จักรวรรดิมองโกล หลังสิ้น “เจงกิสข่าน”

จักรวรรดิมองโกล สงคราม รัสเซีย
ทหารมองโกลปะทะกับกองทัพของเจ้าชายรัสเซีย (ภาพโดย Mila Lana ใน Quora)

เจงกิสข่าน (เตมูจิน) นักรบ จอมทัพ วีรบุรุษ และปฐมกษัตริย์ผู้รวมชาติมองโกล มีชื่อเสียงในฐานะนักการทหารที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการสถาปนา จักรวรรดิมองโกลอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของอนารยชนบนหลังม้า รวบรวมชนเผ่ามากมายบนทุ่งหญ้าสเตปป์แห่งมองโกเลียและตอนเหนือของจีนจนเป็นเอกภาพอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนใน ค.ศ. 1206

ฝีมือบัญชาการรบและทำสงครามของเจงกิสข่านนั้นลือเลื่องหาใครเปรียบยาก ยิ่งในยุคของท่าน อาณาจักรน้อย-ใหญ่ทั้งหลายที่เจงกิสข่านพิชิต ล้วนเป็นดินแดนที่มีอารยธรรมระดับสูงและทรัพยากรเหนือกว่าพวกมองโกลแทบทั้งสิ้น แต่ข่านพระองค์นี้สามารถยัดเยียดความปราชัยให้พวกเขาในท้ายที่สุด

21 ปีหลังสถาปนาอาณาจักรมองโกล ตามด้วยการพิชิตดินแดนข้างเคียง เผ่าอุยกูร์ ทังกุต หนี่ว์เจิน หรือกิมก๊ก (ราชวงศ์จิน) อาณาจักรคาราคิไต และจักรวรรดิควาเรซม์แห่งเปอร์เซีย ด้วยวัยราว ๆ 65-66 ปี เจงกิสข่านสิ้นพระชนม์ในฤดูร้อนของปี 1227 ระหว่างสงครามปราบกบฏเผ่าทังกุต โดยฝากความปรารถนาที่ยังไม่บรรลุไว้กับบรรดาทายาทของพระองค์ นั่นคือ การมีชัยชนะเหนือราชวงศ์ซ่งใต้ของจีน

ร่างของเจงกิสข่านถูกทำพิธีฝังอย่างลับ ๆ ในมองโกเลีย ปราศจากสุสาน จารึก หรือป้ายพระนาม ไม่มีสิ่งใดระบุตำแหน่งที่ตั้ง มีเพียงมรดกอันยิ่งใหญ่ที่ถูกส่งต่อให้ลูกหลาน นั่นคือ อาณาจักรและรัฐบริวารมากมายที่พิชิตได้

เจงกิสข่าน
เจงกิสข่าน ปฐมกษัตริย์แห่งจักรวรรดิมองโกล จากสมุดภาพรวมภาพจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หยวน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงไทเป

การจากไปของเจงกิสข่านไม่ใช่จุดจบของพวกมองโกล อันที่จริง ท่านข่านอาจไม่นึกฝันด้วยซ้ำว่าทายาทของพระองค์จะบุกไปครอบครองดินแดนต่าง ๆ อีกมากมาย จนทำให้มองโกลกลายเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยุคกลาง รวมถึงสร้างชื่อเสียงและความพรั่นพรึงไปทั่วทุกสารทิศตั้งแต่ตะวันออกจรดตะวันตก

เกิดอะไรขึ้นกับจักรวรรดินักรบบนหลังม้านี้ หลังสิ้นรัชสมัย “เจงกิสข่าน” ?

คาฆานโอโกได

ณ ห้วงเวลาที่เจงกิสข่านสิ้นพระชนม์ จักรวรรดิมองโกล ครอบครองพื้นที่ทั้งหมดของประเทศมองโกเลีย รอบ ๆ อาณาบริเวณของทะเลทรายโกบี ตอนเหนือ-ตอนกลางของจีน และภาคตะวันตกบริเวณกานซู่ จุดเชื่อมต่อเส้นทางการค้าที่เชื่อมจีนกับโลกตะวันตก หรือเส้นทางสายไหม ทอดยาวไปถึงภูมิภาคเอเชียกลางและบางส่วนของเปอร์เซีย (อิหร่าน) เขตปกครองเดิมของจักรวรรดิควาเรซม์

ยังไม่รวมบริเวณทะเลดำ แถบคอเคซัส และบางส่วนของรัสเซียที่กองทัพมองโกลพิชิตได้สืบเนื่องจากการไล่ล่าชาห์มูฮัมหมัด จักรพรรดิของจักรวรรดิควาเรซม์ ระหว่างที่เจงกิสข่านถอนกำลังกลับไปปราบกบฏทังกุต

แม้เจงกิสข่านจะวกกลับตะวันออก แต่กองทัพมองโกลไม่ได้ถอนกำลังทั้งหมดกลับไปด้วย ขุนศึกของเจงกิสข่านยังนำทหารจำนวนหนึ่งออกสำรวจ (ปล้น) ดินแดนตะวันตกต่อไป ขณะที่แผ่นดินแม่ในมองโกเลียเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่ประชุม “คูริลไต” สภาสูงของราชสำนักมองโกล เลือก โอโกได (Ogodei) บุตรชายคนที่สามของเจงกิสข่านขึ้นสืบทอดตำแหน่ง “จอมข่านผู้ยิ่งใหญ่” หรือ คาฆาน (Khagan) ต่อจากบิดา

มีงานเลี้ยงเอิกเกริกเฉลิมฉลองแด่ข่านพระองค์ใหม่ตลอดฤดูร้อนของปี 1229 ตระกูลบอริจิน (Borjigin) ของเจงกิสข่านถูกเปลี่ยนนามเสียใหม่ว่า ราชตระกูลทองคำ เพื่อบ่งบอกถึงอำนาจและความมั่งคั่ง

อันที่จริง โอโกไดถูกตั้งเป็นรัชทายาทโดยเจงกิสข่านก่อนสงครามกับจักรวรรดิควาเรซม์แล้ว ท่านข่านมีลูกชายที่เกิดจาก บอร์เต ภรรยาเอก ทั้งหมด 4 คน เรียงตามลำดับอายุ ได้แก่ โจชิ ชากาไต โอโกได และ โตลุย เชื่อว่าเดิมทีเจงกิสข่านปรารถนาให้โจชิสืบทอดตำแหน่งคาฆาน แต่ปัญหาเรื่องชาติกำเนิดของเขา (ลูกนอกสมรส) ทำให้เกิดความระหองระแหงระหว่างลูกชายคนโตกับคนรอง โอโกไดจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดของเจงกิสข่านในการสืบทอดราชสมบัติและเพื่อยุติรอยร้าวของพี่ ๆ

สำหรับการจัดสรรมรดกนั้น ลูกชายทุกคนของเจงกิสข่านจะได้รับดินแดนไปปกครองเอง หรือได้เป็น “ข่าน” ในดินแดนของตน โดยมีจอมข่านผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้นำสูงสุด มีอำนาจในฐานะศาลสูงของจักรวรรดิ และกำหนดนโยบายต่างประเทศโดยเฉพาะการสงคราม

โอโกไดข่านได้ชื่อว่าเป็นบุรุษผู้เยือกเย็นแต่เจ้าอารมณ์ไปพร้อมกัน เพราะเป็นนักดื่มตัวยง ชื่นชอบงานเลี้ยง และความสนุกสนาน ไม่นานหลังข่าวการสิ้นพระชนม์ของเจงกิสข่านเป็นที่รับรู้ทั่วจักรวรรดิ ดินแดนบางส่วนพยายามตีตนออกห่างและหยุดส่งบรรณาการให้ราชสำนัก โอโกไดข่านจึงส่งกองทัพกลับไปยังจีนกับเอเชียกลาง เพื่อยืนยันอำนาจเหนือดินแดนเหล่านั้น

โอโกไดข่านยังสร้างเมืองหลวงถาวรซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างจริง ๆ ไม่ใช่กระโจม หรือ “เกอร์” ของชาวมองโกล สำหรับชนเผ่าเลี้ยงสัตว์แห่งทุ่งหญ้าสเตปป์นั้น กระโจมเป็นทั้งบ้าน ท้องพระโรง และ “กองบัญชาการเคลื่อนที่” ตามตำราพิชัยยุทธ์ของเจงกิสข่าน พระองค์เชื่อว่าการปกครองจากหลังม้าหรือศูนย์กลางอำนาจเคลื่อนที่ได้คือปัจจัยสำคัญเบื้องหลังความสำเร็จของกองทัพมองโกล

แต่โอโกไดข่านเชื่อต่างจากบิดา นั่นคือ อาณาจักรทั้งหลายที่ถูกพิชิตด้วยกองทัพม้าไม่อาจปกครองได้จากหลังม้าหรือกระโจม เป็นที่มาของนครหลวงแห่งแรกนาม คาราโครัม (Karakorum) ศูนย์กลางอำนาจของจักรวรรดิมองโกลภายในผู้ปกครองรุ่นที่ 2 โดย “คาราโครัม” เป็นคำกลุ่มภาษาเติร์ก-มองโกล หมายถึง “นครแห่งศิลาดำ” เพราะที่ตั้งของเมืองอยู่บนเนินเขาริมแม่น้ำโอนอน ซึ่งมีหินสีดำกระจัดกระจายอยู่ทั่วริมฝั่งแม่น้ำ จุดนี้อยู่ห่างออกไปทางตะวันตกจากบ้านเกิดเจงกิสข่าน ทั้งเคยเป็นฐานส่งกำลังและเสบียงเลี้ยงกองทัพสำหรับทำสงครามกับแดนตะวันตกในยุคของเจงกิสข่านด้วย

โอโกได บุตร ชาย ของ เจงกิสข่าน
โอโกไดข่าน

ถล่มตะวันตก-รุกราชวงศ์ซ่ง สงครามโลกของ จักรวรรดิมองโกล

หลังพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จสิ้นในปี 1230 ทหารมองโกลกลุ่มแรกจำนวน 3 หมื่นนายถูกส่งออกไปเสริมความแข็งแกร่งในการควบคุมและกวาดล้างดินแดนต่าง ๆ ทางตะวันตก เป้าหมายคือ การถอนรากถอนโคนเชื้อสายชาห์แห่งจักรวรรดิควาเรซม์ และทำให้หัวเมืองทั้งหลายอยู่ใต้อาณัติของมองโกลโดยสมบูรณ์

โอโกไดข่านยังแสดงความเกรียงไกรของจักรวรรดิมองโกล ด้วยการเปิดศึกสองด้านในปี 1234 โดยส่งกองทัพอีกหน่วยลงไปกวาดล้างอำนาจของราชวงศ์จินที่ยังหลงเหลือในภาคกลางของจีน และประสบความสำเร็จด้วยความร่วมมือจากราชวงศ์ซ่งใต้ ในฐานะพันธมิตรแบบ “ศัตรูของศัตรูคือมิตร”

อย่างไรก็ตาม โอโกไดข่านไม่ได้ไปกับกองทัพ พระองค์เลือกเสวยสุขอยู่ที่คาราโครัม สำเริงสำราญไปกับบรรณาการมากมายจากทั่วจักรวรรดิที่หลั่งไหลมายังราชสำนัก แม้จะติดตามบิดาในสมรภูมิต่าง ๆ มาทั้งชีวิต แต่การนำทัพทำศึกไม่ใช่สิ่งที่ข่านพระองค์นี้ปรารถนา สงครามในดินแดนต่าง ๆ ที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจึงนำทัพโดยเหล่าเจ้าชายในราชตระกูลทองคำและนายพลมากประสบการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่คือขุนศึกที่รับใช้เจงกิสข่านมาก่อน เช่น ซูโบไต เจเบ

การรุกรานของกองทัพมองโกลยุคผู้ปกครองรุ่นที่ 2 จึงเกิดขึ้นภายใต้บัญชาของคาฆานโอโกไดที่นครหลวงคาราโครัม ซึ่งทรงประสิทธิภาพไม่แพ้สมัยเจงกิสข่าน ด้วยการแจ้งข่าวผ่านระบบม้านำสาส์น (ไปรษณีย์) อันล้ำยุคที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วจักรวรรดิ

ทหารม้ามองโกล (ภาพจาก Wikimedia Commons)

อย่างไรก็ตาม ความนิยมงานเลี้ยงและการใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายเป็นเหตุให้โอโกไดข่านผลาญทรัพย์สินของบิดาไปเกือบหมดท้องพระคลัง ในปี 1235 พระองค์เรียกประชุมสภาคูริลไตเพื่อหารือและกำหนดทิศทางว่าจักรวรรดิมองโกลจะดำเนินนโยบายด้านการสงครามและการพิชิตดินแดนต่อไปอย่างไร

ซูโบไตเสนอให้กองทัพมองโกลมุ่งตะวันตกสู่ยุโรป ดินแดนที่ทศวรรษก่อนตัวเขาและเจเบมีโอกาสประมือกับกองทัพของพื้นที่ตรงนั้นมาแล้ว ซึ่งประกอบด้วยรัฐแถบคอเคซัสและนครรัฐในรัสเซีย (ช่วงเวลานั้นรัสเซียปกครองแบบนครรัฐอิสระของเหล่าเจ้าชาย) ชัยชนะเหนือราชอาณาจักรจอร์เจียและพวกคิพชัก ชนเผ่าเร่ร่อนที่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับชาวมองโกล ทำให้มองโกลมีรัฐบริวารและพันธมิตรจากการสำรวจครั้งนั้น ส่วนกองทัพของเหล่าเจ้าชายรัสเซียถูกซูโบไตและเจเบทำลายแบบพ่ายแพ้ย่อยยับ ก่อนที่ทั้งคู่ถอนกำลังกลับมองโกเลีย

แต่ดูเหมือนแผนรุกรานยุโรปไม่เป็นที่สนใจของโอโกไดข่านนัก เหตุเพราะดินแดนฟากตะวันตกของจักรวรรดิอยู่ในการดูแลของตระกูลโจชิและชากาไต โดยเฉพาะแถบแม่น้ำโวลกา มี บาตูข่าน บุตรชายของโจชิ ปกครองในฐานะหัวหน้าสายตระกูลหลังบิดาเสียชีวิต การพิชิตยุโรปย่อมหมายถึงการเพิ่มพูนอำนาจให้ทายาทพี่ชายคนโตของพระองค์ ซึ่งบัดนี้กลายเป็นหลานชายอาวุโสลำดับที่สอง และมีความสามารถมากที่สุดคนหนึ่งของเจงกิสข่าน บาตูข่านยังถือเป็นผู้ท้าชิงลำดับต้น ๆ ในตำแหน่งคาฆาน หากโอโกไดสิ้นพระชนม์ด้วย

ด้วยเหตุนี้ การรุกรานราชวงศ์ซ่งใต้คือความปรารถนาสูงสุดของโอโกไดข่าน เพราะไม่เพียงเติมเต็มสิ่งที่เจงกิสข่านฝากฝังไว้ แต่ยังเป็นผลดีต่อแคว้นคาฆานของพระองค์โดยตรง ในฐานะอาณาจักรที่มีพรมแดนประชิดติดกัน ประจวบกับการเสียชีวิตของโตลุยก่อนการประชุมคูริลไตไม่กี่ปี ทำให้โอโกไดข่านถือโอกาสครอบครองดินแดนและทรัพย์สินของน้องชายคนเล็กทันที เนื่องจากลูก ๆ ของโตลุยยังเยาว์วัยเกินกว่าจะขัดข้องการตัดสินใจของลุง

ทั้งนี้ คำแนะนำของซูโบไตยังถูกให้ความสำคัญในฐานะขุนศึกคู่บุญของเจงกิสข่าน ที่ประชุมจึงบรรลุข้อตกลงอันน่าทึ่ง นั่นคือ การการยกทัพออกไปทุกทิศทาง โจมตีทั้งราชวงศ์ซ่งใต้และยุโรปไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งแตกต่างจากการเปิดศึก 2 แนวรบแรกหลังโอโกไดข่านครองราชย์ เพราะครั้งนั้นคือสงครามเก็บกวาดอิทธิพลเก่าของศัตรูและกำจัดผู้แข็งข้อ แต่ครั้งนี้พวกเขากำลังจะกระโจนสู่ทุกทิศทางเพื่อพิชิตดินแดนใหม่

จักรวรรดิมองโกลได้เปิดแนวรบที่ขยายออกไปกว่าห้าพันไมล์จากตะวันออกสู่ตะวันตก ไม่มีแนวรบใดในโลกเทียบเคียงได้กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 คือสหรัฐอเมริกากับฝ่ายสัมพันธมิตร ตอนพวกเขาเปิดศึกในยุโรปและเอเชียพร้อมกัน

กองทัพที่มุ่งตะวันตกอยู่ภายใต้บัญชาการของบาตูข่าน มีซูโบไตเป็นที่ปรึกษา ติดตามมาด้วยเหล่าเจ้าชายรุ่นหลานของเจงกิสข่านจากทั้ง 4 สายตระกูล ดาหน้าสู่ยุโรปด้วยกองทัพม้ามองโกล 5 หมื่นนาย และกำลังหนุนจากพันธมิตรร่วมแสนนาย อีกกองทัพที่มุ่งลงใต้แบ่งเป็น 3 กองทัพใหญ่ที่มีนักรบนับแสนเช่นกัน อยู่ใต้การบัญชาโดยลูก ๆ ของโอโกไดข่าน โหมกำลังบุกประชิดราชวงศ์ซ่งใต้จากทุกทิศทาง

ปี 1236 คือปีที่สงครามสุดขอบโลกของชาวมองโกลเริ่มต้น

กองทัพฝั่งตะวันตกทะยานสู่ดินแดนแถบแม่น้ำโวลกา กวาดกลืนนครรัฐต่าง ๆ ในรัสเซีย ทำลายกรุงเคียฟ ศูนย์กลางอำนาจแห่งโลกของชาวสลาฟ พิชิตแคว้นและอาณาจักรในยุโรปตะวันออก ตั้งแต่โปแลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย และฮังการี สร้างความหวาดหวั่นพรั่นพรึงไปทั่วทวีปยุโรป ฝั่งแนวรบตะวันออก แม้กองทัพมองโกลจะประสบความสำเร็จในการยึดพื้นที่ต่าง ๆ และทำให้อาณาเขตของราชวงศ์ซ่งใต้หดเล็กลงเรื่อย ๆ แต่พวกเขาไม่สามารถเผด็จศึกได้เสียที โอโกไดข่านยังสูญเสียลูกชายคนโปรดไปในสงครามครั้งนี้ด้วย

ขณะที่สงคราม 5 ปีในสมรภูมิยุโรปกลายเป็นลานประลองความเก่งกาจของหลาน ๆ เจงกิสข่านจากทั้ง 4 สายตระกูล ซูโบไตกับเจ้าชายมองโกลบุกตะลุยไปถึงตอนกลางของทวีปยุโรป และเกือบทำให้ที่ราบฮังการีกลายเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ของชาวมองโกลแล้ว หากแต่ข่าวการสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันของคาฆานโอโกไดเมื่อปลายปี 1241 ทำให้สงครามในยุโรปและจีนต้องหยุดชะงักไปทันที

เวลาไล่เลี่ยกัน ชากาไตข่าน บุตรชายคนที่สองของเจงกิสข่านก็เสียชีวิตระหว่างกรำศึกในเอเชียกลางและเปอร์เซีย เป็นเวลาเพียง 14 ปี หลังยุคสมัยของเจงกิสข่าน บุตรชายทั้ง 4 คนได้ติดตามพระองค์ไป บัดนี้ บรรดาเจ้าชายซึ่งเป็นหลานของท่านข่านละทิ้งสมรภูมิรบที่พวกเขาฝากชื่อเสียงและความหวาดกลัวไว้ข้างหลัง ต่างเร่งเดินทางกลับไปยังนครคาราโครัมเพื่อแสดงตนในที่ประชุมสภาคูริลไต ยืนยันสิทธิ์โดยชอบในมรดกของตระกูล และเตรียมต่อสู้แย่งชิงการเป็นคาฆานแห่งจักรวรรดิมองโกลกับลูกพี่ลูกน้องของพวกเขาเอง

การต่อสู้ภายในราชตระกูลทองคำเรียกได้ว่าเข้มข้นและดุเดือดจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งกินระยะเวลาต่อเนื่องกันนานเป็นสิบ ๆ ปี แต่อย่างน้อย ทศวรรษดังกล่าวคือช่วงเวลาที่ส่วนอื่น ๆ ของโลกปลอดภัยจากการรุกรานของมองโกล…

แผนที่ จักรวรรดิมองโกล มองโกล
แผนที่จักรวรรดิมองโกล และเส้นทางกองทัพสายต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยเจงกิสข่านถึงลูกหลานของพระองค์ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

หลังศึกชิงตำแหน่งคาฆานสิ้นสุดลงด้วยการเถลิงบัลลังก์ของ “มองเคข่าน” หลานชายคนโตจากสายตระกูลโตลุย กองทัพมองโกลกลับมายังตะวันตกอีกครั้ง แต่ไม่ใช่ยุโรป หากเป็นอาณาจักรมุสลิมอันมั่งคั่งในตะวันออกกลาง พวกเขาพุ่งเป้าหมายไปที่ศูนย์กลางของโลกอิสลาม ณ กรุงแบกแดดและดามัสกัส โลกอิสลามเกือบล่มสลายเพราะการรุกรานครั้งนี้

มองเคข่านยังสานต่อการทำสงครามกับราชวงศ์ซ่งใต้ ก่อนจะประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ในสมัยน้องชายของพระองค์ “กุบไลข่าน” ผู้สถาปนาราชวงศ์หยวนปกครองจีน

จักรวรรดิมองโกล ในยุคที่กุบไลข่านเป็นคาฆานคือ “ยุคทอง” ของพวกมองโกล แม้จักรวรรดิจะถูกแบ่งเขตปกครองเป็น 3 แคว้นใหญ่ ๆ โดยกุบไลข่านหรือ จักรพรรดิหยวนซื่อจู่ ปกครองแคว้นคาฆาน คือมองโกเลียและจีนทั้งหมดในนามราชวงศ์หยวน บาตูข่านปกครองอาณาจักรทางตะวันตกบริเวณรัสเซียในนามแคว้นกระโจมทองคำ (Golden Horde) ฮูเลกูข่าน พี่ชายคนรองของกุบไลข่าน ปกครองแคว้นอิลข่าน (Ilkhanate) แห่งเปอร์เซีย

ส่วนแคว้นโมกุลิสถานในเอเชียกลางของสายตระกูลของชากาไต ลูกหลานของเขาค่อย ๆ เสื่อมอำนาจลง ถูกแทนที่ด้วยขุนศึกท้องถิ่น พวกเลือดผสมมองโกล-เติร์ก และบางพื้นที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นอิลข่าน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

แจ๊ก เวเธอฟอร์ด; แปลโดย เรือชัย รักศรีอักษร. (2553). เจงกิสข่าน มหาบุรุษผู้เปลี่ยนโลก. กรุงเทพฯ : มติชน.

ภาสพันธ์ ปานสีดา. (2565). มหาจักรวรรดิมองโกล : Great Mongol Empire. กรุงเทพฯ : ยิปซี.

Britannica. Mongol empire. Retrieved July 11, 2023. From https://www.britannica.com/place/Mongol-empire

Charles R. Bawden, Britannica. Genghis Khan. May 17, 2023. From https://www.britannica.com/biography/Genghis-Khan

Jean Johnson, Asia Society. The Mongol DynastyRetrieved July 11, 2023. From https://asiasociety.org/education/mongol-dynasty

World History Encyclopedia. Mongol Empire. Nov 10, 2019. From https://www.worldhistory.org/Mongol_Empire/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กรกฎาคม 2566