ย้อนดูจุดเริ่มต้นและจุดจบ “คณะกรรมการราษฎร 2475” ผู้พลิกโฉมหน้า “การเมืองไทย” (ตอนจบ)

ฉลอง งาน 2475
ภาพวันงานฉลองรัฐธรรมนูญ (เครดิต Wikimedia)

เมื่อริเริ่มการใหญ่ โดยเฉพาะการกำจัดขุมอำนาจเก่า ในเวลาต่อมา “คณะกรรมการราษฎร 2475” จึงถูกหมายหัวจากทุกทางและก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามมาซึ่งมีผลต่อชีวิตของกลุ่มคณะราษฎรอย่างมาก และนำไปสู่จุดจบ

อ่านเรื่องราวก่อนหน้าได้ที่ ย้อนดูจุดเริ่มต้นและจุดจบ “คณะกรรมการราษฎร 2475” ผู้พลิกโฉมหน้า “การเมืองไทย” (ตอนที่ 2) 

Advertisement

ด้วยความระแวงและความกลัว คณะกรรมการราษฎรต้องจัดสายสืบสอดส่องพฤติกรรมฝ่ายตรงกับข้ามตามวังเจ้าและบ้านขุนนางกว่า 50 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นพวกที่ถูกปลดออกจากราชการ 

โดยมีหลวงนฤเบศร์มานิต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่หัวหน้าสืบ กระแสข่าวลือต่าง ๆ จึงแพร่สะพัดเข้ามาในกองบัญชาการที่วังปารุสกวัน เพราะตามธรรมชาติของข่าวลือ ยิ่งมีผู้ให้ความสนใจมากเท่าไหร่ ผู้เสนอข่าวจะต้องผลิตผลงานออกมาให้ได้มากเท่านั้น 

สายสืบเหล่านี้ก็ไม่มีระดับ ส่วนใหญ่จะไปนั่งคอยจดเบอร์รถเข้าออกตามวังหรือตามบ้านข้าราชการด้วยเศษกระดาษขยุกขยิก ถ้าวันไหนต้องนั่งรถรางสะกดรอยตาม สายสืบจะรายงานว่า “ด้วยเงินเกล้าฯ หมด จึงไม่ได้ติดตามไป” และมีบ่อยครั้งที่ขอ “พึ่งเงิน” 5 บาทบ้าง 10 บาทบ้าง ตามแต่เหตุผลที่ยกขึ้นมาอ้าง เช่น “จะต้องให้สายของเรา 3-4 คน สำหรับตรุษจีน ครั้นจะทำเฉยเสีย ก็จะทำให้ลูกน้องเหินห่างไป”

รายงานลับที่ส่งมาถึงคณะกรรมการราษฎรมีสารพัดเรื่อง ตั้งแต่เรื่องที่พอจะรับฟังได้ จนกระทั่งเรื่องเหลือเชื่อ ฟุ้งซ่าน หรือเรียกได้ว่า “เวอร์” แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ 3 ประเภท คือ ข้อตำหนิคณะผู้ก่อการ ความเคลื่อนไหวของพวกเจ้า และการปฏิบัติงานของฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลใหม่ 

ข่าวประเภทแรก เป็นคำติฉินนินทาและการจะลอบทำร้ายคณะผู้ก่อการ ซึ่งมีอยู่ตลอดเวลาหลังการปฏิวัติเพียงอาทิตย์เดียว

ข่าวนี้รุนแรงขึ้นตามลำดับเมื่อมีผู้สูญเสียอำนาจและผลประโยชน์เพิ่มขึ้น คณะผู้ก่อการถูกมองว่าเป็น “ไอ้พวกกบฏขายเจ้า” เป็น “พวกเห็นแก่ตัวและเล่นพวก”

ที่น่าสนใจคือ ผู้ตำหนิรัฐบาลใหม่มาก ๆ กลายเป็นพวกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายสิบ พลทหาร ตลอดไปจนถึงเจ๊กขายกาแฟ เจ๊กขายข้าวสาร มีการขุดคุ้ยโจมตี กรณีที่ผู้ใช้นามสกุลเดียวกับพระยาพหลพลยุหเสนา คือ “นายแนบ พหลโยธิน” ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการราษฎร

เรื่องนายสิบ พลทหารถูกทอดทิ้งได้ดิบได้ดีกันเฉพาะนายทหารชั้นสัญญาบัตรกับนักเรียนนายร้อย ราวกับว่า “นายสิบเป็นทหารญวน ส่วนนายทหารเป็นนายทหารฝรั่งเศส” 

เรื่องชาวคณะผู้ก่อการระดับ “หัวแม่มือ” เริ่มแตกร้าว บาดหมางใจกัน พร้อม ๆ กันนี้ก็มีข่าวข้าราชการทหารและพลเรือนทั้งที่ยังอยู่ในราชการและถูกปลดออกจากราชการ ออกไปปลุกระดมราษฎรต่างจังหวัดให้ต่อต้านรัฐบาลใหม่ กรรมกรรถลากสไตร์ก จุดไฟเผาทั่วกรุงเทพฯ พนักงานไปรษณีย์หลายร้อยคนจะนัดหยุดงาน 

แต่สิ่งที่ผู้คนตกใจมากคือจะเกิดการนองเลือดและทิ้งลูกระเบิดที่วังปารุสกวันในวันที่ 23 ตุลาคม 2475 ข่าวเรื่องนี้ข้ามชาติไปจนถึงกับมีเรื่องยืนยันว่าสถานทูตฝรั่งเศสเตรียมอยพพ และธนาคารเมอแคนไตล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โทรเลขถึงสาขาในกรุงเทพฯ ให้ระวัง “สยามจะยุ่ง”

ตามข่าวพระยาพหลพยุหเสนา ตกเป็นเป้าการลอบทำร้ายมากที่สุด 

ทั้งข่าวให้รางวัลแก่ผู้ยิงท่านเจ้าคุณ 1,000 บาท ข่าวจะถูกลอบวางยาพิษจนมีผู้เตือน “ให้ระวังอาหารและเครื่องดื่ม—” และเตือนไม่ให้ไปไหนมาไหนตามลำพัง แม้กระทั่งพระภิกษุก็อย่าปล่อยให้เดินในระยะใกล้ชิด

จะขอยกตัวอย่างรายงานฉบับหนึ่งที่สายสืบเก็บได้ ไม่มีชื่อผู้ส่ง ไม่ลงวันที่ เขียนถึง “เจ้าคุณ ที่รัก” ความว่า “เรื่องที่จะกำจัดพระยาพหลฯ นั้น เจ้าคุณจงกราบทูลท่านว่าอย่าวิตกเลย สิ่งของสำเร็จอยู่ใกล้พระองค์ท่านแล้ว คือให้ช่างทำหีบเหล็กลงยาสลักลวดลายอยางวิจิตร เป็นของมีค่าขนาดกว้าง 6 นิ้ว ยาว 10 นิ้ว สูงเท่าด้านกว้าง ภายในหีบบรรจุวัตถุระเบิดชนิดแรง กลไกที่จะทำให้ระเบิดรออยู่ที่รูกุญแจ ไขเมื่อไรระเบิดเมื่อนั้น 

เอาหีบนี้บรรจุหีบไม้ ส่งถึงพระยาพหลฯ ในจดหมายนำส่งให้ลงนามชาวเยอรมัน ผู้หนึ่งที่ชอบกับพระยาพหลฯ เมื่อครั้งอยู่นอก ในจดหมายบอกว่าส่งของขวัญมาให้ ในการที่คิดการสำเหร็จ ทำอย่างไร พระยาพหลฯ ต้องเปิดในที่ทำการวังปารุสก ต้องระเบิดพังพินาศ”

เพราะฉะนั้น ผู้ที่หวังดีจึงขอให้พระยาพหลฯ “ซึ่งมีพระเดชพระคุณได้โปรดระวังให้มาก ๆ เมื่อยังดำเนินชีพอยู่เกล้าผมและคนจำนวนล้าน ๆ คนได้พึ่งท่าน”

รายงานลับประเภทที่ 2 เป็นเรื่องความเคลื่อนไหวของพระบรมวงศานุวงศ์ 

คณะกรรมการราษฎรส่งสายสืบสอดแนมตามวังเจ้าถึง 20 แห่ง แต่ที่สะกดรอยตามเป็นพิเศษ คือวังสมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฐ์ ถนนพระอาทิตย์, วังบ้านดอกไม้ ถนนวรจักร ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน, วังสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ คลองเตย, วังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถนนหลานหลวง, วังพระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ ถนนราชดำเนินกลาง, วังเทวเวศน์ ถนนสามเสน ของหม่อมเจ้าวงศ์นิรชร เทวกุล และวังหม่อมเจ้าทองทีฆายุ ทองใหญ่ ถนนเศรษฐศิริ บางซื่อ 

คณะกรรมการราษฎร ได้รับทราบข่าวอยู่ตลอดเวลาว่า พวกเจ้า “ตกงาน” พยายามโค่นรัฐบาลใหม่เพื่อชิงอำนาจคืน ตั้ง “คณะคอมมิวนิสต์” ขึ้น มีพวก “คนชั้นต่ำยากจนขัดสน” เช่น พวกแท็กซี่ พวกไร้ญาติ และยังรวม “พวกซ่องต่าง ๆ เข้าด้วย” ได้แก่ ซ่องแหวน ขาวเก้ายอด พวกลักกั๊ก รวมความว่า “รวมพวกเลว ๆ เข้าเป็นคณะหนึ่ง”

นอกจากนี้ ถ้ามีคณะไหนรวมตัวกันต่อต้านรัฐบาล พระนามพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งจะอยู่ในบัญชีดำในฐานะ “คลังเงิน” เช่น กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฐ์ให้เงิน นายหวน นิลรัตน์ นักหนังสือพิมพ์ 4 พันบาท เพื่อคอยเขียนบทความก่อกวนรัฐบาล 

กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินออกเงิน 1 แสนบาท ให้คณะ “กู้ชาติคืน” ของพระยาอธิกรณ์ประกาศ สำหรับเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ หรือ “เมืองฟ้าสุมาตรา” ที่ทรงลี้ภัยอยู่ที่เมืองบันดุง เกาะชวานั้น จะมีรายงานข่าวว่า ยังพัวพันกับการเมืองเพื่อกลับมามีอำนาจในเมืองไทย เพราะยังมีผู้จงรักภักดีอยู่มาก ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดแถวโคราช สระบุรี ปักษ์ใต้ และกรมพระนครสวรรค์ฯ ให้เงินสมาคมชาวปักษ์ใต้ 1 ล้านบาท เพื่อซื้อเสียงคนใต้

สายลับเสนอแนะเพิ่มเติมว่า “…คณะราษฎรฝ่ายทหารจะต้องดำเนินการปกครองไปก่อนจนกว่าจะถึงที่สุด ในเวลานี้ยังไว้ใจไม่ได้—พวกเจ้าจะชิงอำนาจคืน—จะประมาทไม่ได้ ควรจะต้องจัดการป้องกันไว้ให้รอบคอบทุกอย่างจะดี”

รายงานประเภทสุดท้ายเป็นเรื่องของฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลที่รวมตัวเป็นคณะหรือสมาคม 

นอกจากคณะคอมมิวนิสต์ของพวกเจ้าดังกล่าวมาแล้ว ก็มีคณะกู้ชาติคืน คณะรักชาติ สมาคมช่วยอาชีพทหารกองหนุน สมาคมทหารกองหนุน สมาคมเซี่ยงไฮ้ สมาคมคนจน สมาคมคณะชาติ สมาคมสหธัญญพานิชย์ กลุ่มหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ของพระคลังข้างที่ 

รวมทั้งชาวจีนก๊กต่าง ๆ เช่น ก๊กร้านขายทอง ก๊กรถลาก ก๊กรับส่งของซัวเถา กลุ่มเหล่านี้จะมีเจ้า ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และพ่อค้าเป็นหัวหน้า ตัวการใหญ่คือพระยาอธิกรณ์ประกาศอดีตอธิบดีกรมตํารวจภูธร พระยาเสนาสงคราม อดีตผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ที่เคยถูกยิงในวันที่ 24 มิถุนายน และมาถูกยิงซ้ำเป็นครั้งที่สอง ใน เดือนมกราคม พ.ศ. 2475 และพระยาปฏิพัทธภูบาล คนสนิทของเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ที่ติดตามส่งเสด็จถึงชวา

ทุกกลุ่มมีเป้าหมายเดียวกันที่ จะสร้างความปั่นป่วนในบ้านเมืองและ “ยกย่องให้พวกเจ้าเฟื่องฟูขึ้นอย่างเดิม” 

แต่สําหรับกลุ่มชาวจีนมีวัตถุประสงค์เพิ่มขึ้น คือต้องการคัดค้านนโยบายรัฐบาลเรื่องกระทรวง ธรรมการสั่งให้โรงเรียนจีนแบ่งเวลาเรียนหนังสือไทยว่ามากเกินไปเรื่องพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองว่าเรียกเงินแรงไป และเรื่องพระราชบัญญัติ วัด ชั่ง ตวง ว่าทําไม่ได้ คนจีนเหล่านี้มีจํานวนมาก ฐานเศรษฐกิจดี พลังการต่อต้านสูง พระยาอธิกรณ์ประกาศคุมอํานาจไว้ได้หมด จะดําเนินการเมื่อไหร่ก็ได้ เฉพาะพระยาอธิกรณ์ประกาศนั้นปวารณาตัวไว้ว่า “ถูกทํากับตัวเจ็บแสนเหลือเกิน จะยอมเอาชีวิตเข้าแลก—จนเลือดหยดสุดท้าย–”

ข่าวกรองทั้งหมดมีคณะกรรมการราษฎรได้มาจากสายลับอาจจะดูเป็นเรื่องไร้สาระ แต่คนร่วมสมัยขณะนั้น ต้องสนใจเป็นพิเศษ เพราะ เมื่อก่อนการปฏิวัติ วันที่ 24 มิถุนายน ข่าวลือทํานองเดียวกันเกิดขึ้น เป็นข่าวที่ยืนยันต้นตอไม่ได้ ผ่าน กันมาหลายทอด ลือกันหนาหูเกือบ สองเดือน และแล้วการปฏิวัติเกิดขึ้นจริง ๆ

คณะกรรมการราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนพยายามใช้ความอะลุ้มอล่วยเพื่อลดกระแสการโต้แย้งจากฝ่ายตรงข้าม เช่น มีคําสั่งให้โรงพิมพ์ต่าง ๆ ทําลายประกาศโฆษณาเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถ้าโรงพิมพ์เป็นผู้พิมพ์ก็ให้แจกตัวแม่พิมพ์ออกทันที

เมื่อ นายมานิต วสุวัต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขออนุญาตนำภาพยนตร์ซึ่งถ่ายไว้เมื่อตอนเปลี่ยนแปลงการปกครองออกฉายตามโรงมหรสพ พระยามโนปกรณ์นิติธาดาระงับไว้ด้วยเหตุผลว่า “เป็นการเย้ยหยัน หรือที่เรียกว่า ย้ำหัวตะปู เป็นการชอกช้ำแก่ในหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์มากเกินไป”

คณะกรรมการราษฎรยังสั่งถอนใบอนุญาตหนังสือพิมพ์ 24 มิถุนา ของนายสงวน ตุลารักษ์ ผู้ก่อการคนสำคัญ เป็นเวลา 3 วัน ฐานตีพิมพ์เรื่องจีน “ซังกิมไซ” เขียนโดย “หยกเหลือง” ซึ่งมีข้อความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง “เป็นการรื้อฝอยหาตะเข็บ เป็นเสี้ยนหนามต่อความสามัคคี ระวางบุคคลต่างชั้น”

แม้เมื่อหนังสือพิมพ์ ไทยหนุ่ม ลงข่าวว่า กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินกินสินบนของบริษัท Normal Law ซึ่งไม่เป็นความจริง คณะกรรมการราษฎรลงมติให้เรียกบรรณาธิการมาทักท้วง 

นอกจากนี้ พระยามโนปกรณ์ฯ เอง ก็เน้นในที่ประชุมคณะกรรมการต่าง ๆ อยู่เสมอว่า “เราไม่ใช่ศัตรูของเจ้า” 

อย่างไรก็ตาม คนอีกกลุ่มในคณะกรรมราษฎรกลับเห็นว่า ผู้ที่พยายามประนีประนอม คือ พวก “ซากตกค้างมาจากระบอบเก่า” ความคิดจึงเริ่มสวนทาง และบ่อยครั้งตกลงกันไม่ได้ แม้เป็นเรื่องที่ไม่ใช่นโยบายสำคัญ เช่น การยกเว้นค่าเล่าเรียนของบุตรธิดาของคนที่ถูกปลดออกจากราชการหลังวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งมีบำนาญต่ำกว่า 100 บาท แต่อีกฟากฝั่งก็มองว่ากระทรวงธรรมการมีนโยบายจะยกเว้นค่าเล่าเรียนชั้นประถมอยู่แล้ว 

เมื่อเป็นเช่นนี้ สมาชิกคณะกรรมการราษฎรหลายคนจึงแสดงตัวอย่างเปิดเผยว่า ความคิดของกลุ่มไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ความแตกแยกเริ่มบังเกิดขึ้นตั้งแต่ เรื่องของการประชุมที่มีคณะกรรมการราษฎรหลายคนขาดการประชุมเป็นระยะเวลานาน บางคนถึงขั้นประกาศจะลาออกหากกลุ่มคณะเดียวกัน หากยังไม่ได้อำนาจเด็ดขาด

จนเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ความสำคัญของคณะกรรมการราษฎร ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะรัฐมนตรี” ก็ลดลง อำนาจที่เคยมีตามธรรมนูญการปกครองชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475 ถูกโอนกลับเป็นของพระมหากษัตริย์ แม้พวกเขาจะมีอำนาจจากมาตรา 65 ก็ตาม

นอกจากนี้ การแตกร้าวในคณะรัฐมนตรีเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูญธรรมในช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2475 ก่อให้เกิดความปั่นป่วนทางการเมือง จนกระทั่งพระยาพหลพลยุหเสนากับพวกกลับเข้ามายึดอำนาจโดยกำลังทหารเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้เก็บความจาก “คณะกรรมการราษฎร : อำนาจเบ็ดเสร็จหลังเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475” เขียนโดย แถมสุข นุ่มนนท์ ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกันยายน 2534. [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 28 มิถุนายน 2566