ทายาท “เจงกิสข่าน” บุกตะลุยพิชิตกว่าครึ่งโลก ตั้งแต่เกาหลีจรดรัสเซีย

ภาพวาดกองทัพมองโกล

จักรวรรดิมองโกลขึ้นชื่อว่าเป็นจักรวรรดิที่แผ่อำนาจปกครองดินแดนไปกว่าค่อนโลก ด้วยพลังอำนาจของกองทัพม้าอันเกรียงไกร จนเป็นที่ประหวั่นพรั่นพรึงของอาณาจักรน้อยใหญ่ แผ่อำนาจตั้งแต่ทะเลเหลืองริมฝั่งจีน ไปจรดแม่น้ำดานูบในยุโรป

จักรวรรดิมองโกลก่อร่างขึ้นในสมัย “เจงกิสข่าน” ผู้รวบรวมชนเผ่ามองโกลเผ่าต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน แต่ความยิ่งใหญ่แผ่ไพศาลของจักรวรรดิมากขึ้นภายหลังจากเจงกิสข่านเสียชีวิตในปี 1227

Advertisement

เจงกิสข่านมีบุตรหลายคน แต่บุตรที่เกิดจากภรรยาเอกจะเป็นทายาทสืบทอดอำนาจและความยิ่งใหญ่ต่อจากบิดา ได้แก่ โจชิ, ชากาไต, โอโกได และทัวลุย แต่ผู้รับตำแหน่ง “คากาน” หรือ “ข่านผู้ยิ่งใหญ่” ต่อจากเจงกิสข่าน คือ “โอโกได” บุตรชายคนที่ 3 ในปี 1229 อย่างไรก็ตาม ทายาทของเจงกิสข่านแต่ละคนต่างก็ได้รับมรดกเป็นดินแดน ทรัพย์สิน ข้าทาส ฯลฯ และอำนาจในการปกครองพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งทายาทแต่ละสายยังคงมีอำนาจในจักรวรรดิเรื่อยมา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจกันภายหลัง

เจงกิสข่าน ปฐมกษัตริย์แห่งจักรวรรดิมองโกล จากสมุดภาพรวมภาพจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หยวน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงไทเป

ปี 1230 จักรวรรดิมองโกลเริ่มโจมตีเอเชียกลางอีกครั้ง หลังจากที่เคยถูกเจงกิสข่านถล่มราบคาบมาแล้ว แต่ครั้งนี้ได้ขยายไปพิชิตดินแดนที่ไกลออกไป ทั้งอาเซอร์ไบจาน จอร์เจีย อาร์เมเนีย และตุรกี ประมุขน้อยใหญ่ของหลายอาณาจักรต้องยอมสภามิภักดิ์ และกลายเป็นประเทศราชของจักรวรรดิมองโกล การบุกโจมตีดินแดนฟากตะวันตกนี้อยู่ภายใต้การนำของ “บาตู” บุตรชายของ “โจชิ” ซึ่งได้ครอบครองดินแดนทางด้านนี้มาจากเจงกิสข่านผู้เป็นบิดา

อีกฟากหนึ่ง โอโกไดนำกองทัพบุกโจมตีแคว้นจินของราชวงศ์จิน ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของจีน และยึดครองนครไคเฟิงได้ในปี 1233 และมีเป้าหมายสำคัญ คือ “จักรวรรดิซ่งใต้” นี่ทำให้เห็นการแผ่ขยายอำนาจของจักรวรรดิมองโกล ซึ่งแผ่ไปทุกทิศทุกทาง

บาตูและขุนศึกกองทัพมองโกลบุกตะลุยไปยังดินแดนยุโรป พิชิตอาณาจักรน้อยใหญ่ ตั้งแต่บริเวณแม่น้ำวอลกาในรัสเซีย เรื่อยไปจนถึงยูเครน, โปแลนด์, ฮังการี และออสเตรีย กองทัพมองโกลเกือบเดินทางไปถึงนครเวียนนา เมืองหลวงของอาณาจักรออสเตรีย แต่จำต้องถอนกองทัพเสียก่อน เนื่องจากการเสียชีวิตของโอโกไดในปี 1241

โอโกได

ผู้สืบทอดรับตำแหน่งข่านผู้ยิ่งใหญ่ คือ “อูเยก” บุตรชายของโอโกได ส่วนบาตูซึ่งยังมีอำนาจปกครองทางทิศตะวันตกอยู่แล้ว จึงตัดสินใจสถาปนาอำนาจในดินแดนของตน บาตูมีเกอร์ (Ger) หรือกระโจมแบบมองโกลหลังมหึมา ทำจากผ้าไหมยกทอง จึงนำมาสู่ที่มาของชื่ออาณาจักรว่า “อาณาจักรโกลเดน ฮอร์ด” (Golden Horde) อยู่ในดินแดนรัสเซีย

เบื้องหลังการก้าวขึ้นสู่อำนาจของอูเยกนั้น แม่ของเขา คือ “ตูรากีนา” ซึ่งเคยรักษาการตำแหน่งผู้นำจักiวรรดิในช่วงปี 1241-1246 เป็นคนสำคัญที่คอยผลักดันให้บุตรชายก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งในปี 1246 ซึ่งนางแข่งขันอำนาจกับ “ซอลฮุกธานี” ภรรยาของ “ทัวลุย” (บุตรชายของเจงกิสข่าน) ที่พยายามผลักดันบุตรชายของนาง คือ “เมิก” ให้สืบทอดตำแหน่งข่านผู้ยิ่งใหญ่เช่นเดียวกัน

อูเยกเสียชีวิตหลังปกครองจกรวรรดิได้เพียง 2 ปี การช่วงชิงอำนาจเกิดขึ้นอีกครั้ง ตูรากีนาพยายามผลักดันให้หลานชายของนางสืบทอดตำแหน่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ชัยชนะครั้งนี้เป็นของซอลฮุกธานี เมิกได้เป็นข่านผู้ยิ่งใหญ่ ในปี 1251

ในยุคของเมิก เขาพยายามสืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ โดยขยายอำนาจดินแดนให้ไกลออกไปอีก เขาจึงส่ง “ฮูเลกู” ซึ่งเป็นน้องชาย เดินทางไปพิชิตจักรวรรดิอิสลาม ที่มีดินแดนตั้งแต่เอเชียกลาง อิหร่าน อิรัก ไปจนถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ขณะที่เขาและ “กุบไล” น้องชายอีกคน มุ่งพิชิตจักรวรรดิซ่งใต้ของจีน

ปี 1258 ฮูเลกูสามารถพิชิตจักรวรรดิอิสลามได้อย่างราบคาบ แล้วสถาปนาอำนาจในดินแดนที่พิชิตนั้นว่า “อาณาจักรอิลข่าน” (Ilkhanate) ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอิรัก และอิหร่าน ต่อมาก็ได้ผนวกซีเรียได้เพิ่มเติม

กองทัพมองโกลบุกถล่มนครแบกแดดของจักรวรรดิอิสลาม ในปี 1258

ด้านกุบไลขณะติดทำสงครามกับจักรวรรดิซ่งใต้ เมื่อทราบข่าวการเสียชีวิตของพี่ชายในปี 1259 และรู้ว่า “อริบุก” น้องชายคนสุดท้องพยายามสืบทอดตำแหน่งข่านผู้ยิ่งใหญ่ เขาตึดสินใจหย่าศึกกับชาวจีนชั่วคราว แล้วเดินทางขึ้นไปทางตอนเหนือของจีน อันเป็นฐานที่มั่นของตน (บริเวณมองโกเลียในในปัจจุบัน) แทนที่จะเดินทางกลับเมืองหลวงของจักรวรรดิมองโกล

กุบไลชิงสถาปนาอำนาจขึ้นเป็นข่านผู้ยิ่งใหญ่ ในปี 1260 ตัดหน้าอริบุกเพียง 1 เดือน อริบุกก็สถาปนาตนเป็นข่านผู้ยิ่งใหญ่บ้าง จากนั้นทั้งสองทำสงครามแย่งชิงตำแหน่ง กุบไลเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะเมื่อปี 1264 แต่ไว้ชีวิตน้องชายไว้

กุบไลอ้างสิทธิเหนือทุกดินแดนที่กองทัพมองโกลพิชิตได้ ตั้งแต่เกาหลีจรดรัสเซีย แต่ต่อมาภายหลังอาณาจักรต่าง ๆ ซึ่งเป็นทายาทของเจงกิสข่านต่างปฏิเสธอำนาจของกุบไล ซึ่งแท้จริงความเป็นจักรวรรดิที่เป็นปึกแผ่นได้เริ่มคลายตัวลง เนื่องจากแต่ละอาณาจักรมีการปกครองภายในของตนเอง โดยเครือญาติที่ปกครองทางตะวันตก ทั้งอาณาจักรโกลเดน ฮอร์ด และอาณาจักรอิลข่าน และเครือญาติที่ปกครองเอเชียกลาง คือ “อาณาจักรชากาไต” (Chagatai Khanate) ที่ปกครองโดยทายาทของชากาไต ซึ่งเป็นบุตรชายคนที่สองของเจงกิสข่าน ต่างก็ปกครองแยกตัวเป็นเอกเทศมานาน

กุบไลข่าน

ด้านกุบไลซึ่งสถาปนาเป็นข่านผู้ยิ่งใหญ่และจักรพรรดิของจีนนั้น ได้สร้างเมืองหลวงใหม่ คือ “ต้าตู” หรือนครปักกิ่ง พร้อมกับสถาปนาราชวงศ์หยวนขึ้นปกครองจีนและจักรวรรดิมองโกล จากนั้นจึงกรีฑาทัพพิชิตจักรวรรดิซ่งใต้ ถึงปี 1276 ก็ยึดนครหางโจว เมืองหลวงของจักรวรรดิซ่งใต้ และ 3 ปีต่อมาก็ตีฐานที่มั่นสุดท้ายของราชวงศ์ซ่งได้สำเร็จ รวมจีนเป็นแผ่นเดียว

ราชวงศ์หยวนของกุบไลมีอายุถึงปี 1368 ก็ถึงกาลสิ้นสุด ทายาทของเจงกิสข่านต้องถอยร่นกลับคืนมองโกล ขณะที่ทางตะวันตก อาณาจักรอิลข่านนั้นมีอายุสั้นกว่า จากปัญหาการแย่งชิงอำนาจภายในและกบฏของชนชาติต่าง ๆ ในอาณาจักร ทายาทคนสุดท้ายของฮูเลกูเสียชีวิตเมื่อปี 1335 อาณาจักรก็ค่อยเสื่อมลง

ส่วนอาณาจักรโกลเดน ฮอร์ด ก็มีอายุไม่นานเช่นกัน มีการแย่งชิงอำนาจกันภายใน จนต่อมาแบ่งออกเป็นหลายรัฐ และล่มสลายไปในที่สุด เมื่ออำนาจกลุ่มใหม่ของชาวเติร์กและชาวรัสเซียก้าวเข้ามาครอบครองดินแดนในภูมิภาคนั้น เฉกเช่นเดียวกับอาณาจักรชากาไต ที่ถูกราชวงศ์ Timurids แผ่ขยายอำนาจเข้าแทนที่ในดินแดนเอเชียกลาง

การเถลิงอำนาจสู่จุดสูงสุดของจักรวรรดิมองโกลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาประมาณร้อยปี ทายาทเจงกิสข่านเพียง 2 รุ่น ก็สามารถพิชิตดินแดนต่าง ๆ ได้มากมายมหาศาลมากกว่าจักรวรรดิโรมันเสียอีก ปัจจัยสำคัญก็มาจากกองทัพม้าที่ยากจะต้านทานและยุทธศาสตร์การรบที่ดุดัน

จนชาวยุโรปขนานนามชาวมองโกลว่าเป็นพวก “ตาร์ตาร์” (Tartar) ผู้มาจาก “ตาร์ตารัส” (Tartarus) คือ นรกขุมลึกสุดในตำนานกรีก คุกแห่งความเจ็บปวดทรมาน 

อ่านเพิ่มเติม :


อ้างอิง :

ไมค์ เอ็ดเวิร์ดส์. (2551). ทายาทเจงกิสข่าน. ใน National Geographic, บุคคลสำคัญของโลก เล่ม 2.

The Editors of Encyclopaedia. (2021). Mongol empire, Access 14 December 2021, from www.britannica.com/place/Mongol-empire


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 ธันวาคม 2564