เจงกิสข่าน ให้ลูกทำอะไรเมื่อบุตรมิได้ดีเลิศ รู้จักธิดานักปกครองและวิธีแก้แค้นให้สามี

ภาพวาด เจงกิสข่าน เตมูจิน มองโกล
ภาพวาด เจงกิสข่าน ปฐมกษัตริย์แห่งจักรวรรดิมองโกล จากสมุดภาพรวมภาพจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หยวน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงไทเป

เจงกิสข่าน นักรบแห่งมองโกลผู้พิชิตอาณาเขตดินแดนแสนกว้างไกลมีบุตรธิดาหลายราย แต่น่าเสียดายที่ข้อมูลเกี่ยวกับการการปกครองจากเอกสารบันทึกทางประวัติศาสตร์นั้นไม่สมบูรณ์ ทำให้ขาดข้อมูลไปบ้าง แต่อย่างน้อยยังพอปะติดปะต่อจากข้อมูลที่นักวิชาการสืบค้น โดยเฉพาะในแง่การจัดวางระบบใช้สอยกำลังคน อันทำให้เห็นว่า เจงกิสข่าน มอบหน้าที่ให้บุตรธิดาได้อย่างแยบยล

ค.ศ. 1206 เถี่ยมูจิน ได้รับการยอมรับจากชนเผ่าต่างๆ ในมองโกเลีย ก้าวขึ้นเป็นประมุขมองโกเลีย มีชื่อว่า เจงกิสข่าน และสถาปนาอาณาจักรมองโกล

คำประกาศของเจงกิสข่านในวาระตั้งอาณาจักรมองโกลเมื่อปี 1206 มีเนื้อหาสะท้อนถึงการกำหนดรูปแบบการปกครองที่ส่งผลต่อหลายพื้นที่ตลอดศตวรรษถัดมา แต่มีข้อความบางส่วนที่ถูกตัดออกจากบทสำคัญด้านการเมืองใน “พงศาวดารลับของมองโกล” (The Secret History of the Mongols) อันเป็นเอกสารภาษามองโกลที่เก่าแก่ที่สุด และเป็นเอกสารที่หลงเหลือมาจนถึงยุคหลัง เขียนโดยคนในราชวงศ์ คาดว่าเขียนขึ้นหลังหมดยุคเจงกิสข่าน  ไม่มีใครทราบตัวผู้ตัด และเจตนาของการตัดข้อความออก แต่สิ่งที่หลงเหลือนั้นคือข้อความส่วนหนึ่งว่า “เราจงมอบรางวัลแก่บุตรหลานที่เป็นสตรีของเรา”

ข้อความที่หลงเหลือก่อนหน้านั้นยังพอบ่งบอกการวางระบบปกครองของเจงกิสข่าน ซึ่งมอบหน้าที่บริหาร ตำแหน่ง ดินแดน และข้าราชบริพารให้บุตร พี่น้องที่เป็นชาย และลูกน้อง ตามความสามารถและผลงานที่ส่งเสริมการสร้างอิทธิพล

แต่เมื่อมาถึงการประกาศชมเชยและมอบรางวัลแก่บุตรสาวนั้น ข้อความในบันทึกหายไปโดยมือมืด ไม่มีใครทราบสาเหตุและตัวบุคคลผู้กระทำ แต่นั่นย่อมเป็นอีกหนึ่งเสี้ยวที่สะท้อนความลึกลับเกี่ยวกับนโยบายการปกครองของมองโกล ซึ่งที่ผ่านมา ข่านแห่งจักรวรรดิมองโกล หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกเก็บเอกสารไว้อย่างดี เอกสารที่ว่าก็บันทึกด้วยภาษามองโกล เชลยในดินแดนที่ถูกปกครองล้วนไม่ได้รับอนุญาตให้เรียนรู้

ราชิด อัล-ดิน ชาวเปอร์เซียผู้บันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เขียนไว้ในศตวรรษที่ 13 ว่า “บันทึกตอนแล้วตอนเล่ากระจัดกระจายในท้องพระคลัง ซ่อนเร้นจากสายตาคนแปลกหน้าและผู้เชี่ยวชาญทั้งปวง ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้เห็น หรือทำการศึกษาบันทึกเหล่านั้น”

สำหรับบุตรชายของข่านผู้พิชิต ตามความคิดเห็นของนักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษาการปกครองของมองโกลอย่าง แจ๊ก เวเธอร์ฟอร์ด มองว่า ลูกชาย 4 คน (โจชิ, ชักฮาไต, โอโกได และโตลุย) “ดีแต่หาความสำราญ ดื่มเหล้า” ฝีมือสู้รบอยู่ในระดับปานกลาง แต่ก็ยังมีชื่อได้รับหน้าที่ปกครองดูแล ขณะเดียวกัน ยังพอมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า เจงกิสข่านมองเห็นว่าลูกสาวมีคุณสมบัติผู้นำที่เหนือกว่า และมอบดินแดนสำคัญให้ดูแล

ธิดาของ เจงกิสข่าน

แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องบันทึกเอกสารดังที่กล่าวข้างต้น ยังไม่มีใครฟันธงอย่างแน่ชัดว่าเจงกิสข่านมีธิดากี่คน โดยคร่าวแล้วเชื่อกันว่า อาจเป็นตัวเลข 7 หรือ 8 คน

ราชิด อัล-ดิน บรรยายว่า ธิดาของเจงกิสข่านมีเรื่องที่ถูกเล่าขานมากมาย แต่เอกสารบันทึกเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้สาบสูญอย่างไร้ร่องรอย แต่ แจ๊ก เวเธอร์ฟอร์ด ผู้สืบค้นข้อมูลเรื่องธิดาของเจงกิสข่าน อธิบายว่า ยังพอมีข้อมูลหลากหลายแห่งที่จะปะติดปะต่อวีรกรรมของสตรีเชื้อสายเจงกิสข่านได้ แต่ต้องยอมรับในเบื้องต้นว่า ข้อมูลที่ได้มากระจัดกระจายและสับสน การออกเสียงจากสำเนียงภาษาที่แตกต่างกัน และแหล่งข้อมูลที่ระบุรายละเอียดจำนวนลูกสาวของเจงกิสข่านก็แตกต่างกันด้วย

หากอ้างอิงตามพงศาวดารลับ เนื้อหาในนั้นบอกว่า เจงกิสข่าน มีลูกเขยแปดคนในปี 1206 แต่ละคนเป็นผู้บังคับบัญชาทหารหลายพันกอง รายชื่อของลูกเขยมีมากกว่ารายชื่อลูกสาว เชื่อว่าเกิดการแต่งงานมากกว่า 1 ครั้ง และเป็นไปได้ว่าญาติห่างๆ ก็อาจพยายามยกสถานะของตัวเองผ่านการแต่งงาน นักประวัติศาสตร์ที่สืบค้นประวัติของลูกสาวเจงกิสข่าน ก็ให้ความเห็นแตกต่างกันออกไปในแต่ละยุคสมัย

แต่ข้อมูลที่พอจะบ่งชี้ได้นั่นคือ ลูกสาวของเจงกิสข่าน 4 คน ได้เป็นราชินีปกครองดินแดนของตัวเอง และควบคุมกองทัพขนาดใหญ่ บางรายมีทายาท แต่บางรายไม่มีทายาท

มองโกลภายใต้การปกครองของตระกูลป๋อเอ๋อจี้จิ่น (Bojigit) หรือบอริจินของเจงกิสข่าน รุ่งเรืองในช่วง 1206-1368 โดยเฉพาะช่วงที่เจงกิสข่าน นำทัพทำสงครามกับดินแดนตะวันตก บุกโจมตีเอเชียกลาง และยังสามารถเอาชนะกองทัพพันธมิตรชาวเติร์กและรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม หลังกองทัพมองโกเลียบุกโจมตีราชวงศ์ซีเซี่ยในปี 1226 เจงกิสข่านก็เสียชีวิตลงในปี 1227 ก่อนเขาจากไป นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่า เขาขอให้ลูกหลานร่วมมือกันกับราชวงศ์ซ่งล้มราชวงศ์จิน เป็นช่วงที่มองโกลเริ่มเข้าไปครอบครองดินแดนเขตที่ราบภาคกลาง (หลังราชวงศ์จินถูกโค่น มองโกลก็ทำสงครามกับราชวงศ์ซ่ง)

หลังเจงกิสข่าน เสียชีวิต ทัวเหลย (หรือโตลุย) เข้ามาดูแลประเทศ ก่อนที่ “วอคั่วไถ” (โอโคได – Ögedei) ขึ้นมาสืบทอดตำแหน่งข่านต่อ ตลอดช่วงเวลาหลังจากนั้น สตรีตระกูลบอริจินต่อสู้เพื่อรักษามรดกที่เจงกิสข่านมอบไว้ให้ กระทั่งจักรวรรดิมองโกลล่มสลายในปี 1368 ชาวมองโกลถอยร่นไปอยู่ในที่ราบกว้างใหญ่ และต่อสู้แย่งชิงกันเอง กระทั่งมีราชินีมานดูไฮมาสร้างความเป็นระเบียบและก่อตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่

อลาไกเบกิ

กลับมาที่ข้อมูลเรื่องธิดาของเจงกิสข่าน จากการค้นคว้าของเวเธอร์ฟอร์ด เชื่อได้ว่า มีรายชื่อธิดาอยู่จำนวนหนึ่ง อาทิ โคจิน, อัล-อัลตุน, เชเชยิเกน, ตูเมลัน, โตไล และอลาไก ลำดับความเป็นพี่น้องก็ไม่สามารถระบุแน่ชัด เช่นเดียวกับข้อมูลเรื่องที่ว่ามารดาของพวกนางจะเป็นบอร์เต คาตุน ด้วยหรือไม่ (คาตุน หมายถึงราชินี คำนี้อาจใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อเด็กชายหรือหญิง แสดงถึงพลังอำนาจ แข็งแกร่ง สวยและสง่างาม)

ลูกสาวของเจงกิสข่านมีตำแหน่งที่เรียกว่า “เบกิ” เป็นบรรดาศักดิ์ใช้เรียกเจ้าชายหรือเจ้าหญิงด้วยความยกย่อง ส่วนชายที่แต่งงานกับเบกิ จะมีตำแหน่งพิเศษที่เรียกว่า “กูเรเกน” ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหมายความว่า “ลูกเขย” กรณีนี้ก็มีความหมายใกล้กับคำว่า “พระสวามี” ถ้าไม่มีนางแล้ว กูเรเกน จะเสียตำแหน่งทันที เรียกได้ว่าเป็นตำแหน่งที่ถูกแทนที่ได้ง่าย

มาเริ่มกันที่อลาไก รายนี้เชื่อกันว่า เป็นธิดาของเจงกิสข่านกับบอร์เต เกิดเมื่อปี 1191 ขณะบอร์เต อายุประมาณ 30 ปี ชื่อของนายถูกนักวิชาการบางรายแปลว่า “มาร์ม็อตแห่งไซบีเรีย” (สัตว์พันธุ์เดียวกับกระรอกแต่ตัวใหญ่กว่า อาศัยอยู่ใต้ดิน) แต่อีกหลายคนแปลว่า “ฝ่ามือ” ชื่อนี้น่าจะมีที่มาจากเหตุการณ์บางอย่างขณะคลอด (ดังเช่นเรื่องเล่าว่าเจงกิสข่านกำเนิดมาโดยกำลิ่มเลือดในอุ้งมือ) แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นเหตุการณ์ใด

อลาไก ถูกเลี้ยงดูโดยบอร์เต โดยตรง นั่นย่อมทำให้เป็นอิทธิพลต่ออลาไก มากกว่าท่านข่านด้วยซ้ำ บอร์เต มีที่มาจากเผ่าคอนจิราด ซึ่งไม่นิยมการใช้กำลังดังเช่นเผ่ามองโกล เผ่าของนางใช้วิธีเจรจาต่อรองเสียมากกว่า ชาวคอนจิราด ใช้ลูกสาวแต่งงานกับผู้ชายที่มีอำนาจ และกลายเป็นราชินีที่ทำหน้าที่ปกป้องต่อรองไกล่เกลี่ยให้พวกเขา

อลาไก ถือเป็นคนแรกในตระกูลบอริจินที่ไปอยู่นอกเขตที่ราบสูงมองโกเลีย เพื่อนำระบบการปกครองของมองโกลไปใช้ในประเทศจีน เรียกได้ว่ามาเพื่อการปกครอง เอกสารของมองโกเลียไม่ปรากฏรายละเอียดของพิธีสถาปนาราชินีมองโกล แต่ยังมีรายละเอียดเล็กน้อยว่าบางจุดคล้ายกับพิธีการประกาศครองตำแหน่งของข่านองค์ใหม่

เจงกิสข่าน จัดให้นางไปเป็นผู้ปกครองโดยให้แต่งงานกับอลา-คุช ผู้นำอาณาจักรติดกันหรืออาจเป็นลูกชายหรือหลานชายของหัวหน้าเผ่า ในช่วงที่อลาไก อายุประมาณ 16-17 ปี ครอบครัวของอลา-คุช เป็นผู้นำชนเผ่าอองกุด ชาวอองกุดอาศัยทางตอนใต้ของทะเลทรายโกบี เมืองการค้ามีกำแพงสูงและหนาล้อมรอบ

แจ๊ก เวเธอร์ฟอร์ด ไม่สามารถหาหลักฐานมาอ้างอิงว่าสามีรายแรกของอลาไกคือใคร สามีรายต่อไปก็ค่อนข้างมีข้อมูลที่สับสน แต่ถ้ามองในอีกด้านหนึ่ง ข้อมูลที่คลุมเครือก็มองได้ว่า ฝ่ายชายในชีวิตของอลาไก ไม่ได้มีส่วนสำคัญในการปกครอง เป็นตัวอลาไก เองต่างหากที่มีความสำคัญ

เจงกิสข่าน กับเผ่าอองกุด

แจ๊ก เวเธอร์ฟอร์ด บรรยายอาณาเขตการปกครองของอลาไก โดยรวมว่าครอบคลุมอาณาเขตในปัจจุบันคือมองโกเลียในของจีน แผ่เข้าไปถึงโลกของมองโกล เตอร์กิก และจีน อลาไกเบกิ คือหัวหน้าเผ่าที่ไม่ได้อำนาจจากการรบชนะ อองกุดคือเผ่าที่พูดภาษาเตอร์กิก ชนเผ่านี้ปรากฏชื่อในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเตอร์กิก คนจีนเรียกพวกอองกุดว่า “ตาตาร์ขาว” (จีนเรียกพวกมองโกลกลุ่มป่าเถื่อนว่า “ตาตาร์ดำ”) มาร์โค โปโล บันทึกไว้ว่า ชาวอองกุดเรียกตัวเองว่า “อัง”

เนื่องจากความจงรักภักดีของชาวอองกุดต่อราชวงศ์จีนตอนเหนือหลายยุค เผ่าอองกุดถูกเรียกตามตำแหน่งทางการทหารว่า “เทียนเต๋อจวิน” เป็นทหารลาดตระเวนชายแดนประเภทหนึ่ง

บทบาทของอลาไก นอกเขตที่ราบสูงมองโกเลีย จะเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายอิทธิพลไปในดินแดนแห่งอารยธรรมที่กว้างใหญ่ และดินแดนตอนใต้ของทะเลทรายโกบี ตั้งแต่อาณาจักรต่างๆ ในเกาหลี ทิเบต และราชวงศ์ซ่งใต้ของจีน กล่าวคือก่อนที่มองโกลจะเข้าไปสัมผัสดินแดนมั่งคั่งเหล่านี้ ต้องยึดหัวหาดตอนใต้ของทะเลทรายโกบีก่อน เพราะการเดินทางที่ผิดพลาดเพียงเล็กน้อยอาจทำให้สูญเสียนักรบและทรัพยากรจำนวนมากได้ อลาไก สามารถเปิดทางให้มองโกล เนื่องจากมีอำนาจในดินแดนทุกแห่งของอองกุด จึงช่วยหาเสบียงอาหารและม้าชุดใหม่ให้กองทัพ และระวังอาณาจักรทางตอนใต้เข้าโจมตี

อาณาจักรของอลาไก เปรียบเสมือนป้อมปราการในดินแดนศัตรู เป็นทั้งกองหน้าและหลักประกันความปลอดภัยให้ทัพมองโกล แผ่นดินอองกุด ภายใต้อลาไก คือฐานที่มั่นซึ่งจะเอื้อให้เจงกิสข่านเข้าพิชิตอาณาจักรหลายแห่งของจีน

การกบฏปฏิวัติอลาไก

อย่างไรก็ตาม ยังมีอุปสรรคภายในเกิดขึ้น เมื่อปี 1211 เจงกิสข่าน ยกทัพโจมตีผู้ปกครองเจอร์เชดทางเหนือของจีน เมื่อทหารม้าของท่านข่านเข้าปะทะ เวลาเดียวกันเกิดเหตุลุกฮือของพวกอองกุดฝ่ายที่ไม่พอใจก่อการปฏิวัติต้านอลาไกในวัยเยาว์ กลุ่มต่อต้านพยายามสังหารอลาไก แต่ไม่สามารถจับตัวได้ และไปลอบสังหารอลา-คุช กับกลุ่มที่ฝักใฝ่มองโกลอีกหลายราย เวเธอร์ฟอร์ด สืบค้นได้ว่า อลาไก เอาตัวรอดมาได้ และพาลูกเลี้ยงหลบภัยในกองทัพของบิดา

การต่อต้านครั้งนี้สืบเนื่องมาจากกลุ่มตระกูลที่ไม่ยอมก้มหัวให้ราชินีต่างถิ่น กลุ่มอองกุด ยังมองว่ามองโกลเป็นพวกป่าเถื่อนสกปรก ยิ่งเมื่อลูกสาวเจงกิสข่านขับไล่ภรรยาคนอื่นๆ ไปด้วย นั่นเท่ากับทำลายฐานอำนาจของตระกูลพวกภรรยาเก่า สมาชิกในครอบครัวภรรยาเก่าไม่มีโอกาสสร้างชื่อสร้างเกียรติประวัติให้ได้รับรางวัลตอบแทนในระบบใหม่ พวกเขาจึงลุกฮือขึ้น อย่างไรก็ตาม การฆ่าอลา-คุช ที่เป็นมิตรกับเจงกิสข่านเท่ากับสร้างหายนะร้ายแรงขึ้น

เจงกิสข่านมอบกองกำลังให้อลาไกไปปราบกบฏ พวกต่อต้านถูกปราบในเวลาอันสั้น วิธีการของมองโกลที่ใช้จัดการกับชนเผ่าชาวทุ่งหญ้าสเตปป์ที่ทรยศหักหลังคือฆ่าผู้ก่อการทุกคน รวมถึงสมาชิกในครอบครัวที่ตัวสูงเกินล้อเกวียนชาวมองโกล จากนั้นจึงแจกจ่ายผู้หญิงและเด็กให้เผ่าพันธมิตรที่จงรักภักดี

อย่างไรก็ตาม อลาไก ยับยั้งการสังหารหมู่ และให้หาผู้สังหารอลา-คุช และสั่งประหารผู้ทำผิดพร้อมครอบครัว ถือได้ว่าชาวอองกุด โชคดีที่มีอลาไก เป็นผู้ปกครอง ภายหลังอลาไก เข้าฟื้นฟูอองกุดให้เป็นหนึ่งเดียว และเอาจิงกู ลูกเลี้ยงมาเป็นสามี ด้วยความจริงใจต่อชาวอองกุด และการปกป้องพวกเขาจากความแค้นของเจงกิสข่าน หลังจากนั้นก็ไม่เกิดกบฏอีกเลย

ส่วนน้องสาวคนอื่นๆ ของอลาไก สวมตำแหน่งราชินีชนเผ่าชาวเตอร์กิก คือเผ่าอุยกูร์ และคาร์ลุก

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของบทบาทธิดาของเจงกิสข่าน ซึ่งเวเธอร์ฟอร์ด อธิบายว่า ธิดาของเจงกิสข่านแสดงให้เห็นถึงบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่บุตรชายมีบทบาทค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ตาม ตามความคิดของเผ่าพันธุ์อื่น อาทิ จีน ชาวจีนมองว่าผู้หญิงมองโกลลักษณะตรงข้ามกับคุณสมบัติของผู้ดี

ภรรยาม่ายของโตคูชาร์

แต่ไม่ใช่ลูกสาวทุกคนของเจงกิสข่าน จะมีความโอบอ้อมเหมือนกับอลาไก ช่วงปลายปี 1220 โตคูชาร์ ลูกเขยของเจงกิสข่าน เดินทางมาถึงเมืองนิชาเพอร์ พร้อมทหารกลุ่มใหญ่ เขาโดนลูกศรปลิดชีพไป จูไวนี นักประวัติศาสตร์ชาวมุสลิม ผู้เป็นนักการเมืองมองโกล ซึ่งอยู่ร่วมเหตุการณ์สำคัญหลายครั้งบันทึกไว้ว่า ชาวเปอร์เซียในเมืองไม่รู้ว่าผู้เสียชีวิตคือใคร เมื่อกองทัพถอยไปก็คิดว่าเอาชนะมองโกลได้แล้ว แต่กองทัพมองโกลบุกโจมตีช่วงเช้าวันที่ 7 เดือนเมษายน 1221 และยกธงปักเหนือกำแพงส่วนที่ยึดได้

ประชาชนในเมืองนิชาเพอร์ ถูกขังภายในกำแพงของตัวเอง สภาพเหมือนกับที่มองโกลใช้รั้วล้อมสัตว์ป่าในการล่าสัตว์ และพร้อมจัดการมันได้ทุกเมื่อ ภรรยาม่ายของโตคูชาร์ ลูกสาวคนหนึ่งของเจงกิสข่าน สั่งปิดกั้นระบบส่งน้ำเข้าเมือง และสั่งให้ประชาชนออกจากเมือง หลังจากนั้นจึงเข้าไปในเมืองกวาดต้อนคนที่ไม่ยอมอพยพตามคำสั่ง นางสั่งเผาเมืองที่ว่างเปล่า และประหารทุกคนยกเว้นคนงานที่คัดสรรแล้ว

ควานดามีร์ นักจดบันทึกเหตุการณ์บรรยายเรื่องนี้ไว้ว่า “นางไม่ยอมให้เหลือร่องรอยของสิ่งที่เคลื่อนไหวได้แม้แต่อย่างเดียว” ในรายงานยังระบุจำนวนผู้ถูกประหาร 1,747,000 คน ซึ่งเวเธอร์ฟอร์ด ผู้สืบค้นข้อมูลเชื่อว่าสูงเกินตัวเลขที่น่าเชื่อถือเกือบร้อยเท่า

ภรรยาม่ายผู้เป็นลูกสาวของเจงกิสข่าน ผู้นี้ไม่ปรากฏชื่ออย่างแน่ชัด นักวิชาการมุสลิมเชื่อว่าอาจเป็นตูเมลัน แต่ด้วยความที่บันทึกดั้งเดิมของเปอร์เซียไม่ได้เอ่ยชื่อถึง และชาวมองโกลที่รบชนะยึดเมืองมามากมายก็ไม่ได้จดบันทึกไว้ เรื่องนี้จึงไม่ปรากฏในเอกสารใดๆ ของฝ่ายมองโกล จึงเป็นไปได้ยากที่จะหาตัวตนลูกสาวของเจงกิสข่าน ที่ออกคำสั่งเช่นนี้ จนกว่าจะพบหลักฐานที่ชัดเจนเพิ่มเติม

เหล่านี้เป็นตัวอย่างของบทบาทลูกสาวของเจงกิสข่าน ซึ่งตามความเห็นของนักวิชาการแล้ว บรรดาธิดาของข่านผู้ยิ่งใหญ่เป็นเสมือน เกราะปกป้อง “ล้อมติดต่อกันรอบอาณาจักรมองโกลบ้านเกิด พวกนางเปรียบดังเส้นบอกอาณาเขต คอยดูแลป้องกันจากทิศทั้งสี่ระหว่างทำหน้าที่ปกครองดินแดนทั้งอองกุด อุยกูร์ และออยรัต”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เวเธอร์ฟอร์ด, แจ๊ก. ประวัติศาสตร์ลับราชินีมองโกล. อายุรี ชีวรุโณทัย แปล. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554

หลี่เฉวียน. ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 ตุลาคม 2562