จุดจบ “พัก จ็อง ฮี” ปิดฉากผู้นำเผด็จการเกาหลีใต้ที่ชุบตัวมาจากการเลือกตั้ง

พัก จ็อง ฮี ประธานาธิบดี เกาหลีใต้ กับ คิม แจ คยู
(ซ้าย) พัก จ็อง ฮี ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ (ขวา) คิม แจ คยู ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองกลางเกาหลีใต้ ภาพจาก Wikimedia

การสังหาร พัก จ็อง ฮี ผู้นำเผด็จการ “เกาหลีใต้” ในระบอบประชาธิปไตย ใน พ.ศ. 2522 หรือ ค.ศ. 1979 นอกจากถือว่าเป็นปีแห่งการสิ้นสุดทศวรรษที่ 1970 แล้ว ยังมีความสำคัญในแง่เป็นปีแห่งการโค่นล้มผู้นำเผด็จการทั่วโลก อย่างเช่น 7 มกราคม พลพต ผู้นำกัมพูชา ถูกโค่น, 16 มกราคม กษัตริย์ชาห์แห่งอิหร่านถูกโค่นราชบัลลังก์, 27 ธันวาคม ประธานาธิบดี ฟาซี ซุลลาห์ อามิน แห่งอัฟกานิสถาน ถูกโค่น รวมไปถึงพัก จ็อง ฮี ผู้นำแห่ง “เกาหลีใต้” ถูกสังหาร

พัก จ็อง ฮี (박정희) เป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้อย่างยาวนานเกือบ 18 ปี (พ.ศ. 2505-2522)
การขึ้นมามีอำนาจของเขาเกิดจากการรัฐประหาร ยึดอำนาจจาก ยุน โบ ซ็อน (윤보선) ประธานาธิบดีคนที่ 2 ด้วยข้ออ้างว่ามีการคอร์รัปชัน นอกจากนี้เขายังแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อให้ตัวเองได้รับผลประโยชน์ทางการเมือง อาทิ การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่เจ็ด ใน พ.ศ. 2515 ได้เพิ่มบทบัญญัติให้ประธานาธิบดีสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ตลอดชีวิต เป็นต้น

หลังจากการรัฐประหาร เขาได้ทำการยกเลิกสภาผู้แทนเดิมทิ้ง แล้วตั้งสภาใหม่ขึ้นมาคือ “สภาสูงสุดเพื่อการฟื้นฟูชาติ” (Supreme Council for National Reconstruction หรือ SCNR) โดยแต่งตั้งตัวเองเป็นประธาน และตั้งองค์กรที่มีบทบาททางการเมืองเป็นอย่างมากขึ้นมา คือ สำนักข่าวกรองกลางเกาหลี (KCIA : Korea Central Intelligence Agency) มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องรัฐบาล และปราบปรามศัตรูที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ องค์กรนี้มีอำนาจสืบสวน และสามารถจับกุมกักขังทุกคนที่ต้องสงสัยว่ากระทำผิดกฎหมาย หรือต่อต้านรัฐบาลทหารของเขา

ภายใต้การบริหารประเทศของเขา ดูเหมือนว่าการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้จะเติบโตขึ้นมาเป็นอย่างมาก แต่ความเจริญกลับกระจุกตัวอยู่แต่ในตัวเมืองใหญ่ ๆ ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนยังคงแตกต่างกันเป็นอย่างมาก

การเลือกตั้งทุกครั้งของรัฐบาลทหาร ภายใต้การนำของเขา สามารถเอาชนะพรรคของพลเรือนอย่างเฉียดฉิวหลายครั้ง การชนะการเลือกตั้งมักค้านสายตาของประชาชน ประกอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตนเองดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไป ได้ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจของพรรคฝ่ายค้าน นักศึกษา แรงงาน ประชาชนจำนวนมากออกมาต่อต้าน

การออกมาต่อต้านรัฐบาลพัก จ็อง ฮี ได้นำไปสู่การประกาศสภาวะฉุกเฉิน มีการงดใช้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา ยุบพรรคการเมือง และใช้สำนักข่าวกรองกลางเกาหลี ที่มี คิม แจ คยู (金載圭) เป็นผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองกลาง คอยทำหน้าที่ขัดขวางการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล และกำจัดฝ่ายค้าน ชื่อเสียงของพัก จ็อง ฮี คือนโยบายการปราบปราบประชาชน ที่ต้องการมีสิทธิมีเสียง หรือการขอสิทธิในการบริหารประเทศ

พัก จ็อง ฮี ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเกาหลีใต้มาอย่างยาวนาน และสร้างความชอบธรรมด้วยการเลือกตั้ง แต่การดำเนินบทบาทเป็นผู้นำรัฐบาลที่ยาวนาน ก็ได้มีกระแสข่าวการพยายามลอบสังหารเขา โดยมีการลือว่ามีกลุ่มจารกรรมประมาณ 10-15 คนจากเกาหลีเหนือ ถูกส่งเข้ามาใกล้ ๆ ทำเนียบประธานาธิบดี จนเกิดการปะทะกัน ครั้งนั้นมีทหารเกาหลีใต้เสียชีวิตไป 7 นาย

จุดจบของพัก จ็อง ฮี เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2522 เมื่อเขาถูก คิม แจ คยู หัวหน้าหน่วยข่าวกรองยิงเสียชีวิต

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ที่สำนักงานใหญ่ของสำนักข่าวกรองกลางของเกาหลี ระหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ คิม แจ คยู จัดขึ้น เพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดี ต่อมาภายหลังการเสียชีวิต ได้มีการเปิดเผยว่ามีการโต้เถียงกัน ก่อนที่ คิม แจ คยู จะใช้ปืนยิงไปที่ประธานาธิบดี เขาถูกนำตัวออกจากที่เกิดเหตุไปยังโรงพยาบาลทหารใกล้ ๆ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา มีการโต้เถียงกันมานานระหว่างประธานาธิบดี และ คิม แจ คยู ว่าจะใช้นโยบายที่เข้มงวดหรือปานกลางต่อฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหรือไม่

ในฐานะนักการเมือง พัก จ็อง ฮี ถูกมองจากสายตาชาวเกาหลีใต้บางส่วนว่าเป็นผู้ที่ทำให้เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเติบโต แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ประณามเขาว่าเป็นเผด็จการที่โหดร้าย มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง หลังจากการสังหารผู้นำครั้งนี้ นับว่าเป็นการเริ่มต้นกระบวนการประชาธิปไตยในเกาหลีใต้อีกครั้ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

คลังความรู้ by SpokeDark. (2563). “ปัก จุง ฮี” นายพลจากรัฐประหารแห่งเกาหลีใต้ ผู้สร้างวัฒนธรรม “เผด็จการชุบตัวด้วยการเลือกตั้ง”. เข้าถึงได้จาก https://www.blockdit.com/posts/5ea659ce0a3c190ca1d60a7e

BBC. 1979: South Korean President killed. เข้าถึงได้จาก http://news.bbc.co.uk/onthisday/hi/dates/stories/october/26/newsid_2478000/2478353.stm#startcontent

กอง บก. มติชน. (2550). 289 ข่าวดัง 3 ทศวรรษหนังสือพิมพ์มติชน. กรุงเทพ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 เมษายน 2565