“หมาบ้า” กัดพระธิดากรมพระยาดำรงราชานุภาพ “สิ้นชีพตักษัย” ปฐมบทเกิด “สถานเสาวภา”

หม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์ ดิศกุล
หม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์ ดิศกุล (ภาพจาก "สมุดพระรูปพระราชโอรส พระราชธิดาและพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" จัดพิมพ์ พ.ศ. 2543)

“หมาบ้า” กัดพระธิดากรมพระยาดำรงราชานุภาพ “สิ้นชีพตักษัย” ปฐมบทเกิด “สถานเสาวภา”

เรื่องน่าเศร้าที่ “หมาบ้า” กัดพระธิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จนเป็นเหตุให้สิ้นชีพตักษัยนั้น ม.จ. พูนพิศมัย ดิศกุล ทรงนิพนธ์เล่าไว้ในหนังสือ พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน ทรงกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

“…ในเวลาที่กำลังมีการซ้อมรบเสือป่าประจำสัปดาห์อยู่นี้ มีเหตุที่เศร้าโศกเกิดขึ้นเรื่องหนึ่ง คือ พวกพี่น้องรุ่นเดียวกับข้าพเจ้าออกไปเยี่ยมจากกรุงเทพฯ กันชั่วคราว. วันหนึ่งเรากำลังเล่น-เอาเถิด-กันอยู่กลางสนามหน้าบังกะโล เวลาราว 1 ทุ่ม มีหมาดำตัวหนึ่งวิ่งไล่อ้าปากน้ำลายไหลและหางตกเข้ามาทางหน้าบ้าน มันวิ่งเหยาะเหยาะตรงเข้ามาทางพวกเรา ทุกคนก็ร้องว่า-“หมาบ้าๆ” แล้วต่างคนต่างก็วิ่งเฮขึ้นบนเก้าอี้กลางสนามและวิ่งเข้าไปบ้านบังกะโลกันวุ่นไป.

Advertisement

หญิงเภา [หม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์ ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับหม่อมเจิม (สกุลเดิม สนธิรัตน์)] น้องข้าพเจ้าวิ่งตามมาจะขึ้นเก้าอี้ตัวเดียวกัน, แต่เพอินเธอล้มและขายื่นไปทางหมา มันก็ตรงเข้างับเป็นแผลลึก, เสียงเราร้องกันอึกทึก จนผู้ใหญ่วิ่งออกมาช่วยไล่หมาไปได้และอุ้มเอาหญิงเภาขึ้นไปบนเรือน,

เรียกหมอมาทำแผลเรียบร้อยแล้ว, เขาก็พากันไปไล่จับหมาว่าจะเป็นบ้าจริงหรือไม่. เมื่อจับได้ด้วยตีตายแล้วเขาก็ส่งศพมันไปให้ตรวจน้ำลายที่โรงพยาบาลทำหนองปลูกฝี. พอราว 2 ยามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาเสวยเครื่องว่างตามเคย, ทรงทราบเรื่องราวก็ทรงแนะนำเสด็จพ่อให้ส่งหญิงเภาไปรักษาที่ฮ่องกงจะดีกว่าทุกทาง. เสด็จพ่อก็ทรงเห็นตามพระราชดำริห์ให้โทรเลขว่าตั๋วเรือที่กรุงเทพฯ เพอินเรือออกไปเสียแล้ววันนั้นเอง จึงจำต้องรอเรือไปอีกอาทิตย์หนึ่ง.

หน้าปกหนังสือ พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นสมัยรัชกาลที่ ๖)

ในระหว่างนั้นมีหลายคนที่เชื่อว่าหมาไม่บ้าและตัวหญิงเภาก็ร้องไห้ไม่ยอมไป, วิงวอนขอรักษาในเมืองไทยจนได้. ส่วนทางโรงซีรัมเขาก็รายงานว่า-หมาตัวนั้นบ้าจริงๆ แต่ก็ไม่มีใครรู้คุณของการรักษาอย่างฉีดยาในเวลานั้น. ทุกคนยังเชื่อว่าไม่ใช่หมาบ้าจริงๆ อยู่.

ต่อมา 3 เดือนเศษมีงานแรกนาที่ทุ่งพญาไท, พวกเราก็จะไปดูงานนั้นกันหลายคน. หญิงเภาเกิดปวดหัวตัวรุ่มเหมือนจะเป็นไข้ขึ้นมาผู้ใหญ่ห้ามว่าอย่าไปเลย แต่ทุกคนนึกว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องหมากัด. รุ่งขึ้นอีกวันก็เลยตัวร้อนจริงๆ และมีอาการแปลกแปลกขึ้นกว่าไข้ธรรมดา. เสด็จพ่อทรงตกพระทัยให้ตามหมอปัวร์มาในทันที หมอมาถึงตรวจแล้วก็เรียกน้ำใส่ถ้วยแก้วมาให้กิน หญิงเภาเองก็อยากกิน แต่พอเห็นน้ำเข้าสดุ้ง เธอพยายามจะกินแต่ก็กินไม่ได้ บอกแต่ว่ากลัวอย่างอธิบายไม่ถูก. หมอก็ตามใจลากลับ

สถานเสาวภา
สถานเสาวภา (ภาพจาก https://saovabha.org/)

ครั้นมาถึงข้างนอกหมอก็กระซิบทูลขอเฝ้าเด็จพ่อเป็นไปรเวต แล้วทูลว่าอยู่ได้อีก 24 ชั่วโมง. แต่นั้นมาอาการก็มีแน่นยิ่งขึ้นทุกที, จนถึงบิดตัวดิ้นรนจนต้องช่วยกันจับไว้น้ำลายฟูเต็มๆ ปาก แต่เป็นอยู่เป็นพักๆ แล้วก็หายพูดได้เป็นปรกติ. สิ่งที่เศร้าใจอย่างยิ่งก็ด้วยเธอรู้ตัวว่าจะตาย เรียกทุกๆ คนไปลาเวลาหายแน่น พอถึงเวลาแน่นขึ้นมาก็โบกมือไล่คนข้างๆ พูดร่อมแร่มๆ ว่า-“ไปๆ เดี๋ยวฉันจะกัดต่อ” ข้าพเจ้าไม่อยู่ เข้าไปข้างในวังเวลานั้น, แต่เธอสั่งไว้ว่าให้ลาด้วย. พอเธอตายแล้วแม่นมข้าพเจ้าไปตามข้าพเจ้ามาจากในวัง มาถึงเห็นแต่ศพนอนตายสีเขียวทั้งตัว และที่ตรงแผลหมากัดไว้นั้นเขียวจนดำ. เราร้องไห้กันเสียมากมาย.

ผลของการเศร้าโศกนี้, เป็นเหตุให้เสด็จพ่อทรงพยายามเรี่ยรายทำสถานปาร์สเตอร์* ขึ้นได้ในกรุงเทพฯ แต่คราวนั้นและต่อมาก็เกือบจะไม่มีใครที่ต้องตายเพราะหมาบ้าอีก. จึงควรนับว่าหญิงเภาได้ตายไปเพื่อช่วยชีวิตคนไว้เป็นอันมาก.


* พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตึกหลวงที่ถนนบำรุงเมืองเป็นที่ทำการผลิตและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อสร้างเสร็จใน
พ.ศ. 2456 โปรดเกล้าฯ ให้เรียกชื่อว่า “ปาสตุรสภา” ตามชื่อ หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) นักเคมีชาวฝรั่งเศสผู้พบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

ต่อมา พ.ศ. 2460 โปรดเกล้าฯ ให้โอนปาสตุรสภาจากกระทรวงมหาดไทยไปสังกัดสภากาชาดไทย และเปลี่ยนชื่อเป็น “สถานปาสเตอร์” ต่อมาใน พ.ศ. 2463 ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่สภากาชาดไทย จัดสร้างที่ทำการของสถานปาสเตอร์แห่งใหม่ขึ้นที่ถนนพระราม 4 และได้พระราชทานนาม “สถานเสาวภา” เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถพระบรมราชชนนี พันปีหลวง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ธันวาคม 2561