ชื่อสำคัญไฉน ทำไมเปลี่ยนจากฮอลแลนด์ เป็น “เนเธอร์แลนด์” ตุรกี เป็น “ตุรเคีย“ (Türkiye)

ธง ชื่อ ประเทศ เนเธอร์แลนด์ อดีต คือ ฮอลแลนด์ ตุรกี
ธงชาติ เนเธอร์แลนด์ (ซ้าย) และ ตุรกี (ขวา)

“ชื่อ” สำคัญไฉน ทำไมเปลี่ยนจากฮอลแลนด์ เป็น “เนเธอร์แลนด์” ตุรกี เป็น “ตุรเคีย“ (Türkiye)

“ชื่อ” เป็นองค์ประกอบสำคัญของหลายสิ่งหลายอย่างในโลกนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไล่เรียงจากบุคคล สัตว์(เลี้ยง) ไปจนถึง ชื่อประเทศ ล้วนมีชื่อเรียกของตัวเอง ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การเปลี่ยนชื่อประเทศเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว แม้แต่ช่วงต้นปี ค.ศ. 2022 ผู้นำตุรกีเพิ่งประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศในช่วงเดือนมกราคม 2022 โดยเปลี่ยนชื่อเรียกภาษาอังกฤษ จาก “Turkey” มาเป็น “Türkiye” (ตุรเคีย) ส่วนหนึ่งก็เพื่อ “รีแบรนด์” ตัวเอง

สื่อหลายแห่งรายงานว่า “เรเซป ทายยิป เออร์โดกัน” (Recep Tayyip Erdogan) ประธานาธิบดีตุรกี ประกาศเปลี่ยน ชื่อประเทศ โดยเปลี่ยนวิธีเขียนชื่อประเทศในภาษาอังกฤษ จาก Turkey เป็น Türkiye โดยให้เหตุผลว่า “การเปลี่ยนชื่อเป็น Türkiye แสดงออกและเป็นตัวแทนถึงวัฒนธรรม อารยธรรม และค่านิยมของประเทศได้ดีที่สุด”

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวบางแห่งระบุว่า รัฐบาลตุรกียังไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ และอยู่ในกระบวนการดำเนินงาน และยังไม่ได้เปิดเผยระยะเวลาที่จะใช้งานชื่อใหม่อย่างเป็นทางการ สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่าในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ตุรกีมีแผนเดินเรื่องบรรจุชื่อใหม่กับสหประชาชาติด้วย

การเปลี่ยนชื่อในครั้งนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อต่างประเทศและประชาชนทั่วไปในประเทศ รวมถึงการค้าขายระหว่างประเทศด้วย อาทิ การติดฉลากบนสินค้า จากเดิม “Made in Tukey” กลายเป็น “Made in Türkiye” และ กิจกรรมและการสื่อสารที่เป็นทางการในระดับนานาชาติ จะเปลี่ยนมาใช้ “Türkiye” ทั้งหมด

มีรายงานอีกว่า เหตุผลเรื่องการเปลี่ยนชื่อประเทศนั้น อาจมาจากคำว่า “Turkey” แบบเดิม มีคำพ้องเสียงภาษาอังกฤษ ที่แปลว่า “ไก่งวง” ซึ่งเป็นนกที่บินไม่ได้จำพวกหนึ่ง ขึ้นชื่อว่าเป็นเมนูอาหารในวันคริสต์มาสหรืออาหารมื้อค่ำในวันขอบคุณพระเจ้า และยังมีคำจำกัดความในพจนานุกรมบางแห่งด้วยว่า “Turkey” มีความหมายว่า บางสิ่งที่เลวร้าย

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ยังมองว่า รัฐบาลตุรกีคำนึงถึงเรื่องภาพลักษณ์จากภายนอกที่มีต่อประเทศด้วย ที่ผ่านมารัฐบาลตุรกีพยายามขยายขอบเขตภาพจำเกี่ยวกับประเทศ จากที่เดิมทีแล้ว บางครั้งผู้คนก็ผูกโยงกับภาพลักษณ์ทางการทหาร ให้เพิ่มไปสู่เรื่องความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างเช่น ซีรีส์ที่ฉายทางช่องทางต่างๆ

เมื่อช่วงหลังรัฐบาลตุรกีค่อนข้างให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของตัวเอง นักวิเคราะห์มองว่า ความเคลื่อนไหวเรื่องปรับชื่อประเทศนี้เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันภาพลักษณ์ความเป็นตุรกีในแบบใหม่ไปสู่สายตานานาชาติ

อีกมุมมองหนึ่งของสื่อต่างประเทศบางแห่งก็วิจารณ์ความเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนชื่อคำภาษาอังกฤษของประเทศว่า เป็นสิ่งที่เบนความสนใจของประชาชนจากประเด็นเรื่องเศรษฐกิจภายในประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา

ชื่อประเทศ ฮอลแลนด์ เป็น “เนเธอร์แลนด์”

ก่อนหน้ากรณีของตุรกี เมื่อปี 2019 รัฐบาลดัตช์เคยรีแบรนด์ประเทศ จาก “ฮอลแลนด์” มาเป็น “เนเธอร์แลนด์” เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ “อัปเดต” ภาพลักษณ์ของตัวเองในสายตานานาชาติ

ครั้งนั้น รายงานข่าวเผยว่า แนวทางของรัฐบาลดัตช์ได้รับการหนุนหลังจากผู้นำภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว และรัฐบาลกลาง

ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่มักใช้คำว่า ฮอลแลนด์ กับ เนเธอร์แลนด์ ผสมปนเปกัน แต่อันที่จริงแล้ว ทั้งสองคำนี้สื่อความหมายแตกต่างกัน

ชื่ออย่างเป็นทางการของประเทศที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปยุโรป และเป็นที่รู้จักในนามดินแดนแห่งทิวลิปและกังหันคือ “ราชอาณาจักรแห่งเนเธอร์แลนด์ส” (Kingdom of the Netherlands) ก่อตัวตั้งแต่ ค.ศ. 1579 จากการรวมตัวของเมืองต่างๆ ที่ต่อต้านการปกครองของชาวสเปน

หนึ่งในดินแดนที่อยู่ในประเทศนี้คือ “ฮอลแลนด์” ซึ่งปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ฮอลแลนด์เหนือ (North Holland) และฮอลแลนด์ใต้ (South Holland)

เมืองหลวงอย่างอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) อยู่ในพื้นที่ฮอลแลนด์เหนือ ส่วนเมืองดังอย่างร็อตเทอร์ดัม (Rotterdam) และเฮก (Hague) อยู่ในบริเวณฮอลแลนด์ใต้

ในเวลานั้น โฆษกหญิงประจำกระทรวงการต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ อธิบายว่า เนเธอร์แลนด์ต้องการแบรนด์ที่แสดงถึงความเห็นพ้องต้องกันและการร่วมมือร่วมใจกันมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้เลือกกลยุทธ์ที่เป็นมิตรและปฏิบัติได้จริงเพื่อสนับสนุนการส่งออก การท่องเที่ยว กีฬา เผยแพร่วัฒนธรรมดัตช์ มาตรฐานทางสังคม และคุณค่าทางสังคมแบบดัตช์ไปสู่ภายนอก

และจากการตกลงกันแล้ว ชื่อประเทศอย่างเป็นทางการว่า เนเธอร์แลนด์ส เป็นชื่อที่เห็นตรงกันว่าควรใช้ชื่อเรียกเป็นคำนี้

ทั้งนี้ ฮอลแลนด์เหนือและฮอลแลนด์ใต้เป็นภูมิภาคที่ตั้งอยู่ทางชายฝั่งด้านตะวันตกของเนเธอร์แลนด์ ในศตวรรษที่ 10-16 ฮอลแลนด์เป็นดินแดนภายใต้การปกครองทางการเมืองกลุ่มเดียวกัน กระทั่งในศตวรรษที่ 17 ฮอลแลนด์เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐดัตช์ (Dutch Republic) ขณะที่ทั้งสองดินแดนแยกกันเมื่อปี 1840

ส่วนราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ หรือ Kingdom of Netherlands (ภาษาดัตช์คือ Neder-landen หมายถึงที่ต่ำ) เริ่มถือกำเนิดขึ้นหลังนโปเลียน รบแพ้ในสมรภูมิวอเตอร์ลู (Waterloo) เมื่อปี 1815

เชื่อกันว่า นัยส่วนหนึ่งของการประกาศใช้ชื่อเนเธอร์แลนด์ ส่วนหนึ่งคือเพื่อสื่อสารว่าประเทศในปัจจุบันมีมากกว่าแค่พื้นที่ซึ่งมีชื่อฮอลแลนด์ทั้งสองภูมิภาค ที่ผ่านมา รัฐบาลดัตช์เผชิญปัญหานักท่องเที่ยวทะลุเพดานมาตลอด เมื่อปี 2019 นักท่องเที่ยวราว 19 ล้านคนเดินทางมาเที่ยวเมืองอัมสเตอร์ดัม ซึ่งมีตัวเลขประชากรน้อยกว่าล้านราย

เมืองในฮอลแลนด์ใต้ที่เป็นแหล่งปลูกดอกทิวลิปก็เผชิญกับปัญหานักท่องเที่ยวที่เข้ามาถ่ายรูปซึ่งส่งผลต่อผลผลิตของเกษตรกร หรือเมืองที่หมู่บ้านซึ่งมีกังหันลมเป็นทิวทัศน์ในฮอลแลนด์ใต้ก็เจอนักท่องเที่ยวล้นปริมาณเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Boffey, Daniel. “Dutch government ditches Holland to rebrand as the Netherlands”. The Guardian. Online. Published 4 OCT 2019. Access 17 FEB 2022. <https://www.theguardian.com/world/2019/oct/04/holland-the-netherlands-dutch-government-rebrand>

Eldridge, Alison. “Is ‘Holland’ the Same Place as ‘the Netherlands’?”. Britannica. Online. Access 17 FEB 2022. <https://www.britannica.com/story/is-holland-the-same-place-as-the-netherlands>

Katz, Brigit. “Why the Dutch Government Wants You to Stop Referring to the Netherlands as ‘Holland’”. Smithsonian. Online. Published 10 JAN 2020. Access 7 FEB 2022. <https://www.smithsonianmag.com/smart-news/dutch-government-wants-you-stop-referring-netherlands-holland-180973940/>

Singh, Suniti. “Goodbye Turkey, hello Türkiye”. BBC. Online. Published 14 FEB 2022. Access 17 FEB 2022. <https://www.bbc.com/news/av/world-europe-60337147>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2565