จดหมายกรมพระยาดำรงราชานุภาพถึงบุตรช่วงถูกคณะราษฎรจับ เตือนรุ่นหลังที่จบนอก

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

เหตุการณ์เมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อมิถุนายน พ.ศ. 2475 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงถูกคณะผู้ก่อการจับกุมเป็นตัวประกันพร้อมกับพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ หลังจากนั้นทรงมีจดหมายไปถึงบุตร นอกจากเนื้อความจะเอ่ยถึงความเป็นอยู่แล้ว ยังเอ่ยเตือนบุตรที่เป็นเจ้ารุ่นหลังด้วย

เหตุการณ์เรื่องสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถูกจับกุม ปรากฏในหลักฐานและคำบอกเล่าจากบุคคลใกล้ชิดมากมาย ที่ผ่านมา นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ได้รับโอกาสเข้าเฝ้าศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล โอรสองค์เล็กในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อ พ.ศ. 2526

ระหว่างการเข้าเฝ้า ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ทรงประทานรายละเอียดกรณีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถูกจับกุม โดยทรงเปิดหนังสือ “ท่านหญิงแก้ว” ให้อ่านลายพระหัตถ์สองฉบับ  ฉบับหนึ่งลงพระนามว่า “ดำรงราชานุภาพ” และอีกฉบับลงพระนาม “สว่างวัฒนา” (ฉบับนี้ลงนามจดหมายส่งถึง “หญิงแก้ว” หรือหม่อมเจ้าอัปภัศราภา เทวกุล (ท่านหญิงแก้ว))

ฉบับแรกมีข้อความดังนี้

“วังวรดิศ

วันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2475 ถึงลูกชายใหม่

เธอคงจะได้ทราบแล้วว่าเกิดเหตุการณ์ที่ในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมิถุนายน และคงจะได้ทราบว่าในเหตุการณ์นั้นพ่อถูกเขาเอาไปคุมไว้เป็นประกัน พ่อนึกวิตกว่าเธออยู่ไกลจะตกใจหรือเสียใจ ด้วยเข้าใจว่าพ่อถูกกดขี่แล้วจะเลยท้อถอยไม่พากเพียรหาวิชาการเหมือนอย่างเคยประพฤติมาแต่ก่อน จึงเขียนจดหมายฉบับนี้บอกมาให้ทราบ

การที่เขาเอาพ่อไปคุมไว้ด้วยกันกับสมเด็จกรมพระนริศฯ นั้น พ่อเข้าใจว่าไม่ได้เป็นเพราะเขาเกลียดชังหรือว่าเขาประสงค์จะทําร้าย เขาเอาไปด้วยเห็นว่าเป็นคนสําคัญของบ้านเมือง จะเอาไปไว้เป็นประกัน ให้ปลอดภัยของเขาเอง เป็นต้นว่า ถ้ามีพวกอื่นจะมารบราหรือบินมาทิ้งลูกระเบิดทําอันตรายพวกเขาก็จะเกรงเป็นอันตรายถึงพ่อ และสมเด็จกรมพระนริศฯ ด้วย

ในเวลาที่เขาเอาไปคุมไว้นั้นเขาก็ไม่ได้ลบหลู่ดูหมิ่นพ่ออย่างใด นอกจากบังคับให้อยู่ในที่มีจํากัดตลอดเวลา 4 วัน แล้วก็ปล่อยให้กลับมาอยู่บ้านอย่างเดิม เดี๋ยวนี้พ่อจะไปไหนก็ไปได้ เพราะฉะนั้นไม่มีเหตุที่เธอควรจะวิตกหรือเสียใจท้อใจอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้าจะว่าเมื่อมีเหตุการณ์ขึ้นอย่างนี้มีความจําเป็นที่เธอจะต้องหมั่นเพียรในการศึกษาหาความรู้ให้ยิ่งขึ้นเสียอีก เพราะความเข้าใจผิดของไทยเราในสมัยนี้มีอยู่ด้วยเรื่องเจ้า ด้วยเข้าใจว่าเกิดมาเป็นเจ้าแล้วถึงจะเป็นคนดีคนชั่วก็ต้องได้ตําแหน่งในราชการและได้เงินเดือนผลประโยชน์มากจนมั่งมีเหลือล้นไปตามกัน

ความจริงที่เจ้านายชั้นพ่อต้องพากเพียรทําการงานให้บ้านเมืองมาเพียงไร และได้ผลประโยชน์แต่พอเลี้ยงตัวมา ข้อนี้เขาหารู้ไม่ เพราะเมื่อว่าตามจริงเจ้ารุ่นหลัง โดยเฉพาะพวกที่ไปเรียนวิชามาจากต่างประเทศเช่นเธอ มาถืออิสระประพฤติตัวเลวทรามให้เขาดูหมิ่นได้หลายคนมันจึงพากันเปื้อนไปทั้งราชสกุล ผู้ที่มาประพฤติเลวทรามให้เขาดูหมิ่นได้เช่นนั้น ถ้าจะว่ายังมีข้อแก้ตัวว่า เพราะประมาทไป แต่มาถึงขั้นเธอที่กําลังเล่าเรียนอยู่ในเวลานี้ เมื่อรู้เหตุการณ์ว่า มันอาจจะมีได้เช่นนั้นแล้วต้องระวังด้วยอย่าให้พลาดไป ศีลธรรม (Idial) ของผู้ที่เป็นเจ้ามาแต่ก่อนนั้นคือความรักบ้านเมือง และถือว่าประโยชน์ของบ้านเมืองสําคัญกว่าประโยชน์ของตนเอง หรือถ้าว่าโดยย่อคือ อุทิศตัวให้แก่บ้านเมืองอย่าง 1 ความซื่อตรงอย่าง 1 ความพากเพียรเรียนวิชาความรู้ และประกอบกิจการต่าง ๆ มั่นคงอย่าง 1 คนทั้งหลายนิยมกันแต่ก่อนว่าในศีลธรรมเหล่านี้เจ้าดีกว่าผู้ที่มิได้เป็นเจ้า คนทั้งหลายจึงพากันนับถือเจ้าทั่วไปทั้งประเทศ ศีลธรรมอันนี้ยังคงอยู่ ต้องพยายามรักษาให้มั่นคง จึงจะสมควรเป็นเจ้า

บางทีเธอจะนึกอยากรู้ว่าสําหรับตัวพ่อเอง พ่อจะทําอย่างไรต่อไป ข้อนี้พ่อได้คิดมาตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุนานแล้วว่าปีนี้พ่ออายุครบ 70 ปี ได้ทําราชการให้บ้านเมืองสืบมาได้ถึง 56 ปี ไม่ปรากฏว่ามีเจ้านายพระองค์อื่นแต่ปางก่อนได้รับราชการประจําอยู่จนถึงพระชันษา 70 หรือมีเวลารับราชการนานกว่า พ่อ เมื่อคิดถึงการงานที่ได้ทําให้แก่บ้านเมืองมาดูก็เป็นประโยชน์มากพออยู่แล้ว ไม่มีเหตุที่จะเสียดายอย่างหนึ่งอย่างใด จึงตกลงใจว่าเมื่อทําบุญฉลองอายุ 70 ปีแล้วจะกราบถวายบังคมลาออกจากตําแหน่งราชการทั้งปวง แต่พอฉลองอายุแล้วได้วัน 1 ก็ถูกจับไปเป็นประกัน เหตุการณ์ตัดสินเสร็จไปในตัวโดยไม่จําพ่อจะต้องขวนขวาย ต่อไปเห็นจะไม่มีหน้าที่ราชการที่จะต้องทำ บางทีจะได้ความสุข เพราะฉะนั้นอย่าวิตกถึงพ่อเลย หวังใจว่าเธอจะมีความสุขสบายดีอยู่

ดำรงราชานุภาพ”

และอีกฉบับลงนามว่า “สว่างวัฒนา” ใจความว่า

“วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2475 หญิงแก้ว

ได้รับจดหมายของเธอลงวันที่ 3 กรกฎาคมแล้ว มาถึงนี่เร็ว ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม ที่เล่าถึงเรื่องก่อการ เธออยู่เมืองนอกก็เห็นจะไม่สู้กระไร ไม่ถึงกับน้ำตาตกอกไหม้ เสด็จพ่อแลแม่นางเธอ เสด็จพ่อนั้นเขาเอาไปขังประกันไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ในห้องเล็ก ๆ ห้องหนึ่ง กับสมเด็จกรมพระนริศฯ หน้าต่างก็ไม่ได้เปิด เปิดแต่เฉพาะประตู มีลูกไปอยู่ด้วยองค์ละคน คอยผลัดกันนั่งพัดไปตลอดกลางวันแลกลางคืน ฉันไปถามข่าวที่หม่อมเจิม ได้ความตามที่เล่าให้ฟังตั้งแต่ต้นว่าได้ถูกขังไว้เช่นนี้

ฉันรู้สึกว่าไม่ได้เป็นคนที่ร้องไห้ง่ายเลย แต่นี่ร้องเสียใหญ่ เพราะสงสารเสด็จพ่อของเธอ ว่าแก่แล้วพระชันษาตั้ง 70 ปี ขังอยู่ได้ราว 7-8 วัน พระเจ้าอยู่หัวขอให้ออก จึงออกมาได้ เขาจับทารุณกรรม เที่ยวเอาปืนจ่อไปทุกแห่ง ไปจับทูลกระหม่อมชาย ท่านก็บอกให้ยิง ก็ไม่ยิง แล้วเอามา ลูกเมียตามมาด้วย เขาไม่ให้ลูกมา ให้แต่เมียตามมา มาอยู่กับหญิงประสงค์ฯ และหม่อมสัมพันธ์ แล้วพระเจ้าอยู่หัวท่านให้ไปขอ รับสั่งว่าอะไรๆ ท่านก็ทรงยินยอมให้หมดแล้ว ตามที่คณะราษฎรขอควรจะปล่อยเจ้านายที่ประกันไว้ แล้วทูนหม่อมชายเขาก็ให้ออกมา เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พอวันรุ่งขึ้น เขาก็ให้เสด็จไปเปลี่ยนอากาศ ไปประทับอยู่ที่ชวา

พอออกไปแล้ว หม่อมเจิมยุ่มย่าม จะยุ่มย่ามเมื่อเสด็จพ่อ ไปถูกขังหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ มาทราบเมื่อเขาเรียกตัวเจ้าจุลดิศฯแลหม่อมเจิมไปไต่สวน ว่าทรงเจ้าจะเป็นเจ้าพ่อหลักเมืองหรือหอกลอง ก็จำไม่ได้เสียแล้ว เขาถามว่าดูอะไร เจ้าจุลดิศฯและหม่อมเจิมบอกว่า เคยดูรักษาไข้เจ็บมาหลายปีแล้ว เพราะเธอเป็นคนเจ็บทุพพลภาพ เคยให้เจ้าพ่อรักษามาจึงปิดไว้ได้แล้วเขาก็ไปเอาคนทรงมาไต่สวน คนทรงมันฉลาดพอ ถามว่าดูว่ากระไรมันบอกว่าเป็นอาชีพของมันในทางรักษาโรคภัยไข้เจ็บ คณะราษฎรถามว่ารักษาด้วยอะไร รักษาโดยวิธีเข้าทรงเช่นนั้นหรือ บอกว่าเช่นนั้นแหละ ก็ถามว่าเจ้าโรคนี้รักษาอย่างไร เจ้าก็บอกให้รักษาตามวิธีของโรคคือใช้เกสรดอกไม้ร้อยอย่าง แล้วมันงัดเอาขึ้น พูดว่าแม่…ที่เป็นพวกคณะราษฎรก็ให้มันดู แล้วพวกคณะราษฎรก็จนแต้มเข้าก็บอกภาคทัณฑ์ไว้ ว่าไม่ให้ทำเช่นนี้อีกต่อไป ทำให้พลเมืองเสียขวัญ แล้วก็ปล่อยตัวไป

ฉันจะเขียนถึงเธอตั้งแต่เสร็จรดน้ำแล้ว ฉันได้ถูกลดเงินปีเงินเดือนถึงบาทละสลึงเต็มทีเศรษฐกิจก็ตกต่ำ ก็มาคิดตัดรายจ่ายกับหญิงแต๋วในบ้านที่ใช้อยู่เท่าไรก็ไม่สำเร็จตั้งเดือนกว่า นั่งคิดอยู่ทุกวัน จะให้พอกับรายได้ แล้วในงวดหนึ่งฉันต้องเติมเงินอีก 10,000 บาท พอเสร็จเรื่อง ก็เรียงหนังสือไว้จะเขียนวันรุ่งขึ้น พอรุ่งขึ้นก็เกิดเรื่อง จึงได้งดมาจนบัดนี้ เพราะเขียนยืดยาวเป็นพงศาวดาร เล่าตั้งแต่เธอไป ครั้นจะเขียนไปก็ไม่ได้ เพราะเขาตรวจจนกระทั่งรถไฟแลท่าเรือคนเขาก็ค้น ตลอดจนเข้าของอะไรทั้งหมด จึงได้ระงับไว้

นี่ฉันจำเป็นจะต้องเขียน จะถึงหรือไม่ถึงก็แล้วแต่ เพราะจะต้องบอกให้เธอกลับ เงินไม่มีให้อีกเป็นแน่ รายได้ทางนี้ตกต่ำตั้งครึ่ง ดอกเบี้ยก็ติดนุงนัง ติดตั้ง 40,000 บาท เวลานี้ไม่มีใครให้กู้ให้ยืมทั้งหมด การค้าขายทรุดโทรม วิ่งจำนองก็ไม่มีใครรับ ตั้งแต่ก่อนเกิดการแล้ว ถ้าเธอขืนอยู่ ไม่มีเงินให้เป็นแน่ ถ้ารีบกลับมาจะได้มีเงินเหลือไว้เป็นทุนรอนต่อไป และเขาก็ปลดพี่เติมของเธอออกจากตำแหน่งแล้วไม่ได้เบี้ยบำนาญ ได้เบี้ยหวัดน้อยที่สุด ควรจะไปรอฟังพวกที่จะกลับเช่น เจ้าขจรฯ กิติยากร และเงินค่าเดินทางนั้น เขาจะให้หรือไม่ให้ ก็ควรจะไถ่ถามให้ได้เรื่อง กลับมาเห็นหน้ากันในยามยากดีกว่า จนในเมืองไทยตายในเมืองไทย ยังดีกว่าเมืองนอก แล้วเธออยู่ต่อไป จะได้เงินที่ไหนมา เธอจะหากินเมืองนอกดีกว่าเมืองไทยก็ตามใจเธอเถิด แต่ถ้าขาดแคลนไม่รับช่วยเหลือเป็นอันขาด

สว่างวัฒนา”

จากใจความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าตลอดเวลาที่ถูกจับกุม กรมพระยาดำรงราชานุภาพไม่ได้ทรงเคียดแค้นหรือขมขื่นแต่อย่างใด

หลังจากนั้น พระองค์ต้องทรงลี้ภัยการเมืองโดยเสด็จไปประทับที่เกาะปีนังเกือบ 10 ปี ตลอดระยะเวลานั้น ต้องทรงประสบความเดือดร้อนและยากลำบากในวัยชรา ขณะที่ปีนังช่วงหนึ่งก็อยู่ท่ามกลางระเบิดและดงกระสุนช่วงญี่ปุ่นบุกเข้ายึดปีนังจากอังกฤษ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

บุญยก ตามไท. “ห้วงชีวิตและงานบางเสี้ยวของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2528.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2563