ลิ่มเลือดแห่งคำทำนาย กับที่มาของนาม (เดิม) อันแปลกประหลาดของ “เจงกิสข่าน”

ภาพวาด เจงกิสข่าน เตมูจิน มองโกล
ภาพวาด เจงกิสข่าน ปฐมกษัตริย์แห่งจักรวรรดิมองโกล จากสมุดภาพรวมภาพจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หยวน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงไทเป

ผู้ที่อ่านหรือศึกษาประวัติของ “เตมูจิน” หรือที่รู้จักกันในนาม เจงกิสข่าน” คงจะพอทราบถึงชีวประวัติวัยเยาว์อันโชกโชนของท่านมาบ้าง ทั้งการเป็นผู้นำครอบครัวตั้งแต่เด็ก ความขัดแย้งภายในตระกูล การคุกคามจากเผ่าศัตรูและถูกจับเป็นทาส รวมถึงชาติกำเนิดอันทรหดในฐานะบุตรชายคนโตของ “ภรรยาคนรอง” ของบ้าน แถมมารดาของท่านยังเป็นภรรยาจากการปล้นชิง มิใช่การสู่ขอหรือการสมรสแบบทั่วไป

แม้การลักพาตัวจะเป็นอีกวิธีพื้นฐานของการหาภรรยาในวัฒนธรรมชนเร่ร่อนแห่งทุ่งหญ้าสเตปป์ (ในสมัยนั้น) แต่การจู่โจมเพื่อชิงตัวสตรีนางหนึ่งมาอยู่ในครอบครัวโดยผู้ซึ่งจะเป็นของบิดาของเจงกิสข่านในอนาคตนั้นไม่เพียงเปลี่ยนชีวิตมารดาของท่าน แต่ยังเปลี่ยนวิถีประวัติศาสตร์โลกด้วย และสัญญาณบางอย่างก็ปรากฏให้เห็นทันทีที่เด็กน้อยถือกำเนิด

นอกจากนี้ นาม เตมูจิน ของท่านยังไปตรงกับชื่อของศัตรูที่บิดาเพิ่งสังหารไป เรื่องราวเมื่อแรกเกิดของท่านข่านจึงเต็มไปความพิลึกหลาย ๆ อย่างปะปนกัน

ทั้งนี้ แจ็ก เวเธอฟอร์ด ผู้ศึกษาชีวประวัติของเจงกิสข่านและจักรวรรดิมองโกลได้นำเสนอเรื่องราวเมื่อครั้งแรกเกิดและที่มาของนามอันชวนฉงนนี้ ดังปรากฏในตอนหนึ่งของหนังสือ เจงกิสข่าน มหาบุรุษผู้เปลี่ยนโลก (Genghis Khan and the making of the Modern World) แปลโดย เรืองชัย รักศรีอักษร (มติชน, 2553) ดังนี้ [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


 

แผ่นดินนี้ที่ริมฝั่งแม่น้ำโอนอนเป็นที่ที่เด็กชายคนหนึ่งซึ่งชะตาลิขิตให้ต่อมากลายเป็นที่รู้จักในนามเจงกิสข่านได้ถือกำเนิดขึ้น ตรงข้ามกับความงดงามทางธรรมชาติของดินแดนแห่งนี้ ผู้คนที่นี่มีประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยการต่อสู้และความลำบากยากเข็ญอย่างถาวรมายาวนานก่อนที่เขาจะเกิดในฤดูใบไม้ผลิของปี 162 ปีมะเมียตามปฏิทินของชาวเอเชีย

บนภูเขาโล่งเตียนและโดดเดี่ยวมองไกลออกไปเห็นแม่น้ำโอนอน โฮลัน หญิงสาวที่ถูกลักพาตัวมากำลังดิ้นรนเพื่อให้กำเนิดเขาซึ่งเป็นลูกคนแรกของนาง นางถูกห้อมล้อมด้วยคนแปลกหน้าและคลอดลูกไกลจากครอบครัวที่นางเติบโตและโลกที่นางคุ้นเคย

ก่อนหน้านี้ไม่นานชะตาชีวิตของนางดูเหมือนจะแตกต่างออกไป นางเป็นภรรยาของนักรบหนุ่มอีกคนที่ชื่อ ชิเลตู แห่งเผ่าเมอร์คิด ชิเลตูได้เดินทางไปยังทุ่งหญ้าสเตปป์ทางตะวันออกเพื่อหาและสู่ขอนางจากเผ่าโอลคูนูอุดซึ่งมีชื่อเสียงว่ามีสาวสวย ตามธรรมเนียมของทุ่งหญ้าสเตปป์ เขาจะต้องมอบสินสอดและทำงานให้พ่อแม่นางอาจจะหลายปี ก่อนจะพาลูกสาวของครอบครัวนี้กลับไปยังเผ่าของตนในฐานะเจ้าสาว

หลังจากแต่งงานกันแล้วทั้งคู่เดินทางตามลำพังด้วยเกวียนเป็นเวลาหลายสัปดาห์เพื่อกลับไปยังบ้านเกิดของเขา… โฮลันน่าจะอายุไม่เกินสิบหกปี

……..

เยซูไก คือผู้ที่จับนางและจะได้เป็นสามีใหม่ของนาง เขามาจากลุ่มคนเล็ก ๆ ที่ไม่สลักสำคัญ ซึ่งในวันหนึ่งข้างจะเป็นที่รู้จักกันว่า ชาวมองโกล ในเวลานั้นเขาเป็นเพียงสมาชิกคนหนึ่งของตระกูลบอริจิน ซึ่งขึ้นต่อพวกตายิชิอุด เครือญาติที่มีอำนาจเหนือกว่า เรื่องราวกลับยุ่งยากยิ่งขึ้นสำหรับโฮลันมากกว่าฐานะของผู้ที่จับนางมาเพราะเขามีภรรยาหรือคู่ครองอยู่แล้ว…

โฮลันจะต้องต่อสู่เพื่อสถานะของนางในครอบครัว หากนางโชคดี หญิงทั้งสองคนจะอาศัยอยู่ในเกอร์ (ger) ที่แยกจากกัน เกอร์ เป็นบ้านแบบกระโจมที่ทำขึ้นจากพรมสักหลาดที่หุ้มรอบโครงตาข่าย แต่ทั้งคู่ต้องอยู่ใกล้ชิดกันทุกวัน แม้จะไม่ได้อยู่เกอร์เดียวกันก็ตาม

โฮลันเติบโตขึ้นในทุ่งหญ้าโล่งแจ้งที่กว้างใหญ่ สามารถมองไปได้ไกลทุกทิศทาง และเป็นที่ที่ม้า วัว แกะ และแพะฝูงใหญ่เล็มกินหญ้าจนอ้วนท้วนในช่วงฤดูร้อน นางคุ้นเคยกับอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยเนื้อสัตว์และนมที่ได้จากวิถีชีวิตบนทุ่งหญ้าสเตปป์

ในทางกลับกัน ชนเผ่าเล็ก ๆ ของสามีใหม่ของนางตั้งอยู่ตรงชายขอบด้านเหนือของดินแดนทุ่งเลี้ยงสัตว์ตรงจุดที่ทุ่งหญ้าสเตปป์สูงชันขึ้นไปเป็นป่าบนภูเขา ขาดทุ่งหญ้าที่พอสำหรับเลี้ยงสัตว์ฝูงขนาดใหญ่ เวลานี้นางต้องกินอหารแบบพรานที่นางไม่ค่อยชอบกิน อย่างมาร์มอท หนู นก ปลา และกวางหรือละมั่งเป็นครั้งคราว

พวกมองโกลไร้ประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและรุ่งโรจน์ต่างจากเผ่าอื่น ๆ บนทุ่งหญ้าสเตปป์ พวกเขาถูกมองว่าเป็นเหมือนสัตว์กินซากที่แย่งล่าสัตว์เล็ก ๆ กับหมาป่า เมื่อมีโอกาสก็จะขโมยสัตว์และผู้หญิงจากชาวเลี้ยงสัตว์บนทุ่งหญ้าสเตปป์ โฮลันอยู่ในฐานะทาสที่ถูกจับมาเพียงเล็กน้อย

ตามเรื่องราวที่มักจะกล่าวขานกัน เชื่อว่าลูกคนแรกของโฮลันได้ดิ้นรนเพื่อเกิดมาสู่โลกโดยกำบางอย่างที่เร้นลับและเป็นลางร้ายในนิ้วมือขวา ผู้เป็นแม่กางนิ้วมือของทารกออกทีละนิ้วอย่างอ่อนโยนแต่ตื่นเต้น แล้วเห็น ลิ่มเลือด สีดำขนาดใหญ่เท่ากับกระดูกข้อนิ้ว ทารกน้อยได้กำลิ่มเลือดจากที่ไหนสักแห่งในมดลูกที่อบอุ่นของมารดาตนและนำจากโลกนั้นมาสู่โลกนี้

สาวน้อยผู้ขาดประสบการณ์ ไร้การศึกษา และโดดเดี่ยวอย่างน่าสงสาร จะทำอย่างไรกับสัญลักษณ์ในมือลูกชาย กว่าแปดศตรรษแล้วที่เรายังพยายามหาคำตอบของปัญหาเดียวกันที่นางมีต่อลูกชาย ลิ่มเลือดแทนคำพยากรณ์หรือคำสาปกันแน่ เป็นการบอกล่วงหน้าถึงโชคดีหรือลางร้าย

นางควรจะภาคภูมิใจหรือตื่นกลัว มีความหวังหรือหวาดหวั่น

…ในบรรดาชนเผ่าทั้งหมดของทุ่งหญ้าสเตปป์ เครือญาติที่ใกล้ชิดกับชาวมองโกลคือชาวตาตาร์และคีตันทางทิศตะวันออก ชาวแมนจูที่ไกลออกไปทางทิศตะวันออก รวมทั้งชาวเตอร์กิก [เติร์ก – ผู้เขียน] แห่งเอเชียกลางทางทิศตะวันตก กลุ่มชาติพันธุ์ทางสามนี้มีมรดกทางวัฒนธรรมและภาษาร่วมกับคนบางเผ่าของไซบีเรีย ซึ่งอาจเป็นแหล่งกำเนิดของผู้คนเหล่านี้ ชาวมองโกลมีถิ่นฐานอยู่ระหว่างชนชาติตาตาร์และเตอร์กิกแห่งเอเชียกลางทางทิศตะวันตก คนภายนอกจึงมักสับสันชาวมองโกลกับพวกเขา…

แม้ว่าชนเผ่าเตอร์กิกและตาตาร์จะรวมตัวกันเป็นพันธมิตรระหว่างชนเผ่าหลายแห่ง แต่ชาวมองโกลกลับแบ่งแยกออกเป็นกลุ่มคนกลุ่มเล็กมากมายที่นำโดยหัวหน้าหรือข่าน บนพื้นฐานของความเกี่ยวกันทางเครือญาติอย่างหลวม ๆ ชาวมองโกลเชื่อว่าตนเองมีอัตลักษณ์ที่ต่างจากชาวเตอร์กิกและชาวตาตาร์อย่างชัดเจน พวกเขาอ้างตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงปัจจุบันว่าสืบเชื้อสายโดยตรงมาจากชาวฮันซึ่งเป็นผู้สถาปนาอาณาจักรแห่งแรกบนที่ราบสูงของทุ่งหญ้าสเตปป์ในศตวรรษที่สาม…

ไม่นานหลังจากเยซูไกลักพาตัวโอลันมา เขาได้ไปร่วมสงครามต่อสู้กับชาวตาตาร์และสังหารนักรบที่ชื่อ เตมูจิน อุจ เขากลับมาหลังจากลูกชายเกิดพอดีจึงตั้งชื่อเด็กคนนี้ว่า เตมูจิน เนื่องจากผู้คนบนทุ่งหญ้าสเตปป์จะมีชื่อเพียงชื่อเดียวในชีวิต การเลือกชื่อจึงมีสัญลักษณ์มากมายและมีอยู่หลายระดับ ชื่อนี้จะบ่งบอกถึงคุณลักษณะ โชคชะตา และพรหมลิขิตของเด็ก

การตั้งชื่อว่าเตมูจินอาจเป็นการย้ำถึงความเป็นศัตรูที่ยังคงอยู่ระหว่างชาวมองโกลกับตาตาร์

แต่ก็มีการถกเถียงในเชิงวิชาการและจินตนาการห้อมล้อมความหมายที่แท้จริงของชื่อเตมูจิน หรืออะไรคือสิ่งที่บิดาต้องการมอบให้กับเขา นัยที่ดีที่สุดของความหมายได้จากธรรมเนียมปฏิบัติของชาวมองโกลที่จะตั้งชื่อให้เด็กด้วยคำที่มาจากรากศัพท์พื้น ๆ

ในบรรดาลูกทั้งสี่คนของโฮลันที่เกิดหลังเตมูจิน ลูกชาวคนเล็กของนางมีชื่อว่า เตมูเก ส่วนลูกคนสุดท้องและเป็นลูกสาวเพียงคนเดียวของนางชื่อ เตมูลัน ชื่อของเด็กทั้งสามคนดูเหมือนจะมีคำกริยาที่เป็นรากศัพท์ร่วมกันว่า เตมูล คำนี้ปรากฏในคำภาษามองโกลมากมาย มีความหมายว่าพุ่งทะยานไปข้างหน้า ได้รับแรงบันดาลใจ มีความคิดสร้างสรรค์ และแม้แต่ความหมายว่าการโบยบินของจินตนาการ

นักศึกษาชาวมองโกลผู้หนึ่งอธิบายกับผู้เขียนว่า การยกตัวอย่างที่ดีที่สุดสำหรับคำคำนี้ทำได้โดย “การมองเข้าไปในดวงตาของม้าที่กำลังวิ่งห้อไปยังที่ที่มันอยากไป ไม่ว่าคนขี่จะต้องการอะไร”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ธันวาคม 2565