ผู้เขียน | ราชภัฏ เฟื่องฟู |
---|---|
เผยแพร่ |
“ข้ามขั้ว” ฉบับเกาหลีใต้ เมื่อเพื่อนรักนักต่อสู้ประชาธิปไตย หันไป “ซบอก” ฝ่ายเผด็จการ
คำกล่าวที่ว่า การเมืองไม่มี “มิตรแท้และศัตรูถาวร” เป็นจริงอยู่เสมอ อย่างในการเมืองเกาหลีใต้ เมื่อ คิม ยอง-ซัม และ คิม แด-จุง นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งร่วมกันต่อสู้กับเผด็จการอย่างยาวนาน กลับหันมาห้ำหั่นกันเอง ท้ายสุดก็แพ้การเลือกตั้ง และเป็นฝ่ายค้านร่วมกัน แต่แล้ว คิม ยอง-ซัม ก็กลับพลิกขั้วทางการเมือง หันไปซบอก โน แท-อู อดีตเผด็จการที่ชนะการเลือกตั้ง และเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลที่เคยกดขี่ชาวเกาหลีใต้เสียอย่างนั้น
เผด็จการจงพินาศ
นับตั้งแต่เป็นเอกราชเมื่อ ค.ศ. 1948 เกาหลีใต้ก็อยู่กับระบอบเผด็จการอำนาจนิยมมาอย่างยาวนาน เพราะประธานาธิบดีหลายคนพยายามรวบอำนาจไว้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น อี ซึง-มัน (Yi Seung-man) ประธานาธิบดีคนแรกซึ่งเป็นเผด็จการพลเรือน ปกครองประเทศตั้งแต่ปี 1948-1960 หรือ นายพลพัก จ็อง ฮี (Park Chung Hee) ประธานาธิบดีซึ่งมาจากการก่อรัฐประหารเมื่อปี 1961 และปกครองประเทศยาวนานถึงปี 1979 และ ช็อน ดู-ฮวัน (Chun Doo-hwan) ซึ่งก่อรัฐประหารในเดือนธันวาคม 1979 และปกครองเกาหลีใต้จนถึงปี 1987
ความไม่พอใจของประชาชนชาวเกาหลีใต้ต่อระบบเผด็จการค่อย ๆ สั่งสม และแสดงออกอยู่เสมอ อย่างการประท้วงประธานาธิบดีอี ซึง-มัน จนสามารถบีบให้ยอมลาออกและลี้ภัยไปฮาวายได้เมื่อปี 1960 หรือ การเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 1980 นำสู่เหตุการณ์การลุกฮือที่กวางจูในเดือนพฤษภาคมปีนั้น เพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารช็อน ดู-ฮวัน ท้ายที่สุดก็จบลงอย่างน่าสลด เพราะประชาชนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และถูกสังหารนับร้อยราย
ช็อน ดู-ฮวัน พยายามรักษาอำนาจโดยใช้การเลือกตั้งเป็นฉากบังหน้า ให้ดูเหมือนว่ายังมีกระบวนการประชาธิปไตยอยู่ แต่สิทธิต่าง ๆ ของประชาชนถูกจำกัดอย่างรุนแรง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ยังคงเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้ความก้าวหน้าทางด้านสังคมเติบโตขึ้นด้วย ผู้คนเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น
จนมาถึงเดือนมิถุนายน ปี 1987 สังคมเกาหลีใต้ไม่อาจอดทนกับความโหดร้ายภายใต้ระบอบเผด็จการได้อีกต่อไป เพราะช็อน ดู-ฮวัน พยายามสืบทอดอำนาจโดยวางให้ นายพลโน แท-อู (Roh Tae-woo) ลูกน้องคนสนิทลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยถัดไป และยังจับกุมสื่อมวลชนและนักศึกษาที่ต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง พัคจงชอล นักศึกษาซึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ถูกจับกุมและถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต สร้างความโกรธแค้นให้ชาวเกาหลีใต้ จนรวมตัวกันประท้วงครั้งใหญ่ตลอดเดือนมิถุนายน เรียกว่า เหตุการณ์ “June Democratic Struggle”
ตอนนั้น กลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตย นำโดยพรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปไตยเพื่อการรวมชาติ (Democratic Reunification Party) เป็นฝ่ายที่แข็งแกร่งกว่ารัฐบาล เพราะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนหลายภาคส่วน ทั้งปัญญาชน นักศึกษา กลุ่มผู้ใช้แรงงาน รวมถึงองค์กรทางศาสนา ช็อน ดู-ฮวัน จึงยอมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อปูทางสู่ระบอบประชาธิปไตย และประกาศการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงในปี 1987
การ “ต่อกร” ในฝ่ายประชาธิปไตย
ทว่า กลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยกลับเกิดการแบ่งแยกภายใน ระหว่าง คิม ยอง-ซัม (Kim Young-sam) กับ คิม แด-จุง (Kim Dae-jung) สองผู้นำพรรคประชาธิปไตยเพื่อการรวมชาติ ซึ่งเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยร่วมกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีพัก จ็อง ฮี ฝ่าฟันอุปสรรคด้วยกันมามากมาย ถึงขั้นโดนลักพาตัวและขังคุกกันมาแล้ว แต่การเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 1987 ทั้งสองคนกลับแยกกันลงเลือกตั้ง
คิม แด-จุง แยกตัวออกจากพรรคประชาธิปไตยเพื่อการรวมชาติ และก่อตั้ง พรรคสันติภาพและประชาธิปไตย (Peace Democratic) ขึ้น เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแข่งกับโน แท-อู และ คิม-ยองซัม จนเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ปี 1987 มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของฝ่ายประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ผลการเลือกตั้งกลับสร้างความผิดหวังให้คนที่ต่อสู้มา เพราะโน แท-อู ชนะการเลือกตั้งอย่างฉิวเฉียดด้วยคะแนน 36.5% ส่วนคิม ย็อง-ซัม ได้คะแนน 28% และคิม แด-จุง ได้คะแนน 27% บางคนจึงมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านตัดคะแนนกันเอง
แม้เผด็จการคนเดิมจะลงจากเก้าอี้ไปแล้ว แต่ โน แท-อู ประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ก็ดูเหมือนจะสืบทอดอำนาจต่อไป โดยมีพรรคของคิม ยอง-ซัม และ คิม แด-จุง ทำหน้าที่ฝ่ายค้าน กระบวนการฟื้นฟูประชาธิปไตยในเกาหลีใต้จึงช้าไปอีก 5 ปี
“ข้ามขั้ว” เพื่อชัยชนะ
วันที่ 22 มกราคม ปี 1990 ชาวเกาหลีใต้ผู้รักประชาธิปไตยก็ต้องตะลึง เมื่อ คิม ยอง-ซัม ตัดสินใจ “ข้ามขั้ว” ทางการเมือง ไปร่วมมือกับโน-แทอู โดยรวมพรรคประชาธิปไตยเพื่อการรวมชาติของตนเอง เข้ากับพรรคประชาธิปไตยยุติธรรม (Democratic Justice Party) ของโน-แทอู เพื่อก่อตั้งเป็น พรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย (Democratic Liberal Party) ซึ่งการตัดสินใจของคิม ยอง-ซัม ทำให้นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยหลายคนโกรธแค้นและมองว่าเขาเป็นคนทรยศ
หลังจากนั้น คิม-ยองซัม ได้เข้าร่วมกับพรรครัฐบาลในยุคโน-แทอู ปล่อยให้พรรคของคิม-แดจุง เป็นพรรคฝ่ายค้าน และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ ซึ่งให้ประธานาธิบดีมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1993 คิม ยอง-ซัม จึงได้รับแรงสนับสนุนจากพรรคฝ่ายรัฐบาลของโน แท-อู สู้กับ คิมแด-จุง อดีตเพื่อนรักที่เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งลงสมัครในนามพรรคประชาธิปไตย (Democratic Party)
คิม ยอง-ซัม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรคฝ่ายรัฐบาลสามารถหาเสียงได้อย่างกว้างขวาง แม้จะเป็นพื้นที่ชนบทแต่นโยบายของเขาก็เข้าไปถึง ต่างจากพรรคของคิม แด-จุง ที่มีศักยภาพในการหาเสียงจำกัด ไม่สามารถถ่ายทอดนโยบายแก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้
ท้ายสุด คิม ยอง-ซัม ก็สามารถชนะการเลือกตั้ง กลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 7 ของเกาหลีใต้
สะสางมรดกเผด็จการ
แม้คิม ยอง-ซัม จะได้อำนาจจากการ “ข้ามขั้ว” ไปร่วมมือกับโน แท-อู แต่เมื่อขึ้นสู่อำนาจก็ได้สะสางมรดกเผด็จการ โดยคืนความเป็นธรรมให้กับประชาธิปไตย ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐและเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ปราบปรามการทุจริต กวาดล้างอิทธิพลทางการเมืองของกองทัพ รวมไปถึงการจับกุมและดำเนินคดีกับช็อน ดู-ฮวัน และโน แท-อู ในข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวงและก่อกบฏจากการทำรัฐประหาร ช็อน ดู-ฮวัน ถูกตัดสินประหารชีวิต ต่อมาได้รับการลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต ขณะที่โน แท-อู ถูกจำคุก 22 ปี และอุทธรณ์ลดเหลือเป็น 17 ปี การพิพากษาครั้งนี้ ทำให้สังคมเกาหลีใต้ได้เห็นว่า ไม่ว่าใครหน้าไหน หรือจะเคยยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย
คิม ยอง-ซัม ยังนิรโทษกรรมให้นักโทษทางการเมืองหลายพันคน และถอนคำพิพากษาในคดีอาญาของผู้ประท้วงเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งถูกจับในเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยในกวางจู ปี 1980 ทำให้กระบวนการประชาธิปไตยในเกาหลีใต้มีความเข้มแข็งและน่าเชื่อถือมากขึ้น แต่ช่วงท้ายวาระ รัฐบาลของเขาต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียเมื่อปี 1997
คิม แด-จุง ซึ่งผิดหวังและหยุดพักบทบาททางการเมืองในช่วงรัฐบาลคิม ยอง-ซัม กลับมาตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ในชื่อ พรรคสมัชชาเพื่อการเมืองใหม่ (National Congress for New Politics) เขาลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อประชาชนไม่พอใจรัฐบาลเดิม เพราะทำให้เศรษฐกิจประเทศย่ำแย่ คิม แด-จุง จึงคว้าชัย กลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 8 ของเกาหลีใต้
คิม ยอง-ซัม ในฐานะพรรครัฐบาล ได้ถ่ายโอนอำนาจตามวิถีทางประชาธิปไตยสู่ คิม แด-จุง ผู้ชนะการเลือกตั้งด้วยความสงบเรียบร้อย พร้อมกับอภัยโทษให้ช็อน ดู-ฮวัน และ โน แท-อู ตามคำแนะนำของคิม แด-จุง ประธานาธิบดีคนใหม่ แต่อดีตเผด็จการทั้งสองรายยังต้องแสดงความสำนึกผิดต่ออาชญากรรมที่ก่อไว้ต่อหน้าสาธารณชน และชดใช้ความเสียหายให้รัฐจากทรัพย์สินที่ได้จากการฉ้อราษฎร์บังหลวง รวมไปถึงการเป็นสักขีพยานของระบอบประชาธิปไตยที่เคยต่อต้าน โดยเข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของคิม แด-จุง เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ปี 1998
หลังจากนั้น เกาหลีใต้ก็กลายเป็นประเทศประชาธิปไตย พัฒนาศักยภาพหลายด้านจนเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และเผยแพร่วัฒนธรรมไปทั่วโลก แต่ประเทศก็ยังคงมีปัญหาต่าง ๆ เช่น สิทธิสตรี สังคมผู้สูงอายุ หรือ นักการเมืองทุจริต อย่างไรก็ตาม ประชาชนชาวเกาหลีใต้ยังคงยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย และไม่อยากให้ประเทศกลับไปเป็นเผด็จการอีก
คิม ยอง-ซัม และ คิม แด-จุง นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่ร่วมกันต้านอำนาจเผด็จการมาอย่างยาวนาน นับเป็นบุคคลทรงอิทธิพลที่สามารถผลักดันให้เกาหลีใต้เป็นประเทศประชาธิปไตยได้ในที่สุด แม้ครั้งหนึ่งต่างคนต่างเป็นคู่แข่งทางการเมืองของอีกฝ่าย แต่ก็ต่อสู้ตามกติกาประชาธิปไตย และได้เป็นประธานาธิบดีด้วยกันทั้งคู่
อ่านเพิ่มเติม :
- ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ศาลเกาหลีใต้รับรองการถอดถอน “ประธานาธิบดีปาร์ก กึน-เฮ”
- จุดจบ “พัก จ็อง ฮี” ปิดฉากผู้นำเผด็จการเกาหลีใต้ที่ชุบตัวมาจากการเลือกตั้ง
อ้างอิง :
“Kim Dae-Jung’s Role in the Democratization of South Korea.” n.d. Association for Asian Studies. Online. Accessed 26 July 2023 from https://www.asianstudies.org/publications/eaa/archives/kim-dae-jungs-role-in-the-democratization-of-south-korea/
“Kim Remembered as Democracy Fighter, Economic Reformer.” The Korea Herald. Accessed 26 July 2023 from https://www.koreaherald.com/view.php?ud=20151122000422.
Yoon, Sanghyun. “South Korea’s Kim Young Sam Government: Political Agendas.” Asian Survey 36, no. 5 (1996): 511–22.
จักรกริช สังขมณี. “เมื่อวันนั้นมาถึง: สามัญชนกับกระบวนการประชาธิปไตย. the 101 World.” สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2566. จาก https://www.the101.world/june-struggle/
ชญานิษฐ์ เชิดธรรมธร. “เส้นทางประชาธิปไตยกับการเมืองบนท้องถนนในสาธารณรัฐเกาหลี.” ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2566 จาก http://polsci.tu.ac.th/direk/view.aspx?id=482.
นภดล ชาติประเสริฐ. เกาหลีปัจจุบัน = Korea today. (2560). ปทุมธานี : ศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กรกฎาคม 2566