรฐานอย่างสิ้นเชิง คือ

“ข้าพเจ้าขอประกาศว่า ข้าพเจ้าจะเคารพในจารีต, วัฒนธรรม และความเชื่อของชาติทั้งหลายภายใต้จักรวรรดิของข้าพเจ้า” และ “ในขณะที่ข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์แห่งอิหร่าน, บาบิโลน และชาติต่างๆ ทั่วทั้งสี่ทิศ ข้าพเจ้าจะไม่ยอมให้ผู้ใดกดขี่ผู้อื่น และหากเหตุเช่นนั้นเกิดขึ้น ข้าพเจ้าจะ…ลงทัณฑ์แก่ผู้กดขี่นั้น ข้าพเจ้าจะไม่ยอมให้ใครยึดสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์ติดที่ดินของผู้อื่นโดยการใช้กำลัง”

และน่าจะมิใช่เรื่องบังเอิญที่ถ้อยคำดังกล่าวตรงกับคำบรรยายประกอบอนุสาวรีย์กระบอกไซรัสซึ่งตั้งอยู่ที่บัลบัวปาร์ก (Balboa Park) ซานดิเอโก แคลิฟอร์เนีย เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2004 สร้างขึ้นโดย House Of Iran สมาคมชาวอิหร่านในสหรัฐฯ ที่พยายามขายความเชื่อที่ว่า กระบอกไซรัสคือ “คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับแรกของโลก” โดยนอกจากถ้อยคำข้างต้นที่ นอร์แมน ยกขึ้นมาแล้ว คำบรรยายประกอบอนุสาวรีย์แห่งนี้ยังอ้างว่า ไซรัสทรงประกาศ “เลิกทาส” และให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการนับถือศาสนา โดยจะไม่ล่วงละเมิดสิทธิของพวกเขาเป็นอันขาด ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ไม่ปรากฏอยู่ในคำแปลฉบับมาตรฐาน คำแปลที่เข้าใจง่ายๆ ของอนุสาวรีย์แห่งนี้จึงน่าจะเป็นแหล่งอ้างอิงที่หลายคนนำไปใช้ผลิตซ้ำความเชื่อที่ว่า ไซรัสคือกษัตริย์นักสิทธิมนุษยชนคนแรกๆ ของโลก

ด้วยเหตุนี้ กระบอกไซรัสจึงนับว่ามีประโยชน์อเนกประสงค์สามารถนับมาปรับใช้ตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน มันถูกเขียนขึ้นในบาบิโลนเพื่อ “ขาย” ให้คนบาบิโลนเชื่อว่า เจ้าผู้ปกครององค์ใหม่จะไฉไลกว่าเดิม มีความทรงธรรม (ประกอบด้วยเมตตา และความยุติธรรม) และความชอบธรรม (อ้างว่าไซรัสคือตัวแทนแห่งเทพมาร์ดุกในการปลดปล่อยบาบิโลนจากเจ้าองค์ก่อนที่หมดความชอบธรรม) จึงไม่แปลกที่จะถูกมองว่ามันคือเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของไซรัส แม้จะมีนักประวัติศาสตร์บางท่านบอกว่าสมมติฐานดังกล่าวรับฟังไม่ได้เพราะไซรัสเต็มเปี่ยมด้วยอำนาจไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องอ่อนข้อยอมใคร แต่ Wiesehöfer กล่าวว่า

ไซรัสรับสั่งให้สร้างมันขึ้นมาเองเพื่อให้พระองค์ดูทรงธรรม ขณะที่ตัวตนที่แท้จริงขององค์กษัตริย์มิได้มีความโหดร้ายมากหรือน้อยไปกว่ากษัตริย์ในตะวันออกใกล้พระองค์อื่นๆ อย่างเซอร์ซีส (Xerxes) เป็นต้น เพียงแต่พระองค์ทรงฉลาดกว่า”

อนุสาวรีย์กระบอกไซรัส ที่บัลบัวปาร์ก (Balboa Park) ซานดิเอโก แคลิฟอร์เนีย พร้อมคำอธิบายที่ระบุว่า กระบอกไซรัสคือประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับแรกของโลก แต่คำแปลดังกล่าวไม่ตรงกับจารึกของจริง และมีถ้อยคำที่ไม่ปรากฏอยู่ในจารึกอยู่มากเช่น การประกาศเลิกทาส (ภาพโดย By BrokenSphere, via Wikimedia Commons)

เมื่อถึงยุคของชาห์ปาลาวี พระองค์ก็ทรงนำเรื่องราวของกระบอกไซรัสกลับมาปรับปรุงใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย โดยเทียบเคียงพระองค์กับมหาราชผู้ก่อตั้งจักรวรรดิอคีเมนียะห์ (Achaemenid Empire) ในฐานะผู้เผด็จอำนาจที่นำความรุ่งเรืองและเสรีภาพในการนับถือศาสนามาสู่ประชาชนของพระองค์ (แต่กลับใช้ตำรวจลับในการเล่นงานผู้ต่อต้าน ด้วยความช่วยเหลือจากสายลับจากค่ายเสรีประชาธิปไตยในสมัยนั้น)

เมื่อสหประชาชาติรับลูกข้ออ้างของพระองค์ ก็ยิ่งทำให้เรื่องเล่าดังกล่าวน่าเชื่อถือยิ่งกว่าเดิม แต่กระบอกไซรัสก็ช่วยให้พระองค์รอดพ้นจากกระแสต่อต้านสถาบันมิได้ และถึงแม้ว่าสถาบันกษัตริย์ของอิหร่านจะล่มสลายไป แต่เรื่องเล่าของกระบอกไซรัสในฐานะคำประกาศรับรองสิทธิมนุษยชนฉบับแรกของโลกก็ยังคงมีประโยชน์สืบเนื่องมา กลายเป็นความภาคภูมิใจของชาวอิหร่าน แสดงถึงความก้าวหน้าล้ำยุคล้ำสมัยของสังคมเปอร์เซียโบราณ

แม้ว่าความเชื่อดังกล่าวจะถูกตั้งข้อสงสัยโดยนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่อย่างมากก็ตาม 

 


อ้างอิง:

Schulz, Matthias. “Falling for Ancient Propaganda.” SPIEGEL ONLINE. N.p., 15 July 2008. Web. 15 Mar. 2017. <http://www.spiegel.de/international/world/falling-for-ancient-propaganda-un-treasure-honors-persian-despot-a-566027-2.html>

United Nation. Press Section. “Statement by Secretary-General, U Thant at Preservation of Gift from Iran to United Nation, 14 October.” Livius.org. N.p., 14 Oct. 1971. Web. 15 Mar. 2017. <http://www.livius.org/a/1/inscriptions/cyrus.pdf>

“Cyrus Cylinder.” The British Museum. N.p., n.d. Web. 15 Mar. 2017. <https://www.britishmuseum.org/research/collection_online/collection_object_details.aspx?objectId=327188&partId=1>.

Ebadi, Shirin. “Shirin Ebadi – Nobel Lecture.” Nobelprize.org. N.p., n.d. Web. 15 Mar. 2017. <http://www.nobelprize.org/nobel_prizes/peace/laureates/2003/ebadi-lecture-e.html>

Norman, Matthew. “We’ve Lost The Authority to Lecture Iran.” The Independent. N.p., 30 Mar. 2007. Web. 15 Mar. 2017. <http://www.commondreams.org/views/2007/03/30/weve-lost-authority-lecture-iran>.

“About House of Iran in San Diego.” House of Iran. N.p., n.d. Web. 16 Mar. 2017. <http://thehouseofiran.com/about-us>.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มิถุนายน 2560 จัดย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการ