บุฟเฟ่ต์มาจากไหน เมืองไทยกินบุฟเฟ่ต์ครั้งแรกเมื่อใด?

อาหาร แบบ บุฟเฟ่ต์ บนเรือ
อาหารบุฟเฟ่ต์ บนเรือลำหนึ่ง ภาพถ่ายเมื่อ ค.ศ. 1974 (Photo by STAFF / AFP)

บุฟเฟ่ต์ (Buffet) เป็นรูปแบบหนึ่งของการกินอาหาร ที่มีอาหารหลากหลายให้เลือกได้ตามต้องการ พจนานุกรม Cambridge Advanced Learner’s Dictionary อธิบายความหมายว่า บุฟเฟ่ต์เป็นอาหารประเภทหนึ่งที่ผู้กินต้องเสิร์ฟ อาหาร ด้วยตนเอง จากอาหารที่หลากหลาย ซึ่งส่วนมากจะเป็นอาหาร (จาน) เย็น [เพราะไม่ได้ออกแบบเป็นอาหารจานร้อนในระยะแรก]

แต่ความหมายของบุฟเฟ่ต์ในไทยก็ขยายขอบเขตออกไปเป็นอาหารที่มี “ปริมาณมาก” และ “กินได้เท่าที่คุณต้องการ” ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะบุฟเฟ่ต์เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ว่า “กินเท่าใดก็จ่ายราคาเดียว” มาใช้ตั้งแต่ ค.ศ. 1946 (พ.ศ. 2489) โดย เฮิร์บ แมคโดนัลด์ โดยคิดค่าบริการบุฟเฟ่ต์ 1.25 ดอลล่าร์ เป็นครั้งแรกที่โรงแรม EI Rancho Vegas เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา

Advertisement

วารสาร Gambling Magazine (10 th July 2002) กล่าวว่า บุฟเฟต์ครั้งแรกที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ เมื่อนายแมคโดนัลด์ที่ทำงานดึก นำชีสกับบรรดาเนื้อสไลด์ เช่น แฮม มาวางไว้ที่บาร์ เพื่อที่จะทำแซนด์วิช แต่นักพนันที่กำลังหิวเห็นเข้า นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของบุฟเฟ่ต์เมื่อ 70 กว่าปีก่อน หรือการกินได้ไม่จำกัดแต่จ่ายราคาเดียวแบบที่รู้จักกัน

บุฟเฟ่ต์ในรูปแบบของอาหารที่ทานได้ไม่จำกัด ค่าอาหารและบริการแบบคงที่ ตามจำนวนบุคคล เข้ามาในประเทศไทยได้ไม่นาน แต่เป็นเมื่อใดยังไม่พบบันทึกที่ชัดเจน หากเท่าที่พบในขณะนี้ มีการบันทึกว่ามีการกินบุฟเฟ่ต์กันครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 ที่อาคารด้านหลังห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดย นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นเป็นเจ้าภาพ

ส่วนการกินบุฟเฟ่ต์แบบไม่จำกัดปริมาณอาหารในโรงแรมนั้น หลักฐานย้อนหลังที่เก่าที่สุด เท่าที่จะพบได้คือวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ซึ่งจัดในโอกาสฉลองวันประกาศอิสรภาพของประเทศอินเดีย ณ โรงแรมรีเจ้นท์ พัทยา

จากหลักฐานข้างต้น จึงพอสรุปได้ว่าการกิน “บุฟเฟ่ต์” เข้ามาในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 46 ปี ซึ่งปัจจุบันการกินบุฟเฟ่ต์เป็นที่แพร่หลาย ทั้งห้องอาหารในโรงแรมระดับห้าดาวที่มีบุฟเฟ่ต์มื้อกลางวันและมื้อค่ำ หรือบริการอาหารเช้าสำหรับแขกที่เข้าพัก ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า จนถึงร้านอาหารทั่วไปก็มีบริการ “บุฟเฟ่ต์”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

ภัทรนันท์ ลิ่มอุดมพร. “การสะท้อนค่านิยมทางชนชั้นผ่านอาหาร: บททดลองศึกษาจากบุฟเฟ่ต์ในเขตพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร” ใน, เอกสารประกอบการประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 9 ปาก-ท้อง และของกิน จริยธรรมและการเมืองเรื่องอาหารการกิน 25-27 มีนาคม 2553, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 ธันวาคม 2564