ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
2 ตุลาคม 1187 “ซาลาดิน” ผู้นำชาวเคิร์ด ยกทัพเข้ายึด “เยรูซาเล็ม” ปลุกชนวน สงครามครูเสด ครั้งที่ 3
สงครามครูเสด เป็นสงครามศาสนาที่คริสตจักรโรมันคาทอลิกเข้าแทรกแซงด้วยหวังปลดปล่อยปาเสสไตน์จากการครอบครองของชาวมุสลิม โดยในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1095 (พ.ศ. 1638) สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 (Urban II) ได้เรียกร้องให้เหล่าอัศวินแห่งฝรั่งเศสเดินทางไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์เพื่อรบในนามคริสตจักร หลังจักรพรรดิอเล็กซิออสที่ 1 (Alexios I) แห่งไบแซนไทน์ ขอความช่วยเหลือไปยังคริสตจักรโรมัน
ในสงครามครูเสดครั้งที่ 1 กองทัพคริสเตียนสามารถยึดเยรูซาเล็มได้สำเร็จ และกลุ่มผู้นำคริสเตียนตะวันตกยังได้ตั้งรัฐครูเสดขึ้นหลายแห่ง แต่ภายหลังเมืองเอเดสซา (Edessa) หนึ่งในรัฐครูเสดก็ถูกผู้นำมุสลิมบุกยึดได้ สมเด็จพระสันตะปาปาอูเจนิอุส (Eugenius) จึงเรียกร้องให้มีการทำ สงครามครูเสดครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1145-1149) แต่ครั้งนี้พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จเช่นในครั้งแรก และการที่ไม่สามารถยึดเอเดสซาคืนได้สำเร็จ ทำให้ความกระหายในสงครามศักดิ์สิทธิ์ของผู้นำตะวันตกค่อยๆ เหือดแห้งไป
สถานการณ์ของฝ่ายครูเสดค่อยๆ เสื่อมโทรมลงเป็นลำดับ เมื่อ กษัตริย์บัลด์วินที่ 4 (Baldwin IV) แห่งเยรูซาเล็ม กษัตริย์หนุ่มซึ่งป่วยด้วยโรคเรื้อน (เคยเอาชนะศึกกับ ซาลาดิน* ผู้นำชาวมุสลิมเชื้อสายเคิร์ดได้ ทำให้ทั้งสองฝ่ายทำสัญญาสงบศึกกันในปี 1180) ได้สิ้นพระชนม์ลงในปี 1185 ทำให้สถานการณ์ภายในของเยรูซาเล็มสั่นคลอนหนักขึ้นไปอีก
เมื่อบรรดาชนชั้นนำพากันแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันชัดเจนมากยิ่งขึ้น ยังดีที่ เรย์มอนด์ที่ 3 (Raymond III) เคาต์แห่งทริโปลี ผู้สำเร็จราชการแทน กษัตริย์บัลด์วินที่ 5 (ครองราชย์เมื่อยังทรงพระเยาว์) สามารถทำข้อตกลงสงบศึกชั่วคราวเป็นเวลา 4 ปี กับ “ซาลาดิน” ได้สำเร็จ ทำให้ลดความกังวลเรื่องภัยคุกคามจากภายนอกไปได้อีกระยะ
เยรูซาเล็ม ต้องระส่ำอีกครั้ง เมื่อ กษัตริย์บัลด์วินที่ 5 สิ้นพระชนม์ลงในปีถัดมา และข้อตกลงสงบศึกระหว่างเยรูซาเล็มกับซาลาดิน ก็ต้องสูญเปล่าด้วยฝีมือ เฮอนูด์ เดอ ชาตียอง (Renaud de Châtillon) ผู้นำทหารชาวฝรั่งเศสคนสำคัญของฝ่ายครูเสด และเจ้าผู้ครองแอนติออค (Antioch) ที่ไปบุกปล้นกองคาราวาน ซึ่งน้องสาวของซาลาดินร่วมเดินทางมาด้วย (หลังจากที่เคยละเมิดสัญญาสงบศึกมาก่อนแล้วตั้งแต่ครั้งรัชสมัยกษัตริย์บัลวินด์ที่ 4)
เมื่อ กษัตริย์กีย์ เดอ ลูซินยอง (Guy de Lusignan) ซึ่งขึ้นครองราชย์ต่อจากกษัตริย์บัลด์วินที่ 5 ทรงสั่งให้ เฮอนูด์ ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับกองคาราวาน แต่เฮอนูด์ปฏิเสธ ทำให้เกิดสงครามขึ้นอีกครั้ง และในศึกแห่งฮัตทิน (Hattin) สงครามชี้ชะตาของเยรูซาเล็ม ในเดือนกรกฎาคม 1187 ซาลาดินสามารถเอาชนะกองทัพของเยรูซาเล็มได้อย่างราบคาบ โดยเขาได้ไว้ชีวิตของกษัตริย์กีย์ แต่ลงมือสังหารเฮอนูด์ ผู้ละเมิดสัญญาสงบศึกด้วยตนเอง
หลังเสร็จศึกแห่งฮัตทิน ซาลาดินเคลื่อนทัพต่อไปยังเยรูซาเล็มที่เหลือกำลังป้องกันเพียงน้อยนิด ภายใต้การบังคับบัญชาของ เบลียอง ดีเบอเลียง (Balian d’Ibelin) ซึ่งยอมให้กองกำลังของซาลาดินยึดครองเยรูซาเล็มใน วันที่ 2 ตุลาคม 1187 (พ.ศ. 1730) หลังซาลาดินตกลงปล่อยตัวชาวคริสต์ที่ยอมเสียค่าไถ่ตามจำนวน ส่วนผู้ที่ไม่อาจเสียค่าไถ่ได้ก็ถูกกองทัพมุสลิมจับขายเป็นทาส
ชัยชนะของซาลาดินในวันที่ 2 ตุลาคม 1187 นำมาซึ่งสงครามครูเสด ครั้งที่ 3 ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “ครูเสดของเหล่ากษัตริย์” ด้วยครั้งนี้บรรดากษัตริย์ของตะวันตกลงมาเป็นแกนนำในการทำสงครามเพื่อยึดเยรูซาเล็มคืนจากซาลาดินด้วยตัวเอง แต่พวกเขาก็ทำได้ไม่สำเร็จ แม้ว่าโดยภาพรวมแล้วจะถือว่าประสบความสำเร็จเนื่องจากสามารถยึดเมืองสำคัญได้หลายแห่ง
อ่านเพิ่มเติม :
- ขออภัยคนหน้าแปลก กองทัพครูเสดโจมตี “ฮังการี” เหตุเข้าใจผิดว่าเป็นพวกนอกรีต
- แดง-เขียว สีแห่งปีศาจและความชั่วร้าย ในสายตาของชาวคริสต์
- พระสันตะปาปาเออร์บานที่ 2 : รบเพื่อศาสนาในดินแดนศักสิทธิ์จะได้รับการไถ่บาป
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
*ซาลาดิน เป็นชาวเคิร์ดเกิดที่เมืองทีกริต (Tikrit) ประเทศอิรักในปัจจุบัน แต่เติบโตขึ้นมาในดามัสกัส หลังครอบครัวของซาลาดินที่เป็นชนชั้นนำไปรับใช้พวกเติร์กในซีเรีย ซาลาดินเริ่มมีบทบาททางการทหารจากการช่วยลุงไปรบในอียิปต์ เมื่อลุงเขาตายเขาจึงได้กลายเป็นผู้นำกองทัพซีเรียในอียิปต์ ก่อนกลายมาเป็นสุลต่านแห่งอียิปต์ โดยเป็นผู้ล้มล้างราชวงศ์ฟาติมิดที่นับถือชีอะ และประกาศการฟื้นฟูนิกายซุนนีย์ในอียิปต์ขึ้นมา
อ้างอิง :
“Crusades”. Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Online.
Encyclopædia Britannica Inc., 2016. Web. 01 Oct. 2016
<https://global.britannica.com/event/Crusades/The-era-of-the-Second-and-Third-Crusades>.
“Saladin”. Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Online.
Encyclopædia Britannica Inc., 2016. Web. 01 Oct. 2016
<https://global.britannica.com/biography/Saladin>.
“Reginald of Chatillon”. Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Online.
Encyclopædia Britannica Inc., 2016. Web. 01 Oct. 2016 <https://global.britannica.com/biography/Reginald-of-Chatillon>.
“The Crusade. A Complete History”. History Today.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ตุลาคม 2559