ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
ในช่วงทศวรรษ 1950 ภายใต้สนธิสัญญามิตรภาพ จีน-โซเวียต สองชาติคอมมิวนิสต์ที่เป็นผู้นำของโลกฝ่ายสังคมนิยมและทรงอิทธิพลในการเมืองโลกช่วงสงครามเย็น ศิลปินของทั้งสองชาติได้สร้างโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อ เพื่อประชาสัมพันธ์ถึงมิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่าง “สาธารณรัฐประชาชนจีน” กับ “สหภาพโซเวียต”
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับโซเวียตช่วงทศวรรษ 1950-1960 ถือเป็นสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศแบบ “รักสามเส้า” มีสหรัฐอเมริกา ผู้นำฝ่ายโลกทุนนิยมและเสรีประชาธิปไตยเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญ
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตถือเป็นคู่แข่งด้านอุดมการณ์และผลประโยชน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และยุทธศาสตร์ในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกทั้งภายในยุโรปและเอเชีย
แต่ภายหลังชัยชนะของเหมาเจ๋อตงและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนเหนือรัฐบาลก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็ก ในฐานะเพื่อนร่วมอุดมการณ์สังคมนิยม รัฐบาลใหม่ของจีนภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ได้กลายเป็นพันธมิตรสำคัญของโซเวียตในดินแดนตะวันออกไกลไปโดยปริยาย พวกเขายังสร้างความร่วมมือด้านต่าง ๆ ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ เพื่อต่อกรกับสหรัฐอเมริกาในห้วงสงครามเย็น และเป็นที่มาของโปสเตอร์มิตรภาพระหว่างสองมหาอำนาจคอมมิวนิสต์ ที่พยายามนำเสนอความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและถ่ายทอดแนวร่วมสุดเหนียวแน่นที่ไม่อาจถูกแบ่งแยกระหว่างพวกเขา
อย่างไรก็ตาม สาธารณรัฐประชาชนจีนและสหภาพโซเวียตค่อย ๆ ขัดแย้งกันมากขึ้น ก่อนจะแข่งขันกันขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเปิดเผยในเวลาต่อมา
ความสัมพันธ์ฉันมิตร คอมมิวนิสต์ จีน-โซเวียต
ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 รัสเซียใช้จีนเป็นโล่กำบังภัยคุกคามจากญี่ปุ่นที่ขยายอำนาจด้วยลัทธิล่าอาณานิคมในตะวันออกไกลอย่างเต็มตัว และเป็นภัยคุกคามพื้นที่ฟากตะวันออกของจักรวรรดิรัสเซียหรือต่อมาคือสหภาพโซเวียต รัสเซียจึงดำเนินนโยบายส่งเสริมความแข็งแกร่งแก่จีน เพื่อให้สามารถต้านทานญี่ปุ่นได้ (แม้สุดท้ายแทบไม่ได้ผล)
เมื่อรัสเซียเปลี่ยนระบอบมาเป็นสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ และกลายเป็นสหภาพโซเวียต โจเซฟ สตาลิน ผู้นำโซเวียตยังคงสนับสนุนด้านการทหารแก่รัฐบาลจีนของเจียงไคเช็กอย่างต่อเนื่อง ถึงขั้นลงนามในสัญญากับรัฐบาลที่นานกิงว่า “จะสนับสนุนธรรมจริยาและการช่วยเหลือทางทหาร” แก่จีน
ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างโซเวียตกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนในระยะแรกเต็มไปด้วยความคลุมเครือ มีหลักฐานไม่มากนักว่าพวกเขาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์จีนและเหมาเจ๋อตงอย่างไรบ้าง แต่ในฐานะเพื่อนร่วมอุดมการณ์ผู้ยึดหลักคอมมิวนิสต์ของมาร์กซ์ร่วมกันแล้ว การสนับสนุนการต่อสู้ของพรรคคอมมิวต์นิสต์จีนอย่างไม่เป็นทางการโดยรัฐบาลโซเวียตที่กรุงมอสโคว์ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใด
กระทั่ง วันที่ 1 ตุลาคม 1949 สหภาพโซเวียตประกาศรับรองรัฐบาลใหม่ของจีนภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ ณ กรุงปักกิ่ง สตาลินตระหนักดีว่า มิตรภาพระหว่างมอสโคว์กับปักกิ่งสำคัญต่อการดำรงอยู่และเจริญเติบโตของโลกสังคมนิยม และจีนตอบสนองต่อแนวคิดดังกล่าวแทบจะทันที เพราะเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้น เหมาเจ๋อตงเดินทางไปเยือนมอสโคว์พร้อมทำข้อตกลงทวิภาคีร่วมกับสตาลินในชื่อ “สนธิสัญญามิตรภาพ พันธมิตร และความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” (Treaty of Friendship, Alliance, and Mutual Assistance) นับเป็นการสถาปนาความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นของสองมหาอำนาจในระบอบสังคมนิยม
เป็นผลให้โปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อพรั่งพรูออกมา เพื่อป่าวประกาศและยืนยันให้ทั้งพลเมืองของพวกเขาและโลกเห็นถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิด ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสหภาพโซเวียต
แต่… ภายหลังการการจากไปของโจเซฟ สตาลิน เมื่อปี 1953 ได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อความสัมพันธ์จีน-โซเวียตทันที เพราะในปี 1956 ภายหลังการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งรัสเซีย นีกีตา ครุสชอฟ ผู้นำคนใหม่ของสหภาพโซเวียตแถลงคำปราศรัยโจมตีนนโยบายของสตาลินอย่างเปิดเผย จีนตอบโต้การแสดงออกดังกล่าวด้วยความไม่พอใจทันที เพราะถือว่าผู้นำคนใหม่กำลังทำลายอุดมการณ์โลกสังคมนิยมและมรดกภูมิปัญญาของมาร์กซ์ ขณะที่ครุสชอฟปรารถนาที่จะผ่อนคลายความตึงเครียดในสงครามเย็นกับสหรัฐอเมริกา
ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในโซเวียต ทำให้ เหมาเจ๋อตง ถือว่าตนเองเป็นผู้น้อมนำหลักการและทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ์ และเป็นทายาทเลนิน-สตาลินที่แท้จริง ไม่ใช่ครุสชอฟ…
แม้รอยแยกความแตกต่างของโลกทัศน์และอุดมการณ์สังคมนิยมระหว่างจีนกับโซเวียตจะเด่นชัดขึ้น แต่พวกเขายังจับมือเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่น (เพียงในนาม) กันต่อไป โดยเฉพาะเมื่อโซเวียตประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมสปุตนิก (Sputnik) ขึ้นไปโคจรรอบโลกสำเร็จ จีนมองว่าเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำฝ่ายโลกเสรีเป็นผลดีต่อโลกคอมมิวนิสต์ทั้งมวล ซึ่งหมายรวมประเทศจีนด้วย อีกทั้งความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในยุโรปตะวันออกจะทำให้โซเวียตสนับสนุนจีนซึ่งเป็นพันธมิตรในตะวันออกไกลให้พิชิตไต้หวัน เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับฝ่ายโลกเสรีต่อไป
เป็นไปตามความคาดหวังของจีน นีกีตา ครุสชอฟ ไม่ได้ตัดขาดไมตรีกับคอมมิวนิสต์จีน โซเวียตยังคงช่วยเหลือจีนโดยเฉพาะความร่วมมือในโครงการอาวุธปรมาณูของจีนต่อไป กระนั้น ความปรารถนาของเหมาเจ๋อตงและคอมมิวนิสต์จีนที่ต้องการให้โซเวียตเผชิญหน้ากับสหรัฐอเมริกาอย่างเปิดเผย ยังคงถูกครุสชอฟปฏิเสธ
วิธีแสดงออกต่อฝ่ายโลกเสรีแบบ “ลดราวาศอก” ของโซเวียต สร้างความไม่พอใจแก่จีนอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีวิกฤตการณ์เลบานอน เมื่อปี 1958 หลังจากสหรัฐฯ ส่งทหารเข้าไปในเลบานอนโดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการนองเลือดและส่งเสริมสันติภาพ นอกจากโซเวียตจะไม่ตอบโต้นโยบายทางการทหารดังกล่าวตามคำเรียกร้องของฝ่ายโลกคอมมิวนิสต์ (โดยเฉพาะจีน) แล้ว ครุสชอฟยังเสนอให้เปิดการเจรจาขั้นสูงโดยตัวแทน 5 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส โซเวียต และอินเดีย ซึ่งถือเป็นการข้ามหน้าข้ามตาและหยามเกียรติจีนอย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่จีนจะถูกมองข้าม แต่ชาติที่เข้าร่วมอย่างอินเดียยังเป็นคู่ขัดแย้งปัญหาดินแดนกับจีนอยู่ ณ ขณะนั้นด้วย
ปี 1959 นีกีตา ครุสชอฟ ยกระดับนโยบายอยู่ร่วมกันโดยสันติกับโลกเสรี ด้วยการบีบให้จีนดำเนินรอยตามแนวทางเดียวกัน อันเนื่องมาจากความตึงเครียดระหว่างจีนกับอินเดียซึ่งมีแนวโน้มว่า รัฐบาลปักกิ่งอาจส่งกำลังทหารเข้าไปในพื้นที่ขัดแย้ง รวมถึงการถอนความช่วยเหลือด้านการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างโซเวียตและจีนในปลายปีเดียวกัน
ความไม่ลงรอยระหว่างมอสโคว์กับปักกิ่ง หรืออาจกล่าวได้ว่า นีกีตา ครุสซอฟ กับเหมาเจ๋อตง ที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่อสัญกรรมของโจเซฟ สตาลิน นำไปสู่นโยบายทางการเมือง การทหาร เศรษฐกิจที่แตกต่างกันของทั้งสองชาติ โดยเฉพาะการผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างโซเวียตกับสหรัฐฯ เหตุการณ์ที่เลบานอน กรณีข้อพิพาทจีน-อินเดีย และการคุกคามไต้หวัน ล้วนเป็นตัวเร่งความบาดหมางจนนำไปสู่การ “แตกหัก” ระหว่างพวกเขาในช่วงทศวรรษ 1960 เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหภาพโซเวียตยุติความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี 1962
โปสเตอร์มิตรภาพกับการใช้งานที่แปรเปลี่ยน
มีเรื่องราวชวนหัวเกี่ยวกับโปสเตอร์มิตรภาพจีน-โซเวียต ที่กลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหภาพโซเวียต เนื่องจากลักษณะร่วมอันโดดเด่นบางประการของผลงานเหล่านี้
เพราะศิลปินผู้สร้างมักจัดวางองค์ประกอบภาพที่แสดงถึงความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างชายผิวขาว ตัวแทนของชาวโซเวียต กับชายชาวจีนที่มีใบหน้าอย่างเอเชีย ซึ่งพวกเขามักจะใกล้ชิดกัน จับมือถือแขน โอบกอด ไปจนถึงมีเด็กผู้ชายจากทั้งสองประเทศอยู่ในการดูแลอย่างใกล้ชิด อันที่จริง ลักษณะข้างต้นเป็นศิลปะแบบคอมมิวนิสต์ที่พบเห็นได้ทั่วไป เพื่อเน้นถึงความกลมเกลียวและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเหล่ากรรมาชีพ
โปสเตอร์ของลัทธิคอมมิวนิสต์ถูกนำมาเผยแพร่อีกครั้งในชุมชนอินเทอร์เน็ตช่วงทศวรรษ 2010 จากนักเรียกร้องและกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ ตั้งแต่สหรัฐอเมริกาถึงไต้หวัน ที่หยิบยกภาพเหล่านี้มาสื่อถึงคู่รัก LGBTQ+ บ้างนำไปปรับแต่งใหม่จนกลายเป็นศิลปะแนวรักร่วมเพศอย่างชัดเจน และมีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์โดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวดังกล่าว
แม้โปสเตอร์มิตรภาพจีน-โซเวียต จะถูกสร้างภายใต้วิธีคิดแบบสังคมนิม การส่งเสริมความเป็นชาย แนวคิดแบบปิตาธิปไตย และเพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวภายใต้ลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่บทบาทที่ศิลปินผู้สร้างผลงานคงคาดไม่ถึงคือ งานของพวกเขาถูกนำไปใช้ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของจีนกับโซเวียตเกลียดชังและกีดกันเรื่องนี้อย่างสุดโต่ง
โปสเตอร์มิตรภาพจีน-โซเวียต จึงเป็นแนวร่วมสมมติ (แบบไม่ตั้งใจ) ระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์แห่งยุคสงครามเย็น กับนักเคลื่อนไหวตามแนวคิดแบบเสรีนิยมตะวันตกไปเสียอย่างนั้น…
อ่านเพิ่มเติม :
- คุณูปการและความผิดพลาดของ “เหมาเจ๋อตง” รัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ของจีน
- ดีลประวัติศาสตร์! เมื่อโซเวียตยอมแลกกองเรือรบ 17 ลำ เป็นค่าลิขสิทธิ์ให้ “เป๊ปซี่”
- เปิดไทม์ไลน์ ยุคสมัยของ “กอร์บาชอฟ” อดีตผู้นำสหภาพโซเวียตคนสุดท้าย
- พรรคคอมมิวนิสต์จีน “ราชวงศ์” อายุ 70 ปี ผู้สร้าง “จักรวรรดิจีนใหม่”
อ้างอิง :
https://voices.uchicago.edu/vmpea/page/9/
http://old-book.ru.ac.th/e-book/p/PS335/ps335-6.pdf
https://www.thoughtco.com/the-sino-soviet-split-195455
https://rarehistoricalphotos.com/chinese-soviet-propaganda-posters/
https://www.marxists.org/history/international/comintern/sino-soviet-split/index.htm
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤษภาคม 2566