ในอดีต ผู้นำรัฐบอกให้ใช้มะม่วงแทนเมื่อมะนาวแพง และดูผลการปั้นให้มะนาวออกหน้าแล้ง

ภาพประกอบเนื้อหา - มะนาว

เรื่องราวทางการเกษตรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอย่างหนึ่งในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา (บทความเผยแพร่ในนิตยสารเมื่อธันวาคม 2558 – กองบรรณาธิการ) คงหนีไม่พ้นเรื่องของมะนาว สิ่งที่วัดความนิยมได้คือหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจัดงานสัมมนา

สื่อมวลชนเผยแพร่ข้อมูลกันทั้งหนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือเฉพาะกิจ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และสื่ออื่นๆ

หนังสือพิมพ์รายวันเสนอข่าวว่ามีขโมยผลผลิตมะนาวจากสวน ทั้งนี้เพราะราคาเป็นแรงจูงใจ

สำนักพิมพ์บางแห่งพิมพ์หนังสือมะนาวออกมาหลายเล่ม แต่ละเล่มพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง

จริงๆ แล้วมะนาวมีปลูกมานาน แต่ปัญหาคือช่วงฤดูแล้ง ราคาผลผลิตมะนาวมีน้อย ส่งผลให้ราคาพุ่งสูง บางปีแม่บ้านต้องซื้อกันผลละ 10 บาท

มีอยู่ช่วงหนึ่ง มะนาวราคาแพง ผู้นำรัฐบาลบอกว่าให้ใช้มะม่วงแทน

สาเหตุที่มะนาวได้รับความสนใจ เพราะเกษตรกรค้นพบพันธุ์เหมาะสม แต่ที่สำคัญมากนั้น คือสามารถบังคับให้มีผลผลิตช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน

มะนาวเป็นพืชตระกูลส้ม ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี เพราะเป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลมะนาวมีสีเขียว เมื่อสุกเป็นสีเหลือง เปลือกบาง ภายในมีเนื้อแบ่งเป็นกลีบๆ ชุ่มน้ำมาก

ผลมะนาวมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4-5 เซนติเมตร ต้นมีรูปทรงพุ่มเตี้ย สูงเต็มที่ราว 5 เมตร ก้านมีหนามเล็กน้อย ใบดก ใบยาวเรียวเล็กน้อย คล้ายใบส้มเขียวหวาน ดอกสีขาวอมเหลือง

ในผลมะนาวมีน้ำมันหอมระเหยถึง 7 เปอร์เซ็นต์ แต่กลิ่นไม่ฉุนเหมือนมะกรูด น้ำมีรสเปรี้ยว มะนาวมีญาติสนิทอยู่พอสมควร ฝรั่งเรียกมะนาวว่า lime

ยังมีญาติของมะนาวที่เรียกว่า lemon ลักษณะผลไม่กลมแป้นอย่างมะนาว แต่หัวท้ายมน กลิ่นน้ำมันหอมระเหย ไม่ใกล้เคียงมะนาว

ในสมัยก่อน นิยมปลูกมะนาวพันธุ์ไข่ มะนาวแป้น มะนาวหนัง มะนาวทราย ส่วนมะนาวควายผลใหญ่ๆ รสเปรี้ยวจัดแต่กลิ่นไม่หอม มีการใช้แก้ขัดบ้างในช่วงมะนาวมีน้อย แต่หากผลผลิตมะนาวออกมามากๆ แทบไม่มีใครเหลียวแลมะนาวควายกัน กระนั้นก็ตาม มะนาวควายก็ยังมีประโยชน์อยู่ เขาใช้กิ่งเป็นต้นตอสำหรับขยายพันธุ์โดยการทาบกิ่ง

เรื่องของพันธุ์มะนาว ปัจจุบันนิยมใช้คำว่า “แป้น” นำหน้า แล้วต่อท้ายด้วยชื่อเจ้าของ ชื่อท้องถิ่น หรือชื่อหน่วยงานที่ค้นพบ

เนื่องจากต้นพันธุ์ขายได้ราคาดี จึงมีผู้ผลิตบางรายนำพันธุ์เดิมเปลี่ยนชื่อใหม่ เพื่อหวังผลทางการค้า ตัวอย่างพันธุ์ “แป้น 1” ราคากิ่งละ 300 บาท ซื้อขายกันไปนานๆ

เกษตรกรที่เชียงรายซื้อไปปลูก เมื่อราคาลดลงเหลือ 50 บาท ก็อาจจะเปลี่ยนเป็น “แป้น 2” แล้วขายกิ่งละ 200 บาท

ในวงการเกษตรไม่ได้สอบสวนสืบสวนกันให้ถึงที่สุด หรือพิสูจน์ให้แจ่มแจ้ง แต่ที่ผ่านมามีพืชบางชนิด หน่วยงานราชการนำไปตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งค่าใช้จ่ายสูง

งานขายกิ่งพันธุ์มะนาว เป็นแนวทางสร้างรายได้ให้กับผู้ปลูก ซึ่งส่วนใหญ่ซื้อขายกันตรงไปตรงมา เมื่อเขาปลูกแป้นพิจิตร ก็บอกว่า “แป้นพิจิตร”

พื้นที่ปลูกมะนาว แหล่งใหญ่ต้องยกให้จังหวัดเพชรบุรี นครปฐม ราชบุรี ในแปลงปลูกมะนาวขนาดใหญ่ ใช้ปัจจัยการผลิตค่อนข้างมาก บางเวลาที่เดินเข้าไปในสวนจะสัมผัสได้ถึงกลิ่นเคมีเกษตร โดยเฉพาะสารป้องกันกำจัดเชื้อรา รวมทั้งสารป้องกันกำจัดแมลง

ถึงแม้มีการใช้สารเคมีมาก แต่ลักษณะของการใช้ประโยชน์จากมะนาว ก็พอให้อุ่นใจว่าปลอดภัย

พืชตระกูลส้ม อย่างส้มเขียวหวาน เมื่อก่อนมีสารตกค้างเกินค่าความปลอดภัยที่ผิวเปลือกอยู่มาก แต่เวลากินก็แกะเปลือกทิ้ง มะนาวใช้วิธีเฉือนผลแล้วบีบเอาเฉพาะน้ำ

ทุกวันนี้มีผู้ปลูกมะนาวรายย่อยมากขึ้น โอกาสใช้สารเคมีก็น้อยลง ส่วนหนึ่งมีปัจจัยการผลิตให้เลือก

วิธีการปลูกมะนาว หากเป็นเกษตรกรในที่ดอน อย่างอำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี เขาปลูกเป็นแปลงเหมือนปลูกกล้วย ปลูกมันสำปะหลัง

แต่หากเป็นเกษตรกรในที่ลุ่มน้ำขัง อย่างอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เขายกร่องแล้วปลูกบนสันร่อง ทั้ง 2 จังหวัด ทรงพุ่มของมะนาวอาจจะแตกต่างกันบ้าง

มะนาวที่เพชรบุรี อาจจะมีทรงพุ่มและกิ่งก้านขยายใหญ่กว่า เพราะรากชอนไชไปไม่มีขอบเขต แต่ที่นครปฐม ทรงพุ่มอาจจะไม่กว้างใหญ่นัก เพราะรากเดินได้ในขีดจำกัด ส่วนผลผลิตที่ไหนมากกว่ากัน จะขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา

ตลาดมะนาว นอกจากตลาดใหญ่ๆ อย่างตลาดไทและสี่มุมเมืองแล้ว ก่อนหน้านี้จนถึงปัจจุบัน ตลาดมะนาวของประเทศไทย ต้องที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี

สาเหตุที่ตลาดมะนาวท่ายางมีชื่อเสียง และคนนิยมนำผลผลิตไปจำหน่าย เพราะที่นี่เป็นแหล่งมะนาวขึ้นชื่อยุคแรกๆ ของไทย เกษตรกรมีผลผลิตก็นำมาจำหน่าย นานเข้าสามารถนำราคาที่ตลาดท่ายางมาอ้างอิงได้

ถึงแม้เกษตรกรจะปลูกมะนาวในเขตอื่นได้ผลดี แต่ขายได้ราคาดีสู้ที่ตลาดท่ายางไม่ได้ ดังนั้น เมื่อมีผลผลิต ต้องบรรทุกไปที่ท่ายาง ดูแล้วคล้ายการขายผลผลิตชนิดอื่น อย่างมะขามหวานต้องเพชรบูรณ์ กล้วยไข่ต้องกำแพงเพชร ส้มโอขาวน้ำผึ้งต้องนครชัยศรี

แต่ในความเป็นจริงแล้ว พบว่ามีรถขนส้มโอทะเบียนปราจีนบุรี ราชบุรี มาส่งผู้ค้าแถวนครชัยศรี อย่างมะขามหวาน เมื่อก่อนมีผู้ซื้อไปเหมาสวนจากน่าน จากเลย มาขายที่เพชรบูรณ์ กล้วยไข่ พื้นที่ปลูกของกำแพงเพชรมีราว 4,000 ไร่ ผลผลิตจึงต้องพึ่งพานครสวรรค์และตาก

ในระยะ 2-3 ปีมานี้ (บทความเผยแพร่ในนิตยสารเมื่อธันวาคม 2558 – กองบรรณาธิการ) ช่วงที่มะนาวมีราคาแพง ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา มีมะนาวจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามาจำนวนไม่น้อย ถึงแม้กลิ่นหอมสู้ไม่ได้ น้ำมีน้อยกว่า แต่ราคาถูกกว่า

โดยปกติแล้ว มะนาวเป็นพืชตระกูลส้มที่ออกดอกได้ง่าย ออกดอกทั้งปี แต่จะมากจะน้อยช่วงไหนเท่านั้นเอง มะนาวโดยทั่วไปจะออกดอกเมื่อช่วงที่อากาศแล้งต่อช่วงฝน ผลผลิตจะไปเก็บได้มากๆ ช่วงปลายฝนต้นหนาว ช่วงนี้มะนาวราคาถูกมาก

หากต้องการผลผลิตมะนาวในช่วงแล้ง ต้นมะนาวต้องออกดอกช่วงฝนชุก ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง

ที่ผ่านมามีความพยายามทำให้มะนาวมีผลผลิตหน้าแล้งกันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่คนแห่ปลูกมะนาวกันมาก ยามหน้าแล้งเดือนมีนาคม มะนาวแพง เกษตรกรและผู้สนใจแห่ปลูกกันจนต้นพันธุ์เกลี้ยงในเดือนมีนาคม-เมษายนในปีนั้น ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว กว่าที่มะนาวจะให้ผลผลิต ต้องใช้เวลา 2-3 ปี

พบปรากฏการณ์ ทำให้มะนาวออกดอกได้คล้ายๆ ส้มเขียวหวาน

เมื่อก่อนทุ่งรังสิต จังหวัดปทุมธานี มีพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวาน 2 แสนไร่ หากเกษตรกรต้องการทำส้มเขียวหวานให้ขายได้ในช่วงตรุษจีน ก็นับย้อนหลังว่า ตั้งแต่ออกดอกจนเก็บผลผลิตได้ ใช้เวลาเท่าไร เมื่อรู้เวลาก็เริ่มกักน้ำ จนต้นเริ่มเฉา หรือเกษตรกรเรียกว่าสลด ต่อมาก็ให้น้ำและปุ๋ย ต้นส้มจึงออกดอก

ชาวสวนมะนาวสังเกตเห็นว่า ช่วงฝนปีใดที่ฝนทิ้งช่วง ต้นมะนาวสลด เมื่อฝนตกลงมา มะนาวจะมีดอกแล้วพัฒนาเป็นผล จึงสรุปกันได้ว่า ปริมาณน้ำ มีผลต่อการออกดอกของมะนาว ทำให้เกษตรกรบางคนลงทุนซื้อพลาสติคไปคลุมโคนต้นมะนาว เพื่อไม่ให้มะนาวได้รับน้ำในระยะหนึ่ง ซึ่งก็ได้ผลพอสมควร

ต่อมามีเกษตรกรคนเก่ง แต่ก็ไม่ทราบว่าใครทำเป็นคนแรก

เกษตรกรคนเก่งได้นำมะนาวปลูกลงในวงบ่อ เมื่อถึงช่วงฝนชุกๆ ก็ใช้พลาสติคคลุมที่ปากวงบ่อ เฉพาะต้น ซึ่งทำได้ง่ายและสะดวก จึงสามารถกำหนดให้มะนาวออกดอกช่วงฝนแล้วไปเก็บเกี่ยวต้นปี คือเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน

สิ่งที่เกิดขึ้น หากอธิบายตามหลักเกษตรศาสตร์ สาเหตุที่มะนาวออกดอกช่วงที่ได้รับน้ำน้อย เพราะในต้นไม้มีสัดส่วนของคาร์บอนและไนโตรเจนที่เหมาะสม หรือ c/n ratio นั่นเอง

เรื่องสัดส่วนของคาร์บอนและไนโตรเจน ใช้ได้ดีกับมะม่วง ผู้ที่ปลูกมะม่วง ก่อนออกดอกช่วงปลายปีและต้นปี จึงไม่ควรรดน้ำ เพื่อให้มะม่วงออกดอกตามที่เจ้าของต้องการ งานปลูกมะนาวในวงบ่อมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพันธุ์ที่เหมาะสม การให้น้ำ ปุ๋ย

ที่อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี เกษตรกรใช้เฉพาะผักตบชวาเป็นวัสดุปลูกมะนาวในวงบ่อได้ผลดีมาก โดยทิ้งให้ผักตบชวาย่อยสลายแล้วค่อยปลูก แต่ต้องหมั่นเติมเรื่อยๆ เมื่อวัสดุยุบ ด้วยเหตุนี้ ทำให้ผักตบชวาที่อำเภอบางระจันกลายเป็นของมีค่าและหายาก ผู้ปลูกต้องไปหามาจากอำเภออื่น

งานปลูกมะนาวในวงบ่อ เป็นภูมิปัญญาที่ช่วยแก้ไขปัญหางานผลิตสินค้าเกษตรได้ผลดี ผู้ปลูกบางคนไม่ใช่มืออาชีพ แต่ทดลองทำแล้วได้ผล บางปีมีมะนาวต่อต้นมากถึง 300 ผล

มะนาวในวงบ่อ ทำให้ราคามะนาวในช่วงแล้งไม่แพงกว่าที่เป็นอยู่ บางปีอาจจะมีราคาลดลง

ขณะเดียวกันก็เกิดอาชีพต่อเนื่องเป็นวงจร ผู้ผลิตและขายวงบ่อ มีงานมากขึ้น ต้องรับลูกจ้างอีกหลายคน เกษตรกรบางคนรับปลูกมะนาวในวงบ่อทั่วราชอาณาจักร เช่น เกษตรกรที่จังหวัดพิษณุโลก ลงไปปลูกมะนาวถึงจังหวัดสงขลา

นอกจากปลูกในวงบ่อได้ผลดีแล้ว กระถางขนาดใหญ่ก็ปลูกมะนาวได้ผลผลิตเช่นกัน บ้านไหนมีพื้นที่ไม่กว้างนักก็ปลูกได้

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เปิดสูตร “ใช้น้ำมะม่วง(เบา) แทนน้ำมะนาว(ในน้ำยำ)” งานวิจัยหวังบรรเทาทุกข์เมื่อมะนาวแพง


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจากบทความ “นิยมปลูกกันจัง มะนาวในวงบ่อ” โดย พานิชย์ ยศปัญญา เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2558

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มีนาคม 2565 จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการ