ขออภัยคนหน้าแปลก กองทัพครูเสดโจมตี “ฮังการี” เหตุเข้าใจผิดว่าเป็นพวกนอกรีต

กองทัพครูเสด สงครามครูเสด ประชาชน ปะทะ ทหาร ฮังการี
ความพ่ายแพ้ของกองทัพครูเสดประชาชน, ผลงานของ Jean Colombe ปี 1474 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

สงครามครูเสด ครั้งแรก (ค.ศ. 1096) มีเหตุการณ์ชวนฉงนเกิดขึ้นระหว่างกองทัพครูเสดเดินทางจากยุโรปไปยังแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ แน่นอนว่า เป้าหมายของนักรบเหล่านี้อยู่ที่นครศักดิ์สิทธิ์ กรุงเยรูซาเลม ศูนย์กลางแห่งศรัทธาของคริสตชน ซึ่งขณะนั้นอยู่ในการครอบครองของฝ่ายมุสลิม แต่กองทัพครูเสดกลับบุกปล้นสะดมชุมชนชาวฮังกาเรียนในราชอาณาจักร “ฮังการี” ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางทวีปยุโรป ซึ่งไม่ใกล้เคียงเป้าหมายของพวกเขาเลยสักนิด แถมชาวฮังกาเรียนยังเป็นชาวคริสต์ด้วย

มูลเหตุแห่งการปล้นเกิดจากการเข้าใจผิดภายในกองทัพครูเสดเอง พวกเขาคิดว่า ดินแดนฮังการีเป็นถิ่นของพวกนอกรีต ไม่ใช่ชาวคริสต์ ประกอบกับรูปลักษณ์ของชาวฮังกาเรียนยังดูไม่ละม้ายคล้ายชาวยุโรปตะวันตกที่พวกเขาคุ้นเคย กองทัพผู้ศรัทธาจึงปล้นทำลายพวกนอกศาสนา (ที่คิดไปเอง) เหล่านี้

ชาวฮังกาเรียนเป็นใคร มาจากไหน เหตุใดดูไม่เหมือนชาวยุโรป?

กำเนิดอาณาจักร ฮังการี

บรรพชนของชาวฮังกาเรียนคือชาว “แมกยาร์” (Magyar) เคยเป็นอนารยชนบนหลังม้าหรือชนเผ่าเร่ร่อนมาก่อน ถิ่นฐานดั้งเดิมของพวกเขาคือดินแดนยูเรเซีย บริเวณแม่น้ำโวลกากับเทือกเขาอูราล พรมแดนที่แบ่งแผ่นดินรัสเซียฝั่งทวีปยุโรปจากทวีปเอเชีย ลักษณะทางกายภาพของพวกเขาจึงใกล้เคียงกับชาวเติร์กและมองโกลมากกว่าชาวยุโรป ชาวแมกยาร์ยังเป็นผู้สืบเชื้อสายของ อัตติลา (Attila) ราชาคนเถื่อนชาวฮัน ผู้เคยรุกรานทวีปยุโรปมาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมันตะวันตก-ตะวันออกด้วย

เช่นเดียวกับบรรพบุรุษ แมกยาร์เป็นนักรบบนหลังมาที่เก่งกาจ เหี้ยมหาญ และคลั่งสงคราม ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 กองทัพแมกยาร์ภายใต้ผู้นำตระกูล อาร์พาด (Árpád) ซึ่งเป็นทายาทสายตรงของอัตติลา เคลื่อนพลคุกคามทวีปยุโรปด้วยการปล้นสะดมตั้งแต่แม่น้ำโวลกา เรื่อยมาจนถึงคาบสมุทรบอลข่าน (จักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือไบแซนไทน์)

ศตวรรษต่อมา ชาวแมกยาร์ประสบความสำเร็จในการกำราบชนเผ่าต่าง ๆ บริเวณที่ราบพันโนเนีย หรือประเทศฮังการีในปัจจุบัน พวกเขาสามารถลงหลักปักฐานและสถาปนาอำนาจบริเวณนี้ได้อย่างมั่นคง ก่อนจะบุกตะลุยเข้าไปถึงใจกลางทวีปยุโรป ปล้มสะดมแผ่นดินเยอรมัน ฝรั่งเศส คาบสมุทรอิตาลี ข้ามเทือกเขาพีเรนีสไปถึงคาบสมุทรไอบีเรีย (สเปน) กลายเป็นการรุกรานยุโรปโดยพวกอนารยชนที่กินอาณาบริเวณกว้างใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

กลางคริสต์ศวรรษที่ 10 การคุกคามยุโรปของชาวแมกยาร์ยุติลง สาเหตุสำคัญมาจากความพ่ายแพ้ต่อ พระเจ้าออตโตมหาราช (Otto the Great) ผู้รวบรวมแผ่นดินเยอรมันเป็นปึกแผ่น และรื้อฟื้นจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อีกครั้ง แม้ชาวแมกยาร์จะสูญเสียอำนาจการควบคุม และเรียกบรรณาการจากดินแดนตอนในของยุโรป แต่พวกเขาสามารถยืนหยัดอยู่บริเวณที่ราบพันโนเนียอย่างแข็งแกร่ง และสถาปนาอาณาจักรของชาวแมกยาร์ได้สำเร็จ เป็นต้นกำเนิดของราชอาณาจักรฮังการี

โดยปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10 พระเจ้าสตีเฟนที่ 1 (Stephen I of Hungary) กษัตริย์ชาวฮังการีราชวงศ์อาร์พาด ประกาศให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำชาติ ส่งผลให้ฮังการีกลายเป็นดินแดนของชาวคริสต์ และได้รับการยอมรับจากคริสตจักรที่กรุงโรมว่า ฮังการีเป็นส่วนหนึ่งของโลกคาทอลิก พระเจ้าสตีเฟนที่ 1 ยังปฏิรูปสังคมขนานใหญ่ให้อาณาจักรของพระองค์มีลักษณะการปกครองแบบรัฐศักดินาหรือระบบฟิวดัลอย่างยุโรปตะวันตกด้วย

ฮังการี แมกยาร์
นักรบแมกยาร์ หรือฮังกาเรียน, ผลงานของ Árpád Feszty ปี 1892-1894 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

กระทั่งปลายศตวรรษที่ 11 ก่อนที่ สงครามครูเสด จะอุบัติขึ้น ความรับรู้ของชาวยุโรปตะวันตกต่อชาวแมกยาร์หรือชาวฮังกาเรียนถือว่าเลือนลางมาก นั่นเพราะฮังการีไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอันศักสิทธิ์ที่รวบรวมชาติพันธุ์เยอรมันไว้ด้วยกัน

ประกอบกับองค์ความรู้และการติดต่อระหว่างดินแดนทั้งสองในโลกยุคกลางเกิดขึ้นน้อยมาก ชาวฮังกาเรียนยังพูดภาษาที่มีเอกลักษณ์ เป็นภาษาที่พัฒนามาจากภาษาอูราลิกโบราณของบรรพชนจากยูเรเซีย ขณะที่ชาติพันธุ์อื่น ๆ ในยุโรป สื่อสารกันด้วยภาษาที่มีรากเหง้าจากภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียนแทบทั้งสิ้น

ความวุ่นวายจากพวกคลั่งศาสนา

หลังการประกาศระดมพลของพระสันตะปาปาเออร์บานที่ 2 ที่เมืองเคลมองต์ เพื่อเรียกร้องให้ชาวยุโรปเข้าร่วมในสงครามศักดิ์สิทธิ์ ชาวคริสต์ในยุโรปโดยเฉพาะฝรั่งเศส เยอรมัน และอิตาลี ขานรับพระประสงค์ สงครามปลดปล่อยดินแดนศักดิ์สิทธิ์เริ่มต้นโดยกองทัพครูเสดจะเคลื่อนออกจากยุโรปไปตั้งหลักที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล เมืองหลวงของจักรวรรดิไบแซนไทน์ ก่อนผนึกกำลังกับไบแซนไทน์รุกคืบเข้าสู่อาณาจักรอิสลามในเอเชีย และมุ่งสู่นครศักดิ์สิทธิ์

กองทัพครูเสดแบ่งออกเป็น 2 สายหลัก ได้แก่ กองทัพของบรรดาลอร์ดและอัศวิน มีทั้งขุนนาง พระราชวงศ์ชาวฝรั่งเศส ชาวนอร์มันจากฝรั่งเศส และอิตาลี สายนี้เป็นกองทัพที่ผ่านการฝึกฝนและชำนาญการศึกอย่างแท้จริง

แต่มูลเหตุแห่งเรื่องราวสุดอลหม่านคือ กองทัพสายที่ 2 ซึ่งเป็นกองทัพประชาชน นำโดยนักบวชชาวฝรั่งเศสนาม ปิแอร์ (Piere) หรือปีเตอร์ เขาท่องไปทั่วฝรั่งเศสและเยอรมันเพื่อเทศนาและปลุกระดมประชาชนให้เข้าร่วมสงครามศักดิ์สิทธิ์นี้ ทั้งอ้างว่าเคยเห็นการกดขี่ข่มเหงนักแสวงบุญชาวคริสต์ในกรุงเยรูซาเลมด้วยตาตนเอง ปิแอร์จุดไฟแห่งความเคียดแค้นและความฮึกเหิมแก่ประชาชนไปจนถึงขุนนางจำนวนมากให้มาร่วมกับกองทัพของเขา โดยส่วนใหญ่เป็นผู้คนจากดินแดนเยอรมัน

ชาวยุโรปขนานนามภารกิจนี้ว่า “การเดินทางของเหล่านักแสวงบุญ” (Journey of Pilgrimage) แม้จะมีเจตจำนงค์เดียวกัน แต่กองทัพครูเสดทั้งสองสายไม่ได้ประสานงานกัน กองทัพประชาชนล่วงหน้าไปตะวันออกก่อนโดยต้องผ่านฮังการี เพื่อเข้าไปยังเขตแดนของจักรวรรดิไบแซนไทน์ ก่อนจะข้ามช่องแคบบอสฟอรัสไปยังคาบสมุทรอนาโตเลีย หรือฝั่งทวีปเอเชีย ที่นั่นมีอาณาจักรมุสลิมชื่อ รัฐสุลต่านแห่งรุม ตั้งประจันหน้าอยู่ และเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขวางพวกเขาก่อนจะวกลงใต้ไปยังกรุงเยรูซาเลม

ตลอดเส้นทางของกองทัพประชาชน ปิแอร์และนักบวชในกองทัพจะปลุกระดมมวลชนตามเมืองต่าง ๆ ที่พวกเขาเดินทัพผ่าน จึงมีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับผู้ศรัทธาและคนจำนวนหนึ่งเห็นโอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ณ ดินแดนตะวันออก กองทัพสายนี้จึงมีกำลังพลรวมกันถึง 50,000 คน แต่ในจำนวนนี้ยังประกอบด้วย คนแก่ ผู้หญิง และเด็ก อีกจำนวนมาก

เนื่องจากกองทัพครูเสดประชาชนเต็มไปด้วยความฮึกเหิม คึกคะนอง และไร้ระเบียบวินัย พวกเขาทั้งปล้นสะดมและเผาทำลายชุมชนชายยิวตลอดเส้นทางเดินทัพ เนื่องจากชาวคริสต์มองชาวยิวเป็นพวกนอกรีต เป็นผู้ทำให้พระเยซูสิ้นพระชนม์ และมีอคติต่อชาวยิวที่มักเป็นพ่อค้าผู้มั่งคั่ง มีความสามารถในการค้าขาย 

เมื่อพวกเขาเดินทางมาถึงเขตแดนของราชอาณาจักรฮังการี ยุโรปตะวันออกดูจะเป็นดินแดนแปลกประหลาดของพวกเขาทันที บรรดานักบวช ประชาชน และอัศวิน ที่ติดมากับกองทัพต่างพากันประหลาดใจปนหวาดหวั่น ต่อรูปลักษณ์ของชาวฮังกาเรียน เพราะพวกเขามีรูปร่างหน้าตาแตกต่างจากชาวยุโรปตะวันตกอย่างเห็นได้ชัด

กองทัพไร้วินัยและขาดความเข้าใจต่อโลกภายนอกนี้ จึงคิดไปเองว่าชาวฮังกาเรียนต้องเป็นพวกนอกรีต เกิดการบุกปล้นเมืองต่าง ๆ ภายในฮังการี ทั้งชุมชนชาวฮังกาเรียนที่เป็นคริสเตียนและชุมชนชาวยิว เกิดความโกลาหลไปทั่ว มีการปิดล้อมเมืองเบลเกรด หัวเมืองสำคัญของฮังการี กองทัพฮังการีต้องออกมาระงับเหตุ และจัดการพวกครูเสดที่กำลังปล้มสะดมอาณาจักรของพวกเขาด้วยความงุนงง 

เมื่อควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว กษัตริย์โคลแมนแห่งฮังการีมีบัญชาห้ามพวกครูเสดที่คลุ้มคลั่งกลุ่มนี้ทำอันตรายหรือคุกคามชุมชนชาวยิวในดินแดนฮังการีด้วย ปิแอร์และนักบวชผู้นำทัพได้แต่รับทราบและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

หลังกองทัพครูเสดสายนี้ผ่านดินแดนของ ฮังการี ไปถึง จักรวรรดิไบแซนไทน์ ความกระตือรือร้นเกินพอดีของพวกเขาทำให้ปิแอร์และผู้นำคนอื่น ๆ ในกองทัพลงความเห็นกันว่า ไม่จำเป็นต้องรอทัพหลักของเหล่าอัศวินจากฝรั่งเศสและอิตาลี จากนั้นข้ามช่องแคบบอสฟอรัสไปยังฝั่งเอเชียทันที เพื่อประมือกับพวกมุสลิมแห่งรัฐสุลต่านแห่งรุม

ปรากฏว่า กองกำลังเหล่านี้ถูกกองทัพสุลต่าลแห่งรุมบดขยี้อย่างย่อยยับ ส่วนปิแอร์ถอยกลับไปตั้งหลักฝั่งยุโรป ปิดฉากกองทัพประชาชนอย่างน่าอดสูใจ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ภาสพันธ์ ปานสีดา. (2563). ครูเสด มหาสงครามแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์. กรุงเทพฯ : ยิปซี กรุ๊ป.

Encyclopedia Britannica. Hungarian. Retrieved July 17, 2023. From https://www.britannica.com/topic/Hungarian-people

Encyclopedia Britannica. The First Crusade and the establishment of the Latin states. Retrieved July 17, 2023. From https://www.britannica.com/event/Crusades/The-First-Crusade-and-the-establishment-of-the-Latin-states

George H. Hodos. (1999). The East-Central European Region: An Historical Outline. (Online)

https://www.utoledo.edu/library/virtualexhibitions/mppcoll/images/History/Perry.pdf 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566