ชาติกำเนิด “บุตรชาย” กับปัญหาหลังบ้านของ “เจงกิสข่าน” ช่วงบั้นปลายชีวิต

เจงกิสข่าน สถาปนา โอโกได
เจงกิสข่าน (คนกลางภาพ) สถาปนา โอโกได เป็นรัชทายาท, วาดโดย Rashid al-Din ศตวรรษที่ 14 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

จักรวรรดิมองโกลอันยิ่งใหญ่ที่สถาปนาโดย เจงกิสข่าน (Genghis Khan) เป็นหนึ่งในจักรวรรดิที่มีอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์โลก สมัยของเจงกิสข่านตรงกับยุคกลางในยุโรปและก่อนการสถาปนากรุงสุโขทัยเล็กน้อย จักรวรรดิมองโกลภายใต้การนำของข่านท่านนี้สามารถพิชิตพื้นที่ตั้งแต่ทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่ในมองโกลเลียและเอเชียกลางต่อเนื่องไปจนถึงดินแดนเปอร์เซียทางตะวันตก ถือได้ว่าเจงกิสข่านคือหนึ่งในนักปกครองที่ทรงพลังอำนาจมากที่สุดในโลก ณ เวลานั้น

อย่างไรก็ตาม แม้เจงกิสข่านจะอยู่บนจุดสูงสุดทางอำนาจ แต่ยังมีข้อเท็จจริงจากหลักฐานหลาย ๆ แหล่งที่บ่งชี้ว่าความสัมพันธ์ภายในครอบครัวท่านไม่สู้ดีนัก โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างลูกชาย 4 คน ที่เกิดจาก “บอร์เต” (Borte) ภรรยาเอกของเจงกิสข่าน

Advertisement

ต้นเหตุแห่งความไม่ลงรอยนี้เริ่มต้นจากความคลุมเครือทางชาติกำเนิดของ “โจชิ” (Jochi) บุตรชายคนโตของท่านข่านที่ตามหลักเขาคือผู้สืบทอดความยิ่งใหญ่ของบิดา แต่เพราะความอลหม่านจากภัยสงครามในช่วงชีวิตของเจงกิสข่านก่อนจะรวมชาติมองโกลสำเร็จ ภรรยาของท่านข่านเคยถูกเผ่าศัตรูจับเป็นเชลย และเมื่อท่านข่าน (ขณะนั้นคือ “เตมูจิน”) บุกมาล้างแค้นและทวงคืนบอร์เตก็ต้องพบว่านางกำลังตั้งครรภ์ ซึ่งเด็กในครรภ์นั้นคือ โจชิ นั่นเอง

เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่คำถามว่าแท้จริงแล้ว ใครคือพ่อของโจชิ ? คำครหานี้เกาะกุมความคิดของบรรดาทายาทคนถัด ๆ มาของเจงกิสข่าน ก่อนจะถูกท้าทายอย่างเปิดเผยเมื่อข่านแห่งมองโกลเข้าสู่ช่วงบั้นปลายชีวิตและต้องสถาปนารัชทายาท โดย แจ็ก เวเธอร์ฟอร์ด ได้ค้นคว้าและนำเสนอไว้ในตอนหนึ่งของหนังสือ เจงกิสข่าน มหาบุรุษผู้เปลี่ยนโลก (Genghis Khan and the making of the Modern World) แปลโดย เรืองชัย รักศรีอักษร (มติชน, 2553) ดังนี้


 

หลังการทำสงครามเป็นเวลาสี่ปีในเอเชียกลาง เจงกิสข่านก็ล่วงเข้าสู่วัยหกสิบ ท่านข่านอยู่ในจุดสูงสุดของอำนาจโดยปราศจากคู่แข่งทั้งภายในเผ่าของท่านเองและภัยคุกคามจากข้าศึกภายนอก ตรงกันข้ามกับความสำเร็จอย่างท่วมท้นในแนวรบ คนในครอบครัวของท่านกลับแตกแยกกันตั้งแต่ก่อนท่านข่านจะเสียชีวิตเสียอีก เจงกิสข่านทิ้งบ้านเกิดในมองโกเลียไว้ในอยู่ในการดูแลของ เตมูเก ออตชิเกน น้องชายคนเล็ก ท่านนำลูกชายทั้งสี่คนไปทำสงครามในเอเชียกลาง ด้วยความหวังว่าพวกเขาจะได้เรียนรู้การเป็นนักรบที่ดีรวมทั้งยังสามารถอยู่และทำงานร่วมกันได้

เจงกิสข่านต่างจากผู้พิชิตคนอื่น ๆ ที่มักจะคิดว่าตนเองเป็นพระเจ้า ท่านรู้ดีว่าสักวันหนึ่งตนต้องตาย จึงพยายามเตรียมอาณาจักรไว้สำหรับการสืบทอดอำนาจ ตามธรรมเนียมของทุ่งหญ้าสเตปป์ [ที่ราบกว้างใหญ่ มีหญ้าและพุ่มไม้ ไม่ค่อยมีต้นไม้ใหญ่ อยู่เขตอบอุ่นและกึ่งโซนร้อน ทุ่งหญ้าสเตปป์คือภูมิประเทศหลักของมองโกเลีย – ผู้เขียน] ลูกชายแต่ละคนในครอบครัวชาวเลี้ยงสัตว์จะได้รับสัตว์ทุกชนิดที่ครอบครัวมีบางส่วน และได้ใช้ประโยชน์จากทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์บางส่วนด้วย ในทำนองเดียวกันเจงกิสข่านก็วางแผนที่จะให้อาณาจักรขนาดย่อมแก่ลูกชายแต่ละคน ซึ่งในแง่ปฏิบัติเป็นการครอบครองที่หลากหลายของทั้งอาณาจักร

ลูกชายแต่ละคนจะเป็นข่านของผู้คนและสัตว์เลี้ยงจำนวนมากบนทุ่งหญ้าสเตปป์ รวมทั้งเป็นเจ้าของส่วนแบ่งขนาดใหญ่ของอาณาจักรที่มีเมือง โรงงาน และฟาร์มซึ่งตั้งอยู่ประจำแต่ละเขต แต่ลูกชายคนหนึ่งจะต้องเป็นข่านผู้ยิ่งใหญ่เหนือกว่าอีกสามคน และเป็นผู้บริหารศูนย์กลางการปกครองส่วนกลาง อันประกอบด้วยศาลสูงสุดที่ร้องทุกข์ได้ และด้วยคำแนะนำของพี่-น้องชายอีกสามคน ท่านข่านผู้นี้จะรับผิดชอบกิจการด้านต่างประเทศโดยเฉพาะการสงคราม ระบบนี้ขึ้นกับความสามารถและความเต็มใจของพี่น้องที่จะทำงานร่วมกันและประสานกันภายใต้การนำของข่านผู้ยิ่งใหญ่

เจงกิสข่าน ปฐมกษัตริย์แห่งจักรวรรดิมองโกล จากสมุดภาพรวมภาพจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หยวน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงไทเป

กระทั่งก่อนที่เจงกิสข่านจะจากไปเพื่อทำสงครามควาริสม์ [จักรวรรดิควาเรซเมียน อาณาจักรมุสลิมแห่งหนึ่งในเปอร์เซีย – ผู้เขียน] แผนดังกล่าวก็มีอุปสรรค แม้จะมีข้อห้ามที่ร้ายแรงในการพูดถึงหรือเตรียมพร้อมเพื่อความตาย แต่เมื่อท่านเรียกประชุมคูริลไต [สภาสูงของจักรวรรดิมองโกล – ผู้เขียน] ของครอบครัวเพื่อจัดการกับเรื่องดังกล่าวอย่างเหมาะสม การประชุมกลับกลายเป็นฉากที่สำคัญยิ่งของประวัติศาสตร์มองโกล กล่าวคือเป็นการนำเอาการชิงดีชิงเด่นในอดีตและลางบอกเหตุล่วงหน้ามารวมกันเพื่อส่อให้เห็นว่าในที่สุดอาณาจักรของท่านข่านจะแตกแยกออกจากกัน

นอกจากบรรดาลูกชายแล้ว เจงกิสข่านยังให้คนส่วนหนึ่งที่ท่านไว้วางใจที่สุดเข้าร่วมประชุมด้วย ทั้งนี้เพราะการเห็นพ้องและการสนับสนุนของคนเหล่านี้มีความจำเป็นต่อการประกันความสำเร็จหลังจากที่ท่านข่านเสียชีวิต เมื่อการประชุมเริ่มขึ้นดูเหมือนโจชิกับชักฮาไตซึ่งเป็นลูกชายคนโตกับคนรองจะมีท่าทีตึงเครียดมาก ราวกับกับดักที่พร้อมจะงับลงมา ถ้าโอโกไดลูกชายคนที่สามเมาจริงตามนิสัยของเขาก็น่าจะดื่มเหล้ามาบ้างแล้ว แม้เขาจะไม่เมาแอ๋ต่อหน้าบิดาก็ตาม โตลุยลูกชายคนเล็กก็ยังเงียบและดูเหมือนจะหายตัวไปในซอกกระโจมขณะที่พวกพี่ ๆ ยึดครองกลางเวทีไว้

เจงกิสข่านเปิดประชุมคูริลไตของครอบครัวด้วยการอธิบายถึงภารกิจในการเลือกผู้สืบทอดตำแหน่ง มีการอ้างถึงคำพูดท่านข่านที่ว่า “หากลูกชายทุกคนของข้าอยากเป็นข่านและปกครองโดยไม่ยอมช่วยเหลือกัน ก็จะเป็นเหมือนนิทานเรื่องงูหัวเดียวกับงูหลายหัว”

นิทานเรื่องนี้เล่าสืบกันมาว่า เมื่อฤดูหนาวมาถึง งูหลายหัวตัวหนึ่งซึ่งหัวงูคอยชิงดีชิงเด่นกันทะเลาะกันเองเพราะตกลงกันไม่ได้ว่ารูไหนเหมาะสำหรับหลบภัยจากลมหนาวและหิมะ หัวหนึ่งชอบรูหนึ่งและพยายามดึงไปทางรูนั้น ในขณะที่หัวอื่นก็ดึงไปในทิศทางที่ต่างกัน ส่วนงูอีกตัวหนึ่งที่มีหลายหางแต่มีหัวเดียวรีบมุดเขาไปในรูหนึ่งทันทีและอยู่ในนั้นอย่างอบอุ่นตลอดฤดูหนาว ในขณะที่งูที่มีหลายหัวแข็งตายด้วยความหนาว

หลังจากอธิบายถึงความจริงจังและความสำคัญของเรื่องนี้แล้ว เจงกิสข่านจึงบอกให้โจชิลูกชายคนโตพูดเรื่องผู้สืบทอดอำนาจเป็นคนแรก การจัดลำดับในการนั่ง เดิน พูด ดื่ม และกิน ล้วนมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ในหมู่ชาวมองโกลแม้กระทั่งปัจจุบันนี้ การจัดลำดับการพูดเช่นนี้ก็เท่ากับท่านข่านย้ำอย่างเปิดเผยว่าโจชิมีฐานะเป็นลูกชายคนโตของท่าน และนี่ก็เหมือนเป็นการยกให้เขาเป็นผู้สืบทอดอำนาจ ถ้าลูกชายที่รองลงมายอมรับอันดับการพูดเช่นนี้ก็จะเท่ากับยอมรับว่าโจชิมีความชอบธรรมและมีอาวุโสเหนือคนอื่น

ชักฮาไตลูกชายคนรองไม่ยอมให้มีการทึกทักเอาเองนี้ผ่านไปโดยไม่มีการเอ่ยถึงและไม่ถูกทดสอบ ก่อนที่โจชิจะตอบท่านข่านผู้เป็นบิดา ชักฮาไตก็พูดเสียงดังว่า “เมื่อท่านพ่อบอกให้โจชิพูด” เขาถามบิดาอย่างท้าทาย “เท่ากับมอบให้เขาเป็นผู้สืบทอดอำนาจเช่นนั้นหรือ” จากนั้นเขาก็พูดโพล่งถึงปัญหาที่ไม่ต้องการคำตอบแต่เจตนาเป็นถ้อยคำที่พูดถึงความจริง

ไม่ว่าเจงกิสข่านจะไม่เห็นด้วยเพียงไรเกี่ยวกับความสงสัยว่าใครคือพ่อของโจชิซึ่งเกิดเมื่อสี่สิบปีก่อน แต่คลอดไม่นานหลังจากบอร์เตได้รับการช่วยเหลือมาจากพวกเมอร์คิดที่ลักพาตัวนางไป “เราจะยอมให้ตัวเราถูกปกครองโดยไอ้ลูกนอกคอกของพวกเมอร์คิดงั้นหรือ” ชักฮาไตตั้งคำถามกับบิดาและน้อง ๆ

โจชิชะงักเมื่อถูกน้องชายเรียกว่าลูกนอกคอก เขาคำรามออกมาแล้วพุ่งเข้าไปคว้าคอเสื้อชักฮาไต ทั้งคู่ชกต่อยกัน ชักฮาไตได้รับการเตือนว่าบิดารักและนับถือเขาเพียงใดด้วยถ้อยคำที่เต็มไปด้วยความปวดร้าวซึ่งน่าจะเป็นคำพูดของเจงกิสข่านเอง แต่ในพงศาวดารลับกล่าวว่าเป็นคำพูดของที่ปรึกษาคนหนึ่งเพื่อรักษาเกียรติของท่านข่าน ท่านข่านผู้บิดาวิงวอนต่อลูกชายด้วยถ้อยคำที่เจ็บปวดอย่างชัดเจนเพื่อให้เข้าใจความแตกต่างของเรื่องราวในอดีตก่อนที่ลูก ๆ จะเกิด เมื่อความหวาดกลัวครอบงำทุ่งหญ้าสเตปป์ เพื่อนบ้านต่อสู้กันเองโดยไม่มีใครปลอดภัย สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้เป็นแม่เมื่อนางถูกลักพาตัวไปไม่ใช่ความผิดของนาง “นางไม่ได้หนีไปจากบ้าน…นางไม่ได้รักชายอื่น นางถูกคนที่มาเพื่อฆ่าจับไป”

เจงกิสข่านแทบจะอ้อนวอนลูก ๆ อย่างอ่อนโยนให้จำไว้ว่า แม้สภาพการเกิดของพวกเขาจะต่างกัน แต่ทุกคนล้วนออกมาจาก “มดลูกที่อบอุ่นอันเดียวกัน” และว่า หากเจ้าลบหลู่แม่ผู้นำชีวิตจากหัวใจมอบให้เจ้า หากเจ้าทำให้ความรักที่นางมีต่อเจ้าเย็นชาลง แม้เจ้าจะขออภัยต่อนางในภายหลัง แต่ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว” ผู้เข้าร่วมประชุมได้เตือนลูก ๆ ของเจงกิสข่านให้ทราบถึงความยากลำบากของผู้เป็นพ่อและแม่ในการสร้างชาติใหม่ และสาธยายถึงความเสียสละของทั้งคู่เพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าสำหรับลูก ๆ

หลังจากเหตุการณ์สะเทือนอารมณ์ยาวนานผ่านไป เจงกิสข่านรู้ดีว่าไม่สามารถบังคับให้ลูกชายยอมรับการเลือกซึ่งพวกเขาจะปฏิเสธหลังจากที่ตนเสียชีวิตไปแล้ว ท่านจะต้องไกล่เกลี่ยหาข้อตกลงที่ประนีประนอมเพื่อให้ลูกทุกคนยอมรับด้วยความเต็มใจ ท่านข่านใช้อำนาจความเป็นพ่อที่มีจำกัดด้วยการกล่าวย้ำอีกครั้งว่าตัวท่านเองยอมรับโจชิเป็นลูกชายคนโตและสั่งให้ลูก ๆ ที่เหลือยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นความจริงและไม่ต้องต้องสังสัยเรื่องที่ใครเป็นพ่อของโจชิอีก

ชักฮาไตยอมตามคำสั่งของบิดาแต่ก็แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าแม้จะยอมรับฟังคำของบิดาแต่คำพูดไม่อาจทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงได้ ชักฮาไตแค่นยิ้มแล้วบอกว่า “สัตว์ที่ล่าด้วยปากเอาขึ้นหลังม้าไม่ได้ สัตว์ที่ฆ่าด้วยคำพูดก็ถลกหนังไม่ได้” โดยภายนอกแล้วลูก ๆ ที่เหลืออาจยอมรับความชอบธรรมของโจชิตราบใดที่เจงกิสข่านยังมีชีวิตอยู่ แต่โดยภายในแล้วพวกเขาไม่เคยยอมรับเลย แม้จะยอมรับโจชิในฐานะลูกชายคนโต แต่ก็ไม่อาจรับประกันการสืบทอดตำแหน่งข่านผู้ยิ่งใหญ่ของเขา เพราะตำแหน่งที่สำคัญเช่นนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานความสามารถและการสนับสนุนจากผู้อื่นไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ

ชักฮาไตรู้ดีว่าการที่ตนทำให้บิดาโกรธขนาดนั้น บิดาคงไม่ยอมมอบตำแหน่งข่านผู้ยิ่งใหญ่ให้เขา แต่เขาก็ยังขัดขวางไม่ให้โจชิได้ตำแหน่งนี้ไป ดังนั้น ชักฮาไตจึงเสนอข้อประนีประนอมกับครอบครัวซึ่งจะเป็นที่เข้าใจทันทีหรือเป็นที่ยอมรับจากน้อง ๆ เขาเสนอว่าทั้งตัวเขากับโจชิจะไม่เป็นข่าน ดังนั้น ตำแหน่งผู้สืบทอดจึงเป็นของโอโกไดน้องชายคนที่สามซึ่งสุขุม เยือกเย็น อารมณ์ดี และดื่มหนัก

โอโกได

โจชิไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากสงคราม เขาจึงยอมประนีประนอมและยอมรับโอโกไดในฐานะผู้สืบทอดตำแหน่ง จากนั้นเจงกิสข่านจึงจัดแบ่งดินแดนและสัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นส่วนของท่านข่านเองให้แก่ลูกชายแต่ละคนด้วยการปฏิบัติที่พ่อแม่มักทำกับลูก ๆ ที่ทะเลาะกัน ท่านข่านแยกลูกชายทั้งสองออกจากกัน “พระแม่ธรณีนั้นกว้างใหญ่ไพศาล มีแม่น้ำและสายน้ำนับไม่ถ้วน เจ้าทั้งสองจงสร้างค่ายพักให้อยู่ห่างกัน” จากนั้นท่านข่านก็เตือนลูกชายไม่ให้ทำในสิ่งที่ผู้คนจะหัวเราะเยาะหรือดูหมิ่น

ผู้รอบรู้ชาวมุสลิมที่รับใช้ราชสำนักมองโกลเผชิญกับความลำบากอย่างยิ่งในการบันทึกเหตุการณ์ครั้งนี้ เนื่องจากสำหรับเขาแล้ว เกียรติของชายคนหนึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถของเขาในการควบคุมเรื่องเพศของผู้หญิงที่อยู่รอบตัวเขา เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อสำหรับผู้ชายที่ทรงอำนาจอย่างเจงกิสข่านที่มีลูกชายที่มีพ่อเป็นชายอื่น หรือแม้แต่จะถูกกล่าวหาเรื่องเช่นนี้จากลูกชายของตน

จูไวนี นักจดหมายเหตุชาวเปอร์เซียนเป็นคนแรกที่เขียนถึงความขัดแย้งนี้ในหนังสือประวัติศาสตร์ของเขาอย่างสมบูรณ์ โดยทำให้การประชุมคูริลไตของครอบครัวกลายเป็นการประชุมที่ราบรื่นมีมารยาทและไม่มีข้อขัดแย้งอย่างสิ้นเชิง ต่างจากพงศาวดารลับที่เขียนโดยชาวมองโกลที่รวบรวมเรื่องราวการทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัวไว้ทั้งหมด

เหตุการณ์ครั้งนี้ที่จูไวนีเล่า เจงกิสข่านได้กล่าวยกย่องคุณสมบัติที่น่าชื่นชมของโอโกไดและพี่น้องทุกคนก็เห็นพ้องด้วย ลูก ๆ ที่อยู่ในโอวาท “คุกเข่าลงด้วยความภักดีและอ่อนน้อม และตอบด้วยลิ้นที่เชื่อฟังโดยกล่าวว่า ‘ผู้ใดเล่าที่จะมีอำนาจต่อต้านคำพูดของเกงกิสข่าน และผู้ใดเล่าที่จะกล้าปฏิเสธ’…พี่น้องทุกคนของโอโกไดเชื่อฟังคำสั่งของท่านข่านและเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้”

ราชิด อัล-ดิน นำเสนอเรื่องราวที่น่าเชื่อถือขึ้นอีกเล็กน้อยด้วยเนื้อหาที่ต่างจากเหตุการณ์เดิมบ้าง แต่ต้นฉบับของเขามีการเว้นว่างในจุดสำคัญที่อาจสร้างความเสื่อมเสียต่อเกียรติของท่านข่านและภรรยา เขาเขียนไว้ว่า “เนื่องจาก_หนทางของความเป็นเอกภาพถูกเหยียบย่ำเหนือพวกเขาทั้งสองฝ่าย” แต่สมาชิกจำนวนมากของครอบครัว “ไม่เคยกล่าวถึงเรื่องสบประมาทนั้น แต่เห็นว่า_ของเขาเป็นเรื่องจริง”

ไม่ว่าข้อความที่เว้นว่างนั้นจะอยู่ในต้นฉบับเดิมของราชิดอัล-ดินหรือผู้คัดลอกต่อ ๆ มาได้ทำขึ้น แต่ก็แสดงถึงความสำคัญเชิงสัญลักษณ์และความสำคัญทางการเมืองของเรื่องราวที่ว่าใครคือบิดาของโจชิสำหรับคนรุ่นต่อมา

ในตอนจบของการปะทะกันที่รุนแรงในครอบครัวระหว่างเจงกิสข่านกับลูกชาย เป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่ามีผู้ใดบ้างที่ล่วงรู้ว่าการประชุมครั้งนี้จะส่งผลสะเทือนไปไกลเพียงไร ในการประชุมคูริลไตของครอบครัวครั้งนี้ ผู้ชนะได้แบ่งโลกด้วยวิถีทางที่จะเป็นลางของการประชุมคองเกรสแห่งเวียนนาภายหลังสงครามนโปเลียน การประชุมแวร์ซายส์หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และการประชุมของสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สองที่ยัลตาและพอตส์ดัม

บอร์เตไม่ได้เข้าร่วมในที่ประชุมครอบครัวแม้จะมีการเอ่ยชื่อของนางหลายครั้ง แต่เป็นไปได้ว่านางยังคงมีชีวิตอยู่ ไม่เป็นที่รับรู้ว่านางได้ยินเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหมู่ลูกชายหรือไม่ ไม่เหลือข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่าจริง ๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นกับนาง ตามเรื่องเล่าสืบทอดกันมานั้น ระหว่างเวลาดังกล่าวนางยังคงใช้ชีวิตอยู่ในทุ่งหญ้าสเตปป์ที่งดงามที่อาร์วาการิมแม่น้ำเคอร์เลน ห่างออกไปจากสถานที่ที่นางและสามีอยู่ร่วมกันในวันแรกของการแต่งงานเพียงระยะขี่ม้าสองสามวัน นางน่าจะเสียชีวิตที่นั่นหรือในบริเวณใกล้เคียงระหว่างปี 1219-1224

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2565