ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2550 |
---|---|
ผู้เขียน | ติ๊ก แสนบุญ |
เผยแพร่ |
แดนดินถิ่นอีสานในมโนทัศน์การรับรู้ของคนทั่วไปมีภาพแห่งความแห้งแล้งกันดารและความยากจน ภาพของคนอีสานที่มักถูกนำไปล้อเลียนในเชิงดูถูกทางชาติพันธุ์ เช่น บักเสี่ยว บักซีเด่อ บักลาว หรือไอ้ข้าวเหนียว บทละครที่เป็นคนรับใช้ก็ให้เป็นคนอีสาน อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ และในความล้าหลังทางเทคนิควิทยาการสมัยใหม่ หรือการรู้น้อยเรียนน้อยนี้เอง ล้วนแล้วแต่เป็นปฐมเหตุอันสำคัญที่เป็นแรงผลักดันก่อให้เกิดรากฐานทางวัฒนธรรมอันแข็งแกร่ง
เฉกเช่นศิลปวัฒนธรรมงานช่างของอีสานโดยเฉพาะในช่วงอดีตสมัยที่ผ่านมา ศิลปะงานช่างด้านขีด ๆ เขียน ๆ ที่คนภาคกลางเรียกว่า “จิตรกรรม” แต่อีสานเรียกว่า “ฮูปแต้ม” ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตน คือความเป็นอิสระในการสร้างสรรค์ที่อิงอยู่กับโลกของความเป็นจริง มีวิถีผู้คนท้องถิ่นปรากฏอยู่มากกว่าภาคกลางที่หลุดพ้นจากโลกของความจริงค่อนข้างมาก
กล่าวคืองานฮูปแต้มของอีสานมีความเป็นพื้นบ้านพื้นเมืองมาก ฮูปแต้มต่าง ๆ มีลักษณะทางกายภาพที่แสดงให้เห็นถึงทักษะฝีมือที่ด้อยในเรื่องของความชำนาญ อาทิ ลายเส้นที่ดูหยาบขาด ๆ เกิน ๆ รูปบุคคลต่าง ๆ ที่มีลักษณะกายวิภาคที่แลดูผิดสัดส่วน สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นเสน่ห์บ่งบอกคุณค่า โดยเฉพาะอารมณ์ความรู้สึก เมื่อได้ดูภาพเขียนเหล่านี้จะเห็นความงามที่ซ่อนอยู่ในสิ่งที่ไม่งาม ซึ่งนักวิชาการด้านศิลปะจัดให้เป็นศิลปะความงามแบบไร้เดียงสา เป็นศิลปะแบบแรกเริ่มหรือขั้นปฐม (Primitive Art) ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นศิลปะในขั้นสูงต่อไปได้ หรืออาจจะเป็นศิลปะที่เรียกว่า Folk Art เป็นศิลปะที่มีความเป็นธรรมชาติที่มีพัฒนาการเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้คือกรอบแนวคิดของนักวิชาการจากภายนอกที่มองศิลปะฮูปแต้มอีสาน
ฮูปแต้มอีสานบอกอะไร..? แน่นอนว่างานฮูปแต้มมีหน้าที่บันทึกเรื่องราวทางความเชื่ออันเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา เช่น พุทธประวัติ พระมาลัย ทศชาดก นรกภูมิ ตลอดจนนิทานประโลมโลกย์หรือนิทานม่วนชื่น และที่สำคัญคือ การบอกเล่าประเพณีศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตผู้คนท้องถิ่นนั้นได้อย่างสนุกสนาน
เช่น ประเพณีฮดสรง พิธีเผาศพ ประเพณีการสู่ขวัญ การละเล่นหมอลำ หมอแคน ประเพณีการลงข่วง ลักษณะการแต่งกายทั้งคนพื้นเมืองและคนต่างชาติ วิถีการหาอยู่หากิน การทำไร่ทำนา เรื่องราววิถีชีวิตคนในชุมชน เช่น การเสพสังวาสและรูปที่แลดูสัปดนต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกถ่ายทอดเป็นฮูปแต้มที่มีเอกลักษณ์เฉพาะทั้งในเรื่องสีสัน เส้นสายลายสือที่อยู่บนพื้นฐานความเสมือนจริงอันเป็นคุณลักษณะเฉพาะที่ปรากฏอยู่บนฮูปแต้มอีสาน
สถานภาพองค์ความรู้และการอนุรักษ์สืบสาน ฮูปแต้มหรืองานศิลปะพื้นบ้านแขนงต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่ตกอยู่ในสถานภาพเดียวกัน คือไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ยังรวมถึงระบบการศึกษาที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับมูนมัง (มรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาสร้างสรรค์ของท้องถิ่น) โดยเฉพาะแวดวงวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษาด้านศิลปะในเมืองไทยให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมหลวงอันเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักแบบแนวดิ่งและละเลยวัฒนธรรมชาวบ้านแบบแนวราบ ซึ่งเป็นรากฐานของสังคมที่สำคัญและเป็นสังคมกลุ่มใหญ่ของประเทศ
เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า “ฮูปแต้มอีสาน” ก็คือปรากฏการณ์หนึ่งของศิลปะที่มีอายุสั้น ๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวของยุคสมัยที่พ้นผ่าน ต่างจากศิลปะไทยแบบภาคกลางซึ่งมีการอนุรักษ์และพัฒนาทั้งในด้านเทคนิคและรูปแบบอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ฮูปแต้มอีสานนอกจากจะไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ด้านการอนุรักษ์และพัฒนาแล้วยังถูกทุบทำลายไปพร้อมกับสิม (โบสถ์) อย่างต่อเนื่อง หากเป็นหอแจกปูนก็จะยังคงรอดได้ต่อลมหายใจอยู่
ทั้งนี้เพราะวัดในอีสานจำนวนมากมีภูมิคุ้มกันทางวัฒนธรรมที่บกพร่อง ต่างจากภาคเหนือที่มีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ดังเช่น อาจารย์วิโรฒ ศรีสุโร ได้ให้ทัศนะถึงสาเหตุความหายนะทางศิลปะอีสานคือ…ละอายภูมิปัญญาเดิม…มีปมด้อยในทางวัฒนธรรม…ได้ใหม่ ลืมเก่าเร็ว…โดยมีตัวแปรที่สำคัญคือ การปกครองและการศึกษาที่ไร้จิตสำนึกของภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยต้องการทำอีสานให้เหมือนกรุงเทพฯ (วิโรฒ ศรี สุโร, สิมอีสาน. น. 426.)
ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาทั้งหมดก็เพียงเพื่อต้องการให้คนอีสาน (และภาคอื่น) ได้ตระหนักและเข้าใจถึงมูนมังของเจ้าของ (ตัวเอง)
อ่านเพิ่มเติม
- ประวัติ “ฮูปแต้มอีสาน” สกุลช่างโสภา ปางชาติ ณ สิมเก่า วัดหนองเหล่า เมืองอุบล
- พระพุทธรูปอีสาน : ตัวตนคนอีสาน พระวรกายผิดหลัก พระพักตร์แสดงอารมณ์
- “สิมอีสาน” ในยุคประชาธิปไตยและความเป็นไทย ช่วงพ.ศ. 2475-2500
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “‘ฮูปแต้มอีสาน’ …มูนมังที่กลายเป็น…มูล…จากระบบการศึกษาไทย…!!” เขียนโดย ติ๊ก แสนบุญ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2550
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ตุลาคม 2560