“สลากกินแบ่งรัฐบาล” แหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาลไทย มรดกคณะราษฎร

หวย ลอตเตอรี่ สลากกินแบ่ง สลากกินแบ่งรัฐบาล
(ภาพจาก มติชนออนไลน์, 1 มีนาคม 2564)

ทุกวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน ซึ่งเป็นวันออก “สลากกินแบ่งรัฐบาล” หรือที่เรียกกันติดปากว่าวันหวยออก หลายคนคงลุ้นโอกาสเป็นเศรษฐีกันสักครั้งในชีวิต 

นั่นเป็นในแง่มุมเชิงสถิติถึงการคิดคำนวณความน่าจะเป็นของตัวเลขต่าง ๆ แต่ในมุมประวัติศาสตร์แล้ว รู้หรือไม่ว่า สลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ซื้อกันนั้น เป็นมรดกชิ้นหนึ่งของ “คณะราษฎร” และเป็นเพียงสิ่งเดียว ในเค้าโครงการเศรษฐกิจของ ปรีดี พนมยงค์ ที่สามารถอยู่รอดและเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาลไทย มาตั้งแต่สมัยคณะราษฎร

ย้อนไปก่อนจะมีสลากกินแบ่งรัฐบาล สังคมไทยมี “หวย” ซึ่งเป็นการพนันที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน เป็นแหล่งรายได้สำคัญของราชสำนัก เพราะเงินจากอากรหวยสามารถเข้าพระคลังได้เป็นจำนวนมาก หากแต่หวยไทยในอดีตไม่ใช่การเสี่ยงทายตัวเลข แต่เป็น หวย ก ข ซึ่งทั้งคนไทยและคนจีนต้องซื้อหวยภาพ มีทั้งภาพดอกไม้ หรือภาพตัวละครจีน 

เมื่อเข้าสู่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “ลอตเตอรี่” ซึ่งเป็นการพนันแบบใหม่จากตะวันตกได้เข้ามาสู่สยามในปี 2417 พระองค์โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กรมมหาดเล็กออกลอตเตอรี่เป็นครั้งแรกในสยาม เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 20 พรรษา มี นายเฮนรี่ อาลาบาสเตอร์ เป็นผู้อำนวยการออกลอตเตอรี่ โดยศึกษาและทำตามวิธีการชาวยุโรป

ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ออกสลากลอตเตอรี่ของสภารักชาติ ประเทศอังกฤษ จำหน่ายใบละ 5 บาท มีเงื่อนไขการจ่ายเงินรางวัลเป็นสัญญาเงินกู้ของคณะกู้เงินในการสงคราม โดยมีสภารักชาติแห่งประเทศอังกฤษ สาขากรุงเทพ เป็นผู้ลงนาม และมีประเทศสหพันธรัฐมลายู เป็นผู้ค้ำประกัน 

นอกจากนี้ รัชกาลที่ 6 ยังทรงออกลอตเตอรี่เสือป่า เพื่อหารายได้ซื้อปืนพระราชทานให้กองเสือป่า เมื่อปี 2466 อีกด้วย

จึงเห็นได้ว่า ก่อนการปฏิวัติ 2475 ลอตเตอรี่ยังคงมีจุดประสงค์เพื่อหารายได้บำรุงการกุศล ในวาระพิเศษ ในฐานะ “สลากพระราชทาน”

หลังการปฏิวัติ 2475 คณะราษฎรได้ประกาศ “หลัก 6 ประการของคณะราษฎร” โดยประการที่ 3 ระบุถึง “หลักเศรษฐกิจ” คือการบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยก่อน 2475 ต้องเผชิญวิกฤตทางเศรษฐกิจ ซึ่งคณะราษฎรมีความพยายามที่จะแก้ปัญหานี้ 

ปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) จึงได้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ มีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การจัดหาเงินทุนให้รัฐบาลสามารถดำเนินการเศรษฐกิจในประเทศโดยวิธีการต่าง ๆ

ปรีดี พนมยงค์ (ภาพจาก AFP FILES / STR)

วิธีหนึ่งที่ปรีดีนำเสนอ ก็คือ การออกสลากกินแบ่ง (ลอตเตอรี่) นั่นเอง

“การออกสลากกินแบ่ง (ลอตเตอรี่) ซึ่งไม่เห็นจะผิดศีลธรรมอย่างใด จริงอยู่การออกสลากกินแบ่งเป็นการพนัน ผู้ถือสลากย่อมต้องเสี่ยงโชค แต่การเสี่ยงของผู้ถือสลากนั้น ต้องเสียเงินเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อย”

ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงการเศรษฐกิจผ่าน “สมุดปกขาว” ทว่า ก็ไม่ทรงขัดข้องกับข้อเสนอการออกสลากกินแบ่งแต่อย่างใด

แต่เนื่องจากเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี ถูกตีความว่าเป็นคอมมิวนิสต์ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี จึงได้ปัดร่างตกไป และยกพระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 7 โดยไม่มีผู้รับสนอง พร้อมทั้งใช้พระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเมื่อวันที่ 1 เมษายน  2476 เป็นการทำ “รัฐประหารเงียบ” บีบบังคับให้ปรีดีต้องลี้ภัยไปที่ประเทศฝรั่งเศส 

แต่ไม่นาน เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 พระยาพหลพยุหเสนาได้นำกำลังทำรัฐประหารยึดอำนาจพระยามโนฯ ทำให้พระยาพหลฯ กลายเป็นนายกรัฐมนตรีและตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งรัฐบาลพระยาพหลฯ ได้เชิญปรีดีกลับสยามในเดือนกันยายน ปีเดียวกัน โดยรัฐบาลได้กราบทูลรัชกาลที่ 7 ว่าจะไม่รื้อฟื้นเค้าโครงการเศรษฐกิจอีก 

แม้จะถูกปัดตก แต่สิ่งหนึ่งในเค้าโครงการเศรษฐกิจที่เหลือรอดมาได้ คือ สลากกินแบ่ง เพราะเมื่อรัฐบาลพระยาพหลฯ มีนโยบายยกเลิกการจัดเก็บเงินรัชชูปการ ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อราษฎร รายได้ในส่วนนี้จึงขาดหายไป และรัฐบาลต้องการรายได้ไปใช้จ่ายในการศึกษาและพยาบาล โดยไม่ขูดรีดราษฎร  

“สลากพระราชทาน” ที่แต่เดิมออกตามวาระพิเศษ จึงแปรเปลี่ยนเป็น “สลากกินแบ่งรัฐบาล” ในยุคคณะราษฎร โดยรัฐบาลพิจารณาเห็นว่า การออกสลากกินแบ่งอยู่ในความนิยมของประชาชนและสามารถใช้หารายได้เข้ารัฐ โดยราษฎรไม่เดือดร้อน

จากนั้น รัฐบาลได้ออก “ลอตเตอรี่รัฐบาลสยาม” เพื่อเชิดชูและเผยแพร่รัฐธรรมนูญ มีกรมสรรพกร เป็นผู้รับผิดชอบ พิมพ์ออกจำหน่ายทั้งหมด 1 ล้านฉบับ ฉบับละ 1 บาท โดยใน 1 ปีจะออกรางวัล 4 งวด 

ต่อมาในปี 2477 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยออก “สลากกินแบ่งบำรุงเทศบาล” เพื่อนำเงินไปบำรุงกิจการทางเทศบาล โดยกำหนดว่า หากเดือนไหนออกสลากกินแบ่งรัฐบาล เดือนนั้นให้งดจำหน่ายสลากกินแบ่งบำรุงเทศบาล เริ่มจำหน่ายงวดแรกเมื่อพฤศจิกายน 2478 ทั้งหมด 500,000 ใบ ฉบับละ 1 บาท และเริ่มประกาศผลเดือนเมษายน 2479 

หลังจากนั้น กระทรวงมหาดไทย และกรมสรรพากร จึงมีการออกสลากมาเรื่อย ๆ โดยกำหนดจำนวนงวดอย่างชัดเจน

และเนื่องจากสลากกินแบ่งสร้างรายได้ให้รัฐเป็นกอบเป็นกำ ปี 2482 คณะรัฐมนตรียุคหลวงพิบูลสงคราม จึงมีมติโอนย้ายกิจการสลากกินแบ่งรัฐบาล และสลากกินแบ่งบำรุงเทศบาล มาสังกัดกระทรวงการคลัง กระทั่งวันที่ 5 เมษายน ปี 2482 ก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อดูแลเรื่องนี้โดยตรง โดยมี พระยาพรหมทัตศรีพิลาส เป็นประธานกรรมการ วันดังกล่าวจึงเป็นวันสถาปนาสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

ลอตเตอรี่ หรือสลากกินแบ่งในสมัยก่อนที่พัฒนามาเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลในปัจจุบัน

ดังนั้น “สลากกินแบ่ง” ที่เราซื้อและลุ้นกันทุกวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน จึงถือเป็นมรดกจากคณะราษฎรที่ได้แปรเปลี่ยนจากลอตเตอรี่ที่เคยตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์ กลายเป็น สลากกินแบ่งรัฐบาล นำรายได้เข้าสู่รัฐมาถึงทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ปรีดี พนมยงค์. (2542). สมุดปกเหลือง เค้าโครงการเศรษฐกิจ. กรุงเทพฯ : สำนักงานการพิมพ์ ศ.ศิลปานนท์.

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (2526). พระปกเกล้าฯ ทรงโต้เค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ : จิรวรรณนุสรณ์.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (2516). ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 17 ตำนานเรื่องเลิกหวยแลบ่อนเบี้ยในกรุงสยาม. [ม.ป.ท.] : ศรีสงวนการพิมพ์.

https://www.glo.or.th/about/history


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มิถุนายน 2566