พรรคคอมมิวนิสต์จีน “ราชวงศ์” อายุ 70 ปี ผู้สร้าง “จักรวรรดิจีนใหม่”

บทความนี้เป็นการสรุปเนื้อหามาจาก การปาฐกถาพิเศษของ รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2558 และนักวิชาการด้านจีนศึกษา เรื่อง “จักรวรรดิจีนใหม่” การประชุมวิชาการระดับชาติ “จีนศึกษา” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 ที่ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งจัดโดยศูนย์จีนศึกษาและศูนย์การเรียนรู้จีนศึกษาบรมราชกุมารี สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาฯ โครงการปริญญาโทวัฒนธรรมศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การปาฐกถาของ รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล เริ่มด้วยกล่าวถึงคำว่า “จักรวรรดิ” ด้วยระบบการศึกษาของไทยที่อิงกับหลักคิดตะวันตกเป็นหลัก หลักคิดตะวันตกเป็น Euro Centric ที่ยึดยุโรปเป็นศูนย์กลาง แบ่งจักรวรรดิเป็น 2 แบบ คือ จักรวรรดิทางบกกับจักรวรรดิทางทะเล จักรวรรดิทางบก คือรัฐใดรัฐหนึ่งขยายเขตแดน หรืออิทธิพลของตัวเองไปครอบงำ ไปยึดครองให้โดยการเดินทางโดยทางบก และจักรวรรดิทางทะเลนั้นคือรัฐนั้นข้ามน้ำข้ามทะเลไปยึดครองดินแดนอื่น ๆ ให้มาขึ้นต่อตนเอง ในประเด็นของจักรวรรดิทางทะเลนี้เราจะเห็นได้จากยุคล่าอาณานิคม

แต่ถ้านำหลักคิดนี้มาอธิบายในกรณีของจักรวรรดิจีนจะเป็นเช่นไร

การศึกษาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา จักรวรรดิจีนนั้นมีความชัดเจนมากในการเป็นจักรวรรดิทางบก ภาพที่ชัดเจนที่สุดคือ สมัยราชวงศ์ชิงที่ฮ่องเต้รวบรวมรัฐต่าง ๆ เข้าด้วยกันให้เป็นจักรวรรดิที่เป็นปึกแผ่น หรือหากย้อนขึ้นก่อนหน้าก็พบว่า จีนมีความคิดที่จะยึดครองดินแดนอื่นเกิดขึ้นมานานแล้ว เช่น สมัยราชวงศ์โจวที่มีศูนย์กลางอำนาจอยู่แถบที่ราบภาคกลางตอนเหนือของแม่น้ำเหลือง ได้กรีฑาทัพไปขยายดินแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือ (ตามแผนที่จีนปัจจุบัน)

การขยายดินแดนของจีนนั้นมีประเด็นสำคัญหนึ่ง คือว่า ดินแดนนั้นแต่เดิมมิใช่เป็นดินแดนของชนชาติฮั่น ชนชาติฮั่นได้กรีฑาทัพไปยึดดินแดนของชนชาติอื่นมาโดยตลอด หลังจากเวลาผ่านไปนับร้อยนับพันปี การกลืนกลายทางชาติพันธุ์ก็เกิดขึ้น และด้วยเหตุที่ชนชาติฮั่นมีวัฒนธรรมที่เจริญกว่าชนชาติอื่น ๆ การกลืนกลายจึงทำให้ชนชาติอื่นกลายเป็นชนชาติฮั่น กลายเป็นชาวฮั่นทั้งทางวัฒนธรรม กลายเป็นทางชาติพันธุ์ โดยการแต่งงาน แม้แต่ในระดับผู้นำก็พบว่า กษัตริย์บางพระองค์ของราชวงศ์ซาง หรือราชวงศ์โจว ทรงมีที่มีมเหสีที่มิใช่ชาวฮั่น ทั้งโอรสที่ประสูติก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นบนแผ่นดินที่กว้างใหญ่ไพศาลอย่างประเทศจีน ด้วยเหตุนี้ลำพังแต่การเป็นจักรวรรดิทางบกของจีน ก็เป็นเรื่องยากลำบากแล้ว จึงเป็นเรื่องปกติที่บางคราวชาวฮั่นก็ปกครองดินแดนอื่นได้ แต่บางครั้งก็เกิดการต่อต้านจีนฮั่น

ส่วนเรื่องจักรวรรดิทางทะเลของจีนนั้น นับว่ามีปัญหาอยู่พอสมควร เพราะจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไม่ค่อยพบเห็นว่า กองทัพเรือของจีนไปยึดดินแดนอื่น ที่โดดเด่นมากก็คือ สมัยราชวงศ์หยวนของมองโกล ซึ่งมีการยกทัพไปตีถึงญี่ปุ่น หรือมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ เวียดนามและบางส่วนของกัมพูชา แต่ผลของการต่อสู้ก็ไม่อาจถือได้ว่าประสบความสำเร็จ

ดังนั้น หากสรุปตามหลักคิดแบบตะวันตก (ที่แบ่งเป็นจักรวรรดิทางบกและทางทะเล) อาจสรุปได้ว่า จีนไม่เคยมีบทบาทที่จะขยายดินแดนจนเป็นจักรวรรดิทางทะเล จีนเป็นจักรวรรดิทางบกอย่างแน่นอน

หากจีนก็มีหลักคิดเรื่องจักรวรรดิที่แตกต่างไปจากชาติตะวันตกนั่นคือ “ระบบบรรณาการ”

ระบบบรรณาการ เริ่มมีเค้าโครงตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซาง แต่มีความชัดเจนมากจริงจังในสมัยราชวงศ์โจว เมื่อโจวกง [ขุนนางคนสำคัญในขณะนั้น] ได้ไปยึดดินแดนในฝั่งตะวันออกดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น สิ่งที่ราชวงศ์โจวต้องการอย่างมากก็คือ

1. หลักประกันเรื่องของความจงรักภักดี ราชวงศ์โจวต้องทำสัญญากับรัฐเล็กรัฐน้อย ที่มาขึ้นต่อตนเองว่าพึงจะต้องส่งบรรณาการต่อราชวงศ์โจวเป็นวาระอย่างไรบ้าง

2. พัฒนาการความคิดทางการเมือง ขณะนั้นเริ่มมองว่า กษัตริย์คือสื่อกลางในการติดต่อกับสรวงสวรรค์ เป็นยุคแรก ๆ ที่ทำให้เห็นเรื่อง “โอรสสวรรค์” และเมื่อเป็นโอรสแห่งสวรรค์ ชีวิตความเป็นอยู่ย่อมแตกต่างจากราษฎรสามัญชนโดยทั่วไป คือเป็นชีวิตที่หรูหราในการกินอยู่ การสนองตอบต่อชีวิตของโอรสสวรรค์จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ทรัพยากรในอาณาจักรตนเองไม่เพียงพอ บรรณาการที่ได้รับจากรัฐอื่นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้โอรสสวรรค์สมกับเป็นโอรสสวรรค์

เมื่อจีนเป็นจักรวรรดิอย่างสมบูรณ์ในสมัยราชวงศ์จิ้นเป็นต้นมา ความคิดของระบบบรรณการก็สืบเนื่องมาแทบจะไม่เคยขาดช่วง ตลอดเวลาที่จีนมีราชวงศ์ปกครอง จะยกเว้นก็ในช่วงที่จีนมีความแตกแยกเท่านั้น จนเมื่อมีชาวตะวันตกเข้ามาติดต่อกับจีน ก็ยังใช้หลักคิดเรื่องบรรณาการต่อรัฐต่างชาตินั้นด้วย คือต่างชาติต้องการมาค้าขายกับจีนต้องมาบรรณาการจีน และทันที่ที่ต่างชาติมาถวายบรรณาการแก่จักรพรรดิ จีนจะเข้าใจไปโดยปริยายทันทีว่านั่นคือสวามิภักดิ์ รัฐนั้น ๆ ก็อาจจะเป็นเมืองขึ้นของจีนโดยที่จีนไม่ได้ใช้กำลังอะไรเลย และรัฐนั้น ๆ เองก็อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นเมืองขึ้นของจีน

แต่ระบบบรรณาการของจีนไม่ได้มีแต่วัตถุ หากยังมี “พิธีกรรม” อีกด้วย

รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า “การถวายบรรณาการมีรายละเอียด กล่าวคือ บุคคลนั้น เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตให้เข้าเฝ้าเพื่อถวายบรรณาการ ผู้เป็นตัวแทนของรัฐจะต้องคุกเข่า เอาหน้าผากแตะพื้นท้องพระโรงที่เข้าเฝ้า 3 ครั้ง แล้วหลังจากนั้นก็ยืนตรงขึ้นมา แล้วทำลักษณะคล้ายกับเมื่อครู่ แต่คราวนี้มอบกราบกับพื้นแล้วลุกขึ้นยืน ทำเช่นนี้อีก 9 ครั้ง อันนี้เป็นงานพิธีกรรม ไม่ได้เกี่ยวกับของมีค่า สิ่งของกำนัลที่เราเรียกว่าบรรณาการ ฉะนั้นบรรณาการเราจะคิดในแง่วัตถุสิ่งของประการเดียวไม่ได้ ต้องคิดถึงพิธีกรรมด้วย

ถึงตรงนี้ มันก็เกิดปัญหาขึ้นมา เมื่อชาวต่างชาติที่มีอิทธิพลสูงมาก ซึ่งในที่นี้คือ ชาวตะวันตก เข้าไปในจีน แรกเริ่มทีเดียวมีเจตนาอย่างเดียวคือต้องการทำการค้า แต่เมื่อเข้าไปทำการค้าแล้ว จะต้องผ่านพิธีกรรมของระบบบรรณาการเช่นนี้ ชาติตะวันตกทำไม่ได้  เพราะเขานับถือศาสนาคริสต์ ชีวิตจะคุกเข่าต่อหน้าไม้กางเขนเท่านั้น

แม้แต่การคุกเข่าต่อพระพักตร์ของกษัตริย์ หรือราชินีของเขา ก็เป็นเพราะกษัตริย์หรือราชินีพระองค์นั้นกำลังทรงแต่งตั้งเขาเป็นอัศวิน ซึ่งทั้งหมดนี้ทำในนามของพระเจ้า การคุกเข่าในแง่นี้ของชาวตะวันตกจึงเป็นเสมือนการคุกเข่าต่อหน้าของพระเจ้าอยู่ดี ครั้นจะให้มาคุกเข่าต่อหน้าจักรวรรดิจีนที่เป็นคนต่างศาสนา ย่อมทำไม่ได้ นี้จึงนำมาซึ่งความย้อนแย้งต่อระบบบรรณาการเมื่อต้องเผชิญหน้ากับตะวันตก”

นั่นคือสาเหตุที่จีนต้องทำสงครามกับชาติตะวันตก และจีนก็พ่ายแพ้ในที่สุด 

นอกจากหลักคิดเรื่องบรรณาการที่สะท้อนความเป็นจักรวรรดิของจีนแล้ว เมื่อจีนเป็นจักรวรรดิ จักรวรรดิจีนก็ไม่ได้มีวิถีทางราบรื่นเสมอ ธรรมชาติทางการเมืองของจีน แทบทุกราชวงศ์จะเสื่อมถอยแล้วนำมาสู่การล่มสลาย ถ้าการล่มสลายนั้นถูกแทนที่ด้วยราชวงศ์ใหม่ นั่นหมายความว่า จักรวรรดิยังคงอยู่ แต่ถ้าล่มสลายไปแล้วเกิดความแตกแยก เป็นก๊ก เป็นเหล่า อย่างในยุคสามก๊ก ความเป็นจักรวรรดิก็จะไม่เหลืออยู่ เพราะธรรมชาติของจีนก็เกิด “วัฏจักรวรรดิ” คือภาวะที่จีนมีความเป็นเอกภาพสลับกับความขัดแย้งมาโดยตลอด จักรวรรดิจีนมีจักรพรรดิเป็นศูนย์กลางอำนาจ ซึ่งมี 2 บทบาท คือ ธรรมราช หรือ ทรราช ที่แปลกคือตัวอย่างที่ดีของจักรพรรดิบางพระองค์กลับไม่ได้เป็นแบบอย่าง ขณะที่จักรพรรดิบางพระองค์ทรงเป็นทรราชนำความเสื่อมถอยมาสู่จักรวรรดิจนล่มสลาย

ความแตกแยกของจีนกินเวลาหลายสิบปีสูงสุดก็หลายร้อยปี ยุคสามก๊กที่รู้จักกันดีความแตกแยกกินเวลา 60 ปี เป็น 60 ปีที่เราสามารถเห็นภาพผ่านวรรณกรรมว่าทั้งสามรัฐที่ทำสงครามกันอย่างไรบ้าง และหากจะเปรียบพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นราชวงศ์หนึ่ง วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมานี้ พรรคคอมมิวนิสต์ก็ปกครองประเทศจีนมาได้แล้ว 70 ปี ราชวงศ์นี้อายุยังน้อยนัก เมื่อเทียบกับราชวงศ์ฮั่น เพราะฉะนั้นแล้วถ้าเกิดจักรวรรดิในปัจจุบันเกิดอ่อนแอ ด้วยเหตุอันใดไม่ทราบ แล้วเกิดความแตกแยกขึ้นมา ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เคยเกิดขึ้นของประวัติศาสตร์จีน

ตั้งแต่ปี 1949 (พ.ศ. 2492) เรื่อยมา พรรคคอมมิวนิสต์สามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ และปกครองประเทศเรื่อยมาท่ามกลางความขัดแย้งบ้าง ราบรื่นบ้าง ตลอดเวลาดังกล่าวนั้นไม่สามารถบอกได้เลยว่า จีนฉายแววความเป็นจักรวรรดิ แน่นอนว่าปีที่จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นมีความสำคัญกับสังคมโลกเป็นอย่างมาก เพราะจีนนั้นเริ่มฉายแววการเป็นจักรวรรดิของตนเองเมื่อราวทศวรรษ 60 เป็นต้นมา จีนไม่ได้มีแต่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่จีนนั้นยังมีแสนยานุภาพทางการทหาร และยังมีนโยบายอื่น ๆ ที่ทำให้เราเห็นว่าจีนมีแววความเป็นจักรวรรดิมากขึ้นเรื่อย ๆ

ถึงตรงนี้แล้วจึงน่าสนใจว่า ถ้าเรามองจักรวรรดิจีนจะเห็นอะไรบ้าง

เรื่องแรก จีนในปัจจุบันมีการบริหารงานและมีผลประโยชน์ที่หลากหลาย ในทางเศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา และชนชาติ การบริหารตรงนี้ ทุกวันนี้พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีหลักคิดในการเรียกขาน ว่า “เผด็จการประชาธิปไตยประชาชน นั่นคือเป็นเผด็จการโดยพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว เป็นประชาธิปไตยเพราะใช้อำนาจเผด็จการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ประชาชนคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้นจึงเป็นประชาธิปไตย  ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่านโยบายทางเศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา หรือเรื่องชนชาติก็ดี ล้วนแล้วแต่ออกมาจากมันสมองของพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้น และจะเป็นอื่น ๆ ไปไม่ได้

รศ.วรศักดิ์ ยังได้กล่าวอธิบายในเรื่องดังกล่าวนี้ว่า “ก่อนที่เติ้งเสี่ยวผิงจะเสียชีวิตไปไม่กี่ปี เขาได้คุยกับบรรดาแกนนำหลักของพรรคคอมมิวนิสต์ว่า ประเทศอื่นในโลกโดยทั่วไปแบ่งอำนาจอธิปไตยเป็น บริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ  แต่เติ้งสั่งว่า ห้ามจีนทำอย่างนั้นเป็นอันขาด เติ้งให้เหตุผลว่าถ้าแบ่งอำนาจเป็น 3 ฝ่าย จะทำให้อำนาจบริหารประสบปัญหา และเกิดความล่าช้าเป็นอย่างมาก

เขายังยกตัวอย่างว่า ครั้งหนึ่งจีนไปเจรจากับผู้นำสหรัฐ เรื่องความร่วมมือที่ต่างฝ่ายต่างก็ได้รับประโยชน์ ผู้นำสหรัฐก็เห็นดีด้วย หลังจากแยกย้ายกันไป จีนที่มีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้ใช้อำนาจทำได้ทันที่ แต่สหรัฐกลับไปต้องนำเรื่องดังกล่าวผ่านสภา เติ้งบอกว่ามันล่าช้า แล้วถ้าสภาเกิดลงมติไม่เห็นชอบ สิ่งที่ตกลงกันไว้กับจีนก็จะปฏิบัติไม่ได้ เติ้งเลยบอกว่าอย่าทำเช่นนี้เป็นอันขาด

ด้วยเหตุนี้ถ้าเราไปศึกษาโครงสร้างอำนาจของจีนไม่ว่าจะอำนาจตุลาการ บริหาร นิติบัญญัติ ทุกคนที่อยู่ในหน่วยบริหารดังกล่าว มีกฎอยู่ข้อหนึ่งคือ ต้องเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์  ยิ่งเรื่องของศาสนา และเชื้อชาติที่เป็นปัญหากับจีน จีนก็ใช่วิธีนี้  ซึ่งนี่เป็นวิธีของจักรวรรดิโดยทั่วไป ผมไม่ได้หมายความว่าจีนแม้แต่สหรัฐก็เป็นแบบนี้ จะต่างกันก็เพียงในรายละเอียด

ประการต่อมาจักรวรรดิจีนมีการสร้างระบบการคมนาคมเพื่อรับใช้ทางการทหาร และเศรษฐกิจในศูนย์กลาง ประเด็นนี้หากกล่าวเฉพาะในแผ่นดินใหญ่ ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จีนได้สร้างระบบการคมนาคมจนเรียกว่าสมบูรณ์ก็ว่าได้ โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง เรื่องนี้อย่ามองว่าจีนตื่นเทคโนโลยี สำหรับประเทศจีนที่มีแผ่นดินอันกว่างใหญ่ไพศาล การเดินทางของชาวจีนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก พบว่าครั้งหนึ่งนักวิชาการจากปักกิ่งมาประชุมที่สิบสองปันนา 3 วัน แต่เขาต้องใช้เวลาเดินทางไป-กลับ 20 วัน ถ้าเป็นเช่นนี้จักรวรรดิจีนอยู่ไม่ได้

ด้วยเหตุนี้รถไฟความเร็วสูง จึงเป็นสิ่งที่สนองตอบต่อเรื่องนี้ ทั้งหมดนี้เพื่อรักษาศูนย์กลางให้มีเสถียรภาพ ศูนย์กลางในเรื่องที่นี้หมายถึงพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวอีกนัยหนึ่ง หากพรรคคอมมิวนิสต์ไม่มีความคิดเรื่องรถไฟความเร็วสูง จีนก็จะเกิดปัญหาการคมนาคม ถ้าเช่นนั้นจีนจะพัฒนาอย่างลำบากมาก และคงไม่ยิ่งใหญ่อย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้แน่นอน

นอกจากนี้แล้ว จักรวรรดิจีนยังมีความเชี่ยวชาญในระบบการติดต่อสื่อสารเพื่อบริหารพื้นที่เป้าหมายให้ขึ้นต่อศูนย์กลาง ทุกวันนี้จีนใช้เครื่องมือสื่อสารก้าวหน้ามาก แต่สิ่งที่จะเห็นในอนาคตต่อไป คือ การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ซึ่งถ้าจีนทำได้สำเร็จ การเป็นจักรวรรดิจีนก็จะสมบูรณ์เด่นชัดมากขึ้น

ตัวอย่างที่น่าสนใจอย่างมากคือ นโยบายของรัฐบาลจีนในระบบความน่าเชื่อถือทางสังคม (Social Credit System) ที่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลบุคคลทั้งประเทศเพื่อตรวจสอบพฤติกรรมของบุคคลนั้น ทุกวันนี้จีนมีการลงโทษบุคคลที่มีพฤติกรรมที่ไม่งาม ไม่เหมาะสม พฤติกรรมที่ไม่มีความผิดทางกฎหมาย แต่เป็นกิริยาแบบเสียมารยาท หรือเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ฯลฯ

ใครมีพฤติกรรมแบบนี้ ระบบที่ว่าบันทึกแล้วหักคะแนนไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดหนึ่งบุคคลคนนั้น ก็จะถูกลงโทษเชิงสังคม เช่น ห้ามขึ้นเครื่องบิน, ห้ามใช้บริการรถไฟความเร็วสูง ฯลฯ  เมื่อหลายเดือนก่อนที่เฮยหลงเจียงมีข่าวบุคคลประเภทนี้ ที่ถูกลงโทษแล้วก็ยังไม่เลิกพฤติกรรมที่แย่ ๆ มาตรการสูงสุดที่มณฑลเฮยหลงเจียงทำ คือ เอาบุคคลนั้นมาประจานทั่วทั้งมณฑล ว่าเขาเป็นใคร อายุเท่าไร ได้มีพฤติกรรมที่แย่ ๆ อะไรบ้าง ให้ได้รับความอับอาย

ตัวอย่างหนึ่งคือ ปัญหาพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนในไทยและต่างแดนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางเสียหาย รัฐบาลจีนได้ตระหนักถึงปัญหานี้ และได้ออกมาตรการ 50 กว่าข้อ สำหรับนักท่องเที่ยวจีนถือปฏิบัติเมื่อจะไปต่างประเทศ ซึ่งก็ได้ผลน่าพอใจ นี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า จักรวรรดิจีนมีการกำหนดรูปแบบที่เป็นเอกภาพผ่านระบบความน่าเชื่อถือทางสังคม  เพราะหากปล่อยให้ชาวจีนมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อไป อาจทำให้ความเป็นเอกภาพของจักรวรรดิจีนได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งทุกวันนี้ ไม่ว่าชาวจีนจะชอบหรือไม่ชอบระบบดังกล่าว แต่เขาเชื่อฟังดี และเห็นดีเห็นงามในบ้างด้าน

ทว่าระบบควบคุมมนุษย์เช่นนี้ก็ละเอียดอ่อน ทั้งสุ่มเสี่ยงเรื่องจริยธรรม และคุณธรรม

นอกจากนี้แล้วจักรวรรดิจีนยังมีการผูกขาดกองกำลังในดินแดนที่ตนปกครองอยู่ และมีแผนที่จะใช้กองกำลังทหารออกไปภายนอกชุมชน สองประโยคนี้ไม่เหมือนกัน ประโยคแรกหมายถึงว่าเราจะเห็นได้เลยว่า จีนให้ความสำคัญกับการเป็นเอกภาพอย่างมาก ดังนั้น เวลาเกิดการลุกฮือขึ้นมาของชาวธิเบต อุยกูร์ หรือซินเจียง จีนจะใช้มาตรการที่เด็ดขาด ซึ่งอ่อนไหวต่อการที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากตะวันตก ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่จีนไม่ใส่ใจ

ส่วนอีกประโยคนั้นเป็นนัยยะว่าจีนจะไปรุกรานที่ไหน ตัวอย่างง่ายที่เห็นคือ ปัญหาทะเลจีนใต้ สหรัฐเอาเรือมาลาดตระเวน จีนก็จะกล่าวเตือน หรือวิพากษ์วิจารณ์ นั่นแสดงว่าจีนพร้อมจะตอบโต้ต่อภายนอกอยู่เสมอ

ทั้งหมดนั้นแสดงว่า การสร้างจักรวรรดิใหม่สำเร็จ ซึ่งไม่ได้มีดีแค่เรื่องของแสนยานุภาพ

จักรวรรดิใหม่ของจีนในยุคนี้ ประกาศความฝันของตัวเองออกมาอย่างชัดเจน เมื่อถึงปี 2020 (พ.ศ. 2563) จีนจะบรรลุสู่ “สังคมอยู่ดีกิน” โดยที่ผ่านมาจีนพยายามลดอัตราส่วนคนจนลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี (พ.ศ. 2562) นี้จะลดให้เหลือเพียง 10-20 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมดจีนมีประชากร 1,400 ล้านคน เพื่อเป็นวาระอันสำคัญยิ่งที่จะเฉลิมฉลองวาระอันสำคัญยิ่ง 100 ปี ของพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 2021 (พ.ศ. 2564)

และปี 2049 (พ.ศ. 2592) เมื่อครบ 100 ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน จีนจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นประเทศพัฒนาที่สามารถแก้ปัญหามลพิษในเมืองใหญ่ ๆ นี่เป็นปัญหาที่กินใจคนจีนมาโดยตลอด พบว่าเมื่อหลายปีก่อน ที่จีนเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคที่ปักกิ่งประมาณ 2-3 วัน หากรัฐบาลกลางได้ประกาศปิดโรงงานรอบ ๆ ปักกิ่งหมดเป็นเวลา 1 สัปดาห์ สัปดาห์นั้นเป็นช่วงเวลาที่ปักกิ่งท้องฟ้าสดใส จนเป็นที่เรียกขานว่า “บูลเอเปค” แต่เมื่อโรงงานกลับมาดำเนินกิจการ บูลเอเปคก็หายไป

อีกเรื่องหนึ่งที่จีนประกาศไว้คือหลังจากปี 2049 (พ.ศ. 2592) จีนจะมีอธิปไตยโดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องติดตาม เพราะเรื่องไต้หวันยังไม่ได้กลับมาเป็นของจีน, หมู่เกาะเตียวหยู หรือเกาะเซ็งคากุ ก็ยังมีข้อพิพาทกับญี่ปุ่น, ปัญหาในทะลจีนใต้ก็ยังไม่จบ หรือการมีอธิปไตยที่สมบูรณ์ของจีนคือเมื่อถึงเวลานั้น หมายความว่าพื้นที่ทั้งหมดนี้ต้องเป็นของจีนโดยสมบูรณ์ เป็นเรื่องที่ยากจะจินตนาการ เพราะแค่ปัญหาทะเลจีนใต้ก็ยากลำบาก ที่ 4 ประเทศมาเลเซีย, บรูไน, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จะยอมรับว่าเขตน่านน้ำในทะเลจีนใต้ทั้งหมดเป็นของจีน

เพื่อบรรลุสู่ความฝันอย่างนี้ คงต้องดูว่าสิ่งที่จีนใช้และวิธีการที่ใช้ว่าเป็นอย่างไร

ซึ่งที่ผ่านมา วิธีที่จีนนิยมใช้ก็คือ การใช้ซอฟท์ พาวเวอร์ (soft power) กับมิตรประเทศ ในรูปแบบของการช่วยเหลือแบบต่าง ๆ เช่น การให้เงินทุนการช่วยเหลือแบบให้เปล่า, การให้กู้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ย, ดอกเบี้ยปกติแต่กู้ระยะยาว เป็นต้น หรือบางครั้งก็ยกหนี้ให้เลยก็มี  วิธีนี้จีนใช้ซื้อใจผู้นำของมิตรประเทศนั้นเพื่อให้สนองตอบต่อผลประโยชน์ของจีน ซึ่งนี่เป็นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในปัจจุบัน เช่น การยกหนี้เงินกู้การลงทุนในกิจการท่าเรือที่ขาดทุนในประเทศศรีลังกา โดยแลกสิทธิ์การเป็นเจ้าของท่าเรือเป็นเวลา 99 ปี ฯลฯ

กล่าวมาถึงตรงนี้ก็ใช่ว่าจักรวรรดิจีนจะไม่มีปัญหาใด ๆ เลย

รศ.วรศักดิ์ ได้ชี้แจงให้เห็นปัญหาของจักรวรรดิจีนใหม่ดังนี้ “ลำดับเรื่องแรกสุดคือการคอร์รัปชั่น ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลปัจจุบัน แต่ความจริงก็คือ รัฐบาลจีนใช้นโยบายนี้มาไม่ต่ำกว่า 20 ปี แต่ยังไม่สามารถปราบปรามได้สำเร็จ และหากพิจารณาจักรวรรดิจีนในอดีตที่ล่มสลายสาเหตุร่วมอันหนึ่งของทุกราชวงศ์ก็คือคอร์รัปชั่น

เรื่องที่ 2 คือ สิ่งแวดล้อม ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว

ปัญหาที่ 3 คือ ทัศนคติในการดำเนินชีวิต เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน กล่าวคือคนจีนมีนิสัยดีที่โดดเด่น อยู่ 2 ข้อ คือ ความขยันขันแข็ง กับชาตินิยม เรื่องชาตินิยมของคนจีนมันจะย้อนแย้งกับค่านิยมที่ชาวจีนมีต่อตะวันตก ทุกวันนี้คนจีนก็คล้าย ๆ คนไทยบ้างกลุ่ม ชอบซื้อสินค้าแบรนด์เนม แล้วก็เห็นอะไรของตะวันตกจะเห็นว่ามันดีกว่าของจีน จนในจีนเค้าจะมีคำว่า ‘พระจันทร์ในคืนเดือนเพ็ญที่เมืองจีน ยังไง ๆ ก็สวยสู้ที่ปารีสไม่ได้คือปารีสมองเห็นหอไอเฟลมันสวยไง ทั้งพระจันทร์ก็ดวงเดียวกัน นอกจากนี้เศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ทำให้คนจีนมีการแข่งขันกันสูงมาก การแข่งขันตรงนี้ บ่อยครั้งกระทบต่อจริยธรรมของการเป็นมิตร เพื่อนกับเพื่อนก็ต้องแข่งกัน

และสุดท้ายก็คือข้อพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้านหรือปัญหาภายในของจีนเอง ทั้งหมดนี้เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจีนจะแก้ปัญหาด้วยสงครามหรือสันติภาพ แต่เรารู้ว่ามันเป็นปัญหาแน่ ๆ ผมยังรู้สึกว่าโชคดีที่ประเทศไทยไม่มีข้อขัดแย้งอะไรทำนองนี้กับจีน ไทยนั้นอาจต้องระมัดระวังเพียงเรื่องเดียว คือเมื่อมีการกระทบกระทั่งในทะเลจีนใต้ ซึ่งแม้เราจะไม่เกี่ยวข้อง แต่ในฐานะสมาชิกอาเซียก็ต้องมีส่วนช่วยแก้ปัญหา”

ทั้งหลายทั้งปวงที่ได้กล่าวมาเป็นเรื่องของจักรวรรดิจีนที่เราจะเห็นได้ว่า เราปฏิเสธความเป็นจักรวรรดิของจีนไม่ได้อีกต่อไป จักรวรรดิจีนในปัจจุบันได้สลัดคราบจักรวรรดิในอดีตโดยสิ้นเชิง ประการสุดท้ายการสร้างจักรวรรดิของจีนนั้น หลาย ๆ เรื่องจีนใช้หลักคิดของตะวันตก นั่นหมายความว่าตะวันตกก็สร้างจักรวรรดิของตัวเองขึ้นมาภายใต้หลักเกณฑ์นี้ เพียงท่าทีที่จีนแตกต่างกับที่ตะวันตกเป็น เราจึงไม่ค่อยพบเห็นว่าจีนจะแสดงอากัปกิริยา หรือนโยบายอันใดที่เหมือนกับสหรัฐอเมริกา

และนี่คือจักรวรรดิจีนใหม่ รูปแบบใหม่ของจีนที่ไม่เคยได้พบเจอมาก่อนในจักรวรรดิซีกโลกตะวันตก ก็หวังเพียงว่าจีนจำทำตามกับที่จีนเคยประกาศกับประชาคมโลกว่า–เรื่องใดก็ตามที่จีนทำต่อประชาคมโลกนั้น จีนทำโดยมุ่งหวังสันติภาพ


เผยแพร่ครั้งในระบบออนไลน์เมื่อ : 17 กันยายน 2562