“กรีนแลนด์” ไม่ค่อยเขียว “ไอซ์แลนด์” ไม่เย็นสมใจ เปิดที่มาชื่อดินแดนแสนสับสน

กรีนแลนด์-ไอซ์แลนด์
(ภาพโดย PIRO จาก Pixabay)

กรีนแลนด์-ไอซ์แลนด์ ที่มาชื่อดินแดนแสนสับสน

“กรีนแลนด์” ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งและหิมะขาวโพลนสุดลูกหูลูกตา แต่หาได้ “กรีน” สมชื่อไม่ ขณะที่ “ไอซ์แลนด์” ฟังจากชื่อก็ดูเป็นเกาะน้ำแข็ง แต่ความจริงกลับเขียวขจี ทำไมดินแดนทั้งสองแห่งจึงมีชื่อและสภาพแวดล้อมที่อยู่ขั้วตรงข้ามกันเช่นนั้น?

กรีนแลนด์

ย้อนกลับไปเมื่อ ค.ศ. 982 นักสำรวจชาวนอร์ส (ไวกิ้ง) นามว่า “Erik the Red” เป็นมนุษย์จากยุโรปคนแรก ๆ ที่เดินทางเยือนเกาะกรีนแลนด์ทางตอนใต้ ซึ่งขณะนั้นสภาพดินฟ้าอากาศยังเหมาะสมต่อการเกษตรและเลี้ยงปศุสัตว์ เกาะแห่งนี้จึงถูกขนานนามว่า “กรีนแลนด์” เพื่อดึงดูดให้ผู้คนอพยพมาตั้งถิ่นฐาน สอดคล้องกับข้อมูลจากการตรวจสอบแกนน้ำแข็ง ที่พบว่าช่วงปี 800-1,300 ทางใต้ของเกาะกรีนแลนด์มีอากาศอุ่นกว่าในปัจจุบัน 

ชาวนอร์สจำนวนมากจึงอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ทำการเกษตร และค้างาของวอลรัส อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศที่หนาวเย็นลง ส่งผลเสียต่อการทำเกษตรกรรม ประกอบกับเกิดเส้นทางการค้าทางทะเลจากยุโรปสู่แอฟริกา การค้างาช้างได้รับความนิยมเพราะมีมูลค่าสูงกว่า การค้างาวอลรัสจึงค่อย ๆ เสื่อมลง เหล่านี้เป็นผลให้ชาวนอร์สละทิ้งดินแดนแห่งนี้

อย่างไรก็ตาม เกาะกรีนแลนด์มีกลุ่มชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่มาก่อนนานแล้ว คือ ชาวอินูอิต (Inuit) หรืออินุก (Inukk) ชาวอินูอิตมีลักษณะเป็นชนเผ่าขนาดเล็ก ดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์มากกว่าการเกษตร ด้วยวิถีชีวิตเช่นนี้พวกเขาจึงสามารถปรับตัวใช้ชีวิตกับสภาพอากาศที่หนาวเย็นในเกาะกรีนแลนด์ได้ดีกว่าชาวนอร์ส ทั้งนี้ ชาวอินูอิตเรียกเกาะกรีนแลนด์ในภาษาของพวกเขาว่า “Kalaallit Nunaat” หรือแดนแห่งผู้คน (Land of People)

ไอซ์แลนด์

“ไอซ์แลนด์” มีตำนานว่า Naddador เป็นนักเดินทางชาวนอร์สคนแรกที่มาถึง แล้วตั้งชื่อเกาะนี้ว่า “Snæland” หรือดินแดนแห่งหิมะ (snow land) เนื่องจากขณะนั้นเป็นช่วงหิมะตก และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวนอร์สที่มักตั้งชื่อสถานที่ตามสิ่งที่เห็น

ต่อมา ชาวนอร์สจากสวีเดนเดินทางมาถึงที่นี่ และตั้งชื่อเกาะนี้ตามชื่อของตนว่า “Garðarshólmur” หรือเกาะแห่ง Garðar (Garðar’s Isle)

ส่วนชื่อไอซ์แลนด์ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ เกิดขึ้นโดยชาวนอร์สนามว่า Flóki Vilgerðarson

ตามประวัติกล่าวว่า ระหว่างที่ Flóki เดินทางมาสู่เกาะไอซ์แลนด์ เขาสูญเสียลูกสาวจากการจมน้ำ และเมื่อมาถึงเกาะก็เป็นช่วงฤดูหนาวที่ยาวนานและหนาวเย็นกว่าปกติ ทำให้สัตว์เลี้ยงตายหมด เขาพยายามปีนภูเขาเพื่อดูพื้นที่โดยรอบ ก็พบแต่ภูเขาน้ำแข็ง (คาดว่าน่าจะเป็นฟยอร์ดที่ถูกพัดมาจากเกาะกรีนแลนด์) ด้วยความโศกเศร้าที่สูญเสียลูกสาว และไม่พอใจที่เจอแต่หิมะกับก้อนน้ำแข็ง เขาจึงเรียกเกาะนี้ว่าไอซ์แลนด์

แม้ว่า Flóki จะตั้งชื่อเกาะว่าไอซ์แลนด์ แต่ลูกเรือของเขานามว่า Thorólf กลับไปป่าวประกาศว่า เกาะใหม่แห่งนี้อุดมสมบูรณ์ราวกับมีเนยละลายอยู่ทั่วทุกหย่อมหญ้า ทำให้มีคนอพยพไปตั้งถิ่นฐานที่ไอซ์แลนด์เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากนอร์เวย์ 

ประชากรกลุ่มนี้ยังมีความรู้สึกยึดโยงกับมาตุภูมิ จึงเรียกตัวเองว่า “Íslendingur” มีความหมายว่า ผู้มาจากไอซ์แลนด์แห่งราชอาณาจักรนอร์เวย์ ทำให้ชื่อไอซ์แลนด์กลายเป็นชื่อที่ติดหูและใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้

เมื่ิอดูความเป็นมาเหล่านี้แล้ว ก็คงพอทำให้เห็นภาพว่า ทำไม กรีนแลนด์-ไอซ์แลนด์ ถึงมีชื่อต่างจากสภาพจริงที่เป็น

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

Science. “Is Iceland Really Green and Greenland Really Icy?”, 30 มิถุนายน 2016. https://www.nationalgeographic.com/science/article/iceland-greenland-name-swap

“Why Is Iceland Called Iceland? Why Is Greenland Called Greenland? Depressed Vikings and Medieval Sales Talk! – Sea Trips Reykjavík”. สืบค้น 7 มิถุนายน 2023. https://seatrips.is/called-iceland/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มิถุนายน 2566