“ยุทธการกรุงเวียนนา” หน่วยฮุสซาร์ผงาด แรงบันดาลใจศึกใหญ่ “Lord of the Rings”

กษัตริย์จอห์นที่ 3 โซเบียสกี พร้อมหน่วย วิหคฮุสซาร์ ใน ยุทธการกรุงเวียนนา กรุงเวียนนา
กษัตริย์จอห์นที่ 3 โซเบียสกี ส่งจดหมายชัยชนะในสงครามปลดปล่อยกรุงเวียนนาถึงพระสันตะปาปา, ผลงานของ Jan Matejko (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 เกิด “ยุทธการกรุงเวียนนา” หรือสงครามปิดล้อมกรุงเวียนนา โดยกองทัพ “เติร์ก” ที่เกือบประสบความสำเร็จอยู่รอมร่อ หากนครแห่งนี้พ่ายแพ้และกลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกอิสลาม โฉมหน้าของทวีปยุโรปอาจต่างไปจากทุกวันนี้ แต่กรุงเวียนนารอดพ้นจากศึกปิดล้อมอันยาวนานได้ เพราะความช่วยเหลือจากชาติพันธมิตรยุโรป โดยเฉพาะหน่วยทหารม้าอันโด่งดัง “วิหคฮุสซาร์” ที่ตีกระหนาบทัพเติร์กจนแตกพ่าย เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นแรงบันดาลใจในวรรณกรรมอมตะเรื่อง The Lord of the Rings ด้วย

จักรวรรดิออตโตมัน ที่สถาปนาโดยชาว “เติร์ก” (Turk) ถูกยอมรับว่าเป็นมหาอำนาจยุโรปในยุคสมัยของ สุลต่านสุไลมานผู้เกรียงไกร (Suleiman the Magnificent, ครองราชย์ ค.ศ. 1520-1566) มี ราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg) แห่งออสเตรีย เป็นคู่ขัดแย้งหลัก พวกเติร์กสามารถพิชิตพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงรัฐที่เคยอยู่ใต้อำนาจของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก โดยการรุกรานครั้งสำคัญเกิดขึ้นในสมัยสุลต่านสุไลมานนี่เอง

หลังจากจักรวรรดิออตโตมันในยุคสุลต่านสุไลมานสามารถครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของฮังการี มีชายแดนประชิดติดราชอาณาจักรออสเตรียของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ซึ่งประมุขดำรงตำแหน่งจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ด้วย สุลต่านสุไลมานนำทัพรุกยุโรปอย่างต่อเนื่องด้วยการบุกกรุงเวียนนาครั้งแรกในปี 1529 แต่พระองค์ล้มเหลวในการพิชิตนครแห่งนี้ เมื่อฤดูหนาวมาเยือน ออตโตมันก็ล้มเลิกการโจมตีแล้วถอนทัพกลับ

การพิชิตกรุงเวียนนาไม่เคยหายไปจากความคิดของผู้นำออตโตมัน เพราะศูนย์กลางอำนาจของราชวงศ์ฮับส์บูร์กเป็นดั่งอัญมณีของยุโรป เป็นนครหลวงของราชอาณาจักรออสเตรีย เป็นราชสำนักของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงยุทธศาสตร์สำคัญหรือปากประตูสู่ตอนกลางของทวีป การประสบความสำเร็จในสิ่งที่สุลต่านสุไลมานผู้เกรียงไกรเคยล้มเหลว จึงดึงดูดให้พวกเติร์กเคลื่อนไหวอีกครั้งในต้นทศวรรษ 1680 ในยุคของ สุลต่านเมห์เมดที่ 4 (Mehmed IV)

สงครามนี้ส่วนหนึ่งมาจากการร้องขอโดย อิมเร โทโคลี (Imre Thököly) ผู้นำฮังกาเรียนที่นับถือศาสนาคริสต์ แต่เป็นนิกายคาลแวง (Calvinism) เขาติดต่อแกรนด์วิเซียร์ (Grand Vizier, เทียบได้กับตำแหน่งอัครเสนาบดี) แห่งจักรวรรดิออตโตมัน คือ คารา มุสตาฟา ปาชา (Kara Mustafa Pasha) ให้โจมตีกรุงเวียนนา เพราะราชวงศ์ฮับส์บูร์กยังไม่ฟื้นตัวจากสงคราม 30 ปี (Thirty Years’ War) จึงเป็นโอกาสเหมาะที่จะพิชิตนครแห่งนี้

เมื่อฝ่ายราชวงศ์ฮับส์บูร์กทราบข่าว จักรพรรดิเลโอโปลด์ที่ 1 (Leopold I, ครองราชย์ ค.ศ. 1658-1705) แห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ตัดสินใจเสด็จลี้ภัยออกจากกรุงเวียนนา ย้ายราชสำนักก่อนการมาถึงของกองทัพออตโตมัน เพื่อไปรวบรวมพันธมิตรรัฐคริสเตียนทั้งหลายในนาม สันนิบาตศักดิ์สิทธิ์ (Holy League) มาช่วยต่อต้านการรุกรานหนนี้

การปิดล้อมกรุงเวียนนาครั้งที่ 2 เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1683 กองทัพออตโตมันนำโดยแกรนด์วิเซียร์ คารา มุสตาฟา ปาชา มีกำลังพลทั้งสิ้น 150,000 นาย และ 1 ใน 10 ของกองทัพนี้คือ หน่วยจานิสซารี (Janissary) นักรบระดับสูงของจักรวรรดิออตโตมัน ทหารราบที่มีระเบียบวินัยและแข็งแกร่งที่สุด

กองทัพออตโตมันเรียนรู้จากความล้มเหลวในการปิดล้อมครั้งแรก (ปี 1629) คารา มุสตาฟา ปาชา รู้ว่าการถอนทัพของสุลต่านสุไลมานในฤดูหนาวเป็นเพราะฝ่ายเติร์กมีเสบียงมาเลี้ยงไม่เพียงพอ เขาจึงสั่งให้สร้างถนนเชื่อมเส้นทางสู่กรุงเวียนนา เพื่อให้กองทัพสามารถปิดล้อมนครแห่งนี้ได้นานเท่าที่ต้องการ

แม้จะขาดประมุข และมีกองกำลังป้องกันเมืองเพียง 15,000 นาย แต่กรุงเวียนนามีระบบป้องกันเมืองที่แข็งแกร่งอย่างมาก ทั้งกำแพงแน่นหนา ป้อมปราการสูงใหญ่ เป็นทรงแฉกคล้ายดวงดาวรายล้อมรอบเมือง และบรรจุปืนใหญ่หลายกระบอก พวกเขามั่นใจว่าป้อมปืนและกำแพงเมืองจะยันทัพเติร์กอยู่ได้ระยะหนึ่ง เพื่อประวิงเวลารอทัพหนุนจากจักรพรรดิเลโอโปลด์ที่ 1

จากวันสู่สัปดาห์ ล่วงเลยเป็นเดือน กรุงเวียนนาไร้วี่แววความช่วยเหลือจากภายนอก ฝ่ายออตโตมันขุดสนามเพลาะล้อมเมืองเพื่อป้องกันการโจมตีจากป้อมปืน ในขณะที่เมืองตกอยู่ในวงล้อม เสบียงที่เก็บตุนไว้ค่อย ๆ หมดลง ส่วนฝ่ายออตโตมันมีทรัพยากรลำเลียงมาสนับสนุนเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม คารา มุสตาฟา ปาชา ทราบว่าไม่ช้ากองทัพคริสเตียนจะแห่มาที่นี่ จึงต้องการเผด็จศึกให้เร็วที่สุด เขาบัญชาให้ทหารเติร์กขุดอุโมงค์มุดใต้กำแพง เพื่อฝังระเบิดไว้ใต้กำแพงและจุดระเบิดเสีย เพื่อเปิดทางให้ทหารราบบุกเข้าไปในเมือง

ในขณะเดียวกัน จักรพรรดิลีโอโปลด์ที่ 1 ทรงส่งจดหมายขอความช่วยเหลือไปยัง สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 11 (Pope Innocent XI) แห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก ณ กรุงโรม โดยร้องขอให้พระสันตะปาปาเป็นสื่อกลางเรียกร้องให้รัฐคริสเตียนทั่วยุโรปมาช่วยรบในสงครามปลดปล่อยกรุงเวียนนา พระสันตะปาปาตอบรับคำร้องขอดังกล่าวทันที โดยขอให้เครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย รัฐพันธมิตรทั้งหลายในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ รัฐในเยอรมันและอิตาลี เข้าร่วมสันนิบาตศักดิ์สิทธิ์

หลังคำประกาศจากวาติกันถูกส่งออกไป สถานการณ์ของทั้งสองฝ่ายคือการแข่งขันกับเวลาอย่างแท้จริง ฝ่ายเติร์กเองพยายามทำลายกำแพงกรุงเวียนนาก่อนจะถูกกองทัพคริสเตียนมาตีขนาบ ส่วนฝ่ายคริสเตียนก็เร่งระดมพลสันนิบาตศักดิ์สิทธิ์เพื่อรุดไปช่วยกรุงเวียนนา แต่ด้วยระยะห่างของรัฐและอาณาจักรต่าง ๆ การรวมตัวกันจึงต้องใช้เวลาเป็นแรมเดือน ขณะที่กรุงเวียนนาขยับเข้าใกล้ห้วงวิกฤตเข้าไปทุกที

11 กันยายน ปี 1683 กองทัพออตโตมันสามารถระเบิดกำแพงเมืองเป็นผลสำเร็จ กองกำลังรักษาเมืองพยายามทุ่มสุดตัวเพื่อยื้อเวลาให้นานที่สุด เป็นเวลาเดียวกับที่แนวหน้าของกองทัพสันนิบาตศักดิ์สิทธิ์ภายใต้การนำของจักรพรรดิลีโอโปลด์ที่ 1 ซึ่งประกอบด้วยกองทัพออสเตรียกับบรรดารัฐในเยอรมันและอิตาลีเดินทางมาถึง แต่ทัพนี้มีกำลังทหารราว 47,000 นายเท่านั้น แน่นอนว่าน้อยกว่าทหารเติร์กที่กำลังปิดล้อมกรุงเวียนนาอยู่

ส่วนกองทัพเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย ซึ่งมาถึงล่าช้ากว่าเป็นเพราะระยะทางและภูมิประเทศที่ค่อนข้างเป็นอุปสรรค คือผืนป่าที่กั้นระหว่างออสเตรียกับโปแลนด์ อีกทั้งเป็นกองทัพม้าหนักหุ้มเกราะ มีหน่วยทหารม้าที่เรียกว่า “วิหคฮุสซาร์” (Winged Hussar) เป็นทหารม้าติดปีก ซึ่งไม่เหมาะสำหรับเดินทางในภูมิประเทศที่เป็นป่าทึบด้วย

เมื่อมาถึงสมรภูมิก่อน จักรพรรดิลีโอโปลด์ที่ 1 มีทางเลือกไม่มากนัก เพราะภาพตรงหน้าคือทหารเติร์กที่กำลังไหลทะลักเข้าสู่แนวป้องกันสุดท้ายของกรุงเวียนนา ทำให้พระองค์ตัดสินใจว่าต้องรุดเข้าตีแนวหลังของทัพออตโตมันก่อนจะสายเกินไป ส่วนฝ่ายเติร์กได้แบ่งกำลังส่วนหนึ่งมาต้านทานฝ่ายสันนิบาตศักดิ์สิทธิ์ พร้อมกันนั้นก็แบ่งกำลังอีกส่วนทะลวงเข้าไปในเมืองต่อด้วยเช่นกัน

การต่อสู้ระหว่างกองทัพปลดปล่อยกรุงเวียนนากับฝ่ายออตโตมันเกิดขึ้นที่เนินเขาชื่อคาร์เลนเบิร์ก ห่างจากกรุงเวียนนาไม่กี่กิโลเมตร คารา มุสตาฟา ปาชา ให้ทหารราบทั่วไปเป็นแนวปะทะกองทัพสันนิบาตศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่หน่วยจานิสซารีบุกเข้าเมืองอย่างหนักต่อไป ปรากฏว่ากองทัพสันนิบาตศักดิ์สิทธิ์ได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์จากแนวปะทะบริเวณเนินเขา จึงโจมตีแนวหน้าของกองทัพออตโตมันจนเริ่มถอยร่น

เช้าตรู่วันที่ 12 กันยายน ปี 1683 ในที่สุดกองทัพเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย ที่นำโดย กษัตริย์จอห์นที่ 3 โซเบียสกี (John III Sobieski) ก็มาถึง พระองค์ไม่รอช้า นำหน่วยวิหคฮุสซาร์ควบตะบึงลงจากเนินเขาพุ่งเข้าใส่กองทัพออตโตมัน สบทบกับกองทัพของจักรพรรดิเลโอโปลด์ที่ 1 ทันที

การจู่โจมอันรุนแรงจากกองทัพม้าหนัก ทำให้พวกเติร์กถอยไปรวมกับค่ายหลักบริเวณแนวสนามเพลาะ ฝ่ายออตโตมันจึงเทกำลังทั้งหมดเข้าปะทะกับฝ่ายสันนิบาตศักดิ์สิทธิ์ และทัพม้าหนักของโปแลนด์-ลิทัวเนียให้เด็ดขาดกันไป กษัตริย์จอห์นที่ 3 โซเบียสกี ทรงบัญชาทัพม้าทั้ง 18,000 นายของพระองค์ (มีหน่วยวิหคฮุสซาร์ถึง 3,000 นาย) เป็นแนวหน้าบุกทะลวงกองทัพออตโตมันอีกคำรบ และประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ทหารเติร์กที่ส่วนใหญ่คือทหารราบไม่อาจต้านทานกองทัพม้าจำนวนมหาศาลนี้ได้เลย

สงครามครั้งนี้เป็นหนึ่งในการใช้ทหารม้าเข้าร่วมสมรภูมิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และกลายเป็นแรงบันดาลของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน (J. R. R. Tolkien) นักประพันธ์นวนิยายแฟนตาซี ใช้เล่าถึงศึกที่ดุเดือดและตราตรึงใจที่สุดศึกหนึ่งของวรรณกรรมเรื่อง เดอะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ (The Lord of the Rings) นั่นคือ “สมรภูมิทุ่งเพเลนนอร์” ตอนทหารม้าโรเฮียร์ริมแห่งโรฮันทะยานเข้าใส่กองทัพออร์คแห่งมอร์ดอร์ที่กำลังปิดล้อม “นครมิมินัสทิริธ” อยู่นั่นเอง

เป็นอันว่ากองทัพของสันนิบาติศักดิ์สิทธิ์ประสบความสำเร็จในการทำลายฝ่ายเติร์กอย่างราบคาบ เป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของกองทัพคริสเตียนเหนือมุสลิม และเป็นสมรภูมิที่สร้างชื่อเสียงให้กับหน่วยวิหคฮุสซาร์ของโปแลนด์อย่างมาก กษัตริย์จอห์นที่ 3 โซเบียสกี ถูกขนานนามในหมู่ชาวเติร์กว่า “ราชสีห์แห่งเลชิสทัน” (Lion of Lechistan) (“Lechistan” คือชื่อทางวัฒนธรรม ดินแดน ภาษา ต้นกำเนิดความเป็นโปแลนด์) และกษัตริย์โปแลนด์องค์ถัด ๆ มายังได้รับตำแหน่ง “ผู้พิทักษ์แห่งศรัทธา” (Defender of the Faith) จากสมเด็จพระสันตะปาปาด้วย

ความพ่ายแพ้ใน “ยุทธการกรุงเวียนนา” สะเทือนจักรวรรดิออตโตมันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้จักรวรรดิหยุดการขยายตัว ล้มเลิกการรุกรานยุโรป และเริ่มเสียดินแดนที่เคยพิชิตได้ อิทธิพลที่เคยข่มขวัญชาติคริสเตียนในยุโรปก็ค่อย ๆ แผ่วลงไปด้วย อำนาจของออตโตมันถูกผลักดันให้ถอนตัวออกจากการปกครองฮังการี การล่าถอยของพวกเติร์กจากทวีปยุโรปทำให้พวกเขาก้าวสู่ยุคตกต่ำในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 กระทั่งได้รับฉายาว่า “คนป่วยแห่งยุโรป” (The Sick Man of Europe) ในที่สุด

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สัญชัย สุวังบุตร; อนันต์ชัย เลาหะพันธุ, ศาตราจารย์เกียรติคุณ. (2562). ทรรปณะประวัติศาสตร์ยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 19. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : แสงดาว.

https://www.historytoday.com/archive/1683-siege-vienna

https://www.britannica.com/event/Siege-of-Vienna-1683

https://www.visitingvienna.com/culture/the-1683-siege-of-vienna/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กันยายน 2566