ศึกสุดท้ายของ “เจงกิสข่าน” กับบันทึกวาระสุดท้ายและที่ตั้งสุสานอันเป็นปริศนา

อนุสาวรีย์ เจงกิสข่าน อูลาน บาตอร์ มองโกเลีย
อนุสาวรีย์เจงกิสข่านที่อูลาน บาตอร์ เมืองหลวงของมองโกเลีย (ภาพจาก pixabay.com)

เรามักเห็นชะตากรรมของผู้พิชิตคนสำคัญในประวัติศาสตร์หลาย ๆ คนที่เสียชีวิตอย่างน่าอนาถก่อนวัยอันควร ในวัยเพียง 33 ปี อเล็กซานเดอร์มหาราช สิ้นพระชนม์อย่างเป็นปริศนาในบาบิโลน เหล่าขุนศึกสังหารครอบครัวของพระองค์และเฉือนแบ่งดินแดนกันอย่างบ้าคลั่ง จูเลียส ซีซาร์ ถูกเหล่าสหายและพันธมิตรเก่าแทงเสียชีวิตในห้องประชุมสภาซีเนตกลางกรุงโรม ส่วน จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ต้องเผชิญกับความตายเฉกเช่นนักโทษ ถูกขังเดี่ยวบนเกาะอันห่างไกลกลางมหาสมุทรแอตแลนติกและไปถึงยากที่สุดบนโลกใบนี้ แต่เรื่องราวของ “เจงกิสข่าน” จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งมองโกลกลับแตกต่างออกไปจากผู้พิชิตเหล่านี้

ข้อมูลที่เชื่อถือได้สูงระบุว่า เจงกิสข่านในวัยใกล้เจ็ดสิบสิ้นพระชนม์บนเตียงในค่ายพักของพระองค์เอง รายล้อมด้วยครอบครัว สหาย และขุนศึกผู้จงรักภักดี ขณะกำลังจะประสบความสำเร็จในสงครามปราบเผ่าตานกุท รัฐบริวารของจักรวรรดิมองโกล

เจงกิสข่านสิ้นพระชนม์ในฤดูร้อน ค.ศ. 1227 ในขณะที่เรื่องเล่าและบันทึกประวัติศาสตร์มากมายกล่าวถึงบั้นปลายชีวิตและวาระสุดท้ายของพระองค์อย่างหลากหลายและน่าตื่นตาตื่นใจ แจ็ก เวเธอร์ฟอร์ด ผู้ศึกษาชีวประวัติของเจงกิสข่านและจักรวรรดิมองโกลอย่างละเอียดได้นำเสนอเรื่องราวในบั้นปลายชีวิตของข่านผู้ยิ่งใหญ่องค์นี้อย่างน่าสนใจ ดังปรากฏในตอนหนึ่งของหนังสือ เจงกิสข่าน มหาบุรุษผู้เปลี่ยนโลก (Genghis Khan and the making of the Modern World) แปลโดย เรืองชัย รักศรีอักษร (มติชน, 2553) ดังนี้


สงครามครั้งสุดท้ายในชีวิตที่ยาวนานของ เจงกิสข่าน เป็นการต่อสู้กับพวกตานกุท ซึ่งเป็นศัตรูต่างชาติชาติแรกที่ท่านข่านรุกรานในปี 1207 อันเป็นปีถัดจากการก่อตั้งอาณาจักรมองโกล

แม้ชาวตานกุทจะยอมแพ้ตั้งแต่แรก แต่เจงกิสข่านซึ่งแค้นเคืองข่านของชาวตานกุทไม่เหือดหาย เพราะเขาปฏิเสธที่จะจัดกองทหารไปร่วมในการรุกรานควาริสม์ ราชาแห่งตานกุทส่งสาส์นมาด้วยความทะนงตนว่าหากเจงกิสข่านไม่สามารถเอาชนะควาริสม์ได้โดยลำพังก็ไม่ควรไปทำสงคราม เจงกิสข่านแม้จะไม่พอใจแต่ก็พุ่งเป้าเฉพาะหน้าไปที่สงครามควาริสม์ แต่ทันทีที่เสร็จสงครามควาริสม์แล้ว ท่านข่านก็ค่อยหันกลับไปยังตานกุท…

ช่วงฤดูหนาวปี 1226-1227 ระหว่างการเดินทางข้ามทะเลทรายโกบีเพื่อทำสงครามกับพวกตานกุท เจงกิสข่านได้พักทัพเพื่อล่าม้าป่า เมื่อม้าป่าพุ่งเข้าใส่ท่านข่าน ม้าสีเทาแดงที่ท่านข่านขี่ถอยหลังด้วยความตกใจ แล้วม้าก็พยศเหวี่ยงท่านข่านผู้ยิ่งใหญ่ลงไปบนพื้น ท่านข่านปฏิเสธที่จะกลับบ้านทั้ง ๆ ที่ได้รับบาดเจ็บภายใน มีไข้สูง และ เยซุย ผู้เป็นภรรยา [ภรรยารอง ส่วนภรรยาหลักคือ “บอร์เต” – ผู้เขียน] ก็แนะนำด้วยความห่วงใย แต่ท่านข่านกลับดำเนินการทำสงครามกับพวกตานกุทต่อไป…

หกเดือนกับอีกเพียงไม่กี่วันต่อมาก่อนชัยชนะครั้งสุดท้ายเหนือตานกุท เจงกิสข่านก็จบชีวิตลง ใน พงศาวดารลับ กล่าวอย่างชัดเจนว่าท่านข่านเสียชีวิตในปลายฤดูร้อน แม้ในนั้นจะบรรยายถึงม้าแต่ละตัวที่ท่านข่านขี่อย่างละเอียด แต่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาพการเสียชีวิตของท่านกลับหายไปเฉย ๆ ข้อมูลอย่างอื่นยืนยันว่าเมื่อความตายมาถึงในที่สุด เยซุยชายาชาวตาตาร์ได้จัดเตรียมร่างของท่านทำพิธีฝังศพอย่างเรียบง่ายในแบบที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของเจงกิสข่าน

ผู้เข้าร่วมพิธีทำความสะอาดและสวมเสื้อผ้าให้ศพด้วยเสื้อคลุมสีขาวเรียบ รองเท้าบู๊ตสักหลาด และหมวก แล้วห่อศพด้วยผ้าห่มสักหลาดสีขาวที่ใส่ไม้จันทน์ ซึ่งเป็นดอกไม้หอมที่ใช้ไล่แมลง และทำให้ศพมีกลิ่นหอม จากนั้นจึงมัดหีบศพสักหลาดด้วยสายทองคำสามเส้น

ในวันที่ขบวนแห่ศพออกเดินทางไปยังมองโกเลีย โดยนำร่างของข่านผู้ยิ่งใหญ่ใส่ในเกวียนธรรมดา มีธงวิญญาณของเจงกิสข่านนำหน้าผู้ที่ร่วมไว้อาลัยตามด้วยหมอผีหญิง ข้างหลังนางเป็นม้าที่ผูกบังเหียนหลวม ๆ และอานม้าที่ว่างเปล่าของเจงกิสข่าน…

คำบรรยายที่เหมาะสมที่สุดเกี่ยวกับการจากไปของเจงกิสข่านอาจมาจากปลายปากกาของเอ็ดเวิร์ด กิบบอน ในศตวรรษที่สิบแปด กิบบอนเป็นนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษที่ศึกษาเกี่ยวกับโรมัน และนักวิชาการที่ยิ่งใหญ่เกี่ยวกับอาณาจักรและการพิชิต เขาเขียนอย่างง่าย ๆ ว่าเจงกิสข่าน “เสียชีวิตในความสมบูรณ์ของวัน-เวลาและเกียรติยศ ก่อนสิ้นใจได้ย้ำเตือนและแนะนำให้ลูก ๆ พิชิตอาณาจักรจีนให้สำเร็จ”

……..

เราค้นพบความคิดที่ไม่ธรรมดาชั่วขณะจิตใจของเจงกิสข่าน และในความคิดของท่านต่อตนเองเมื่อใกล้ถึงจุดจบของชีวิต ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ในเนื้อความของจดหมายที่เจงกิสข่านส่งไปให้นักพรตลัทธิเต๋าในจีน บรรดาศิษย์ของนักพรตชราผู้นี้ได้คัดลอกสำเนาไว้ จดหมายฉบับนี้ได้บันทึกการวิเคราะห์ตนเองของเจงกิสข่าน ซึ่งต่างจากพงศาวดารลับที่ส่วนมากเป็นการบันทึกการกระทำและถ้อยคำของท่านข่าน…

ความเห็นของท่านข่านแสดงออกมาอย่างอย่างง่าย ๆ ชัดเจน โดยผ่านสามัญสำนึก ท่านข่านให้เหตุผลเกี่ยวกับการล่มสลายของศัตรูว่าเป็นเพราะการขาดความสามารถของพวกเขาเองมากกว่าเพราะความเก่งกาจเหนือกว่าของตัวท่าน “ข้าไม่ได้เก่งกาจอะไรนักหรอก” ท่านกล่าวว่าฟ้านิรันดร์ได้ลงโทษอารยธรรมรอบ ๆ ท่านเนื่องจาก “ความยโสโอหังและความหรูหราฟุ่มเฟือย” ของพวกเขา

ท่านข่านยังคงใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายแม้ว่าจะสั่งสมความมั่งคั่งและอำนาจอย่างมหาศาลก็ตาม “ข้าสวมเสื้อผ้าและกินอาหารอย่างเดียวกับคนเลี้ยงวัวและคนเลี้ยงม้า เราบูชาสิ่งเดียวกันและแบ่งปันความมั่งคั่งให้แก่กัน” …

……..

หลายปีหลังการเสียชีวิตของเจงกิสข่าน ความลับที่ยังคงอยู่เกี่ยวกับสาเหตุการตายก่อให้เกิดการคาดเดา และต่อมาได้ปลุกเร้าให้เกิดตำนานซึ่งมักจะกลายเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์…

พลาโน ดี คาพีนี ทูตยุโรปคนแรกที่มายังอาณาจักรมองโกลเขียนไว้ว่า เจงกิสข่านเสียชีวิตตอนถูกฟ้าผ่า มาร์โค โปโล ที่เดินทางไปหลายแห่งในจักรวรรดิมองโกลระหว่างรัชสมัยกุบไลข่านหลานปู่ของเจงกิสข่าน บันทึกว่า เจงกิสข่านเสียชีวิตจากบาดแผลธนูที่หัวเข่า บ้างก็อ้างว่าถูกศัตรูที่ไม่รู้จักวางยาพิษ

บันทึกอื่นยืนยันว่าท่านข่านถูกมนตร์ดำของกษัตริย์ตานกุทที่สู้รบกันอยู่ เรื่องหนึ่งที่ผู้ให้ร้ายประโคมข่าวออกไปอ้างว่า ราชินีตานกุทที่ถูกจับเป็นเฉลย ได้นำเครื่องมืออย่างหนึ่งใส่ในช่องคลอดและเมื่อเจงกิสข่านร่วมเพศกับนาง อวัยวะเพศก็ถูกตัดขาดทำให้ท่านข่านตายด้วยความเจ็บปวดแสนสาหัส

ตรงกันข้ามเกี่ยวกับเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับการตายของเจงกิสข่าน ความตายในเกอร์ของชนเผ่าเร่ร่อน [กระโจมแบบมองโกล – ผู้เขียน] ซึ่งคล้ายคลึงอย่างยิ่งกับเกอร์ที่ท่านข่านถือกำเนิด แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของท่านในการดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเอาไว้

…ทหารของเจงกิสข่านได้นำร่างข่านผู้ล่วงลับของพวกตนกลับไปยังบ้านเกิดของท่านในมองโกเลีย เพื่อทำพิธีฝังอย่างลับ ๆ หลังการตายของท่าน ผู้ติดตามได้ฝังร่างของท่านไว้ในดินของบ้านเกิดโดยไม่ระบุชื่อ ปราศจากสุสาน วัด พีระมิด หรือกระทั่งแผ่นหินจารึกบนหลุมศพเพื่อเป็นเครื่องหมายบอกตำแหน่งที่ร่างของท่านนอนอยู่

ตามความเชื่อของชาวมองโกลนั้น ร่างของผู้ตายควรจะอยู่อย่างสงบ ไม่จำเป็นต้องสร้างเป็นอนุสาวรีย์ เพราะดวงวิญญาณไม่ได้อยู่ที่นั่นอีกต่อไป แต่สถิตอยู่ในธงวิญญาณ ในพิธีฝังศพ เจงกิสข่านได้หายไปอย่างเงียบ ๆ กลับคืนสู่ผืนดินอันกว้างใหญ่ไพศาลของมองโกเลียอันเป็นสถานที่ที่ท่านจากมา ยังคงไม่มีใครรู้จุดหมายปลายทางสุดท้าย

แต่ในสภาพขาดข้อมูลที่เชื่อถือได้ ผู้คนสร้างประวัติศาสตร์ของตนได้อย่างอิสระ ด้วยการเติมแต่งเรื่องราวด้วยสิ่งเร้าใจมากมาย เรื่องราวที่นำมาเล่าขานกันครั้งแล้วครั้งเล่าก็คือทหารที่อยู่ในขบวนแห่ศพได้สังหารคนและสัตว์ทั้งหมดที่พบในช่วงเวลาสี่สิบวันของการเดินทาง และหลังจากการฝังศพอย่างลับ ๆ ทหารม้าแปดร้อยนายได้ย่ำไปมาบนบริเวณนั้น เพื่อปกปิดตำแหน่งหลุมฝังศพ

และแล้วจากเรื่องราวที่เต็มไปด้วยจินตนาการเหล่านี้ ทหารม้าพวกนี้ก็ถูกสังหารโดยทหารอีกกลุ่มหนึ่งเพื่อจะได้ไม่เปิดเผยตำแหน่งหลุมฝังศพ จากนั้นก็ถึงคราวที่ทหารกลุ่มนี้จะถูกสังหารโดยนักรบอีกกลุ่มหนึ่ง

ภายหลังการฝังศพอย่างลับ ๆ ในบ้านเกิดของท่านข่าน บรรดาทหารได้ปิดกั้นพื้นที่ทั้งหมดจำนวนหลายร้อยตารางไมล์ ไม่มีใครเข้าไปได้ยกเว้นสมาชิกในตระกูลของเจงกิสข่าน และนักรบที่ผ่านการฝึกฝนมาเป็นพิเศษประจำการที่นั่นเพื่อสังหารผู้บุกรุกทุกคน

บริเวณที่เรียกว่าอิคห์ โคริก (Ikh Khorig) หรือสถานที่ต้องห้ามอันยิ่งใหญ่ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปใจกลางเอเชียยังคงปิดอยู่เป็นเวลาเกือบแปดร้อยปีมาแล้ว ความลับทั้งหมดเกี่ยวกับจักรวรรดิของเจงกิสข่านดูเหมือนว่าจะถูกกักขังไว้ในดินแดนบ้านเกิดอันเร้นลับเป็นเวลานานหลังการล่มสลายของจักรวรรดิมองโกล และกองทัพต่างชาติได้รุกเข้าไปในดินแดนบางส่วนของมองโกเลีย ชาวมองโกลได้ป้องกันไม่ให้ใครเข้าไปในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของบรรพบุรุษพวกตน

ถึงแม้ว่าที่สุดแล้วชาวมองโกลจะเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ แต่บรรดาผู้สืบตระกูลของเจงกิสข่านปฏิเสธที่จะอนุญาตให้พระสร้างศาล วัด หรืออนุสรณ์สถานเพื่อระบุหลุมฝังศพของท่าน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2565