ชาร์ล มาร์เทล และ “ยุทธการตูร์” ดับฝันจักรวรรดิอิสลามที่พยายามพิชิตยุโรปในยุคกลาง

ชาร์ล มาร์เทล นำทัพ แฟรงก์ รบ ทัพมุสลิม จักรวรรดิอิสลาม ใน ยุทธการตูร์
ชาร์ล มาร์เทล นำทัพแฟรงก์รบกับทัพมุสลิมในยุทธการที่เมืองตูร์ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ชาร์ล มาร์เทล ขุนศึกฝรั่งเศสผู้ดับฝัน จักรวรรดิอิสลาม ที่พยายามพิชิตยุโรปเมื่อยุคกลาง ใน “ยุทธการตูร์”

ชาร์ล มาร์เทล (Charles Martel, ค.ศ. 688-741) หรือ “ชาร์ล มาร์แตล” ขุนศึกผู้โด่งดังแห่งตระกูลคาโรแลงเจียน (House of Carolingians) ต้นราชวงศ์ของจักรพรรดิชาร์เลอมาญมหาราช เขาเป็นผู้นำทหารชาวแฟรงก์ (Franks) เผ่าพันธุ์ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวฝรั่งเศส

ชาร์ล มาร์เทลดำรงตำแหน่ง Mayor of the Palace หรือ “สมุหราชมณเฑียร” ซึ่งทางพฤตินัยนั้นทำหน้าที่เหมือนนายกรัฐมนตรี และเป็นรองเพียงกษัตริย์แฟรงก์แห่งราชวงศ์เมโรแวงเจียน (Merovingian dynasty) เท่านั้น เขายังมีคุณูปการอันยิ่งใหญ่ในการนำทัพต่อต้านการรุกรานยุโรปของกองทัพมุสลิมจากคาบสมุทรไอบีเรีย (สเปน-โปรตุเกส)

ชาร์ล มาร์เทล เกิดในตระกูลดยุคผู้หนึ่งของอาณาจักรแฟรงก์ หลังสืบทอดอำนาจและมรดกจากบิดา เขาเริ่มขยายอิทธิพลทางการเมืองตั้งแต่ ค.ศ. 718 ควบคุมอำนาจทางทหารของอาณาจักร นำทัพในสงครามปราบเผ่าเยอรมันกลุ่มอื่น ๆ ทั่วยุโรปตะวันตกและยุโรปตอนกลาง ทำให้เผ่าแฟรงก์กลายเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวของชนเผ่าเยอรมันทั้งมวล และส่งผลให้ตระกูลคาโรแลงเจียนถูกยอมรับนับถืออย่างมากในบรรดากลุ่มชนเยอรมันที่เขาพิชิต

ผลงานสำคัญที่สุดของชาร์ล มาร์เทล ทั้งในฐานะขุนศึกแฟรงก์และคริสต์ศาสนิกชน คือชัยชนะใน ยุทธการตูร์ (Battle of Tours) เมื่อ ค.ศ. 732 ซึ่งทำให้การขยายอำนาจของจักรวรรดิอิสลามที่ปกครองคาบสมุทรไอบีเรียต้องหยุดชะงัก และอ่อนกำลังลงอย่างเห็นได้ชัด เป็นผลให้ศาสนาอิสลามไม่สามารถครอบงำยุโรปตอนในได้เหมือนที่ประสบความสำเร็จในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก

ชาร์ล มาร์เทล สวม ชุดเกาะ แบบ เยอรมัน
ภาพเขียนชาร์ล มาร์เทลในชุดเกราะแบบเยอรมัน, ศตวรรษที่ 16 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ก่อนการรุกรานยุโรปของ จักรวรรดิอิสลาม ดินแดนตะวันตกหลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันแตกออกเป็นอาณาจักรและรัฐน้อยใหญ่มากมาย โดยมีเผ่าวิสิกอธปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของคาบสมุทรไอบีเรีย ส่วนยุโรปตอนในเหนือไอบีเรียขึ้นไปประกอบด้วยกลุ่มชนเยอรมันเผ่าต่าง ๆ มีเผ่าแฟรงก์เป็นผู้นำในการสถาปนาอาณาจักรอันมีเอกภาพภายใต้ราชวงศ์เมโรแวงเจียน

สำหรับฝั่งผู้รุกราน นโยบายการขยายอำนาจของจักรวรรดิอิสลามโดยคอลีฟะฮ์ราชวงศ์อุมัยยะฮ์ (Umayyad Caliphate) ใช้หลักดาวกระจาย นั่นคือเหล่าเอมีร์ (Emir) ผู้ปกครองแคว้นต่าง ๆ ภายในจักรวรรดิมีอำนาจเต็มที่ในการนำทัพรุกรานดินแดนข้างเคียง เมื่อได้รับคำสั่งจากประมุข ณ กรุงดามัสกัส กองทัพที่อยู่ตามดินแดนต่าง ๆ สามารถทะยานไปทุกสารทิศเพื่อยึดครองดินแดนได้ทันทีพร้อมเผยแผ่ศาสนาอิสลาม นั่นเป็นผลให้จักรวรรดิอิสลามมีขนาดใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ ภายในช่วงเวลาอันสั้น

เมื่อพวกเขาแผ่อำนาจจากเอเชียตะวันตกมาถึงภูมิภาคมาเกร็บ (Maghreb) ตอนเหนือของแอฟริกา หรือบริเวณประเทศตูนิเซีย อัลจีเรีย โมรอคโก ฯลฯ ในปัจจุบัน เหล่านักรบมุสลิมหรือที่ชาวยุโรปมักเรียกว่า พวกซาราเซน (Saracens) ซึ่งประกอบด้วยชาวอาหรับ มัวร์ และเบอเบอร์ เริ่มรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ยุโรป โดยข้ามช่องแคบยิบรอลตาร์ (แอฟริกา) มายังไอบีเรีย (ยุโรป) เพื่อช่วงชิงดินแดนจากผู้ปกครองเดิม คือพวกวิสิกอธ

บรรดารัฐคริสเตียนขนาดเล็กและอาณาจักรของพวกวิสิกอธ ไม่สามารถต้านทานการรุกรานของนักรบซาราเซนได้ ใน ค.ศ. 718 ปีเดียวกับที่ชาร์ล มาร์เทล เริ่มมีบทบาทในอาณาจักรแฟรงก์ ดินแดนเกือบทั้งหมดของคาบสมุทรไอบีเรียได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอิสลามไปเรียบร้อย เหลือเพียงอาณาจักรอัสตูเรียส (Kingdom of Asturias) รัฐคริสเตียนทางตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรเท่านั้น ที่ยังยืนหยัดต่อต้านพวกมุสลิมต่อไป

การรุกรานแคว้นอากีเตน

หลังจักรวรรดิอิสลามสถาปนาอำนาจเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ของคาบสมุทรไอบีเรีย คอลีฟะฮ์แห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ์แต่งตั้งเอมีร์ปกครองไอบีเรีย โดยมีศูนย์กลางที่เมืองคอร์โดบา (Cordoba) ล่วงเข้า ค.ศ. 721 ทัพซาราเซนอันประกอบด้วยนักรบจากภูมิภาคมาเกร็บ คาบสมุทรอาหรับ ซีเรีย และชาวไอบีเรียนที่เข้ารีตเป็นมุสลิม ได้เริ่มรุกคืบข้ามเทือกเขาพีเรนิสเข้ามายังแคว้นอากีเตน (Aquitaine) ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส (รัฐบริวารของอาณาจักรแฟรงก์) ก่อนจะปิดล้อมเมืองตูลูส (Toulous) เมืองสำคัญของแคว้นอากีเตน และเจอการต่อต้านอย่างหนักจากดยุคแห่งอากีเตน เพื่อประวิงเวลาให้กองทัพแฟรงก์จากปารีสยกมาสนับสนุน

ระหว่างที่ชาร์ล มาร์เทล เรียกระดมทัพจากทั่วอาณาจักร ทัพซาราเซนที่ปิดล้อมเมืองตูลูสเริ่มอ่อนกำลังลง ประกอบกับข่าวว่ามีกองทัพขนาดใหญ่จากทางเหนือกำลังลงมาช่วยกู้สถานการณ์ที่ตูลูส ทำให้ทัพจักรวรรดิอิสลามตัดสินใจล่าถอยกลับไอบีเรียไป

11 ปีหลังการปิดล้อมตูลูส อับดุลเราะมาน อัล-คอฟีกี (Abd al-Rahman Al-Ghafiqi) เอมีร์แห่งคอร์โดบาได้รับคำสั่งจากกรุงดามัสกัสให้นำกำลังบุกขึ้นเหนืออีกครั้ง เพื่อพิชิตยุโรปตอนใน เขาเรียกระดมพลซาราเซนครั้งใหญ่ มีกำลังสำคัญคือทัพม้าเผ่าเบอร์เบอร์จากภูมิภาคมาเกร็บ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นนักรบบนหลังม้าที่เชี่ยวชาญการรบพุ่งในทุ่งโล่งที่สุด ทัพซาราเซนกลับมารุกรานภูมิภาคอากีเตนอีกหนด้วยสรรพกำลังที่พร้อมกว่าครั้งแรก ดยุคแห่งอากีเตนจึงเสียทั้งเมืองตูลูสและบอร์กโดซ์ (Bordeaux) เมืองสำคัญของแคว้นอากีเตนให้ฝ่ายจักรวรรดิอิสลาม

เมื่อปราการแห่งอากีเตนพังทลาย ทัพซาราเซนจึงสามารถรุกขึ้นเหนือเข้ามายังตอนกลางของอาณาจักรแฟรงก์ และอยู่ห่างจากปารีสด้วยระยะเดินทัพเพียงไม่กี่วัน

ชาร์ล มาร์เทล และราชสำนักแฟรงก์ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากระดมกำลังเท่าที่หาได้ แล้วเข้าต่อต้านฝ่ายมุสลิมทันที ซึ่งนั่นจะกลายเป็นสงครามที่ไม่เพียงเดิมพันด้วยเกียรติภูมิของชาวแฟรงก์ แต่รวมถึงสถานะของศาสนาคริสต์ในดินแดนยุโรปด้วย

นักรบซาราเซน จักรวรรดิอิสลาม
ภาพนักรบซาราเซน ที่รุกรานฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 8, วาดโดย
Julius Schnorr von Carolsfeld ในศตวรรษที่ 19 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

สมรภูมิที่เมืองตูร์

วันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 732 กองทัพของทั้งสองฝ่ายปะทะกันที่เมืองตูร์และปัวติเยร์ (Poitiers) เป็นกองทัพแฟรงก์ราว 30,000 คน นำโดยชาร์ล มาร์เทล ส่วนฝ่ายจักรวรรดิอิสลามถูกประมาณการว่ามีกำลังถึง 80,000 คน นำโดย อับดุลเราะมาน อัล-คอฟีกี เอมีร์แห่งคอร์โดบา

หลักฐานที่บันทึกไว้เล่าว่า กองทัพแฟรงก์เป็นทหารราบทั้งหมด ไม่มีกองทัพม้า และกองทัพซาราเซนแห่งภูมิภาคอัล-อันดาลูส (Al-Andalus, คาบสมุทรไอบีเรียภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอิสลาม) โดยเฉพาะทัพม้าเบอร์เบอร์ได้สร้างความหวาดวิตกให้ฝ่ายแฟรงก์พอสมควร

การสู้รบดำเนินไปกว่า 7 วัน ชาร์ล มาร์เทล เลือกใช้ยุทธวิธีตั้งรับแบบฟาแลงซ์ (Phalanx) อาศัยความคุ้นเคยพื้นที่สมรภูมิรบของฝ่ายแฟรงก์และความได้เปรียบทางภูมิประเทศที่เป็นเนินเขาเตี้ย ๆ สลับที่ลุ่ม-ที่ดอน ลดทอนอานุภาพของทัพม้าเบอร์เบอร์

ในที่สุดความสูญเสียของฝ่ายซาราเซนก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากภูมิประเทศที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อพวกเขานัก ประกอบกับเอมีร์อับดุลเราะมาน อัล-คอฟีกี ดันสิ้นชีพระหว่างการสู้รบ ขุนศึกที่เหลือของกองทัพจักรวรรดิอิสลามจึงตัดสินใจล่าถอยจากพื้นที่ดังกล่าว พร้อมความสูญเสียที่วิเคราะห์กันว่าอาจมีจำนวนมากถึง 10,000-12,000 คน ขณะที่ฝ่ายแฟรงก์สูญเสียหลักพันคนเท่านั้น

ยุทธการตูร์ลดทอนความมั่นใจของจักรวรรดิอิสลามในการพิชิตยุโรปตอนในไปมากพอสมควร เพราะหลังจากนั้นคือไม่ปรากฏการระดมกำลังขนาดใหญ่ของฝ่ายมุสลิมเพื่อรุกขึ้นเหนืออีก อย่างไรก็ตาม อำนาจของจักรวรรดิอิสลามไม่ได้สูญสลายไปจากยุโรป พวกเขายังคงปกครองคาบสมุทรไอเบียหรือภูมิภาคอัล-อันดาลูสต่อมาอีกหลายร้อยปี แม้ผู้นำฝ่ายคริสเตียนจะพยายามปลดปล่อยดินแดนแห่งนี้จากการปกครองของฝ่ายอิสลามอยู่หลายครั้งตลอดช่วงเวลาดังกล่าวก็ตาม

ชัยชนะของกองทัพแฟรงก์ที่เมืองตูร์ เป็นหนึ่งในสงครามที่ส่งผลต่อประวัติศาสตร์ยุโรปอยู่ไม่น้อย หากทัพของจักรวรรดิอิสลามคว้าชัยในสงครามครั้งนั้น ประวัติศาสตร์ของดินแดนต่าง ๆ ในฝรั่งเศสและยุโรปตอนในอาจต่างไปจากที่ดำเนินต่อมาอย่างสิ้นเชิง

เพราะอำนาจของ จักรวรรดิอิสลาม ณ ช่วงเวลานั้นใกล้เคียงความไร้เทียมทานอย่างยิ่ง พวกเขาคุกคามจักรวรรดิไบเซนไทน์จนสูญสิ้นอำนาจเหนือภูมิภาคเอเชียตะวันตก อียิปต์ อนาโตเลีย (ตุรกี) ขณะเดียวกันก็แผ่อำนาจไปทางตะวันออกจรดดินแดนจีน ฝั่งตะวันตกยังคลอบคลุมแอฟริกาเหนือทั้งหมด และศูนย์กลางอำนาจในไอบีเรียก็มั่นคงอย่างมาก

หากอาณาจักรแฟรงก์ต้านทานไม่ได้ในศึกนั้น ไม่แน่ว่าทุกวันนี้ หลายประเทศในยุโรปอาจใช้ “ภาษาอาหรับ” เป็นภาษาราชการก็ได้

แผนที่ ยุโรป และ จุด ยุทธการตูร์
อาณาจักรแฟรงก์ในยุคของชาร์ล มาร์เทล และตำแหน่งของยุทธการตูร์, โดย J. F. Horrabin ปี 1923 (ภาพจาก archive.org / Internet Archive)

บารมีแผ่ไพศาล

ชัยชนะของ ชาร์ล มาร์เทล ถูกเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องราวทางศาสนาว่าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่อำนวยชัยให้ฝ่ายคริสเตียน เขาได้สมญานามภาษาละตินว่า “Martellus” หรือค้อน (Hammer) คล้ายกับเรื่องราวของ จูดาส แมคคาเบอุส (Judas Maccabeus) ผู้นำกบฏมัคคาเบียนในสงครามปลดปล่อยชาวยิวจากจักรวรรดิเซลูซิดของชาวกรีก

ภายหลัง ยุทธการตูร์ อาณาจักรแฟรงก์ภายใต้การนำของชาร์ล มาร์เทล ยังคงขยายอำนาจในยุโรปอย่างต่อเนื่อง พวกเขาพิชิตแคว้นโปรวองซ์ (Duchy of Provence) เบอร์กันดี (Duchy of Burgundy) ฟริเซีย (Duchy of Frisia) และเจริญสัมพันธไมตรีกับคริสตจักรที่กรุงโรมอย่างแนบแน่น

ระหว่าง ค.ศ. 737-743 เมื่ออาณาจักรแฟรงก์คาโรแลงเจียนไร้กษัตริย์ปกครอง ชาร์ล มาร์เทล ยังดำรงตำแหน่งสมุหราชมณเฑียรต่อไป แต่สถานะและอำนาจบารมีแทบไม่ต่างกษัตริย์เลย

ใน ค.ศ. 739 เขาจึงถูกเชิดชูในฐานะ “ดยุคและเจ้าชายแห่งแฟรงก์” (Duke and Prince of Frank)

ค.ศ. 741 ชาร์ล มาร์เทล บุรุษผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรแฟรงก์ (แต่ไม่ใช่กษัตริย์) สิ้นชีพด้วยวัย 53 ปี ศพของเขาถูกฝังที่บาซิลิกาแห่งเซนต์เดนิส (Basilica of Saint-Denis) กรุงปารีส

ตัวตนของ ชาร์ล มาร์เทล ยังส่งผลต่อพัฒนาการของ “ระบบฟิวดัล” (Feudalism) หรือศักดินาในยุคกลาง เขาคือต้นแบบของลอร์ดผู้พิทักษ์ อัศวิน นักรบ นักการทหาร ที่แม้ไม่ใช่กษัตริย์ก็สามารถปกป้องมาตุภูมิได้ ภาพลักษณ์อันแข็งแกร่งนี้ ส่งเสริมให้ทายาทที่รับมรดกทางอำนาจต่อจากเขาสามารถสถาปนาราชวงศ์ใหม่ของชาวแฟรงก์ และแผ่อำนาจไปทั่วยุโรปตะวันตก-ตอนกลางของทวีป นั่นคือจักรวรรดิแฟรงก์คาโรแลงเจียนอันเกรียงไกร

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ธิติพงศ์ มีทอง. (2563). ชาร์ล มาร์แตลกับการสถาปนาราชวงศ์คาโรลิงเกียในประวัติศาสตร์ยุคกลาง. งานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 12 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม : มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม.

The Encyclopedia of World History, Bartleby.com : The Frankish Kingdom. (Online)

Eleanor Shipley Duckett, Encyclopaedia Britannica (OCT 18, 2022) : Charles Martel, Frankish ruler. (Online)

History.com Editors, HISTORY (OCT 9, 2019): October 10 ‘Battle of Tours’. (Online)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 ธันวาคม 2565