“จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์” ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ ไม่เป็นโรมัน แถมไม่ใช่จักรวรรดิ!?

มงกุฎ จักรพรรดิ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
มงกุฎจักรพรรดิของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) มหาอำนาจของยุโรปในยุคกลาง ดำรงสถานะอยู่นานหลายร้อยปี ครอบครองพื้นที่ยุโรปตอนกลางและตอนเหนือของคาบสมุทรอิตาลี ซึ่ง วอลแตร์ (Voltaire) นักเขียนและนักสิทธิมนุษยชนผู้โด่งดังของฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เคยให้คำนิยามอาณาจักรแห่งนี้ว่า

“This body which was called and which still calls itself the Holy Roman Empire was in no way holy, nor Roman, nor an empire.”

กล่าวง่าย ๆ คือ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์นั้น นอกจากจะไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ ยังไม่เป็นโรมัน และไม่ใช่จักรวรรดิด้วย

Advertisement
แผนที่ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
แผนที่จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 1356 จะเห็นว่าประกอบด้วยอาณาจักรและรัฐขนาดเล็กจำนวนมาก (ภาพจาก Wikimedia Commons)

การทำความเข้าใจถึงที่มาและตัวตนที่แท้จริงของ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จำเป็นต้องสืบย้อนไปตั้งแต่การสถาปนาอาณาจักรของชาวแฟรงก์หลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก (Western Roman Empire) จักรวรรดิที่แท้จริงของชาวโรมัน เมื่อ ค.ศ. 476

หลังจักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลาย ศูนย์กลางความเป็นจักรวรรดิโรมันย้ายไปอยู่ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ในจักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือไบเซนไทน์ (Byzantine Empire) ความเป็น “จักรพรรดิแห่งโรม” ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่และอำนาจของโลกอยู่ ซึ่งศาสนาจักรโรมันคาทอลิกแห่งกรุงโรมกลายเป็นผู้ถือสิทธิ์ในการสวมมงกุฎให้จักรพรรดิแห่งโรม อันหมายถึงการได้รับการแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า

ชาวแฟรงก์ (Franks) หนึ่งในกลุ่มชนเยอรมันสามารถรวบรวมดินแดนเดิมบางส่วนของจักรวรรดิโรมันตะวันตกได้สำเร็จ อาณาจักรขนาดใหญ่นี้ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ฝรั่งเศส ประเทศกลุ่มเบเนลักซ์ (เบลเยียม, เนเธอแลนด์, ลักเซมเบิร์ก) สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย และตอนเหนือของอิตาลี ต่อมา ราชวงศ์คาโรแลงเจียน (Carolingian dynasty) ของจักรวรรดิแฟรงก์ยังมีความสัมพันธ์อันดีกับศาสนจักรโรมันคาทอลิกแห่งกรุงโรมด้วย

ชาร์เลอมาญมหาราช (Charlemagne the Great) จักรพรรดิแฟรงก์ผู้ครองราชย์ ค.ศ. 768 มีบทบาทในการทำสงครามกับกองทัพมุสลิมจากสเปน กำราบเผ่าลอมบาร์ดทางตอนเหนือของอิตาลีเพื่อคุ้มครองศาสนจักรโรมันคอทอลิกแห่งกรุงโรมและคุ้มครองพระสันตะปาปาลีโอที่ 3 (Pope Leo III) ให้กลับไปดำรงตำแหน่งประมุขแห่งศาสนจักรอีกครั้ง หลังเผชิญภัยคุกคามจากปัญหาภายในโดยเหล่าพระคาร์นินัลเชื้อสายละติน (พระสันตะปาปาลีโอที่ 3 มีเชื้อสายกรีก)

ชาร์เลอมาญประสงค์ให้พระสันตะปาปาสถาปนาพระองค์เป็นจักรพรรดิแห่งโรมผ่านพิธีสวมมงกุฎ แม้ ณ เวลานั้นจะมีจักรพรรดิแห่งโรมอยู่ที่คอนสแตนติโนเปิลอยู่แล้ว แต่จากความวุ่นวายภายในจักรวรรดิไบเซนไทน์และความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของราชวงศ์คาโรแลงเจียนกับศาสนจักรโรมันคาทอลิกแห่งกรุงโรม พระสันตะปาปาลีที่ 3 จึงถือโอกาสสวมมงกุฎและสถาปนาชาร์เลอมาญเป็นจักรพรรดิแห่งโรมัน (Emperor of the Romans) ใน ค.ศ. 800 จักรวรรดิแฟรงก์คาโรแลงเจียน จึงมีสถานะเป็นจักรวรรดิโรมัน (Roman Empire) ของชาวแฟรงก์ (หรือชาวเยอรมัน) ไปโดยปริยาย

จักรพรรดิชาร์เลอมาญ
จักรพรรดิชาร์เลอมาญ แห่งจักรวรรดิแฟรงก์คาโรแลงเจียน (ภาพจาก Wikimedia Commons)

หลังจากยุคชาร์เลอมาญ ดินแดนของจักรวรรดิแฟรงก์แตกออกเป็น 3 อาณาจักรในรุ่นหลานของพระองค์ อาณาจักรฝั่งตะวันตกค่อย ๆ พัฒนากลายเป็นฝรั่งเศสในเวลาต่อมา อาณาจักรฝั่งตะวันออกในดินแดนเยอรมนีได้สานต่อความเป็นเยอรมันของชาวแฟรงก์ ส่วนอาณาจักรตอนกลางค่อย ๆ ถูกกลืนโดย 2 อาณาจักรแรกจนหายไปในที่สุด

กระทั่งสมัยของ ออตโตมหาราช (Otto the Great) อาณาจักรแฟรงก์ตะวันออก (หรือเยอรมนี) สามารถปราบพวกแมกยาร์ (Magyars) ที่กำลังรุกรานพื้นที่ยุโรปตอนกลางและอิตาลีได้สำเร็จ จากพระเกียรติคุณนี้ทำให้ พระสันตะปาปาจอห์นที่ 12 (Pope John XII) ทำพิธีสวมมงกุฎให้พระองค์เป็นจักรพรรดิแห่งโรมันใน ค.ศ. 962 สถานะพระจักรพรรดิแห่งโรมจึงได้รับการสานต่ออีกครั้ง

หลังจากสมัยของจักรพรรดิออตโตมหาราช ดินแดนค่อย ๆ แตกออกมาเป็นอาณาจักรและรัฐขนาดเล็กของกลุ่มชนที่พูดภาษาเยอรมัน ตำแหน่งจักรพรรดิกลายเป็นเพียงสัญลักษณ์เพราะไม่มีพระราชอำนาจแท้จริง แต่การสืบทอดจักรพรรดิแห่งโรมยังคงดำรงอยู่ผ่านการเลือกตั้งโดยคณะเจ้าผู้เลือก หรือ The prince-electors ซึ่งประกอบด้วยเหล่าเจ้าผู้ครองนคร (King, Duke, Count, Margrave) และพระราชาคณะ (Archbishop) ในจักรวรรดิทั้งหมด 7 คน

ค.ศ. 1155 เฟรเดอริกที่ 1 หรือ เฟรเดอริก บาบารอสซา (Frederick Barbarossa) ได้รับการเลือกตั้งโดยคณะเจ้าผู้เลือกให้เป็นจักรพรรดิแห่งโรม เฟรเดอริกต้องการตอกย้ำสถานะจักรพรรดิแห่งโรมันของพระองค์ด้วยขยายอำนาจลงใต้มายังคาบสมุทรอิตาลี ควบคุมบรรดารัฐและศาสนจักรโรมันคาทอลิกแห่งกรุงโรมอย่างเบ็ดเสร็จ พร้อมเพิ่มคำว่า Holy ไว้ในชื่อจักรวรรดิของพระองค์ กลายเป็น Holy Roman Empire อย่างเป็นทางการ

อินทรีสองหัว ตราอาร์ม ลักษณ์ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
อินทรีสองหัวที่มีตราอาร์มสัญลักษณ์ของรัฐในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ภาพวาด ค.ศ. 1510 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

จากคำกล่าวข้างต้นของวอลแตร์ เราจึงสามารถสรุปตัวตนแท้จริงจักรวรรดิโรมันอันศักด์สิทธิ์ได้ดังนี้

1. ศาสนจักรโรมันคาทอลิกแห่งกรุงโรมไม่ได้มีอำนาจใด ๆ เหนือดินแดน แต่เป็นผู้ปกครองที่อาศัยศาสนจักรสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง

2. ก่อตั้งโดยชาติพันธ์ุเยอรมัน ประชากรคือชาวเยอรมัน พูดภาษาเยอรมัน ไม่มีความเกี่ยวข้องกับชาวโรมัน

3. สถานะจักรวรรดิไม่มีความต่อเนื่องและดำรงอยู่เพียงช่วงสั้น ๆ จักรพรรดิไม่สามารถรวบอำนาจการปกครองได้ มีการสืบราชบัลลังก์ภายในราชวงศ์บางช่วงเวลาเท่านั้น มีส่วนหนึ่งที่ผ่านการเลือกตั้งโดยคณะเจ้าผู้เลือก ทั้งไม่มีอาณาเขตการปกครองที่ครอบคลุมดินแดนกว้างใหญ่และประชากรหลายชาติพันธุ์ เนื่องจากมีเพียงชนชาติเยอรมันเท่านั้น

ช่วงเวลาส่วนใหญ่ของการดำรงอยู่ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์มีสถานะเป็นเพียงศูนย์รวมของรัฐเล็กรัฐน้อยที่พูดภาษาเยอรมัน ไม่ได้สร้างศิลปวิทยาการใด ๆ ที่โดดเด่น ขณะที่ดินแดนรายล้อมพัฒนาการขึ้นเรื่อย ๆ อิตาลีเกิดกระบวนการเรเนสซองส์ (Renaissance) ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ส่วนฝรั่งเศสและอังกฤษสามารถพัฒนารัฐชาติที่แข็งแกร่งได้

ส่วน จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ สิ้นสภาพโดยสมบูรณ์หลังการรุกรานของจักรพรรดินโปเลียนและกลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดินฝรั่งเศสในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2533). อารยธรรมสมัยโบราณ-สมัยกลาง. กรุงเทพมหานคร:  สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อนันตชัย เลาหะพันธุ. (2529). อารยธรรมตะวันตก. นครปฐม: คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

อนันตชัย เลาหะพันธุ. (2545). สถานะของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในประวัติศาสตร์. วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 25 ฉบับที่ 1 มิถุนายน-พฤศิจากายน: 177-197.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กันยายน 2565