ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2549 |
---|---|
ผู้เขียน | ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย |
เผยแพร่ |
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำรัสกับ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระราชอนุชาคู่พระทัย ขณะทรงถอดพระธำมรงค์จากนิ้วพระหัตถ์พระราชทาน ความตอนหนึ่งว่า
“—กรมดำรง เธอกับฉันเหมือนกับได้แต่งงานกันมานานแล้ว ขอให้เธอรับแหวนวงนี้เป็นแหวนที่ฉันได้ใส่อยู่เอง ไว้เป็นของขวัญในวันเกิด—“
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ประสูติ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2405 สิ้นพระชนม์ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2486) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชอนุชาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดปรานอย่างยิ่งพระองค์หนึ่งมาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการที่ทรงสนพระทัยเอาพระทัยใส่และขยันหมั่นเพียร เรียนภาษาอังกฤษจนทรงมีความรู้เหนือกว่าพระบรมราชวงศ์หลายพระองค์ จึงทรงมีพระเมตตาดังที่ทรงบันทึกไว้ว่า
“—มีพระราชดำรัสสั่งให้ฉันเข้าไปรับใช้ประจำพระองค์ มีหน้าที่ตามเสด็จ และอยู่คอยรับใช้ในเวลาค่ำ—เป็นเหตุให้ฉันได้รับพระบรมราโชวาท และได้ฟังพระราชดำริ ได้รู้เรื่องต่างๆ ที่ตรัสว่า ทั้งมีโอกาสทูลสนองหรือทูลถามได้ด้วยพระกรุณา—“
จึงเป็นมูลเหตุทำให้สมเด็จพระบรมเชษฐาทรงเห็นทั้งความสามารถและความจงรักภักดีในพระอนุชาพระองค์นี้ ในส่วนพระอนุชาก็ทรงล่วงรู้พระทัยของสมเด็จพระเชษฐาในทุกๆ ทาง ครั้นเมื่อทรงเจริญพระชันษาผ่านการศึกษามาพอสมควร และประจวบกับเป็นเวลาที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตต้องเผชิญกับการคุกคามอธิปไตยของชาติมหาอำนาจตะวันตก หากไทยดำเนินนโยบายผิดพลาดแม้เพียงนิดเดียว เอกราชของชาติคงจะต้องสูญเสียให้แก่จักรวรรดินิยมตะวันตก ดังเช่นที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรากำลังเผชิญอยู่
ทั้ง 2 พระองค์จึงต้องทรงร่วมมือร่วมพระทัยร่วมความคิด พระบรมเชษฐาทรงกำหนดพระบรมราโชบาย ทรงต้องทำงานแข่งกับเวลามีเอกราชของชาติเป็นเดิมพัน ซึ่งพระราชอนุชาทรงถือปฏิบัติตามพระบรมราโชบายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ได้ผลสำเร็จตามพระราชประสงค์ แม้จะทรงพานพบอุปสรรคสาหัสต้องใช้เวลามากมายยาวนาน พระราชอนุชาก็มิได้ทรงย่อท้อที่จะฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลาย
เช่นเมื่อครั้งมีพระบรมราโชบายพัฒนาการศึกษาของชาติ เพื่อให้ได้คนที่มีความรู้มาใช้ในราชการบ้านเมือง ปัญหาที่เกิดขึ้นนับแต่ความไม่พร้อมของข้าราชการ ความไม่เข้าใจปัญหาของบ้านเมือง ความเข้าใจผิดของประชาชนที่เกรงว่ารัฐบาลตั้งโรงเรียนเพื่อหลอกคนไปเป็นทหาร และไม่นิยมที่จะส่งบุตรหลานไปเรียนเพราะเกรงจะเสียเวลาทำมาหากิน
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ทรงแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วง จนการศึกษาของชาติอยู่ในขั้นที่ก้าวหน้าไปได้อย่างที่ควรจะเป็น แต่ยังมีสิ่งที่สมเด็จพระบรมเชษฐาทรงเล็งเห็นว่าสำคัญเหนือกว่าการศึกษา และต้องได้ผู้ที่มีความสามารถมาปฏิบัติ นั่นคือ งานด้านการปกครอง ทรงให้ความไว้วางพระราชหฤทัยมอบหมายงานดังกล่าวให้พระราชอนุชาพระองค์นี้ดำเนินการ
แม้จะมิได้ทรงเตรียมพระองค์มาก่อน แต่เมื่อทรงฟังพระบรมราชาธิบายที่ว่า “—แต่การบ้านเมืองซึ่งสำคัญกว่านั้นยังมีอยู่—ด้วยต่างประเทศกำลังตั้งท่าจะรุกเมืองไทยอยู่แล้ว ถ้าเราประมาทไม่จัดการปกครองบ้านเมืองเสียให้เรียบร้อย ปล่อยให้หละหลวมอย่างเช่นเป็นอยู่ ช้าไปเห็นจะมีภัยแก่บ้านเมือง บางทีอาจจะถึงเสียอิสระภาพของเมืองไทยก็อาจเป็นได้ ถ้าบ้านเมืองเสียอิสระภาพแล้ว กระทรวงธรรมการจะดีอยู่ได้หรือ การรักษาพระราชอาณาเขตด้วยจัดการปกครองหัวเมืองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยจึงเป็นการสำคัญกว่ามาก—“
พระบรมราชาธิบายซึ่งเต็มไปด้วยเหตุและผลอันเกี่ยวแก่ความอยู่รอดของประเทศชาติ ทำให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ต้องทรงวางมือจากงานการศึกษาที่ทรงรัก ทรงหันมาทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังพระทัยให้กับงานด้านการปกครอง โดยเฉพาะการปกครองหัวเมือง ซึ่งหละหลวมและไม่มีพลัง
ทรงริเริ่มวิธีการตรวจราชการหัวเมือง แม้การเดินทางในสมัยนั้นจะเต็มไปด้วยความยากลำบากทั้งพาหนะ ซึ่งก็คือ เรือ ช้าง ม้า และเดินเท้า ภูมิประเทศก็เต็มไปด้วยป่าเขาอันตรายทั้งจากสัตว์ร้ายและความป่วยไข้ แต่ก็มิได้ทำให้ทรงย่อท้อ ทรงมุ่งแต่ผลสำเร็จที่ประเทศชาติจะได้รับ ซึ่งทำให้ทรงรู้ปัญหาต่างๆ ด้วยพระองค์เอง จึงทรงสามารถที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วง
ทั้งการรวมหัวเมืองต่างๆ เข้าเป็นมณฑล โดยใช้ลำน้ำอันเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญเป็นหลัก เพื่อให้สะดวกแก่การปกครอง ทรงริเริ่มจัดสวัสดิการข้าราชการหัวเมืองแทนระบบกินเมืองแบบเดิม การจัดการปกครองหัวเมืองทั้งหมด แม้จะสำเร็จไม่สมบูรณ์แต่ก็ทันเวลาที่จะทำให้ชาวตะวันตกมองเห็นภาพรวมของการเป็นประเทศที่พัฒนาไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองเท่าเทียมนานาอารยประเทศ อันเป็นที่มาของการเจรจากันอย่างประเทศที่มีความเสมอภาคกัน
พระราชกรณียกิจและพระกรณียกิจที่ทั้งพระบรมเชษฐาและพระราชอนุชาคู่นี้ได้ทรงปฏิบัติร่วมกัน ไม่ว่าจะนับด้วยเวลาหรือความสำเร็จ ก็ล้วนเกิดจากความรู้และความเข้าพระทัยในกันและกันโดยมิต้องเอื้อนเอ่ยความใดๆ ให้มากมาย จึงไม่มีผู้ใดที่จะสงสัยในถ้อยคำอันแสดงออกถึงความรักใคร่สนิทสนมกันของพระบรมเชษฐาและพระราชอนุชาคู่นี้ ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีมาถึงพระราชอนุชาพระองค์นี้ในวาระต่างๆ เช่น “—ดำรงฉันคิดถึงเต็มที รู้สึกรสชาดเป็นมาสิงคโปร์ กลิ่นอายก็โปๆ แต่เสียใจที่ทำไมหน้าเธอมาปรากฏพร้อมกับแฟรง สวิตเตนฮัมสเบอร์ก—” และ “—ผู้ที่ถูกคิดถึงนอกจากลูกเมียแล้ว เธอเห็นจะถูกมากกว่าคน ถ้าเป็นหนุมาน ก็ตกแท่นทุกวัน เพราะไม่ได้เว้นออกชื่อ—” และ “—คิดถึงเหลือที่จะคิดถึงแล้ว ไม่มีใครจะได้ดังใจเหมือนเธอ—”
คำตรัสดังกล่าวเป็นที่เข้าใจถึงพระราชหฤทัยของพระองค์ที่ทรงมีต่อพระราชอนุชาพระองค์นี้ จนถึงกับทรงเปรียบว่า “—เธอกับฉันเหมือนกับได้แต่งงานกันมานานแล้ว—“
อ่านเพิ่มเติม :
- จดหมายกรมพระยาดำรงราชานุภาพถึงบุตรช่วงถูกคณะราษฎรจับ เตือนรุ่นหลังที่จบนอก
- “หมาบ้า” กัดพระธิดากรมพระยาดำรงราชานุภาพ “สิ้นชีพตักษัย” ปฐมบทเกิด “สถานเสาวภา”
- สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไม่ยอมจำนำของพระราชทานจาก รัชกาลที่ 5 จะขออดตายติดตัวไป
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มิถุนายน 2560