“ขนมน้ำตาล” ใน Squid Game มาจากไหน? กลายเป็นขนมฮิตเพราะกระแสซีรีส์ดังทะลุเพดาน

ซีรีส์ Squid Game ในเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ภาพจาก YouTube/Netflix Asia

ซีรีส์ Squid Game ว่าด้วยเกมเอาชีวิตรอดเพื่อแลกกับเงินรางวัลมหาศาลซึ่งเผยแพร่โดยผู้ให้บริการสตรีมมิงอย่างเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เกิดปรากฏการณ์มากมายตามมาในหลายแวดวง อีกหนึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือความนิยมใน ขนมน้ำตาล หรือ ขนมรังผึ้ง (Dalgona) ซึ่งปรากฏในเนื้อหาของซีรีส์ เป็นส่วนหนึ่งของการเล่นเกมอีกด่านที่ตัวละครต้องผ่านเพื่อเอาชีวิตรอด

“ขนมน้ำตาล” หรือบางแห่งเรียก ขนมรังผึ้ง มีชื่อเรียกว่า Dalgona หรือ Ppopgi เป็นอีกหนึ่ง “ขนม” ในวัฒนธรรมเกาหลี ลักษณะเป็นขนมแผ่นบางๆ ตรงกลางแผ่นจะมีรอยเป็นรูปทรงต่างๆ เช่น ดาว หรือรูปทรงหัวใจ ปัจจุบันมักทำมาจากน้ำตาลและเบกกิ้งโซดา (baking soda)

ขนมชนิดนี้ได้รับความนิยมในเกาหลีใต้ยุค 70-80s มักวางขายในบริเวณโรงเรียน กระทั่งถึงช่วงต้นยุค 2000s ร้านค้าขนมเริ่มลดลงและไม่ค่อยพบเห็นแพร่หลายเท่าอดีตเพราะอิทธิพลจากการซื้อขายในออนไลน์ ส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากการเติบโตของธุรกิจลูกกวาดและขนมอื่นๆ ในกลุ่มที่ราคาไม่แพงทำให้กิจการที่ขายขนมนี้ในลักษณะทำกันภายในครอบครัวเริ่มไปต่อไม่ได้ (Albert Park, 2021)

เมื่อซีรีส์ Squid Game กลายเป็นกระแสไปทั่วโลก ขนมในอดีตซึ่งปรากฏเป็นตัวแปรสำคัญในด่านหนึ่งของเกมเอาชีวิตรอดก็กลับมาคืนชีพอีกครั้ง รายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศล้วนนำเสนอเรื่องร้านขายขนมชนิดนี้กลับมาได้รับความนิยม ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ An Yong-hui ผู้ทำขนมนี้ขายมายาวนานร่วม 8 ปี

An Yong-hui ทำ Dalgona มาขายในบริเวณมหาวิทยาลัยในกรุงโซล รายงานข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) ระบุว่าเขาและเพื่อนร่วมงานใช้น้ำตาล 15 กิโลกรัม มาทำขนมส่งให้กองถ่ายทำซีรีส์ในเน็ตฟลิกซ์ถ่ายทำเนื้อหาสำหรับตอนที่ 3 ของซีรีส์

รายงานข่าวยังเผยว่า เมื่อซีรีส์ได้รับความนิยมล้นหลาม เขาไม่ได้เดินทางกลับบ้านเป็นเวลาร่วมสัปดาห์เพราะต้องผลิตขนมให้ทันกับความต้องการของแฟนซีรีส์ แฟนของซีรีส์มาต่อคิวซื้อขนมหน้าครัวกันจำนวนมาก เขาขายขนมนี้ได้มากกว่า 500 ชิ้นต่อวัน ขณะที่ช่วงก่อนหน้าซีรีส์ได้รับความนิยม เขาขายได้แค่ 200 ชิ้นต่อวันเท่านั้น ขนมของ An Yong-hui ขายชิ้นละ 2,000 วอน (ประมาณ 56 บาท)

ขนมชนิดนี้มีเอกลักษณ์ตรงที่ลูกค้าสามารถร่วมลุ้นเล่นสนุกกับตัวขนม หากผู้ซื้อสามารถแกะขนมออกมาจากแผ่นได้ตามรูปทรงโดยไม่ทำให้น้ำตาลแตกหักจะได้รับขนมแถมไปอีกชิ้นโดยไม่คิดเงิน (ปกติแล้วมีหลายรูปทรง แต่ในซีรีส์ทำออกมา 4 รูปทรง)

ลูกค้าที่เป็นนักศึกษาในละแวกนั้นให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า เธอได้ยินเกมเกี่ยวกับขนมนี้มาจากพ่อและย่าของเธอมาเป็นประจำ เมื่อมาเล่นเองครั้งแรกก็แปลกใจว่าขนมแตกหักง่ายมาก และเธอก็ล้มเหลวเมื่อทำขนมแตกไปด้วย

หรืออย่างร้านกาแฟในสิงคโปร์ชื่อ “บราวน์ บัตเทอร์ คาเฟ่” (Brown Butter Cafe) อีกหนึ่งกิจการที่ปรับตัวเข้ากับกระแสความนิยมในซีรีส์นี้ โดยให้ลูกค้าร่วมเล่นเกมแกะขนมน้ำตาล ถ้าทำได้โดยไม่แตกหักก็จะได้รับรางวัลไป

สำหรับผู้ที่สนใจลองทำขนมนี้ เว็บไซต์ซื้อขายสินค้าออนไลน์ระดับโลกอย่าง Amazon และ eBay มีผู้นำคู่มือและอุปกรณ์ทำขนมมาขายในราคา 29.99 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 900 บาท

ความเป็นมาของขนมนี้มีบอกเล่าไว้หลากหลาย History อธิบายไว้ว่า อยู่ในช่วงยุค 50s หลังสงครามเกาหลี (Korean War) โดยเป็นเจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐฯ มักนำขนมประเภทลูกกวาดและประเภทอื่นๆ มาแจกเด็ก ขณะที่สถานการณ์เวลานั้น พ่อแม่ของเด็กชาวเกาหลีมักไม่สามารถมอบขนมลักษณะนี้ให้ลูกๆ ได้บ่อยเท่า

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ทำไมแยกเกาหลีเหนือ-ใต้ กำเนิดเส้นขนานที่ 38 จากราชวงศ์โชซอน ถึงคิมอิลซองคุมโสมแดง

พ่อแม่ชาวเกาหลีจึงเริ่มทำลูกกวาดของตัวเองขึ้นมาโดยใช้น้ำตาลและเบกกิ้งโซดา เนื่องด้วยความง่ายในการผลิตและต้นทุนต่ำ พ่อค้าขายของตามท้องถนนจึงเริ่มขายขนมลักษณะนี้โดยทำเป็นรูปทรงเลียนแบบลูกอมขนาดใหญ่ แต่ทำเป็นรูปทรงง่ายๆ แปะลงไปตรงกลาง เช่น รูปทรงหัวใจ หรือรูปทรงดาว มีจุดประสงค์เพื่อให้รับประทานลูกอมโดยไม่ทำให้รูปทรงตรงกลางแตกหักไป

เมื่อมาถึงปลายยุค 90s ขนมชนิดนี้ยังถูกนำมาใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับเล่นพนันเสี่ยงทายสนุกๆ มีรางวัลเป็นขนมแถมอีกชิ้น หรือจะเดิมพันด้วยสิ่งของอื่นๆ

เนื้อหานี้สอดคล้องกับความคิดเห็นของอัลเบิร์ต ปาร์ค (Albert Park) นักวิชาการตำแหน่งรองศาสตราจารย์ (associate professor) ซึ่งเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เกาหลี จากวิทยาลัย Claremont McKenna College ในแคลิฟอร์เนีย ได้ให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์ก ไทม์ส (New York Times)

ชาวเกาหลีที่เติบโตมาในช่วงยุค 80-90s มักมีความทรงจำเกี่ยวกับขนมชนิดนี้ เรื่องนี้เชื่อมโยงกับเหตุผลที่ Hwang Dong-hyuk ผู้กำกับซีรีส์ Squid Game ให้สัมภาษณ์อธิบายเหตุผลของการเลือกเกมการเล่นวัยเด็กมาใส่ในเนื้อเรื่องว่า เป็นสิ่งที่จงใจเพื่อให้เนื้อหาเชื่อมโยงกับผู้ชมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม อัลเบิร์ต ปาร์ค มองว่า สำหรับผู้ชมวัยรุ่นเกาหลีแล้ว ไม่น่าจะตระหนักรับรู้ได้ว่าขนมนี้เป็นขนมเกาหลี แต่เป็นวิธีที่จะทำให้เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของพวกเขาเองแบบที่ไม่ค่อยทำกันในหนังสือประวัติศาสตร์

ทั้งนี้ คำว่า Dalgona เคยเป็นส่วนหนึ่งในกระแสเมนูเครื่องดื่ม “กาแฟ” ชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในช่วงโควิด-19 มาก่อนหน้าซีรีส์เรื่องนี้ สืบเนื่องมาจากนักแสดงในรายการเกาหลี Stars’ Top Recipe at Fun-Staurant ไปลิ้มลองกาแฟแบบหนึ่งที่มาเก๊า และบอกว่าทำให้เขานึกถึงขนม Dalgona ซึ่งการเอ่ยถึงก็ประหนึ่งเป็นการเรียกชื่อเมนูนั้นไปในตัว หลังจากนั้น “กาแฟ Dalgona” ก็ได้รับความนิยมไปทั่วเกาหลีใต้ถึงกับแพร่หลายไปในสหรัฐฯ ด้วย


อ้างอิง:

“Why is everyone talking about Dalgona candy?”. New York Times. Published 6 OCT 2021. Access 6 OCT 2021. via Deccan Herald. <https://www.deccanherald.com/international/why-is-everyone-talking-about-dalgona-candy-1037816.html>

Minwoo Park and Sangmi Cha. “Seller basks in ‘Squid Game’ fame of his ‘sweet and deadly’ treat”. Reuters. Online. Published 1 OCT 2021. Access 6 OCT 2021. <https://www.reuters.com/business/media-telecom/seller-basks-squid-game-fame-his-sweet-deadly-treat-2021-10-01/>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ตุลาคม 2564