สำนวนไทย “สะโพกสุดเสียงสังข์” ชมความงามสตรี มีที่มาจากไหน?

ประติมากรรม สะโพกสุดเสียงสังข์

คำถาม “อันเนื่องด้วยภาษา” มีเข้ามาอยู่บ่อยๆ เช่นคำถามตามชื่อเรื่องที่ว่า สำนวนไทย “สะโพกสุดเสียงสังข์” หมายความว่าอะไร นี่ไม่ใช่คำตอบเบ็ดเสร็จ แต่เป็นความพยายามที่จะตอบ

สิ่งต่างๆ ที่นับว่า ดี งาม เลิศ ประณีต ของชาวไทยยุคก่อนมักจะเป็นของในวัง ไม่ว่าเป็นเรื่องอาหาร เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย อาคาร ฯลฯ คตินิยมดังกล่าวยังเชื่อมโยงมาถึงปัจจุบัน เช่น หญิงสาวสมสมัย คนหนึ่งจะเปิดร้านขายอาหารไทย เธอเอาเกียรติประวัติเจ้าคุณย่าทวดของตนซึ่งเคยเป็นวิเสท (คนทำอาหารหรือคนครัวในวัง) มาอ้าง เป็นทำนองว่า ตำรับอาหารเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดมาจากวัง หรือเรื่องของการปรุงยาหอม หากโฆษณาว่าได้ตำรับมาจากวัง ดูจะมีภาษีกว่าตำรับที่คนข้างบ้านคิด

นี่แสดงว่า การยอมรับนับถือของในวังว่าเป็นของสูงค่า ประณีต ยังสืบมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากสิ่งของที่กล่าวมาแล้ว “สาวชาววัง” ก็เป็นที่ชื่นชมของหนุ่มๆ ด้วยว่า ไม่ต้องตักน้ำตำข้าวให้ผิวคล้ำดำกร้านกรำแดดตากฝนอย่างชาวบ้านทั่วไป เวลาที่มีพระราชพิธีมงคลหรือการละเล่นที่เป็นของหลวง จึงเป็นโอกาสให้ชาวบ้านได้เห็นสาวชาววังเวลามาร่วมในพิธี

แล้วเหตุใด “เสียงสังข์” จึงเอามาเปรียบกับ “สะโพก” ได้

ประเด็นนี้อธิบายได้ตามเรื่องที่กล่าวมา คือเวลามีพระราชพิธีบางอย่างมักจะมีการเป่าสังข์หรือประโคมดนตรี มีสาวชาววังมาร่วมในขบวน ความงามของสตรีในวังทำให้หนุ่มตะลึงแล มองส่งจนสังข์ที่เป่าสุดเสียงลง (สุด = จบ, สิ้น) ก็ยังไม่วางตา การมองส่งขบวนแห่ที่ผ่านหน้าไป ทำได้อย่างเก่งก็เห็นแต่ด้านหลัง และอาณาบริเวณด้านหลังของสตรีที่เหล่าชายจึงมองนั้นมีไม่กี่แห่ง หากวิจัยหาตัวเลขว่าตำแหน่งที่คนเขามองหมาย น่าจะตกที่สะโพกเสียแหละมาก

สำนวนไทย จำนวนมากผูกติดกับวัฒนธรรม ถ้าไม่เข้าใจวัฒนธรรมก็ไม่ทราบความหมายของสำนวน เช่น “ชั่วเคี้ยวหมากจืด” ท่านหมายเอาเรื่องเวลา หากต้องการรู้ว่านานเท่าไรก็โดยการเทียบจากการเคี้ยวหมากจนเซ็งหรือจืด หรือ “ชั่วเสียงวัวมอ” ท่านหมายเอาระยะทาง คืออยู่ในระยะที่ยังพอได้ยินเสียงวัวร้อง หากไกลมากเกินไปจะไม่ได้ยิน ซึ่งก็เป็นปัญหาสำหรับผู้ที่ไม่เคยได้ยินวัวร้องตามท้องทุ่ง สำนวนลักษณะนี้จึงพลอยเลิกใช้ไปด้วย

สะโพกสุดเสียงสังข์ เคยมีผู้วิเคราะห์ว่า มาจากชาดกชื่อ สุสฺโสนฺที ตามฉบับของลังกา อันเป็นเรื่องกากี ซึ่งสุสฺโสนฺทีนั้น อาจเพี้ยนมาจากภาษาบาลี สุสฺโสณิ (สุ + โสณิ) แปลว่า สะโพกงาม นางเอกในเรื่องเธอมีสะโพกงาม ส่วนฉบับของไทยเรียกว่า สุสันธี แปลว่า เอวงาม ตบท้ายว่า “แม่สะโพกสุสโสณี หรือสุสฺโสนฺที ก็อาจเพี้ยนเป็น แม่สะโพกสุดเสียงสังข์ได้” ว่างั้น!

ชาดกดังที่อ้างนี้ หากนับหาตัวมนุษย์คนไทยที่ได้อ่านเรื่องคงหาตัวได้น้อยนัก ถ้าจะอ้างเหตุของความเพี้ยนเสียงมาจากบาลีก็พอจะ “ฟังได้” แต่จะ “ฟังขึ้น” หรือเปล่านี้ เป็นอีกประเด็น

สะโพกสุดเสียงสังข์ ซึ่งเป็นสำนวนไทยนี้ ผู้เขียนพิจารณาตามรูปการณ์ทางวัฒนธรรมไทยว่า น่าจะหมายถึงหญิงรูปงามจนติดตาต้องใจ งามระบือไปไกล ดุจเสียงสังข์ที่เชื่อว่าดังไปจนถึงสวรรค์ ดังที่นางสีดาได้รับคำชมว่า เป็นผู้มี “สะโพกสุดเสียงสังข์” ให้บังเอิญว่านางสีดาเธอเป็นแขก แล้วเรื่องการเป่าสังข์ก็เป็นเรื่องของพราหมณ์ ซึ่งก็ยังพัวพันอยู่กับแขกๆ

เมื่อเรามองตามมุมคิดของคนไทย จึงช่วยไม่ได้ที่จะคิดว่า สะโพกสุดเสียงสังข์ของนางสีดาคงเป็นอย่างหญิงแขกหรือรูปร่างอย่างนางอัปสรตามเทวสถาน แต่เราลืมไปว่า เรื่องรามเกียรติ์เราเอาโครงเรื่องของเขามา ส่วนรายละเอียดนั้นเป็นวัฒนธรรมของไทย หรือเช่นเรื่องอิเหนา ไทยรับโครงเรื่องและชื่อตัวละครมา รายละเอียดไม่ว่าจะเป็นการพระบรมศพ การเข้าเฝ้า การชมความงาม ฯลฯ นั้นเป็นเรื่องของไทยเรานี่เอง ไม่ได้เอาแบบอย่างการพระบรมศพ ฯลฯ ของอินโดนีเซีย มาขยายความไว้ในวรรณคดี

อีกประการหนึ่ง สังคมไทย (พิจารณาจากโลกทัศน์ที่แสดงออกทางวรรณคดี) นิยมผู้หญิงเอวบางร่างน้อย ผู้ชายก็สันทัดพอประมาณ คนที่ขี้เหร่อัปลักษณ์แต่รักจริงอย่างขุนช้าง ก็ไม่ได้รับการพิจารณาให้เป็นพระเอก นางแก้วหน้าม้าและเจ้าเงาะของรจนา ถ้าเขาทั้งสองลืมมนต์ถอดร่างก็คงจะไม่ต่างเจ้าตัวร้ายดีๆ นี่เอง

ความมุ่งหมายของกวีที่ชมสะโพกของนางสีดา เข้าหลักจิตวิทยาที่ว่า ชมแต่น้อย เหลือนั้นให้เป็นจินตนาการ คือแทนที่จะมาพรรณนาถึงเส้นผม ปาก คอ คิ้ว คาง หว่างทรวงของนางสีดาสวย ก็เลือกมาชมเพียงจุดสองจุด ที่เหลือก็ให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังจินตนาการไปเองว่า นางสีดางามทั้งร่าง หรือการจะชมสาวออฟฟิศนางหนึ่งก็เลือกเปรยให้ได้ยินสักหนึ่งอย่าง ขืนชมตั้งแต่หัวจดเท้าอาจถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ สะโพกของนางสีดาของกวีไทยคงไม่ตีความว่า บึ่บบั่บอย่างไหซอง แต่ประการใด

จะเป็นเพราะหลักการเทียบความหมายผิด หรือแกล้งตีความให้ผิดๆ ก็สุดจะเดา ในปัจจุบันนี้ความหมายของ “สะโพกสุดเสียงสังข์” หมายไปที่สะโพกใหญ่เท่านั้น ไม่รวมทั้งร่าง ส่วนจะใหญ่แบบเทอะทะ หรือใหญ่อย่างน่าชื่นชมต้องหมั่นสังเกตน้ำเสียงผู้พูดว่า เขาต้องการให้เราเข้าใจไปในทำนองใด

ดังนั้น “สุดเสียงสังข์” ในสำนวนนี้ จึงเป็นคำขยายความหมายโดยอิงความคิดแบบไทยๆ หากจะตอบคำถามที่ว่า สะโพกขนาดใดที่สมควรใช้สำนวนนี้ ประเด็นนี้…ขอให้เป็นวิจารณญาณของผู้ใช้ภาษาก็แล้วกัน

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กรกฎาคม 2565