สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไม่ยอมจำนำของรัก จะขออดตายติดตัวไป

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จเยี่ยมสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและพระธิดา ที่เมืองปีนัง พ.ศ. 2480

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จประทับยังเมืองปีนัง (ขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ) ด้วยเหตุที่ทรงมีพระพลานามัยอ่อนแอลงประการหนึ่ง และต้องการหลีกเลี่ยงให้พ้นจากเรื่องการเมืองอีกประการหนึ่ง

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพประทับอยู่ที่เมืองปีนังจนกระทั่งเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นบุกดินแดนมลายู ทำการทิ้งระเบิดอย่างหนัก ทำให้สภาพบ้านเมืองพังเสียหายเป็นอันมาก นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้ยึดสถานที่ที่ทำการของพวกฝรั่งไว้ทั้งหมด ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงได้รับผลกระทบจากเหตุนี้ด้วย

เนื่องจากทรัพย์สินของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เก็บฝากไว้ที่ธนาคารทั้งหมด สิ่งของติดตัวอยู่ในเวลานั้นก็ไม่มีราคาค่างวดเท่าใดนัก และเมื่อเกิดสงครามขึ้น ข้าวยากหมากแพง ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันสูงขึ้น จึงจำต้องหาเงินมาใช้จ่ายมากขึ้น หนทางเดียวที่จะแก้ไขได้คือ การจำนำสิ่งของ แต่มีสิ่งของเพียง 2 สิ่งเท่านั้น ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงขอว่าจะเก็บไว้กับตัวจนตาย นั่นคือ แหวนกับเสมาพระราชทาน ดังที่หม่อมเจ้า พูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดา ทรงเล่าว่า

“…ญี่ปุ่นเอากระดาษตัวหนังสือแดง ๆ เที่ยวปิดสถานที่ของฝรั่งไว้ทุกแห่ง ใครแตะต้องก็ไม่ได้ สมบัติข้าวของที่มีค่าติดอยู่ในแบงก์หมด ที่มีอยู่ติดตัวก็ของไม่ค่อยมีราคา เมื่อหมดปัญญาก็ต้องเอาออกมาลองจำนำดู แต่ก็ถูกกดราคาเสียขายจะไม่ได้ เสด็จ [หมายถึงกรมพระยาดำรงราชานุภาพ] มาเห็นเข้าก็กลับเข้าห้องไปค้นของ ๆ ท่านบ้าง ซึ่งมีอยู่หีบนิดเดียวในกระเป๋าเครื่องแป้ง กลับออกมาส่งให้ว่า ‘เอ้านี่นาฬิกาข้อมือทองกับสายสร้อยขายได้ พ่อขอแต่แหวนที่ใส่นี้กับเสมาเท่านั้นที่จะขออดตายติดตัวไป’ เราสงสารท่านจนต้องคืนถวาย…”

ยังมีของอีกสิ่งหนึ่งที่มีคุณค่าต่อจิตใจของกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาก ของสิ่งนั้นคือ “ซองบุหรี่รัสเซียน” ดังที่หม่อมเจ้า พูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเล่าไว้ว่า

“…เมื่อได้สมบัติกลับคืนมาทรงมองดูอย่างไม่มี interest แล้ว นอกจากขอจับซองบุหรี่รัสเซียนที่มีลายเซ็นของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 แล้วตรัสว่า ‘ไม่มีใครรู้เรื่องแล้ว’ เท่านั้น…”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ขวัญฤทัย ชิ้นมาลัย. (มิถุนายน, 2545). สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตกยากที่ปีนัง ช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่ยอมจำนำของรัก จะขอตายติดตัวไป. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 23 : ฉบับที่ 8.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มิถุนายน 2564