อาหรับปะทะเปอร์เซีย! การพิชิตจักรวรรดิแซสซาเนียนโดยรัฐอิสลาม

ภาพประกอบเนื้อหา - กาหลิบ Umar เดินทางเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็ม

รัฐอิสลาม รัฐแรกของโลกเกิดขึ้นช่วง ค.ศ. 622-632 ภายใต้การนำของ นบีมูฮัมหมัด (Muhammad ibn Abdullah) ผู้เป็นศาสดา มีพื้นที่ครอบคลุมบริเวณคาบสมุทรอาหรับ (Arabian Peninsula) อันกว้างใหญ่ แต่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย และประชากรหลักเป็นชนเผ่าเร่ร่อนหรือพวกเบดูอิน (Bedouins) รัฐอิสลามในยุคก่อตั้งจึงเป็นอาณาจักรท้องถิ่นที่รวมประชาชาติอาหรับให้เป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้ร่มธงของศาสนาอิสลาม โดยมีศาสดามูฮัมหมัดเป็นประมุขของรัฐทั้งทางการเมืองและศาสนา มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเมดินา (Medina)

ภาพประกอบ – จานรูปกษัตริย์ Kavad I แห่งแซสซาเนียนล่าสัตว์ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ความเป็นปึกแผ่นของชาวอาหรับไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ การเกิดรัฐอิสลามในคาบสมุทรหรับจึงส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจบริเวณภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย เพราะนำไปสู่การพิชิต จักรวรรดิแซสซาเนียน (Sassanian Empire) อันยิ่งใหญ่ของชาวเปอร์เซีย มหาอำนาจเก่าแก่ที่ขับเคี่ยวกับชาวโรมันมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคจักรวรรดิโรมัน กระทั่งเปลี่ยนเป็นโรมันตะวันออกหรือ จักรวรรดิไบเซนไทน์ (Byzantine Empire)

ค.ศ. 632 หลังศาสดามูฮัมหมัดเสียชีวิต เนื่องจากศาสดามูฮัมหมัดไม่ได้ตั้งทายาทไว้ จึงเกิดคำถามตามมาว่าใครต้องสืบทอดตำแหน่งขององค์ศาสดา รัฐอิสลาม จึงใช้การปกครองแบบคณาธิปไตย (Oligarchy) โดยเลือกผู้นำกันภายในกลุ่มเครือญาติ ผู้ติดตาม และเหล่าแม่ทัพผู้ใกล้ชิดศาสดามูฮัมหมัด ตำแหน่งผู้นำนี้เรียกว่า คอลีฟะฮ์ (Khalifa) หรือ กาหลิบ แปลว่าผู้สืบทอด ซึ่งเป็นระบบที่ใช้กันอยู่ช่วงสั้น ๆ ระหว่าง ค.ศ. 632-661 เรียกรัฐอิสลามในยุคนี้ว่า รัฐคอลีฟะฮ์ราชิดูน (Rashidun Caliphate) หรือรัฐแห่งคอลีฟะฮ์ผู้ชอบธรรม โดยมี อะบูบักร์ (Abu Bakr) เป็นคอลีฟะฮ์องค์แรก

แนวทางของรัฐคอลีฟะฮ์ราชิดูนคือการขยายอาณาจักรพร้อมการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม นโยบายขยายอำนาจของเหล่าคอลีฟะฮ์นี่เองที่เปลี่ยนรัฐอิสลามอาหรับให้กลายเป็นจักรวรรดิมุสลิมอันยิ่งใหญ่ แผ่ขยายอาณาเขตไปทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง ตั้งแต่ที่ราบสูงอิหร่าน ทุ่งหญ้าในเอเชียกลาง ไปถึงตอนเหนือของทวีปแอฟริกา

ก่อนยุคศาสดามูฮัมหมัด มหาอำนาจเก่าที่มีอิทธิพลในภูมิภาคอย่างจักรวรรดิไบเซนไทน์และจักรวรรดิแซสซาเนียนพยายามแทรกแซงไม่ให้ชาวอาหรับรวมตัวกันได้ด้วยเหตุผลเรื่องการควบคุมให้อยู่ใต้อำนาจ แต่เมื่อเกิดรัฐอิสลามขึ้น ความสนใจขององค์คอลีฟะฮ์จึงพุ่งเป้าไปที่ความมั่งคั่งและอุดมสมบูรณ์ของดินแดนทางตอนเหนือ ทั้งพื้นที่จักรวรรดิเปอร์เซียและบริเวณเลอวองค์ (Levant) ตั้งแต่แหลมไซนาย เลบานอน และซีเรีย ที่อยู่ในอาณาเขตของจักรวรรดิไบเซนไทน์

การรุกรานจักรวรรดิแซสซาเนียนโดยรัฐอิสลามครั้งแรกเกิดขึ้น ค.ศ. 633 นำโดยแม่ทัพอาหรับนาม คาลิด อิบ อัลวะลีด (Khalid ibn al-Walid) กองทัพรัฐอิสลามสามารถยึดครองบริเวณเมโสโปเตเมียตอนล่างได้อย่างรวดเร็วภายในปีนั้น มีชัยชนะเหนือกองกำลังผสมระหว่างทหารเปอร์เซีย ไบเซนไทน์ และอาหรับคริสเตียนที่เมืองฟิราซ ก่อนเคลื่อนไปทางตะวันตกเฉียงเหนือบริเวณซีเรียทันที เพื่อเปิดศึกกับจักรวรรดิไบเซนไทน์ คอลีฟะฮ์อะบูบักร์สิ้นชีพระหว่างสงครามปิดล้อมดามัสกัสในซีเรีย อุมัร (Umar) ขึ้นเป็นคอลีฟะฮ์องค์ที่ 2 รัฐอิสลามสามารถยึดครองบางส่วนของอนาโตเลีย (ตุรกี) บริเวณซีเรีย เลบานอน รวมถึงกรุงเยรูซาเลมได้อย่างยิ่งใหญ่ ก่อนเริ่มการรุกรานเปอร์เซียครั้งที่ 2

รัฐอิสลาม รัฐคอลีฟะฮ์ราชิดูน จักรวรรดิแซสซาเนียน
ภาพประกอบ – แผนที่แสดงรัฐคอลีฟะฮ์ราชิดูน (เขียว) จักรวรรดิแซสซาเนียน (ชมพูเข้ม) และ จักรวรรดิไบเซนไทน์ (ชมพูอ่อน) ก่อนการรุกรานครั้งแรก (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ระหว่างการรุกรานเปอร์เซียครั้งที่ 2 ค.ศ. 636 เกิดพันธมิตรระหว่างคู่สงครามเก่า คือ จักรวรรดิแซสซาเนียนกับไบเซนไทน์เพื่อต้านทานการรุกรานของรัฐคอลิฟะฮ์ แต่จากชัยชนะในยุทธการอัลคาดิซิยะฮ์ (Battle of Qadisiyyah) ทำให้รัฐอิสลามประสบความสำเร็จในการรุกรานอีกครั้ง และสามารถควบคุมดินแดนเมโสโปเตเมีย (อิรัก) อันอุดมสมบูรณ์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้จักรวรรดิแซสซาเนียนอ่อนแอลงอย่างยิ่ง เทือกเขาซาโกส (Zagros Mountains) กลายเป็นเส้นแบ่งเขตแดนใหม่ของรัฐคอลีฟะฮ์ราชิดูลและจักรวรรดิแซสซาเนียนนับแต่นั้น

จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิแซสซาเนียนพยายามทวงคืนดินแดน โดยการบุกโจมตีบริเวณเมโสโปเตเมียอย่างต่อเนื่อง คอลีฟะฮ์อุมัรจึงสั่งให้โจมตีจักรวรรดิแซสซาเนียนอย่างเต็มรูปแบบใน ค.ศ. 642 และประสบชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ในยุทธการเมืองนาฮาเวนด์ (Battle of Nahavand) ทำให้จักรพรรดิแห่งแซสซาเนียนต้องลี้ภัยไปทางตะวันออก ขณะที่กองทัพรัฐอิสลามค่อย ๆ กวาดกลืนยึดเอาเมืองน้อยใหญ่ของเปอร์เซียจากทางฝั่งตะวันตก กระทั่ง ชาห์ Yazdgerd III จักรพรรดิแห่งราชวงศ์แซสซานิด ถูกลอบสังหารโดยเสนาบดีท้องถิ่นชาวเปอร์เซียที่เมืองโคราซาน

ภาพประกอบ – ปราสาท Nahavend ปราการสำคัญระหว่างการพิชิตจักรวรรดิแซสซาเนียน วาดโดย Eugène Flandin (Wikimedia Commons)

แม้การยึดครองจะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว แต่รัฐอิสลามต้องใช้เวลากว่าทศวรรษเพื่อให้ชาวเปอร์เซียหันมาเข้ารีตเป็นอิสลาม โดยเฉพาะดินแดนบริเวณอัฟกานิสถาน ภูมิภาคที่มักต่อต้านอำนาจจากส่วนกลางตั้งแต่สมัยจักรวรรดิแซสซาเนียนเรืองอำนาจ กองทัพอาหรับต้องเผชิญกับการต่อต้านรูปแบบกองโจรอย่างดุเดือดจากนักรบของเผ่าที่นับถือพุทธศาสนาในดินแดนนี้

กระทั่งรัฐอิสลามสามารถครอบครองอาณาเขตเปอร์เซียได้อย่างสมบูรณ์ใน ค.ศ. 651 ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของคอลีฟะฮ์อุมัร แม้มีการต่อต้านขัดขืนและก่อกบฏจากบรรดาหัวเมืองเปอร์เซียอยู่หลายครั้ง แต่กำลังเสริมจากส่วนกลางของรัฐคอลีฟะฮ์ราชิดูนก็สามารถปราบปรามกบฏเปอร์เซียได้อย่างราบคาบพร้อมบังคับใช้กฎหมายอิสลามในพื้นที่ด้วย

นักประวัติศาสตร์มองว่าจักรวรรดิแซสซาเนียนนั้นอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมหลังทำสงครามกับจักรวรรดิไบเซนไทน์มาอย่างยาวนาน การรุกรานจากรัฐอิสลามจึงประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนมานับถืออิสลามของชาวเปอร์เซียที่ดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำศาสนาโซโรอัสเตอร์ (Zoroastrianism) อันเก่าแก่ในเปอร์เซียเสื่อมความนิยมลง จนเหลืออยู่เพียงตามชุมชนห่างไกลเท่านั้น

สำหรับชาวเปอร์เซียแล้ว รัฐอิสลาม อาจเอาชนะพวกเขาได้ในทางการเมืองและศาสนา แต่ชาวเปอร์เซียหนักแน่นอย่างมากในการรักษาภาษาและวัฒนธรรมของพวกเขาไว้อย่างเหนียวแน่น แม้ว่าศาสนาอิสลามจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไปแล้ว

การยึดครองเปอร์เซียของรัฐคอลิฟะห์ราชิดูน แม้จะสามารถเปลี่ยนเปอร์เซียให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกอิสลามได้ แต่อิทธิพลทางวัฒนธรรมของเปอร์เซียมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมอิสลามเสียจนแทบแยกไม่ออก ดังจะเห็นได้จากศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมหลาย ๆ อย่างของอิสลามล้วนมีกลิ่นอายของอารยธรรมเปอร์เซียแทรกซึมอยู่ ทั้งการแผ่ขยายของจักรวรรดิอิสลามหลังจากนั้นยังได้นำความเป็นเปอร์เซียให้แพร่กระจายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกอิสลามด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

Bashear, Suliman (1997). Arabs and Others in Early Islam. Darwin Press. ISBN (ออนไลน์)

Daniel, Elton (2001). The History of Iran. Greenwood Press. ISBN (ออนไลน์)

Morony, M. (1987). “Arab Conquest of Iran”. Encyclopaedia Iranica. (ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กันยายน 2565