เผยแพร่ |
---|
สำหรับโลกวัฒนธรรมร่วมสมัยในปีนี้ ถ้าจะกล่าวว่าเป็นปีของเกาหลีใต้ก็คงไม่แปลกนัก เนื้อหาประเภทภาพเคลื่อนไหว(หนัง/ซีรีส์) ซีรีส์ Squid Game สร้างปรากฏการณ์เป็นไวรัลและส่งอิทธิพลทางวัฒนธรรมมาถึงโลกความเป็นจริงในหลายประเทศ ช่วงไล่เลี่ยกัน แวดวงดนตรี K-Pop ก็ได้เห็น BTS วงดังจากเกาหลีใต้ผงาดคว้ารางวัลศิลปินแห่งปี รางวัลใหญ่จากเวที American Music Awards 2021
จากรางวัลล่าสุดนี้เอง รายงานจากสำนักข่าว Yonhap สื่อเกาหลีใต้ชี้ว่า วง BTS สร้างประวัติศาสตร์เป็นบุคคลแรกจากทวีปเอเชียซึ่งสามารถคว้ารางวัลศิลปินแห่งปี (Artist of the Year) รางวัลใหญ่ที่สุดของเวทีนี้ซึ่งเป็นงานประกาศรางวัลด้านดนตรีงานใหญ่ในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ งานปี 2021 เป็นอีกปีที่ BTS คว้ารางวัลศิลปินดูโอ (Duo) หรือศิลปินกลุ่มยอดนิยมเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน
คลิกอ่านเพิ่มเติม : “ขนมน้ำตาล” ใน Squid Game มาจากไหน? กลายเป็นขนมฮิตเพราะกระแสซีรีส์ดังทะลุเพดาน
วัฒนธรรมเกาหลี(ใต้)ในตลาดตะวันตก
รางวัลจากเวทีในรอบ 3 ปีหลังสุด ผนวกกับรางวัลใหญ่ในเวทีดนตรีฝั่งอเมริกันน่าจะตอกย้ำอิทธิพลของศิลปินและวัฒนธรรมร่วมสมัยจากเกาหลีใต้ที่แผ่อิทธิพลไปถึงดินแดนแห่งวัฒนธรรมร่วมสมัยกระแสหลักที่สำคัญอีกแห่ง อันที่จริงแล้ว วัฒนธรรมจากเอเชียเข้ามาในสหรัฐอเมริกา (โดยเฉพาะกรณีของเกาหลีใต้) ก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว งาน Kcon จัดในสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2012
รายงานจาก Rolling Stone สื่อวัฒนธรรมร่วมสมัยชื่อดังของสหรัฐฯ ชี้ว่า เทศกาลดึงดูดผู้สนใจเข้าชมได้หลักร้อยคนเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ตัวเลขผู้เข้าร่วมงานเพิ่มสูงไปทะลุหลัก 125,000 คน
ความนิยมในงานอีเวนต์วัฒนธรรมร่วมสมัยของเกาหลีใต้ในพื้นที่ของสหรัฐอเมริกาสอดคล้องกับกราฟการเติบโตของวัฒนธรรม K-Pop ในหลายประเทศรอบโลกช่วง 5-8 ปีที่ผ่านมา จากช่วงที่เริ่มไต่ระดับยังถูกมองเป็นตลาดกลุ่มเฉพาะทางมาจนถึงวันที่กลายเป็นอุตสาหกรรมระดับโลกซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
BTS ไม่ได้เป็นแค่กลุ่มเดียว ศิลปินเกาหลีใต้ยังมีมาไม่ขาดสาย ก่อนหน้างานประกาศรางวัลในปี 2021 วง “แบล็กพิงก์” (Blackpink) ก็สร้างปรากฏการณ์ไว้มากมาย สำหรับคนจำนวนไม่น้อย อาจจดจำความนิยมในศิลปินเกาหลีที่แพร่กระจายเป็นกระแสไวรัลได้จากภาพจำของเพลง “กังนัมสไตล์” (Gangnam Style) เมื่อปี 2021 ผลงานของแร็ปเปอร์นามว่า ไซ (Psy)
ท่าเต้นและมิวสิกวิดีโอเพลงนี้ทำให้ยูทูบ (YouTube) ถึงกับต้องปรับค่าเพดานตัวเลขยอดวิวสูงสุด เมื่อวิดีโอเพลงนี้ทำยอดวิวทะลุตัวเลขเพดานสูงสุดที่ 2,147,483,647 ยูทูบต้องปรับเพดานสูงสุดของยอดวิวที่ระบบนับไปเป็น 9,223,372,036,854,775,808
อย่างไรก็ตาม มาร์ก เจมส์ รัสเซลล์ (Mark James Russell) นักเขียนที่คลุกคลีกับวัฒนธรรมร่วมสมัยของเกาหลีใต้จากการพำนักอาศัยในเกาหลีมองว่า ดนตรี K-Pop ก่อตัวขึ้นก่อนหน้าเพลงของไซ ราว 2 ทศวรรษ หลังจากนั้นก็เริ่มแพร่กระจายไปในวงกว้างตามลำดับ
เส้นทางและจุดเปลี่ยนของ K-Pop
ย้อนกลับไปในห้วงปลายยุค 80s ปี 1987 ถือเป็นจุดสิ้นสุดของรัฐบาลทหารในเกาหลีใต้ ปีถัดมา เมืองโซลก็จัดโอลิมปิกฤดูร้อน สังคมและวัฒนธรรมของเกาหลีใต้กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งท่ามกลางบรรยากาศเหล่านี้
หลังจากนั้นมา ต้นปี 1992 มีผลงานที่ทำให้แวดวงบันเทิงของเกาหลีใต้ฮือฮาขึ้นมาเมื่อ “ซอ แทจี แอนด์ บอยส์” (Seo Taiji and Boys) ทริโอสัญชาติเกาหลีใต้ออกอัลบั้มแรก ผลงานเพลงชื่อ I Know ของวงติดชาร์ตจัดอันดับเพลงในอันดับหัวตารางนานนับปี จึงพอจะกล่าวได้ว่า ผลงานของ Seo Taiji and Boys เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนให้กับอุตสาหกรรมดนตรีเกาหลี
ที่เด่นชัดอีกครั้งคือ หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม Seo Taiji and Boys อย่างยาง ฮยอน-ซอก (Yang Hyun-suk) คือผู้ก่อตั้งบริษัท YG Entertainment ในปี 1996 บริษัทนี้คือต้นสังกัดของ Psy ในยุคหนึ่ง และมีศิลปินดังในสังกัดอีกมากมาย หลายปีหลังมานี้ศิลปินอีกรุ่นที่สร้างชื่อให้บริษัทก็คือ Blackpink นั่นเอง
หลังบริษัท YG Entertainment ก่อตัวขึ้นมา อี ซู-มาน (Lee Soo-man) โปรดิวเซอร์ที่เคยไปศึกษาในสหรัฐอเมริกาก็สร้างกลุ่ม SM Entertainment ในปี 1995 ไม่กี่ปีต่อมา JYP Entertainment อีกหนึ่งกลุ่มดังซึ่งตั้งโดย “ลุงผัก” หรือพัก จิน-ย็อง (Park Jin-young) ก็เริ่มต้นเมื่อปี 1997
เมื่อเข้าสู่ยุค 2000s อินเทอร์เน็ตเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่ทำให้พฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปในหลายด้าน เพลงของ “ไซ” ที่กลายเป็นไวรัลไปทั่วโลก คลื่นศิลปินเกาหลีอีกมากมายก็ทยอยแพร่ผลงานไปในวงกว้างได้หลังจากผลงานของ “ไซ” จุดกระแสในโลกสื่อสังคมออนไลน์ ที่สำคัญคือ กลุ่มคนฟังเองก็มีพลัง มีฐานของตัวเองที่จะสนับสนุนหรือเข้าถึงศิลปินได้ง่ายขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ในความคิดเห็นของสื่อด้านวัฒนธรรมร่วมสมัยในสหรัฐฯ มองว่า มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจกับการทำงานของ “วันเดอร์เกิร์ลส” (Wonder Girls) และ “เกิร์ลส เจเนอเรชั่น” (Girls Generation) ซึ่งเคยอัดเพลงดังของวงเวอร์ชั่นคำร้องเป็นภาษาอังกฤษมาก่อนแล้วด้วย แต่แนวทางนี้กลับไม่ได้จุดกระแสในตะวันตกได้มากนัก
ในทางกลับกัน BTS ขับร้องผลงานของตัวเองเป็นภาษาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือภาคดนตรี เลสลีย์ วิทเทิล (Leslie Whittle) ผู้อำนวยการด้านโปรแกรมรายการวิทยุจากสถานี KRBE ในฮุสตัน แสดงความคิดเห็นว่า ดนตรีของเพลงดังอย่าง Fake Love ทำออกมาได้ดีมากจนผู้ฟังสามารถรับฟังและชื่นชอบกับเพลงได้โดยไม่ต้องสนใจคำร้องเลย
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา BTS ร่วมงานกับศิลปินจากตะวันตกอย่างต่อเนื่อง ปี 2021 เพิ่งปล่อยเพลงที่ร่วมงานกับ “โคลด์เพลย์” (Coldplay) จากฝั่งอังกฤษ สื่ออเมริกันด้านวัฒนธรรมร่วมสมัยมองว่า การผสมผสานวัฒนธรรม บทเพลง K-Pop ทำให้รู้สึกถึงจังหวะดนตรีใกล้เคียงกับดนตรีอเมริกัน ซึ่งวิทเทิล มองว่า เพลงในชาร์ต 40 อันดับแรก เป็นดนตรีจังหวะปานกลางถึงเร็ว ขณะที่เพลง K-Pop ก็ให้ความรู้รื่นเริง (upbeat) และให้อารมณ์ความรู้สึกเชิงบวกกับผู้ฟัง
องค์ประกอบและนิยามของ K-Pop กับกรณีวง K-Pop ที่ไม่ใช่ชาวเกาหลี
นอกจากนี้ ดนตรี K-Pop ยังมีองค์ประกอบที่น่าสนใจซึ่งแตกต่างจากผลงานแบบดนตรีอเมริกันร่วมสมัยอยู่บ้าง ตามมุมมองของ Rodnae “Chikk” Bell นักแต่งเพลงรายหนึ่งคิดว่า ดนตรีจากเกาหลีมีองค์ประกอบหลากหลายและมีความเปลี่ยนแปลงในตัวดนตรี เขาให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไว้ว่า
“โดยเฉลี่ยแล้วเพลงแบบอเมริกันมี 4 เมโลดี้ หรือบางทีอาจ 5 ขณะที่ K-Pop โดยเฉลี่ยมี 8 ถึง 10 และยังมีการเรียบเรียงเสียงประสาน (Harmony) อย่างมากด้วย”
ในทางกลับกัน ชาวตะวันตกหรือชนชาติจากหลากหลายภูมิภาคเองก็สนใจวัฒนธรรมดนตรีร่วมสมัยในเกาหลีถึงขั้นย้อนกลับมาก่อตั้งกลุ่มศิลปินแนว K-Pop เสียเองด้วย ตัวอย่างหนึ่งคือ วง EXP Edition
สำนักข่าว BBC ชี้ว่า EXP Edition เป็นวงแนว K-Pop วงแรกของโลกที่สมาชิกไม่ได้เป็นชาวเกาหลี ปฏิกิริยาที่คนทั่วไปและแฟนเพลงมีต่อวงนี้ก็ค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ไปจนถึงข้อกล่าวหาเรื่อง cultural appropriation (คำนี้เคยเป็นกระแสมาพักหนึ่งในไทยด้วย) กล่าวโดยง่ายคือ คำที่ใช้หมายถึง คนกลุ่มหนึ่งนำวัฒนธรรมของอีกกลุ่มหนึ่งไปใช้
EXP Edition มีสมาชิก 6 คน เริ่มต้นจาก Bora Kim สาวที่โตในเกาหลีใต้ และมาเรียนต่อในมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก เมื่อปี 2014 ด้วยความที่เธอสนใจดนตรี K-Pop ตั้งแต่สมัยเรียน เมื่อมาเรียนต่อ ช่วงนั้นกระแส K-Pop ในสหรัฐฯ เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว เธอมีคำถามว่า จะมีแค่คนเกาหลีทำดนตรี K-Pop หรือเปล่า? จะผลักดัน K-Pop ได้อย่างไร และเพดานของแนวดนตรี K-Pop อยู่ที่ไหน? ซึ่งเธอตัดสินใจว่า หากจะได้คำตอบ คงต้องตั้งวงขึ้นมาเองโดยที่สมาชิกวงไม่ได้เป็นชาวเกาหลี
หลังผ่านกระบวนการคัดเลือก ท้ายที่สุดได้สมาชิกวงที่มีตั้งแต่ชาวโครเอเชีย ปอร์ตุกีส-อเมริกัน จนถึงลูกครึ่งเชื้อสายญี่ปุ่น-เยอรมัน มารวมเข้ากับคนท้องถิ่นในสหรัฐอเมริกาเอง สมาชิกในวงไม่มีคนที่เชื่อมโยงกับเกาหลีใต้เลย ไม่มีใครเคยฟังดนตรีแนว K-Pop มาก่อน และไม่มีใครพูดภาษาเกาหลีได้เช่นกัน ชื่อวง EXP Edition ก็มาจากการย่อคำว่า experiment ที่หมายถึง “การทดลอง”
ผลงานเปิดตัวของวงคือเพลง Luv/Wrong เมื่อปี 2015 ได้เสียงตอบรับไม่ถึงกับอยู่ในระดับที่พอเรียกว่า “ประสบความสำเร็จ” คลิปมิวสิกวิดีโออย่างเป็นทางการในยูทูบจนถึงวันที่ 22 พ.ย. 2021 มียอดเข้าชม 307,599 วิว
หลังผู้ก่อตั้งเรียนจบโปรแกรม สมาชิกวงยังต้องการเดินหน้าต่อ พวกเขาเลยตั้งแคมเปญระดมทุน และได้เงินสมทบทุน 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ และยังได้เงินเพิ่มจากนักลงทุนจนเดินหน้าเข้าไปในตลาดเกาหลีเมื่อปี 2016
เสียงตอบรับที่เกิดขึ้นหลังพวกเขาเดินหน้าต่อตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ก็ยังคงมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา หลายคนบอกว่าวงนี้ไม่มีทางเป็น K-Pop ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์เข้ามาแสดงความคิดเห็นกันหลากหลาย มีตั้งแต่คำดูถูก เสียงก่นด่าว่าเป็น “K-Pop ของปลอม” ไปจนถึงคำขู่ฆ่า
ที่น่าสนใจคือ หากมีตัวอย่างของ EXP Edition ที่ได้เสียงวิจารณ์ลักษณะนี้ คำถามคือ แล้ว K-Pop คืออะไรกันแน่?
เจฟฟ์ เบนจามิน (Jeff Benjamin) สื่อสารมวลชนจากนิวยอร์กและกูรูเกี่ยวกับเรื่อง K-Pop มองว่า K-Pop ไม่ได้ถูกนิยามจากสุ้มเสียงของตัวดนตรี ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมักมีองค์ประกอบอย่าง เนื้อร้อง แร็ป การเต้น และผสมผสานรวมองค์ประกอบหลากหลายชนิดเข้าด้วยกัน เจฟฟ์ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า
“(K-Pop) มันเป็นเรื่องขององค์ประกอบอย่างระบบการฝึกฝน(ศิลปิน)อย่างเข้มข้น, กระบวนการผลิตมิวสิกวิดีโอที่วิบวับ วาไรตี้โชว์ และรายการดนตรีที่ศิลปินไปร่วมแสดง และองค์ประกอบอื่นที่ไม่ได้เป็นเฉพาะทางดนตรี”
หากนำความคิดเห็นมาพิจารณากับ EXP Edition เจฟฟ์ มองว่า วงนี้อาจสามารถทำเพลงให้มีกลิ่นอายของ K-Pop แต่วงไม่สามารถสร้างองค์ประกอบอย่างประสบการณ์ที่ต้องผ่านการที่ต้องเสียทั้งหยดเลือด หยาดเหงื่อ และน้ำตา เพื่อมาเป็นศิลปิน
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธได้ยากว่า ส่วนประกอบในผลงานที่ถูกจัดว่าเป็น K-Pop ก็มีกลิ่นของวัฒนธรรมตะวันตกเช่นกัน หลังจาก Seo Taiji and Boys วงแตก มาสู่ YG Entertainment กลิ่นอายและอิทธิพลของฮิปฮอป (Hip-Hop) ก็ส่งผลเชื่อมโยงเป็นลูกโซ่มาถึงแนวทางของบริษัท
ตามความเห็นของคอลัมนิสต์ด้านวัฒนธรรมร่วมสมัย ศิลปินจากบริษัท YG เน้นภาพลักษณ์ที่ดูเจ๋ง มี “ความ cool” แบบฮิปฮอป ในอัตราส่วนที่เหลื่อมล้ำกว่าภาพลักษณ์ “cute” หรือน่ารัก และองค์ประกอบเหล่านี้ก็เชื่อมโยงมาสู่ศิลปินหลายรายในบริษัทด้วย
คลิกอ่านเพิ่มเติม : กระแส “L-pop” ทำคนไทยคลั่งเพลงลาวหนักหนา ก่อนหน้า K-pop หรือ J-pop นับร้อยปี
อ้างอิง
ธนพงศ์ พุทธิวนิช. “แกะรอยประวัติศาสตร์ K-Pop จากยุคแรกเริ่ม จนถึงกระแส ‘Blackpink in Your Area’ “. ประชาชาติ. เว็บไซต์. เผยแพร่ 7 กรกฎาคม 2563. เข้าถึงเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2564. <https://www.prachachat.net/d-life/news-487847>
“Gangnam Style music video ‘broke’ YouTube view limit”. BBC. Published 4 DEC 2014. Access 22 NOV 2021. <https://www.bbc.com/news/world-asia-30288542>
Tan, Yvette. “K-pop’s EXP Edition: The world’s most controversial ‘Korean’ band”. BBC. Online. Published 6 DEC 2018. Access 22 NOV 2021. <https://www.bbc.com/news/world-asia-46381997>
WANG, AMY X.. “How K-Pop Conquered the West”. Rolling Stone. Online. Published 21 AUG 2018. Access 22 NOV 2021. <https://www.rollingstone.com/music/music-features/bts-kpop-albums-bands-global-takeover-707139/>
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2564