แสบหรือกวน? “กรมหลวงประจักษ์ฯ” ครั้งหนึ่งเคยถ่ายปัสสาวะลงแก้วน้ำเสวยรัชกาลที่ 5

ภาพถ่าย กรมหลวงประจักษ์ฯ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม

“กรมหลวงประจักษ์ฯ” หรือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นผู้ก่อตั้งเมืองอุดรธานีใน พ.ศ. 2436 หลังจากการรุกรานของชาวฮ่อ กรมหลวงประจักษ์ฯ ทรงมีพระปรีชาสามารถเป็นที่ยอมรับ แต่รู้หรือไม่ว่าพระองค์ก็มีความแสบสันเอาการ ถึงขั้นว่าทรงถ่ายปัสสาวะลงแก้วน้ำเสวยของ รัชกาลที่ 5 มาแล้ว

พระนิสัยสุดแสบของกรมหลวงประจักษ์ฯ เรียกได้ว่าบันลือไกลไปทั่วสารทิศ แม้แต่รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ก็ทรงบันทึกถึงเรื่องเหล่านั้นไว้

รัชกาลที่ 5 ทรงบันทึกลงในพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน (พ.ศ. 2450) ว่า “กรมประจักษ์คลั่งล้อคนอื่นเรื่องเมียๆ” 

ขณะที่รัชกาลที่ 6 ทรงบันทึกถึงวีรกรรมอันไม่รู้ลืมของกรมหลวงประจักษ์ฯ ผ่านหนังสือ “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระองค์ โดยใช้นามปากกาว่า “ราม วชิรวุธ” ถึงขั้นทรงแยกเป็นหัวข้อหลักอย่าง “ความชั่วต่างๆ ของกรมหลวงประจักษ์” ทรงกล่าวถึงกรมหลวงประจักษ์ฯ โดยเฉพาะ ว่า

“ความชั่วต่างๆ ของกรมหลวงประจักษ์นั้น ถ้าแม้จะนำมาจดลงไว้แม้แต่โดยย่อๆ ก็ต้องการสมุดเล่ม 1 ต่างหากทีเดียว. ยกตัวอย่างเปนบางข้อ, เมื่อยังรับราชการในตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์อยู่ที่เมืองหนองคาย, ได้เชิญกงสุลฝรั่งเศสไปกินอาหารกลางวัน, แล้วแต่งคนไปยิงช้างที่กลสุลขี่กลางทาง, และมีใบบอกเท็จเข้ามาว่าจับผู้ร้ายไม่ได้, ครั้งนั้นเกือบเกิดความใหญ่โตทีเดียว. โดยความอิจฉาแรงกล้าได้พยายามวางยาพิษประทุษร้ายกรมหลวงเทววงศ์, แต่กรมหลวงท่านไม่เอาความ เพราะเกรงจะเกิดชำระกันเปนการเอิกเกริกเสื่อมเสียพระเกียรติยศราชตระกูล ทอดบัตรสนเท่ห์ด่าเสด็จแม่ด้วยถ้อยคำหยาบคายที่สุด, แต่หาหลักฐานไม่ได้มั่นพอ…”

ทว่าเหตุการณ์อันใดก็ไม่เทียบเท่าเรื่องกรมหลวงประจักษ์ฯ ทรงเคยถ่ายปัสสาวะใส่แก้วน้ำของรัชกาลที่ 5 ขณะเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2450) ซึ่งกรมหลวงประจักษ์ฯ ได้ตามเสด็จด้วย โดยรัชกาลที่ 6 ได้ทรงบันทึกไว้ว่า…

“ในระหว่างเวลาไปยุโรปได้ไปทำสกะปรกต่างๆ มาก, และที่จัญไรที่สุดคือได้ไถ่ปัสสาวะลงในแก้วน้ำเสวย, ซึ่งทำให้พระเจ้าหลวงกริ้วมากจะส่งกลับ, แต่ไปร้องไห้อ้อนวอนกรมราชบุรีให้ช่วยทูลขอโทษ จึ่งรอดตัวไปครั้ง ๑”

ด้วยพระนิสัยดังกล่าว ประจวบกับหลังเสด็จกลับสยาม กรมหลวงประจักษ์ฯ ได้ทรงมีส่วนร่วมกับ “คดีพญาระกา” คดีความระหว่างพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ โดยปรากฏข้อบ่งชี้ว่าพระองค์มีส่วนทำให้ทั้งสองพระองค์ทรงหมางใจกัน เป็นเหตุให้กรมหลวงประจักษ์ฯ ไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ทำให้ในเวลาต่อมากรมหลวงประจักษ์ฯ จึงมิได้เข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 5 อีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ราม วชิราวุธ. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ: มติชน, 2546.

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ไกลบ้าน พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเดจฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึง สมเดจพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล เมื่อเสด็จไปประพาสยุโรป ร.ศ. ๑๒๖. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566. https://vajirayana.org/พระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน.

นักรบ มูลมานัส. เล่นแร่ แปลภาพ. กรุงเทพฯ: มติชน 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มีนาคม 2566