พระสันตะปาปาเออร์บานที่ 2 ผู้จุด “สงครามครูเสด” ทวงคืน “เยรูซาเลม” ดินแดนศักดิ์สิทธิ์

ยุทธการมองต์กิซาร์ด สงครามครูเสด
ยุทธการมองต์กิซาร์ด (Battle of Montgisard) ระหว่างกษัตริย์บอลด์วินที่ 4 และสุลต่าลซอลาฮุดดีน หนึ่งในเหตุการณ์ครั้งสำคัญของสงครามครูเสด, วาดโดย Charles-Philippe Larivière

“สงครามครูเสด” (Crusades War) สงครามศาสนา หรือ สงครามศักดิ์สิทธิ์ เพื่อชิงนคร “เยรูซาเลม” ระหว่างชาวคริสต์จากยุโรปกับชาวมุสลิม เริ่มขึ้นเมื่อ พระสันตะปาปาเออร์บานที่ 2 (Pope Urban II) ประกาศระดมพลในการประชุมที่เมืองเคลมองต์ (Clemont) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1095 งานประชุมนี้เต็มไปด้วยเหล่าพระคาร์ดินัล อาร์ชบิชอป บิชอป นักบวชคาทอลิก อัศวินจากทั่วฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน และชาวบ้านที่มารวมตัวกันเป็นมวลชนจำนวนมหาศาล

พระสันตะปาปาเออร์บานที่ 2 กับที่มา “สงครามครูเสด”

ที่เคลมองต์ พระสันตะปาปาเออร์บานที่ 2 มีรับสั่งถึงการคุกคามดินแดนของชาวคริสต์ทางตะวันออกจากพวกมุสลิม กล่าวถึงความประสงค์ของ จักรพรรดิอเล็กซิอุส (Alexius) แห่งจักรวรรดิไบเซนไทน์ ที่ต้องการความช่วยเหลือจากพระองค์ ให้รวบรวมกองทัพชาติคาทอลิกทั้งปวงมาช่วยกอบกู้ดินแดนที่สูญเสียให้แก่อนารยชนนอกศาสนาหรือพวกมุสลิม

Advertisement

พระสันตะปาปาเองทรงมองเห็นประโยชน์ที่พระองค์และคริสจักรคาทอลิกแห่งกรุงโรมจะได้จากการประกาศสงครามศักดิ์สิทธิ์นี้ ประการแรก “ศาสนจักรคาทอลิก” กับ “ศาสนจักรออโธดอกซ์” แห่งกรุงคอนสแตนติโนเปิล เมืองหลวงของจักรวรรดิไบเซนไทน์ ไม่ได้ขึ้นตรงต่อกัน เป็นคริสต์ต่างนิกายที่ต่างมีอำนาจเหนือดินแดนและผู้คนแยกส่วนกันชัดเจน

ศาสนจักรคอทอลิกแห่งกรุงโรม มีอิทธิพลต่อดินแดนยุโรปตะวันตก ส่วนศาสนจักรออโธดอกซ์แห่งกรุงคอนสแตนติโนเปิล มีอิทธิพลต่อดินแดนของจักรวรรดิไบเซนไทน์ และพื้นที่ยุโรปตะวันออก ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือจักรวรรดิไบเซนไทน์จะถือเป็นการแผ่ขยายอำนาจของพระสันตะปาปาไปยังนิกายตะวันออกไปในตัวด้วย

ประการที่สอง ณ ห้วงเวลานั้น พระราชอำนาจของพระสันตะปาปากำลังถูกท้าทายจากจักรพรรดิของจักรวรรดิโรมันแห่งเยอรมัน (จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) จากกรณีที่ จักรพรรดิไฮน์ริชที่ 4 (Henry IV) ได้เข้ามาควบคุมกรุงโรม และตั้งพระสันตะปาปาหุ่นเชิด (Antipope) คือ พระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 3 (Clement III) ตั้งแต่ ค.ศ. 1080 เพื่อประโยชน์ในการควบคุมคริสตจักรแห่งกรุงโรม เป็นเหตุให้ โป๊ปเออร์บานที่ 2 ต้องเสด็จลี้ภัยจากอิตาลีไปยังฝรั่งเศส ก่อนการมาเยือนของทูตจากจักรวรรดิไบเซนไทน์ที่จะมาขอความช่วยเหลือ

คณะทูตแห่งจักรวรรดิไบเซนไทน์ ตั้งหมุดหมายการขอความช่วยเหลือมายังโป๊ปเออร์บานที่ 2 ซึ่งขณะนั้นไม่ได้ประทับอยู่ที่กรุงโรม แต่แปรพระราชฐานอยู่ในดินแดนฝรั่งเศส การตัดสินใจของจักรพรรดิอเล็กซิอุส ซึ่งเลือกที่จะเมินจักรพรรดิเยอรมัน และพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 3 ที่กรุงโรม จึงเป็นการยืนยันสถานะว่า โป๊ปเออร์บานที่ 2 คือ “ของจริง” ซึ่งสร้างความพอพระทัยแก่พระองค์อยู่ไม่น้อย

พระสันตะปาปาเออร์บานที่ 2
โป๊ปเออร์บานที่ 2 (ตรงกลาง) (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ระดมพล กอบกู้ “เยรูซาเลม” ดินแดนศักดิ์สิทธิ์

ด้วยเหตุนี้ การประชุมที่เคลมองต์จึงถูกจัดขึ้นอย่างเปิดเผย ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางที่สุด แม้การประชุมนี้จะไม่มีกษัตริย์หรือจักรพรรดิคาทอลิกมาร่วมก็ตาม พระสันตะปาปาทรงเน้นย้ำเรื่องการช่วยเหลือจักรพรรดิอเล็กซิอุสแห่งจักรวรรดิไบเซนไทน์กอบกู้ดินแดน และยังเผยพระประสงค์ที่จะกอบกู้นคร “เยรูซาเลม” จากการปกครองของพวกมุสลิมด้วย

อนึ่ง ดินแดนที่จักรวรรดิไบเซนไทน์ต้องการทวงคืนนั้น อยู่บริเวณคาบสมุทรอนาโตเลียหรือเอเชียไมเนอร์ ไม่ใช่ภูมิภาคเลอวองค์อันเป็นที่ตั้งของนครเยรูซาเลมแต่อย่างใด การประชุมที่เคลมองต์จึงเผยเจตนารมณ์ 2 ประการที่ควบคู่กันอยู่

พระสันตะปาปายังอ้างถึงปัญหาการปิดกั้นเส้นทางแสวงบุญ การเอารัดเอาเปรียบ ข่มเหง และสังหารชาวคริสต์ของพวกมุสลิม จนทำให้ผู้ชุมนุมแห่งเคลมองต์สะเทือนใจอย่างยิ่ง ทั้งนี้ คำกล่าวอ้างนี้ยังเป็นที่ถกเถียงว่าค่อนข้างเกินจริง เพราะการปกครองดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมอาหรับนั้น เป็นที่ทราบกันว่า ค่อนข้างเปิดกว้าง และให้เสรีภาพแก่ชนต่างศาสนามากพอสมควร

กระทั่งกลางคริสต์ศตวรรษที่ 11 การเข้ามาของพวกมุสลิมเผ่า “เซลจุค” (Seljuks) ซึ่งเป็นพวกเติร์กกลุ่มหนึ่งจากเอเชียกลาง เซลจุคเติร์กที่มีอำนาจเหนือดินแดนศักดิ์สิทธิ์ มีนโยบายปิดกั้นการแสวงบุญและคุกคามชนต่างศาสนา ชื่อเสียงด้านความโหดเหี้ยมของชาวมุสลิมจึงค่อย ๆ ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางตั้งแต่นั้น

ทันทีที่เรื่องราวความป่าเถื่อนที่อนารยชนต่างศาสนากระทำต่อชาวคริสต์ถูกป่าวประกาศโดยพระสันตะปาปา เสียงร่ำไห้และการก่นด่าสาปแช่งดังระงมทั่วลานชุมนุมนั้น พระองค์ถือโอกาสสร้างความฮึกเหิมโดยประกาศว่า ผู้ใดก็ตามที่เข้าร่วมสงครามกอบกู้จักรวรรดิไบเซนไทน์ และทวงคืนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ นับเป็นผู้ฟื้นฟูพระสันติสุขแห่งพระเจ้า (Peace of God) และจะได้รับการละเว้นความผิดทั้งปวงจากโลกและสรวงสวรรค์ หรือ “The remission of all penance for sins” แปลว่า “การอภัยโทษจากบาปทั้งปวง” หรือแปลให้ชัดว่า พ้นจากความผิดบาปทางศาสนาและความผิดทางกฎหมาย

ระหว่างนั้นเอง มีเสียงปริศนาท่ามกลางกลุ่มผู้ชุมนุมตะโกนเป็นภาษาละตินว่า “Deus Vult !” หรือ God Will it ที่แปลว่า “พระเจ้าปรารถนา” จากนั้นผู้ชุมนุมทั้งหมดต่างพร้อมใจกันตะโกนคำนี้ซ้ำ ๆ จนดังกึกก้องไปทั่ว เจตนารมณ์ขององค์พระสันตะปาปาในการทำสงครามศาสนาเพื่อขับไล่พวกมุสลิมไปจากดินแดนศักดิ์สิทธิ์จึง “จุดติด” ทันที

พระสันตะปาปาเออร์บานที่ 2 สงครามครูเสด
พระสันตะปาปา, นักบวช, อัศวิน และมวลชนในการชุมนุมที่เคลมองต์ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

พระสันตะปาปาทรงมีบัญชาไปยังเหล่าขุนนางและนักบวชที่อยู่ในงานประชุม ให้กลับไปแจ้งผู้คนในดินแดนของตนถึงการอภัยโทษจากบาปทั้งปวงในการร่วม “สงครามศักดิ์สิทธิ์” คำกล่าวนี้เป็นดังประกาศิตที่กระจายไปทั่วยุโรป ชักนำประชาชนทุกชนชั้น ตั้งแต่ขอทาน ผู้ยากไร้ ชาวนา พ่อค้า ขุนนาง อัศวิน และลอร์ดทั้งหลาย ให้พร้อมใจกันติดสัญลักษณ์ไม้กางเขนแห่งพระคริสต์ เพื่อไปทำสงครามศักดิ์สิทธิ์กับพวกนอกศาสนา ทั้งยังมีเหล่าโจรหรืออาชญากรหลบหนีคดีที่ตอบรับคำเชื้อเชิญของพระสันตะปาปา เพื่อปลดปล่อยตัวเองให้เป็นไทจากความผิดเก่าของตน

สงครามครูเสด ครั้งที่ 1 จึงมีทั้งกองทัพอัศวิน ขุนนาง และเจ้าผู้ครองดินแดน กับกองทัพประชาชน (และอดีตโจร) โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม เคลื่อนทัพจากยุโรปตะวันตกไปยังจักรวรรดิไบเซนไทน์ มีบันทึกว่า กองกำลังทั้ง 2 กลุ่มนี้ มีจำนวนผู้เข้าร่วมเป็นประชาชนและนักรบมากกว่าแสนคนเลยทีเดียว

สงครามครูเสด ครั้งที่ 1 จึงเป็นทั้งข้อพิสูจน์อำนาจของศาสนจักรคาทอลิกแห่งกรุงโรมว่ามีอิทธิพลต่อผู้คนในยุโรปอย่างมากมายเพียงใด และการประกาศระดมพลของพระสันตะปาปาเออร์บานที่ 2 ได้เป็นการจุดประกายสงครามศาสนาที่นำความสูญเสีย การทำลายล้าง และความขัดแย้งที่จะดำเนินต่อไปอีกกว่า 200 ปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ภาสพันธ์ ปานสีดา. (2563). ครูเสด มหาสงครามแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์. กรุงเทพฯ : ยิปซี

Alfons Becker, Encyclopedia Britannica : Urban II

Encyclopedia Britannica : Council of Clermont, European history

FORDHAM UNIVERSITY, Medieval Sourcebook: Urban II (1088-1099): Speech at Council of Clermont, 1095, Five versions of the Speech

History Channel : Crusades, The First Crusade (1096-1099)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 กันยายน 2565